TEXT / PHOTO : Nitta Su.
Main Idea
- “บ้านอุ๋ม” แบรนด์ขนมจากทายาทเมืองแปดริ้ว เริ่มต้นธุรกิจจากคุณภาพการผลิตแบบโฮมเมดที่ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนความอร่อย
- ปัจจุบันสเกลอัพธุรกิจ สร้างโรงงานผลิตมาตรฐาน เปิดแฟรนไชส์เติบโตมากกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้า 100 สาขาภายในปีหน้า ด้วยหลักบริหารที่เป็นหัวใจหลักสำคัญของแบรนด์ “ความอร่อยก็ต้องมา คุณภาพก็ต้องได้”
แปดริ้ว หรือชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบัน ก็คือ “ฉะเชิงเทรา” นอกจากเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรมากมาย ทั้งพืชพรรณเกษตร อาหารการกิน แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจแห่งลุ่มน้ำบางปะกงแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการมากฝีมือในการทำขนมและเบเกอรี รสชาติถูกปากถูกใจคนไทยหลายแบรนด์อีกด้วย
โดยเฉพาะเค้กชิฟฟ่อนของดีเมืองแปดริ้ว หนึ่งในนั้น คือ แบรนด์ “บ้านอุ๋ม” เบเกอรีสไตล์โฮมเมด ที่เริ่มต้นต่อยอดธุรกิจขึ้นมาจากร้านเล็กๆ หลังโรงงานผลิตขนมปังและเค้กขายส่งของครอบครัวที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นอาก๋ง และคุณพ่อเมื่อ 50 กว่าปีก่อน จนวันนี้ต่อยอดสู่แฟรนไชส์ 70 สาขาทั่วประเทศ และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 100 สาขาในปีหน้า
น้องทำ พี่ขาย สูตรลงตัวทายาทธุรกิจ
“แบรนด์บ้านอุ๋ม เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เป็นช่วงรอยต่อของทายาทที่เข้าสานต่อธุรกิจผลิตขนมปังและเบเกอรีของครอบครัว โดยช่วงแรกในยุคอาก๋งและคุณพ่อจะทำเป็นขนมปัง เค้กปีใหม่ ขนมเปี๊ยะขายส่งให้กับร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีต่างจังหวัด และเริ่มขายส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา บ้าง ตอนนั้นใช้ชื่อว่า "อั้ง เต็ก หมง" โดยเราใช้วิธีผลิตขนมปังจากเตาฟืน จนมายุคหนึ่งเมื่อเริ่มมีเครื่องจักรเข้ามา คู่แข่งเริ่มนำมาใช้มากขึ้น ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันได้ จนเคยคุยกับคุณแม่ว่าอยากเลิกกิจการไปทำอย่างอื่น กระทั่งน้องสาว (จิราภรณ์ อังคเรืองรัตนา หรือ “อุ๋ม” กรรมการผู้บริหารสินค้าในเครือแบรนด์ Delicious Story และ ขนมบ้านอุ๋ม) เรียนจบมาทางด้านฟู้ดไซน์ ก็ได้เริ่มทดลองเปิดหน้าร้านเล็กๆ ทำเบเกอรีโฮมเมดขายที่ด้านหลังโรงงานผลิตของคุณพ่อ จนเริ่มมีลูกค้าประจำมากขึ้น ทำให้เราเริ่มมองเห็นลู่ทางที่จะไปต่อได้อีกครั้ง ก็เลยปรึกษากันในครอบครัว และวางแนวทางธุรกิจขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อน้องสาว ซึ่งเป็นผู้ผลิตและพัฒนาปรับปรุงขึ้นมาใหม่ เป็นชื่อแบรนด์” สุพรรษา อังคเรืองรัตนา (อุ๊) กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านอุ๋ม แมเนจเม้นท์ จำกัด พี่สาวคนโตเล่าความเป็นมาของแบรนด์ให้ฟัง
โดยการช่วยพลิกฟื้นธุรกิจครอบครัวขึ้นมาใหม่ ภายใต้แบรนด์บ้านอุ๋ม ลักษณะการทำงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การผลิต และการขาย โดยการผลิตจะมีจิราภรณ์ (อุ๋ม) น้องสาวเป็นผู้ดูแล ส่วนด้านการขายนั้นจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของสุพรรษา (อุ๊) พี่สาวคนโตที่เป็นหัวเรือในการวางแผนกลยุทธ์ และขับเคลื่อนธุรกิจ แถมยังได้น้องชายคนสุดท้องมาช่วยดูแลด้านบัญชีให้อีกแรง นับเป็นสูตรการทำธุรกิจครอบครัวที่มีทายาทเข้ามาช่วยดูแลและสานต่อได้อย่างลงตัว
บุกกรุง เช่าห้อง ออกบูธ เปิดตลาดสร้างแบรนด์
สุพรรษา เล่าย้อนถึงช่วงแรกในการสร้างแบรนด์บ้านอุ๋มให้ฟังว่า ถึงแม้จะเป็นการต่อยอดกิจการมาจากธุรกิจครอบครัว แต่ก็เป็นคนละกลุ่มตลาด เดิม คือ ขายส่ง เน้นตลาดแมส แต่บ้านอุ๋ม คือ แบรนด์ที่เน้นคุณภาพการผลิตแบบโฮมเมด จึงทำให้ต้องหาฐานลูกค้าใหม่ แถมในจังหวัดฉะเชิงเทราก็ยังมีเบเกอรีท้องถิ่นเจ้าดังอีกหลายแบรนด์ การจะทำให้บ้านอุ๋มเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้ จึงต้องทำให้ผู้บริโภคได้ทดลองชิมด้วยตัวเองก่อน จากที่ขายอยู่แค่ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา จึงได้ทดลองเปิดบูธตามห้างสรรพสินค้า และงานอีเวนต์ต่างๆ มากขึ้น
“จากเป็นแบรนด์ขนมที่คนท้องถิ่นซื้อกินกันเป็นประจำอยู่แล้ว เราอยากทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น เลยคิดว่าต้องหาวิธีมาออกบูธให้คนกรุงเทพฯ ได้รู้จักให้ได้ ก็ลองโทรติดตามไปตามห้างสรรพสินค้า ตามพื้นที่ต่างๆ ว่ามีจัดงานออกร้านอะไรบ้าง มีพื้นที่ให้เราสามารถเปิดบูธขายได้ไหม ตอนนั้นมาตรฐานยอดฮิตที่จะนำมาใช้การันตีให้ได้ ก็คือ เชลล์ชวนชิม ของม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เราก็เปิดสมุดหน้าเหลืองโทรติดต่อไปเลย แล้วส่งตัวอย่างขนมไปให้ลองชิม ตอนนั้นส่งชิฟฟอนเค้กไป ปรากฏว่าก็ได้ผ่าน เขาออกใบการันตีมาตรฐานให้ เลยได้ใช้เป็นใบเบิกทางออกบูธครั้งแรกในห้าง
“จำได้ช่วงนั้นมาทีหนึ่งก็ออกหลายงานเลย ต้องมาเช่าบ้านอยู่ร่วมกับน้องๆ พนักงาน ไปทีหนึ่งก็ออก 5-6 งาน การเดินทางก็ยังต้องใช้ขนส่งสาธารณะ เอาขนมใส่ลังโฟม ขึ้นรถเมลล์ไปขายกัน จากออกบูธ ก็เริ่มขยับมาเป็นคีออส เป็นตู้แช่ กระจายไปลงตามห้างต่างๆ จนเริ่มขายดี จากที่เคยได้ตั้งอยู่ข้างหน้า บางที่ก็เริ่มดันเราไปอยู่ข้างล่าง ไม่อยากให้ขายแข่งกับสินค้าของเขา
"เราก็เลยเริ่มดรอปจากห้าง เพราะตอนนั้นก็เริ่มมีแม่ค้าติดต่อขอมาซื้อไปขายต่อเยอะขึ้น ตามตลาดนัดสถานที่ราชการ หน่วยงานต่างๆ ซื้อทีละเยอะๆ และได้เงินมากกว่า เพราะขายปลีกในห้าง ขายได้เยอะจริง แต่ก็ต้องโดยหักเปอร์เซ็นต์เยอะด้วย ซึ่งก็เหมือนจะไปได้ดีจนเกิดวิกฤตการเมืองเสื้อแดงเสื้อเหลือง หลายพื้นที่เปิดขายไม่ได้ แม่ค้าก็ลดลงไปเยอะมาก จึงทำให้เริ่มคิดว่าเราคงหวังเพิ่งกลุ่มนี้กลุ่มเดียวไม่ได้แล้ว แถมพักหลังมาเราก็เริ่มคุมแม่ค้าไม่ได้ด้วย มีหลายคนรับของเราไปขายแล้วไม่ซื่อสัตย์ เช่น หมดอายุไปแล้ว ก็ไปลบวันออก แล้วเอามาขายใหม่ จึงทำให้คิดได้ว่าหากอยากคุมมาตรฐานให้ได้ เราต้องกระจายสินค้าเอง เลยนึกถึงการทำแฟรนไชส์ ซึ่งจะทำได้เราต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ เพื่อให้ขยายได้มากขึ้น” สุพรรษาเล่าปัญหาให้ฟัง
ความอร่อยต้องมา คุณภาพก็ต้องได้
จากโจทย์และปัญหาที่พี่สาวได้นำมาวิเคราะห์ให้ฟัง หน้าที่สำคัญตกมาที่จิราภรณ์อีกครั้งหนึ่ง ในการลงทุนสร้างโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน ขยายกำลังการผลิตให้ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคุณภาพความอร่อยแบบโฮมเมดไว้ให้ได้ดังเดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
“เป็นความท้าทายที่ค่อนข้างยากสำหรับเราเลยในตอนนั้น เพราะต้องมีการเซ็ตระบบนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้เยอะมาก ทำยังไงให้สามารถผลิตได้ปริมาณเยอะขึ้น เร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้ได้คุณภาพความอร่อยแบบโฮมเมดให้ได้เหมือนเดิม ซึ่งในคำว่า “สด ใหม่ เสมอ” สำหรับผู้บริโภคกับด้านฟู้ดไซน์นั้นไม่เหมือนกัน สด ใหม่ของลูกค้า คือ ทำเช้าขายเลย เย็นอาจจะเสีย แต่ในด้านฟู้ดไซน์ คำว่า สด ใหม่ คือ ทำยังไงไม่ให้เกิดเชื้อโรคขึ้นมา จนทำให้อาหารเสีย และยังคงคุณภาพความสดใหม่ไว้ได้ตลอดเวลา เก็บรักษาได้นานขึ้น ขณะเดียวกันรสชาติก็ต้องอร่อยเหมือนเดิม
"ทำให้รูปแบบการทำงานบางอย่างของเราต้องเปลี่ยนไป บางอย่างก็คงความเป็นโฮมเมดเอาไว้ เช่น การปั้นขนมปัง แต่บางอย่างก็ต้องนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยเพื่อให้เร็วขึ้น เช่น เครื่องตัดขอบซิฟฟ่อนเค้ก ต้องปรับจูนพนักงานกันใหม่ คนที่เคยทำแบบเดิมๆ ก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่และปรับตัว คนที่ดูแลด้านวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ก็ต้องอินกับความเป็นโฮมเมดด้วย คือ ทำออกมาแล้วต้องอร่อย ไม่ใช่คิดแค่ควบคุมให้ปลอดเชื้อแค่อย่างเดียว ต้อง อร่อยควบคู่กับมาตรฐาน ด้วย”
“มันเป็นความยากของคนทำโฮมเมดที่ต้องขยายสเกล เป็นความยากว่าเรามีแฟนคลับ มีคนที่ชอบกินแบบที่เราทำมา 10-20 ปี แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไป แต่จะทำยังไงให้เขายังรู้สึกกินแล้วได้รสชาติเดิม อร่อยเหมือนเดิม เพราะนี่คือ จุดเด่นของเราเลย ขณะเดียวกันเราเองก็ต้องเติบโตขึ้นด้วย” สุพรรษากล่าวเสริม
ขอหยุด Positioning แบรนด์ไว้แค่ “พี่สาว”
ปัจจุบันบ้านอุ๋ม มีสาขาแล้วกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ทั้งส่วนที่เป็นแฟรนไชส์และขยายร้านด้วยตัวเอง โดยตั้งเป้าปีหน้าไว้ที่ 100 สาขา โดยรูปแบบแฟรนไชส์จะแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ไซส์ S 40 ตารางเมตร, ไซส์ M 70 ตารางเมตร และไซส์ L สำหรับนักลงทุน โดยสร้างเป็นแลนนด์มาร์คขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
“ปัจจุบันเรามีแค่ไซส์ S และ M ส่วนไซส์ L ที่เป็นขนาดใหญ่ ตอนนี้กำลังอยู่ในการดำเนินการสร้างต้นแบบสาขาของเราเองขึ้นมาก่อน ซึ่งตรงนี้เราได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น SME D Bank ที่ปล่อยกู้ให้ แม้เราจะมีหนี้บางส่วนที่กู้มาทำโรงงานในช่วงโควิด ทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้
“สำหรับก้าวต่อไปของแบรนด์ นอกจากการขยายแฟรนไชส์ ทุกวันนี้เรามีรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ ด้วย รวมถึงทำผลิตภัณฑ์ร่วมกับบางแบรนด์ เช่น ช็อกโก้บอล บ้านอุ๋ม X พันธุ์ไทย ส่วนในตัวแบรนด์เองเรามีการพยายามปรับรูปลักษณ์ให้ดูทันสมัยเหมาะกับคนรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย ทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ และแพ็กเกจจิ้ง ตอนนี้เรามีขนมมากกว่า 50 ชนิด มีการคิดสูตรขนมใหม่ๆ ตามกระแส เช่น ซิฟฟ่อนลาวา หรือสูตรสุขภาพ เช่น ซิฟฟ่อนไฟเบอร์ ขนม 3 อันดับที่ขายดีของเราได้แก่ ซิฟฟ่อน, ขนมปังสังขยา และพายลูกตาล
“แต่อีกโจทย์ที่สำคัญ คือ การปรับ Positioning ของแบรนด์ ตอนนี้แบรนด์เราถูกมองว่าเป็นแบรนด์ของฝาก มากกว่าที่จะเป็นขนมที่ซื้อกินเอง เคยถามเด็กรุ่นใหม่ว่าเคยกินไหม เขาบอกว่า เคยกินถ้ามีคนซื้อมาฝาก อาจเพราะสาขาส่วนใหญ่ขยายอยู่ในปั๊มน้ำมันก็ได้ ตอนนี้เลยพยายามแก้โจทย์ตรงนี้อยู่ อาจปรับแพ็กเกจจิ้งให้มีขนาดเล็กลง ซื้อรับประทานได้ง่ายขึ้น เช่น ซิฟฟ่อนจาก 1 กล่อง 8 ชิ้น อาจเหลือแค่ 4 ชิ้น เราอยากเป็นขนมที่คนซื้อกินเองด้วย แล้วอร่อย เลยค่อยซื้อฝากคนอื่น เหมือนวันแรกๆ ที่เขาชอบขนมเรา เราอยากเป็นแบรนด์ที่ไม่แก่ ไม่ว่าอีก 5-10 ปี เราขอหยุดตัวเองเป็นแค่พี่สาวที่มีประสบการณ์การทำขนมอร่อยๆ ให้ทุกคนได้รับประทาน ไม่ขอเป็นป้า หยุดไว้แค่พี่สาวพอ” สองพี่น้องบ้านอุ๋ม กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้
บ้านอุ๋ม Facebook : ขนมบ้านอุ๋ม Baan Oum โทร. 033 058 536 |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี