PixZel caffe' จากร้านกล้องสู่ร้านกาแฟ การสานต่อธุรกิจของทายาทช่างภาพชื่อดังเมืองนครศรีธรรมราช

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • ร้านกาแฟที่สร้างชุมชนด้วยสิ่งที่เจ้าของชอบ เป็นจุดรวมที่เข้มแข็งของกลุ่มช่างภาพนครศรีธรรมราช

 

  • เน้นการบริหารต้นทุนด้วยการใช้วัตถุดิบร่วมกันในหลากหลายเมนู กระจายการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่สิ้นเปลือง

    

         

     จากชื่อร้านขายกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ  PixZel ได้เคยถูกสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดผ่านจนต้องปิดตัว หนำซ้ำชื่อนี้ได้หล่นหายจากความทรงจำของเจ้าของในช่วงเวลาหนึ่ง จนการเดินทางได้นำพาให้คู่พ่อลูกพบร้านกาแฟโจมา (Joma Bakery Cafe') ที่หลวงพระบาง และได้กลายเป็นสารตั้งต้นของ PixZel caffe’ ' ในเวลาต่อมา

     ถ้าถามถึงร้านกาแฟดีๆ สักร้านในเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ 8-9 ปีก่อน หลายคนคงนึกถึงร้าน PixZel caffe’  ในตึกไม้โบราณหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่มีกาแฟรสชาติดี มีอาหารขายหลากหลายเมนู ซึ่ง เอก-โสฬส ทองสมัคร์ กับพ่อ คุณหมอรังสิต ทองสมัคร์ เป็นผู้ปลุกปั้นอยู่ตอนนั้น

นพ.รังสิต ทองสมัคร์ ช่างภาพชื่อดังเมืองนครศรีธรรมราช

   “พอการตลาดของร้านไปได้ดี เราเลยตัดสินใจขาย หลังจากนั้นแค่เดือนเดียว โควิดระบาด ดับฝันที่จะได้ไปเที่ยวอลาสก้า แต่ยังรู้สึกว่าโชคดีอยู่ จึงได้เดินทางแค่ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบเมืองไทยแทน หลังจากนั้นอีก 3 ปี เมื่อไปเที่ยวหลวงพระบางอีกรอบได้ไปนั่งที่ร้านโจมาคาเฟ่ ก็ยิ่งทำให้คิดถึงบรรยากาศของการชงกาแฟ จึงกลับมาขอทำ Caterring Café ในงานแต่งเพื่อนและได้รับความสนใจอย่างมากจากแขกในงาน จนทำให้เกิดบรรยากาศการรวมกลุ่มของแขกในงานเป็นสภากาแฟขนาดย่อมเฉพาะกิจ”

     “ตอนนั้นไม่ได้มีความคิดจะเปิดร้านใหม่ เพราะใจอยากเดินทางรอบโลก แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ด้วยวัยและเวลาของความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ทำให้คิดได้ว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเดินทางให้ครบ จบรอบโลกในทีเดียวก็ได้ ค่อยๆ ต่อค่อยๆ เติมความฝันหลายครั้งยังได้ เลยขอพ่อทำร้านใหม่อีกรอบ บังเอิญตรงกับช่วงเวลาที่ตึกของร้านตอนนี้ว่างพอดี เราจึงทำ PixZel ขึ้นมาอีกครั้ง”

     ผมนั่งฟังเรื่องราวการเดินทางของ PixZel จากปากของเอกในช่วงเช้าขณะที่ลูกค้ายังบางตา ตาล-ผัสพร ทองสมัคร์ ภรรยากำลังง่วนกับเครื่องดื่มอยู่หลังบาร์ ที่บางครั้งก็เดินมาสมทบช่วยส่งต่อความทรงจำ สร้างความรู้สึกร่วมให้ผมอีกคน

     “ร้านเพิ่งเปิดใหม่มาได้แค่ 3 เดือน ลูกค้าประจำเริ่มกลับมาด้วยความคิดถึง การตกแต่งร้าน เราเน้นให้มีมุมนั่งคุยกันได้ นั่งทำงานก็ดี มีปลั๊กไฟให้ เอาความชอบของเราเป็นหลัก ไม่เน้นแนวถ่ายรูปเช็คอินจ๋า อยากสร้างให้เป็นพื้นที่ของคนที่ชอบเหมือนเรามากกว่า”

     เอกอธิบายจุดเด่นของ PixZel ใหม่ได้ชัดเจน แถมย้ำว่า อยากให้ลูกค้ารู้สึกอบอุ่นแล้วกลับมาซ้ำมากกว่าการมาทีละมากๆ ครั้งเดียวตามกระแส แล้วก็ไป

     “แรกๆ นี้ผมกับตาลลงมาทำเองก่อน เพราะอยากรู้ปัญหาว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้ป้องกันได้ในอนาคต แล้วค่อยจ้างพนักงาน กาแฟยังใช้เมล็ดของเจ้าเดิมอยู่ จากหนึ่งในสิบโรงคั่วแรกๆ ของไทย ซึ่งเรายังเชื่อในความสม่ำเสมอของคุณภาพที่มีมาเสมอ แค่ปรับเปลี่ยนในเรื่องของความเข้มอ่อนให้สอดคล้องกับเทรนด์การดื่มในปัจจุบัน”

     ขณะที่เรานั่งคุยกัน เอกกับตาลนำเมนูเด่นๆ ที่นอกเหนือจากกาแฟมาให้ผมลิ้มลอง อย่างขนมเปียกปูนกะทิสดที่นุ่มหนุบหนับหวานมัน ยังคงสูตรดั้งเดิม สาคูต้นแท้กะทิสด เอกยังเสริมถึงการจัดการวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นวัตถุดิบที่สามารถกระจายไปเป็นส่วนประกอบในหลายเมนู เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการเก็บรักษาอย่างไม่สิ้นเปลืองและเสียเปล่า

     “ผมวางแผนเรื่องการประหยัดไฟไว้ตั้งแต่แรก เน้นการกระจายจากเครื่องใหญ่เครื่องเดียวเป็นสองเครื่อง โดยยังมีประสิทธิภาพการทำงานยังเท่าเดิม เพื่อการประหยัดไฟ และหากมีเครื่องหนึ่งเครื่องใดเสีย เรายังทำงานได้ปกติ ไม่ต้องปิดร้าน เซอร์วิสได้ง่าย”

     วันนี้ผมได้รู้จัก PixZel caffe’ เพิ่มมากขึ้น ผ่านจากปากของเอกและตาล

     ภายในร้านนอกจากโต๊ะเก้าอี้สำหรับลูกค้า รอบๆ ยังมีชั้นวางหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพในทุกระดับความรู้ ซึ่งนี่คือ ความแตกต่างชัดเจนอย่างหนึ่งจากที่อื่น โดยผลพวงมาจากความสามรถรอบรู้ทางการถ่ายภาพของคุณหมอรังสิต ซึ่งได้รับการยอมรับและความเคารพนับถือจากผู้เกี่ยวข้องในวงการอย่างกว้างขวาง และแน่นอนว่า ที่นี่กำลังจะกลายเป็นหลักแหล่งใหม่ของคนถ่ายภาพในนครศรีธรรมราช

     PixZel caffe’ ทำให้ผมค้นพบความจริงอย่างหนึ่งว่า บนพื้นฐานของคนทั่วไป คนเราต้องจัดสรรความรับผิดชอบส่วนหนึ่งไว้สำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ ส่วนความฝันก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้ง แค่สร้างสมดุลของทั้งสองอย่างให้มีความพอดี สุดท้ายเราก็อยู่ได้ด้วยความสุข

PixZel caffe’

https://www.facebook.com/pixzelcaffe

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน