3 Big Map พาธุรกิจ SME เข้มแข็ง จาก กร สุริยพันธุ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีจ. สงขลา

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์

Main Idea

  • 3 เรื่อง คือ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนวัตกรรม การตลาด และการเข้าถึงช่องทางทางการเงิน

 

  • เป็นสิ่งที่ กร สุริยพันธุ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจ.สงขลา แนะให้ SME ต้องโฟกัสเพื่อความเข้มแข็งของธุรกิจ

 

     ถ้าพูดถึงจังหวัดเศรษฐกิจในภาคใต้หลายคนคงนึกถึงภูเก็ต หรือ กระบี่ แต่หลังจากที่โควิดเริ่มจางหายไป จังหวัดที่มาแรงทำ GDP ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้คือ จังหวัดสงชลา เนื่องจากไม่ได้เน้นการท่องเที่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจอาทิ ยาง ถุงมือ การส่งออกเกษตร ฯลฯ

     แม้ตัวเลข GDP จะดีแต่การทำธุรกิจโดยรวมของ SME ก็ยังมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการเงินซึ่งถือเป็นปัญหาหลักสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดสงขลา ฉะนั้นถ้า SME อยากเข้มแข็งควรต้องโฟกัสเรื่องใดลองไปฟังคำแนะนำจาก กร สุริยพันธุ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดสงขลา

Q : ในฐานะประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีสงขลา คุณกรมีนโยบายหลักๆ ที่โฟกัสเพื่อพัฒนา SME คืออะไร?

     จากที่ผมทำงานสมาพันธ์ฯ มา ปีนี้เป็นปีที่ 6 โดย 4 ปีแรกเป็นกรรมการต่อจากนั้นก็เป็นประธานฯ ซึ่งปีนี้เป็นประธานเริ่มเข้าปีที่ 3 แล้ว ผมโฟกัสอยู่ 3 เรื่องหลักๆ เรียกว่า 3 บิ๊กแมพ

     เรื่องแรก คือ เรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนวัตกรรม เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการยกระดับตัวสินค้า การมีนวัตกรรมมันช่วยให้สินค้ามีความน่าสนใจ ช่วยให้ขายได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์มันจะเหมือนๆ กันหมด แต่ถ้าเรามีนวัตกรรมทำให้มีความแตกต่าง นอกจากนี้ก็จะช่วยอัพสกิล รีสกิลของผู้ประกอบการไปในตัวด้วย ซึ่งเรามีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสสว. อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในการให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการของภาครัฐได้ฟรีหรือว่าอาจจะใช้ในราคาที่ต่ำ

     เรื่องที่ 2 มาร์เก็ตติ้ง ต่อให้สินค้าดีแทบตายสุดท้ายขายไม่ได้ก็เท่านั้น เราจึงพยายามเชื่อมโยงช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือในประเทศ การจัดอีเวนต์แมทชิ่ง การจัดอีเวนต์แสดงสินค้าให้กับผู้ประกอบการ ก็เป็นสิ่งที่เราทำกันอยู่

     เรื่องที่ 3 การเข้าถึงช่องทางทางการเงิน เพราะว่าเอสเอ็มอีเจะเข้าถึงข้อมูลช้ากว่าผู้ประกอบการที่เป็นภาคอุตสาหกรรม หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในหอการค้า เมื่อเข้าถึงข้อมูลช้ากว่าก็อาจไม่ทันปีงบประมาณของภาครัฐ  

     นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำเป็นประจำทุกๆ เดือน หรือทุกๆ ไตรมาสคือ จะมีมีตติ้งเพื่อรับฟังเสียงเอสเอ็มอีแต่ละคลัสเตอร์ให้ได้ข้อมูลจริงๆ จากผู้ประกอบการ พร้อมกับมีการเชิญทางอุตสาหกรรมจังหวัด หรือว่านายกเทศบาล เข้ามานั่งฟังด้วย โดยเราจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม นำฟีดแบคจากผู้ประกอบการส่งไปยังหน่วยงานที่ช่วยแก้ปัญหาเขาได้

Q : มองศักยภาพของผู้ประกอบการในสงขลาเป็นอย่างไรบ้าง

     คือศักยภาพของผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลา ถ้าตอนก่อนโควิด GDP เราเป็นอันดับ 3 ของภาคใต้รองจากภูเก็ตและกระบี่ แต่พอช่วงโควิดเราขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เพราะว่าเราไม่ได้เน้นการท่องเที่ยวร้อยเปอร์เซ็นต์ สงขลาเองที่ GDP สูงเพราะว่าเรามีอุตสาหกรรมยาง ถุงมือ การทำเกษตรเพื่อส่งออก เลยทำให้จังหวัดพยุง GDP ได้

 Q : ความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดสงขลา

     เรามองว่าจุดแข็งหนึ่งของสงขลาหรือหาดใหญ่คือ เรามีการค้าชายแดน แล้วเราเป็นเมืองที่ใหญ่ มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว แล้วผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่ก็เป็นภาคบริการ ค้าปลีกค้าส่ง ก็ทำให้การคึกคักและผู้ประกอบการก็สามารถแข่งขันได้อยู่

Q : การดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์ฯ 3 ปี คุณกรเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเอสเอ็มอีจ.สงขลา เป็นอย่างไรบ้าง

    เรียกได้ว่าพอรับตำแหน่งก็โควิดเลย เราเห็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการมากขึ้น แล้วก็ทางหน่วยงานภาคภาคเอกชนที่เป็นภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์หอการค้า สภาอุตสาหกรรมหรือองค์กรต่างๆ เรามีการมองทิศทางที่เป็นทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพราะว่าเจเนอเรชั่นที่ขึ้นมาเป็นนายกหรือเป็นประธาน เป็นเจเนอเรชั่นที่ไล่กันแล้ว เราก็จะบอกเสมอเลยว่าจริงๆ แล้ว ผมเข้ามาทำตรงนี้ผมไม่ต้องการได้หน้า ผมทำเพื่อผู้ประกอบการ ปัจจุบันนี้เรามีการรวมตัวของ 19 องค์กรที่อยู่ในจังหวัดสงขลาประชุมกันทุกเดือน ก็ถือว่าเข้มแข็งมากตอนนี้

Q : ปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จ. สงขลาส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร

    ปัญหาหลักๆ ที่เจอ เรื่องการเงิน จะเห็นว่าอันดับแรกเลยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะติดในเรื่องของเครดิตบูโร อันดับสอง ก็จะเป็นเรื่องของศักยภาพในการผ่อนชำระไม่ถึง อันที่ 3 เป็นวัตถุประสงค์ในการขอกู้เงินไม่ชัดเจน แล้วก็ในเรื่องของการตลาด คืออย่างที่บอก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มักขายของกันเองเฉพาะในจังหวัด ไม่ได้ค้าขายกับคนข้างนอก

     ในการทำตลาดคุณต้องมองภาพรวม ไม่ใช่มองแค่ในจังหวัด ยกตัวอย่างถ้าคุณเป็นร้านอาหาร การพีอาร์ต้องทำให้คนรับรู้ระดับประเทศไม่ใช่แค่ในจังหวัด แม้สงขลามีทะเลแต่ทะเลก็สวยสู้อันดามันไม่ได้ มีภูเขาก็ไม่เหมือนภาคเหนือ แต่ว่าในเรื่องของอาหารและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในเรื่องของอาหารเราไม่เป็นสองรองใคร เรียกได้ว่ามาสงขลากินอาหารไม่ซ้ำร้านแน่นอน

Q : ทางสมาพันธ์ฯ มีแนวทางหรือวิธีการเข้าไปช่วยผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง

     เราก็มีดีลกับทางแบงก์ชาติ แล้วก็ทางเอสเอ็มอีแบงก์ ยกตัวอย่างเราได้คุยกับทางแบงก์ชาติว่าจะจัดอีเว้นต์ตรวจสุขภาพทางการเงิน โดยมีเจ้าหน้าที่จากแบงก์ช่วยตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของผู้ประกอบการว่ามีจุดไหนที่ต้องปรับ ถ้าผู้ประกอบการรู้ตัวว่าเขาอ่อนเรื่องอะไร เขาจะได้ไปเติมเรื่องนั้น ที่ผ่านมาเคยเจอว่าผู้ประกอบการเอางบการเงินไปยื่นแบงก์แล้วปรากฏว่าสกอริ่งไม่ถึง ก็พยายามให้ความรู้กับผู้ประกอบการ พยายามช่วยให้เขาปรับตัวเรื่องของดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งด้วย

Q : คุณเอาประสบการณ์ในการเป็นผู้บริหารบริษัท เทพไทย โปรดัคท์ จำกัด มาไกด์บ้างไหม

     ใช่ครับเป็นประสบการณ์บวกฟีดแบค แต่ก็ต้องดูปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป คืออย่างผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ก็ปัญหาแบบหนึ่ง ร้านอาหารก็ปัญหาแบบหนึ่ง โลจิสติกส์ก็ปัญหาแบบหนึ่ง ซึ่งนโยบายภาครัฐที่ผ่านมาออกแบบคอมมอน หมายถึงว่าออกให้เอสเอ็มอี เหมือนกันหมดเลย แต่ละเซกชั่นไม่เหมือนกัน ปัญหาของเขาไม่เหมือนกัน

     อีกเรื่องหนึ่งคือ เอสเอ็มอีส่วนมากก็เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งการเป็นบุคคลธรรมดาเวลาจะไปดิล จะไปขอเครดิตเทอมจากภาครัฐก็ยาก ต่างจากการเป็นนิติบุคคลสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจตัวเอง แต่ว่าค่าใช้จ่ายในการเป็นนิติบุคคลก็มีมากว่า ฉะนั้นข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การที่เราจะไปบอกว่าคุณต้องเป็นนิติบุคคล อาจจะต้องดูความพร้อมของผู้ประกอบการด้วย อย่างร้านอาหาร เขาขายทุกวันเขาก็มีกำไรส่วนหนึ่งแล้ว อยู่ดีๆ จะให้เขาเป็นนิติบุคคล เขาก็ต้องมานั่งขายก๋วยเตี๋ยวชามนึงวันนี้ขายได้กี่ชาม บะหมี่ต้นทุนเท่าไหร่ กำไรขาดทุนเท่าไหร่ต่อเดือน ก็อาจจะไม่มีความพร้อมขนาดนั้น

Q : วันนี้ในฐานะประธานสมาพันธ์มีอะไรอยากบอกถึงเอสเอ็มอี

     คืออย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เราก็มีทางหน่วยงานภาครัฐ และมีการเชื่อมโยง แล้วก็สิ่งหนึ่ง ที่อยากจะให้เขาเข้ามาอยู่ในสมาพันธ์เอสเอ็มอี เข้ามาเป็นสมาชิกของเรา คือการเข้าถึงแหล่งข้อมูล เราเข้าไปถึงก่อนเราก็มีโอกาสก่อน ไม่มีโอกาสที่ไหนมาเคาะประตูเรียกเรา เราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเส้นทางที่โอกาสมันวิ่งเข้ามา ในแชนแนลของสมาพันธ์เอสเอ็มอี เราก็จะรวบรวมข้อมูล เรื่องของโอกาสดีๆนโยบายภาครัฐ หรือปัญหาต่างๆของผู้ประกอบการ เข้าไว้ด้วยกัน เอสเอ็มอีในแต่ละจังหวัดถ้าต้องการเป็นสมาชิกก็สามารถที่จะติดต่อสมาพันธ์ในแต่ละจังหวัดได้เลย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล