เบื้องหลัง “Home Hug รักษ์โลก” จับเศษ กาบหมาก สร้างธุรกิจ BCG ต่อลมหายใจให้ชุมชนจ.ตาก

TEXT : Neung Cch.

Photo: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • เศษ กาบหมาก วัสดุเหลือทิ้งในชุมขน ที่ถูกละเลยมาหลายชั่วอายุคน

 

  • แต่วันนี้ถูกเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายตามแนวคิด BCG ใช้ของที่มีมาสร้างให้เกิดคุณค่า สร้างงานให้ชุมชน และสังคมน่าอยู่

 

  • ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายตั้งแต่คนยังไม่ค่อยรู้จัก จนวันนี้ธุรกิจเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

 

    เพราะเห็นที่จังหวัดตากบ้านเกิดมี กาบหมาก วัสดุจากธรรมชาติจำนวนมาก ที่มักถูกปล่อยให้ร่วงหล่นอย่างไร้ค่า สุภาพร วจีธนเศรษฐ์ (อ้อม) ประธานวิสาหกิจชุมชนโฮมฮักตาก นำกาบหมากที่ร่วงหล่นเหล่านี้มาต่อยอด เริ่มจากทำเป็นจานกาบหมาก นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจโมเดล BCG ที่เริ่มจากคอนเซปต์ (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

    นอกจากจะมองว่ากาบหมากเป็นวัสดุที่พบมากในจังหวัดตากแล้ว ด้วยคุณสมบัติเด่นของกาบหมากคือ สามารถนำไปขึ้นรูปได้ด้วยตัววัสดุชิ้นเดียวเลย โดยไม่ต้องอาศัยกาวหรือเคมี ทำให้เหมาะที่จะนำมาทำเป็นสินค้ารักษ์โลกภายใต้แบรนด์ Home Hug รักษ์โลก ที่ขอตั้งเป้าอีกสองปีเพื่อสร้างให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้สามารถยืนหยัดทำธุรกิจได้ด้วยตัวเอง แม้ไม่ง่ายแต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว

 

จากภาชนะใส่อาหารขยายสู่หลากหลายผลิตภัณฑ์

    ปัจจุบันแบรนด์ Home Hug รักษ์โลก มีสินค้าแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือ หนึ่ง ผลิตภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร สองผลิตภัณฑ์ Home Decoration & Lifestyle ทั้งนี้ในการผลิตสินค้าใหม่แต่ละชิ้นจะทำภายใต้คอนเซปต์ Circular Economy พยายามนำเศษวัสดุเหลือใช้ภายในชุมชนไม่ว่าจะเป็น ใบไม้แห้ง กาบไผ่ โดยเฉพาะ “กาบหมาก” ที่เป็นวัตถุดิบหลักของชุมชนนำมาเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบ เช่น ปุ๋ยหมัก น้ำส้มควันไม้ ถ่านดูดกลิ่น (Char Leaf) และถ่านไบโอชาร์กาบหมาก บรรจุภัณฑ์จากเศษกาบหมาก เป็นต้น

ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ สร้างผลิตภัณฑ์

    จากโจทย์ที่ต้องนำวัสดุที่เหลือใช้มาสร้างสินค้า อดีตนิสิตที่คว้าใบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากสเปน ได้นำความรู้จากสิ่งที่เรียนมาปรับใช้คือ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ บวกกับประสบการณ์และการเก็บข้อมูลจากการไปออกงานแสดงสินค้า เพื่อมองถึงความเป็นไปได้ทางการตลาด

    “เราเคยลองทำการตลาดหลายๆ อย่างตอนไปออกบู๊ธ เช่น ทำจานกาบหมากเป็นเซตเล็กๆ แต่กลุ่มคนที่ซื้อส่วนใหญ่กลับเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่มาออกบู๊ธด้วยกันซื้อไปลองใช้ ส่วนคนที่มาเดินเที่ยวมีจำนวนน้อยที่ซื้อกลับไป เราก็เลยลองแตกไลน์สินค้าเป็น แชมพู กับสบู่ ซึ่งผลิตตอนช่วงโควิด กลายเป็นของจำเป็นเพราะต้องล้างมือบ่อยๆ ราคาจับต้องได้ ชิ้นละ 39 บาท ทำให้คนซื้อง่ายขึ้น หรือการทำถ่านดูดกลิ่น ช่วยต่อยอดให้คนทำกิจกรรมเวิร์กช็อปการทำถ่าน ได้สอดแทรกให้เขารู้จักตัวภาชนะกาบหมากไปในตัว”

ธุรกิจ BCG อยู่ได้ ต้องมีเครือข่าย

     แม้เทรนด์สิ่งแวดล้อมจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ยังมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เช่น ราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์จากโฟม อีกทั้งเป็นงานคราฟต์ที่ต้องใช้แรงงานฝีมือไม่สามารถผลิตครั้งละมากๆ ได้

“เคยมีคนที่มาดูงานที่ชุมชนเราปรึกษาว่า มีลูกค้าถามว่าทำไมขายแพงจะตอบยังไงดี เขาพยายามอธิบายกับลูกค้าว่า ขั้นตอนการผลิตมันยาก เราบอกว่าตอบแบบนี้ไม่ได้ ลูกค้าไม่สนใจหรอก เราต้องอธิบายให้เขาเห็นภาพใหญ่และเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ว่าปีหนึ่งๆ คนสร้างขยะ สร้างมลพิษเท่าไหร่ ในการกำจัดขยะแต่ละปีต้องใช้งบประมาณกี่พันล้าน ถ้าอธิบายแบบนี้แล้วเขาไม่เข้าใจแสดงว่าอธิบายไม่ถูกคน พูดเป็นร้อยรอบเขาก็ไม่เข้าใจ เราก็แค่ขอบคุณเขา”

    นอกจากนี้ สุภาพรบอกว่าตอนที่เธอทำภาชนะกาบหมากช่วงแรกๆ พบว่ามีแต่ผู้ผลิตแต่ไม่ค่อยมีคนหาตลาด พอหาตลาดไม่ได้บางคนก็ใช้วิธีดัมพ์ราคา ในทางกลับกันที่เธอพยายามวิ่งหาตลาดมาตลอด 3-4 ปี ทั้งไปออกบู๊ธ ติดต่อร้านค้า ร้านขายไอศกรีม โรงแรมให้ลองใช้ภาชนะเพราะไม่อยากที่จะไปแข่งเรื่องราคา

    “มีอุปสรรคเยอะมาก อย่างไปออกงานแสดงสินค้าเราเห็นกล่องโฟมใส่อาหารเยอะมากด้วยราคาที่แพงกว่าโฟมทำให้หน่วยงานที่จะซื้อชุดเบรกอาหารก็มีงบจำกัดไม่สามารถมาซื้อชุดเบรกที่ใช้ภาชนะกาบหมากได้ ตรงนี้แค่อยากสะท้อนให้เห็นว่าถ้าจะต้องการให้มันรักษ์โลกจริงๆ ก็อาจต้องมีนโยบายมาสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจุบัน หน่วยงานในจังหวัดตากเริ่มหันมาสนใจตรงนี้มากขึ้น รวมทั้งการจัดงานแสดงสินค้าหลายๆ พื้นที่ก็เริ่มมีใช้ภาชนะกาบหมากใส่อาหารแล้ว จริงๆ ทำธุรกิจแบบนี้ต้องทำเป็นเครือข่ายถ้าไปคนเดียวก็คงไม่รอด”

ขอเวลาอีกสองปี

    ผ่านมาร่วม 4 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ Home Hug รักษ์โลก สุภาพรยอมรับว่าเหนื่อย จนถึงขั้นเคยคิดจะหยุด เพราะมีแต่ผู้ผลิตแต่ไม่มีคนซื้อ แล้วเบื้องลึกเบื้องหลังขั้นตอนการผลิตก็ยาก เพราะหนึ่ง ต้องอาศัยวัตถุดิบจากธรรมชาติจึงมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย สอง สินค้าต้องได้มาตรฐาน ต้องมีความปลอดภัย ซึ่งกว่าจะได้มาตรฐานต้องมีรายละเอียดขั้นตอนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาเยอะมาก ตั้งแต่การขัด เก็บขอบ การอบยูวีซี ฯลฯ แต่แบรนด์ก็สามารถได้มาตรฐานรองรับจาก กรมวิทยาศาสตร์การบริการ

    “เราไม่ใช่โรงงานใหญ่เราเป็นแค่วิสาหกิจชุมชน สินค้าไม่มีมาตรฐานก็ไม่ต่างกับสินค้าทั่วไปที่ไม่มีใครยอมรับ ยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่ต้องสัมผัสกับผู้บริโภคใส่ภาชนะอาหาร  ความสะอาด ปลอดภัยสำคัญต้องมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น มาตรฐานจึงเป็นตัวเปิดประตูโอกาสให้เรา กลายเป็นจุดแข็งของเราได้เลย ทำให้คนเชื่อใจ ทำให้มีจุดแข็งไปสู้ประเทศอื่นๆ ได้ทำให้สินค้าเราไปได้มากขึ้น"

    “เป้าหมายของเราต้องการให้ ‘Home Hug รักษ์โลก’ อยู่ได้ด้วยตัวเอง ตั้งเป้าไว้สองปี เพราะการทำธุรกิจสีเขียวไม่ได้ง่าย ในเครือข่ายที่สู้กันมาจากวันแรกมี Active กว่า 10 เครือข่ายตอนนี้เหลือแค่ 3-4 เครือข่าย ที่ยังอยู่ เท่าที่อ้อมสัมผัสคนที่มาทำธุรกิจนี้ได้ต้องมีแพสชั่นและมีธุรกิจอื่นที่เป็นรายได้หลัก อย่างไรก็ดี ตอนนี้ก็โชคดีที่มีหลายๆ หน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยอนุเคราะห์เครื่องอบพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งอีกหลายๆ หน่วยงานเริ่มสนใจ คนในพื้นที่เริ่มใส่ใจมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีว่าที่เราตั้งเป้าไว้สองปีอาจดีขึ้น” สุภาพร กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/HOMEHUGTAK

โทรศัพท์: 064 151 9163

อีเมล: homehugtak@gmail.com

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล