Togeta Coffee แบรนด์กาแฟน้องใหม่จากโตโยต้า กรณีศึกษาการต่อยอดธุรกิจท่ามกลาง Red Ocean

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์

Main Idea

  • ทำไมองค์กรยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าถึงสนใจธุรกิจ Red Ocean อย่างกาแฟ ทั้งๆ ที่มีแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศยึดหัวหาดเต็มสนาม

 

  • โตโยต้ามองเห็นโอกาสอะไรในธุรกิจนี้ ไปฟังคำตอบจาก "นันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 

     เอ่ยถึงโตโยต้า ทุกคนไม่ปฏิเสธว่านี่คือ บริษัทผลิตรถยนต์มาตรฐานระดับโลก หากโตโยต้าจะมีการเปิดแบรนด์รถยนต์ใหม่คงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก แต่ล่าสุดทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เปิดตัวแบรนด์กาแฟน้องใหม่ชื่อ TOGETA COFFEE (ทูเกต้า คอฟฟี่)  ที่มี Flagship store ที่บางนา ทำไมโตโยต้าแบรนด์รถยนต์ระดับโลกผันตัวเข้าสู่ธุรกิจกาแฟและเป็นยุคที่ธุรกิจกาแฟกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก การเข้ามาในธุรกิจกาแฟยุค Red Ocean อะไรคือจุดแข็งที่ทำให้โตโยต้ากล้าที่จะกระโดดเข้าสู่น่านน้ำสีแดง เส้นทางของ TOGETA COFFEE จะเป็นอย่างไร หาคำตอบพร้อมๆ กัน

TOGETA เติบโตไปด้วยกัน

     ทุกวันนี้หากต้องการหาร้านกาแฟดื่มสักร้านอาจจะเป็นเรื่องง่ายกว่าการหาปั๊มน้ำมันเสียอีก เพราะแค่ในซอยเดียวกันยังมีร้านกาแฟให้เลือกมากมาย ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมกาแฟสูงขึ้นถึงเฉลี่ยปีละ 9% จากปี 2564 – 2566

     จุดเริ่มต้นของ TOGETA COFFEE เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ในปี 2562 จากแนวคิดที่ต้องการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ภายใต้โครงการพระราชดำริ คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงได้นำคณะทำงานจากโตโยต้า เข้าดูพื้นที่ปลูกกาแฟ ณ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงภูพยัคฆ์ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร

     “เราคิดว่าทุกวันนี้กาแฟ กลายเป็นสินค้าพื้นฐานของคนไทย น่าจะต่อยอดสร้างดีมานด์การบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้เกษตรกรที่ปลูกกาแฟได้มีโอกาสเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงสร้างแบรนด์กาแฟที่ชื่อ TOGETA ที่มาจาก TOYOTA + Together คือ การเติบโตไปด้วยกันระหว่างเกษตรกรกับโตโยต้า”

ฐานต้องมั่น เสริมธุรกิจแกร่งด้วยองค์ความรู้

     จากธุรกิจรถยนต์มาสู่ธุรกิจกาแฟเรียกได้ว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง แม้โตโยต้าจะมีพื้นฐานความรู้ในด้านกระบวนการบริหารจัดการ แต่ก็เข้าใจว่าธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจที่มีความละเอียดอ่อน จึงได้มีการศึกษาข้อมูล และผนึกกำลังกับหลากหลายหน่วยงานพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการปลูกกาแฟ อาทิ สมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมคุณภาพและการเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูกกาแฟ ณ ภูพยัคฆ์จังหวัดน่านที่เป็นแหล่งขึ้นชื่อของกาแฟ ภายใต้แนวคิด “กาแฟดี ป่าดี ชุมชนดี”

     รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้วิธีคิด Toyota production system เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดของเสีย สามารถยกระดับคุณภาพสู่การเป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) คือ กาแฟที่เน้นกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้กาแฟออกมาดีที่สุดในแง่ของ "คุณภาพ" และ "รสชาติ" ที่ผ่านการควบคุมและดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงแปรรูป คั่ว และวิธีการชง ที่สำคัญต้องได้รับการรับรองคุณภาพจากนักชิมที่มีความเชี่ยวชาญ (Cupper/Q Grader) และต้องได้คะแนนคัปปิ้ง สกอร์ (Cupping Score) เกิน 80 คะแนน

     “ตอนแรกชุมชนอาจจะปลูกกาแฟได้ไม่ถึงเกรดกาแฟ Specialty เราไปช่วยพัฒนาการควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกอย่างเหมาะสม สร้างระบบการจัดการน้ำ การปลูกและดูแลต้นกาแฟ กระบวนการตาก และ การสร้างโรงเรือนแปรรูปและการหมักกาแฟ เป็นต้น รวมทั้งนำองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ เข้าไปช่วยเกษตรกร เช่น การทำ working plan การจัดการสินค้าคงคลังไม่ให้มีมากจนเป็น dead stock แต่เมื่อมีดีมานด์ก็มีสินค้ารองรับเพื่อให้ได้กาแฟที่สดใหม่ จากการไปพัฒนาตรงนี้ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 7-8% และกาแฟของเราเป็นอาราบิก้า 100% สามารถยกระดับคุณภาพสู่การเป็น Specialty Coffee ได้สำเร็จ”

สร้างดีมานด์ ขยายกลุ่มลูกค้า

     เมื่อได้เมล็ดพันธุ์กาแฟที่ดีแล้ว ถ้าไม่มีช่องทางจำหน่ายก็เปล่าประโยชน์ ทางโตโยต้าพยายามที่จะทำให้เมล็ดกาแฟเป็นที่แพร่หลาย โดยเริ่มจากการนำเมล็ดกาแฟมาคั่วและทดลองจำหน่ายให้พนักงานในบริษัทฯ และ บริษัทในเครือ ต่อมาเริ่มคิดถึงการทำร้านกาแฟ โดยได้มีการพัฒนาสูตรการชงและเมนูเครื่องดื่มให้มีความหลากหลาย ส่งพนักงานไปเรียนวิธีการชงกาแฟ ศึกษาการเลือกใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม และเริ่มใช้ในกิจกรรมจัดเลี้ยงรับรอง การทำร้านกาแฟในรูปแบบ Food Truck และการเข้าร่วมงานนิทรรศการต่างๆ เพื่อทดลองตลาด รับฟังความเห็นผู้บริโภคและนำกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้เป็นมาตรฐาน ควบคู่กับการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโมเดลธุรกิจร้านกาแฟหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เป็นช่องทางในการเข้าหาผู้บริโภคในระดับมหภาค อันจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ

     “โตโยต้าท้าทายตัวเอง ด้วยการใช้บุคลากรโตโยต้ามาทำร้านกาแฟ แต่เราก็มีที่ปรึกษาพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นทั้งคนไทย คนญี่ปุ่น เพราะตลาดกาแฟมีความซับซ้อนระดับหนึ่ง เราพยายามสร้างคาแรกเตอร์ เสริมเพิ่ม product ให้หลากหลาย รวมถึงอยู่ใน traffic อยู่ในจุดที่ลูกค้าสามารถเอ็นจอยได้”

ต้องทำให้ลูกค้าเปิดใจ

     ถ้าจะบอกว่าธุรกิจกาแฟถือเป็น Red Ocean ก็ไม่ผิดนักเพราะว่าไม่ว่าจะเป็นตลาดกลุ่มไหนก็มีผู้เล่นที่แข็งแกร่งและมีความเชี่ยวชาญทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศอยู่ในแต่ละ Segment นั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันคนไทยมีการบริโภคกาแฟมากขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคที่มีความลึกซึ้งและหลากหลายในการเลือกบริโภคมากขึ้น โอกาสการทำตลาดจึงยังมีช่องว่างที่ต้องหาวิธีเข้าไปเติมเต็ม

     โดยทาง TOGETA COFFEE ได้นำเสนอเมล็ดกาแฟคุณภาพดีของไทย เพิ่มความหลากหลายของเมล็ดและวิธีการชงในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มคอกาแฟ Specialty Coffee ตกแต่งร้านในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย การเลือกทำเลที่ ที่เป็นจุด touch point เช่น อาคาร TOYOTA ALIVE บางนา เพื่อให้ทุกคนสามารถแวะเวียนมาได้ในทุกๆ ช่วงเวลา ภายใต้ราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

     “กาแฟกลายเป็นสิ่งบริโภคพื้นฐาน บางคนดื่มทุกวันๆ ละสองแก้ว ฉะนั้นผมว่าราคามีผลอย่างมาก เพราะผู้บริโภคต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของเขาด้วย ในฐานะที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ต้องมีราคาที่เหมาะเพื่อให้ลูกค้าเปิดใจ มาทดลอง ราคาเริ่มตั้งแต่ 50 บาทต่อแก้ว ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าเป็นพนักงานโตโยต้าประมาณ 60% นอกนั้นเป็นลูกค้าทั่วไป”

          

Happiness Mobility for All

     เมื่อถามถึงเป้าหมายของ TOGETA COFFEE  นันทวัฒน์ บอกว่า การที่เป็นแบรนด์โตโยต้าจึงถูกคาดหวังเรื่องคุณภาพ ดังนั้นการทำธุรกิจนี้จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง อีกทั้งวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการโตเคียงคู่กับชุมชน  พยายามเพิ่มสัดส่วนการบริโภคเมล็ดกาแฟของกลุ่มเกษตรกรฯ รวมทั้งสร้างแฟรนไชส์ TOGETA COFFEE เป็นตัวเลือกที่เข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน

     “เราต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้ทุกอย่างพร้อม ตลอดจนมีการออกแบบลักษณะร้านเป็นหลายรูปแบบในรูปแบบของร้านกาแฟขนาดเล็ก (Coffee Corner) ร้านขนาดกลางในลักษณะ Shop in Shop หรือเป็นร้านขนาดใหญ่ที่เหมาะสำหรับการตั้งในลักษณะ Stand Alone หรือในรูปแบบของ Food Truck ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เป็นทางเลือกในการให้ผู้ที่สนใจสามารถพิจารณารูปแบบและเงื่อนไขในการลงทุนได้อย่างเหมาะสมที่สุด

     “เราหวังว่าในอนาคตจะสามารถเชื่อมโยงผลลัพธ์ที่เกิดจากการขยายผลทางธุรกิจเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอเป็นสิทธิประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค ตอบสนอง Mobility Lifestyle ในทุกรูปแบบ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเกิดสังคมที่ทุกคนมีความสุข “Happiness Mobility for All โดยที่โตโยต้าสามารถเข้าไปอยู่ในทุก journey ของผู้คนในทุกบริบทเท่าที่เราทำได้ครับ” นันทวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล