สูตรปั้นร้อย ให้ได้ล้าน จากทายาทโรงงานกล่องกระดาษลูกฟูก สู่ผู้ผลิตแพ็กเกจจิ้ง เพื่อ SME

TEXT : สุรางรัก

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

 

Main Idea

  • GP masterbox” ผู้ผลิตและจำหน่ายแพ็กเกจจิ้งผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ต่อยอดธุรกิจมาจากทายาทโรงงานผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก

 

  • ใช้ 4 เคล็ดลับปั้นธุรกิจจากร้อย ให้ได้ล้าน ได้แก่ 1.ทดลองเป็นลูกค้าของตัวเอง 2.อย่าเมินรายเล็ก 3.ใช้ความผิดพลาดเป็นครู และ 4.ไม่ปฏิเสธความต้องการของลูกค้า

 

     การเป็นทายาทธุรกิจ แน่นอนว่าหากสามารถพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับต่อครอบครัวได้ นั่นคือ เป้าหมายสูงสุดอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แถมยังไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องทำแบบไหนจึงจะสำเร็จได้ วันนี้จะชวนมาดูสูตรลับปั้นธุรกิจจาก พรเทพ ทิพยพรกุล และธัญญาเรศ สดไสย ทายาทโรงงานผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกที่ออกมาตั้งธุรกิจตัวเองในนามบริษัทGP masterbox ผู้ผลิตและจำหน่ายแพ็กเกจจิ้งผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เริ่มต้นทำการตลาดสร้างแบรนด์ด้วยเงินหลักร้อย แต่วันนี้ธุรกิจเติบโตกุมลูกค้าอยู่ในมือกว่า 700 ราย แถมส่งต่องาน เพิ่มรายได้กลับไปสู่ธุรกิจครอบครัวได้อีกด้วย

  • ทดลองเป็นลูกค้าของตัวเอง

 

     วิธีการข้อแรกที่พรเทพและธัญญเรศใช้ปั้นธุรกิจของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้รู้ความต้องการของลูกค้า ก็คือ การทดลองเป็นลูกค้าของตัวเอง

     “จริงๆ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง เล่าให้ฟังก่อนว่าเดิมธุรกิจที่บ้านของผม คือ ทำโรงงานกล่องกระดาษลูกฟูก แต่ด้วยความที่ลองกลับไปช่วยที่บ้านทำดูแล้ว มันยังไม่ใช่สำหรับเราในตอนนั้น ก็เลยลองออกมาหาประสบการณ์ทำงานจากข้างนอกดูก่อน ตอนแรกทำอยู่บริษัทขายตรงออนไลน์แห่งหนึ่ง ก็ได้ความรู้ด้านออนไลน์มาเพิ่ม จนมาเจอกับคุณปู (ธัญญเรศ) ซึ่งตอนนั้นนำเข้าสินค้าจากจีนเข้ามาขาย ก็เลยคุยกันว่างั้นลองมาทำธุรกิจร่วมกันไหม ซื้อของจากจีนนี่แหละมาทำแบรนด์ขาย แต่ด้วยความที่เขารู้อยู่แล้วว่าที่บ้านผมเป็นโรงงานผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก ก็เลยทักขึ้นมาว่าแล้วทำไมไม่ขายกล่องล่ะ? ตอนแรกผมก็ยังมองภาพไม่ออก เพราะคำว่ากล่องในความเข้าใจของเราในตอนนั้น ก็คือ หน้าตาเรียบๆ ไม่มีอะไรพิเศษ

     “พอดีตอนนั้นเรามีนำเข้าเสื้อผ้าแฟชั่นจากจีนมาขายอยู่แล้ว ก็เลยลองคิดกันว่างั้นเราลองทำกล่องให้แบรนด์ตัวเองดูก่อนใหม่ เพราะในยุคนั้นร้านเสื้อผ้าออนไลน์ส่วนใหญ่จะใส่ซองพลาสติกธรรมดาส่งให้ลูกค้า โดยจ้างกราฟฟิกเข้ามา 1 คน จากนั้นก็ออกแบบและทดลองสั่งให้ที่บ้านผลิตให้ 1,000 ใบ ใบละ 10 บาท แล้วก็ลองมายิงแอดในเฟซบุ๊ก จำได้ว่าลงไปแค่หลักร้อย ไม่ถึงพันบาท แต่วันนั้นมีลูกค้าทักเข้ามาเป็นร้อยคนเลย ก็ตกใจ ไม่คิดว่าจะมีลูกค้าสนใจมากขนาดนี้ จำได้วันนั้นตั้งแต่เช้าจน 5-6 โมงเย็น ยังไม่ได้กินข้าวเลย เพราะลูกค้าเข้าตลอด คุณแม่เองยังตกใจ จนตอนหลังเราก็ตั้งบริษัทของเราเองขึ้นมาใหม่ รับออกแบบและผลิตกล่องให้ลูกค้าเอง ส่วนขั้นตอนการผลิตก็ส่งป้อนงานให้กับโรงงานของที่บ้าน” พรเทพ หนึ่งในผู้บริหาร บริษัท GP masterbox เล่าจุดเริ่มต้นธุรกิจให้ฟัง

  • อย่าเมินรายเล็ก

             

     ข้อต่อมา ด้วยความที่พวกเขาเองก็เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจใหม่ การเรียนรู้จากลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น GP masterbox จึงไม่เคยปฏิเสธลูกค้าไม่ว่ารายเล็กหรือใหญ่

     “GP masterbox เราเริ่มต้นมาจากลูกค้ารายเล็กๆ ก่อน เอาจริงตอนแรกก็ยังจับจุดไม่ถูก ว่าจะไปทางไหนดี แต่ก็มีผู้ประกอบการสินค้ารายย่อยเหล่านี้แหละที่เข้ามาหาเรา สิ่งที่เขาอยากได้จากเรานอกจากการออกแบบให้สวยงามแล้ว เขายังอยากได้กล่องหรือแพ็กเกจจิ้งที่พอดีกับสินค้าของเขา ซึ่งกล่องพัสดุที่มีให้เลือกส่วนใหญ่จะมีแค่ไซส์มาตรฐาน เล็ก กลาง ใหญ่ ทำให้ใส่สินค้าของเขาไม่ได้พอดี แต่ด้วยความที่ยังเป็นรายเล็ก ยอดการสั่งก็น้อยอยู่ การที่จะไปคุยกับโรงงานผลิตใหญ่ๆ จึงเป็นเรื่องยาก แต่พอเราสามารถเป็นที่ปรึกษาและรับทำให้ได้ เขาก็เลยเลือกเรา” พรเทพกล่าว

     ขณะที่ธัญญเรศ เสริมว่า

     “ถามว่าทำไมเราจึงเลือกที่จะทำให้กับรายเล็กด้วย ทั้งที่หากเป็นโรงงานผลิตทั่วไป ใครๆ ก็ต้องอยากได้ปริมาณการผลิตเยอะๆ ให้คุ้มกับค่าดำเนินการ แต่สำหรับเราที่เลือกจะทำให้กับรายเล็ก ถ้ามองในงุ่ธุรกิจจริงๆ เขาไม่ได้ให้กำไรเราสักเท่าไหร่นะ แต่สิ่งที่เขาให้ คือ ความรู้ ถ้าไม่มีเขาจ้างเราในวันนั้น เราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เขาเหมือนเป็นครูให้กับเรา ถ้าไม่มีเขา GP masterbox ก็ไม่มีวันนี้ เพราะรายใหญ่เขาเลือกไปทำที่ไหนก็ได้ แต่รายเล็กที่พร้อมจะโตไปด้วยกัน หายากนะ จำได้มีลูกค้ารายหนึ่งทำน้ำพริกขาย วันแรกเขาสั่งกล่องเราแค่ 500 ใบ ซึ่งกล่องหนึ่งใส่น้ำพริกได้ 500 กระปุก แต่จนวันนี้ในเดือนที่ผ่านมานี้เอง เขาสั่งเราเพิ่มเป็น 4,000 ใบ คือ เขาโตมากับเรา ก็เลยไม่คิดที่จะย้ายเจ้า เพราะเราช่วยกันมา เติบโตมาด้วยกัน ทำให้ทุกวันนี้ถึงบริษัทเราจะเติบโตขึ้น รับงานจากแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับประเทศมากขึ้น แต่ถ้ามีรายเล็กเข้ามาให้ทดลองทำให้ 50-100 ใบ โรงงานอื่นไม่รับ แต่เราก็ยังรับ เพราะเราก็โตมาจากจุดเล็กๆ ”

  • ใช้ความผิดพลาดเป็นครู

             

     ในกลยุทธ์ข้อ 3 พรเทพ และธัญญเรศเล่าว่าถึงแม้พวกเขาจะพยายามเรียนรู้งานให้มากเท่าไหร่ แต่ความผิดพลาดก็ยังเกิดขึ้นได้ สิ่งที่ทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ คือ การใช้ความผิดพลาดเป็นครู เพื่อทำธุรกิจให้รัดกุมมากขึ้น

     “อย่างที่บอกว่าเราพยายามเรียนรู้มาจากลูกค้ารายย่อย เราจึงไม่เคยปฏิเสธลูกค้า ทั้งที่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะรีออร์เดอร์กับเราไหม แต่ด้วยความที่เรายังใหม่ในตอนนั้น จึงไม่ได้คิดให้รัดกุมมากนัก ยอมรับว่าช่วง 3 เดือนแรกเละเทะเลย ส่งสินค้าไม่ทันบ้าง การเก็บเงินการวางแผนงานยังไมเป็นระบบเท่าที่ควร โดยเราเคยเจอลูกค้าอยู่รายหนึ่ง เขาเร่งงานมากเลยนะ จะเอาให้ได้ภายในวันนี้ แต่เราทำให้ไม่ทันทั้งหมด จึงทำไปให้ก่อนแค่บางส่วน เพื่อให้เขาเอาไปใช้ถ่ายสินค้าก่อน แต่ปรากฏว่าพอเอาไปให้ เขากลับบอกว่างานไม่สวย ไม่รับ ทั้งที่เราทำเสร็จหมดแล้ว

     “สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เขาไม่จ่ายเงิน ตัวแรกไม่จ่าย เราก็ยังโอเค เพราะรู้สึกว่าอาจเป็นความผิดพลาดที่เรา เลยทำให้ใหม่ ปรากฏว่าพอทำตัวที่สองออกมา เขาก็ไม่พอใจอีก เลยกลายเป็นไม่จ่ายเงิน ตอนนั้นยอดประมาณ 3-5 หมื่นบาท ก็หายไปเลย เลยกลายเป็นบทเรียนให้กับเราว่าเราจะมาจ่ายแทนลูกค้าก่อนแบบนี้ไม่ได้ หลังจากนั้นเราก็วางระบบใหม่หมด ตั้งข้อตกลงขึ้นมา โดยก่อนรับงานแต่ละครั้งจะทำสัญญาเอาไว้ให้ลูกค้ารับรู้ เช่น เก็บล่วงหน้าก่อนเริ่มงาน 60% พอทำเสร็จค่อยเก็บอีก 40%, ระยะเวลาการทำ 14-20 วัน, สีงานบวกลบได้แค่ไหน ซึ่งถ้าเขาโอเครับได้ เราก็ทำงานร่วมกันต่อ”

  • ไม่ปฏิเสธความต้องการของลูกค้า

 

     กลยุทธ์ข้อสุดท้ายที่ช่วยทำให้ GP masterbox เติบโตมาได้อย่างทุกวันนี้ ก็คือ การไม่ปฏิเสธความท้าทายที่เข้ามาจากความต้องการของลูกค้า

     “นอกจากไม่ปฏิเสธลูกค้าแล้ว ไม่ว่ารายเล็กหรือใหญ่ GP masterbox เองก็ไม่ปฏิเสธความต้องการของลูกค้าด้วย ลูกค้าต้องการอะไรเพิ่มเติมเราจะพยายามหามาทำให้ได้ เช่น จากเครื่องพิมพ์ระบบเดิมที่ใช้จะพิมพ์ได้แค่ 4 สี แต่ลูกค้าอยากได้มากกว่านั้น เราก็ลงทุนเครื่องดิจิตอลพริ้นติ้งเพิ่ม อย่างตอนนี้เทรนด์รักษ์โลกกำลังมา คนหันมาสนใจแพ็กเกจจิ้งที่เป็นกระดาษลูกฟูกมากขึ้น เพราะย่อยสลายได้เร็วกว่ากระดาษอย่างอื่น แค่ 7 เดือนก็ย่อยสลายได้แล้ว ซึ่งแต่เดิมการจะพิมพ์กล่องลูกฟูกให้สวยเหมือนกล่องอื่น อาจทำไม่ได้ แต่วันนี้เทคโนโลยีที่เราได้มาสามารถทำให้สวยเทียบเท่ากับกระดาษชนิดอื่นได้เลย ก็เป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของลูกค้าได้ หรืออย่างตอนนี้ลูกค้าเริ่มถามหาถุงกระดาษเพิ่ม เราก็คิดไว้ว่าวันหนึ่งจะทำให้ครบวงจรอย่างที่ลูกค้าต้องการ

     “ชาเลนจ์อีกอย่างของเราตอนนี้ คือ ทำให้ทัน ทุกวันนี้ลูกค้าเรามีมากกว่า 700 ราย ทั้งรายเล็ก และแบรนด์ชั้นนำระดับประเทศ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นลูกค้ารายย่อยระดับ SME ถามว่าเติบโตขนาดนี้กลัวคู่แข่งอื่นจะมาแย่งลูกค้าไหม เราเชื่อว่ามีคนมองอยู่แล้ว แต่เขาจะกล้าลงมาเล่นเหมือนเราไหม ก็อีกเรื่องหนึ่ง ทุกวันนี้ลูกค้าสั่งออร์เดอร์แค่สองพันกว่าบาท เราก็รับผลิตให้ ให้บริการและความสำคัญเหมือนกันหมด ไม่ว่ารายเล็กหรือใหญ่ เราสนุกทุกครั้งที่ลูกค้าเดินมาบอกว่าอยากทำแบรนด์ แต่ยังไม่ได้ทำตลาดเลย ช่วยออกแบบหน่อย รู้สึกว่านี่แหละชาเลนจ์ในวันนี้ พอสำเร็จ เขาแฮปปี้ เราก็มีความสุข ความภูมิใจอีกอย่าง คือ ณ วันนี้เราไม่เพียงมีธุรกิจของตัวเองได้ แต่ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจของที่บ้านได้ด้วย” พรเทพ และธัญญเรศกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

GP masterbox

https://web.facebook.com/GPmasterbox/?_rdc=1&_rdr

โทร. 065 939 8776

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Casper’s Gallery จากของขวัญงานแต่งให้เพื่อน สู่นักวาดภาพงานแต่งเจ้าแรกในไทย 3 ชม. รายได้ตกหมื่นกว่าบาท

ใครจะคิดว่าจากภาพวาดของขวัญวันแต่งงานให้เพื่อนที่ทำอย่างตั้งใจ จะทำให้ แคท - นรินนา ศรีวรรณา ที่ชื่นชอบการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ เห็นโอกาสในการทำธุรกิจภาพวาดงานแต่งขึ้นมา จนสามารถทำรายได้หลักหมื่นบาทในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ไทรสุก ธุรกิจสุดครีเอท เล่าเรื่องเขาใหญ่ผ่านไอศกรีม

จากการผนวกความฝันของ “เต้ย-ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน” ไกด์นำเที่ยวสำรวจป่าเขาใหญ่ และ “แนน วราภรณ์ มงคลแพทย์” แฟนสาวเจ้าของธุรกิจแปรรูปผลไม้ เกิดเป็น “ไทรสุก” ร้านไอศกรีมที่ถ่ายทอดเรื่องราวสัตว์ป่าผ่านรสชาติแสนอร่อยและสีสันที่สวยงาม