เรียนรู้ทักษะการเป็นสุดยอดผู้นำ จากบิดาแห่งปรมาณู ผู้คุมโปรเจกต์สะเทือนโลก ‘Oppenheimer’

TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์

Main Idea

  • ‘เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ ถูกเลือกให้เป็นผู้คุมโปรเจกต์สร้างระเบิดปรมาณู ไม่ใช่เพราะเก่งที่สุด แต่เพราะเขาเป็นคนฉลาด มีความรู้กว้างขวาง ชอบตั้งคำถาม ศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับงานทุกอย่าง

 

  • และมีทักษะสำคัญ คือ เชื่อมคนไว้ด้วยกัน เขารวมกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดและมีความสามารถมากที่สุดในยุคนั้นเข้าด้วยกันได้ และยังสร้างแรงบันดาลใจ ผลักดัน สนับสนุนให้แต่ละคนทำงานของตัวเอง โดยให้ความสำคัญกับสมดุลในการงานและชีวิต

 

     แม้จะเพิ่งลาโรงไป แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่มีผู้สนใจติดตาม รวมถึงฝากแง่คิดดีๆ เอาไว้มากมาย

     Oppenheimer เป็นผลงานภาพยนต์เรื่องล่าสุดของ “คริสโตเฟอร์ โนแลนด์” ผู้กำกับตัวพ่อแห่งฮอลลีวูดยุคนี้ ได้พาเราไปทำความรู้จักกับชีวิตของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอเมริกัน ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างระเบิดปรมาณูในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

     ระเบิดปรมาณู เริ่มต้นจากแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ลี้ภัยอยู่ในอังกฤษ ต่อมา อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีสหรัฐ เรื่องงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากยูเรเนียม มีการออกแบบระเบิดที่มีอานุภาพสูงสุด สงครามยุคใหม่กำลังจะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อวิจัยเรื่องนี้ ก่อนที่ฝ่ายนาซีจะทำสำเร็จ

     เป็นที่มาของโครงการลับสุดยอดที่ชื่อว่า “โปรเจกต์แมนฮัตตัน” ซึ่งออปเพนไฮเมอร์ได้รับเลือกให้มาคุมห้องปฏิบัติการของโครงการนี้ เปรียบเสมือนการสร้างและบริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่รวบรวมบุคลากร นักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับหัวกะทิ 6,000 คน เกิดการจ้างงานมากถึง 130,000 อัตรา ทุ่มเงินลงทุนไป 2,200 ล้านดอลลาร์ในยุคนั้น

     หลังจากใช้เวลา 3 ปี ก็มีการทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งแรกในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 พบว่ามีอานุภาพเกินกว่าที่คาดคิดไว้มากมายนัก รายงานของกระทรวงกลาโหมอธิบายถึงการระเบิดไว้ว่า "เมืองทั้งหมดสว่างจ้าด้วยแสงสว่างกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงหลายเท่า แสงนี้มีสีทอง ม่วง และน้ำเงิน สอดส่องและแทรกไปทั่วทุกหุบเขาและซอกเขาต่าง ๆ จนดูสว่างไสวงดงามอย่างที่บรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ต่อจากนั้นประมาณ 30 วินาทีแรงอัดอากาศก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและทันทีทันใด ติดตามด้วยเสียงหนักแน่นติดต่อกัน ขณะเดียวกันนั้นกลุ่มเมฆใหญ่มหึมาก็ลอยขึ้นสู่เบื้องบน การระเบิดทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ตรงจุดระเบิด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งไมล์" ออปเพนไฮเมอร์ผู้ชอบอ่านกวีนิพนธ์ภาษาสันสกฤตก็ได้เอ่ยถ้อยคำจากคัมภีร์ภควัทคีตาว่า “บัดนี้ข้า คือ ความตาย คือผู้ทำลายล้างโลก” และยังพบความเป็นไปได้ในการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจน

     ออปเพนไฮเมอร์สนับสนุนการทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ฮิโรชิมา ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ แต่เขาคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ระเบิดลูกที่สอง อย่างไรก็ดีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว การฉลองชัยชนะผ่านไป รัฐบาลมุ่งพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่มีอานุภาพร้ายแรงกว่าซึ่งออปเพนไฮเมอร์ไม่เห็นด้วย ต่อมาเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หลังเผชิญการสอบสวนอันยาวนาน เขาพ้นข้อกล่าวหา แต่ก็ต้องออกจากงานราชการ เขาหลบไปใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่กับครอบครัวบนเกาะในทะเลแคริบเบียนจนกระทั่งจากไป

     หากเทียบกับโลกธุรกิจ ออปเพนไฮเมอร์เป็นซีอีโอที่บริหารโครงการขนาดใหญ่ให้บรรลุเป้าหมาย เรามาดูว่าเขามีคุณสมบัติอะไรบ้าง ปล่อยบทเรียนจากออปเพนไฮเมอร์สามารถนำไปใช้กับโลกธุรกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการบริหาร ภาวะผู้นำ และการตัดสินใจ

1.ความรู้รอบด้าน ทักษะในการสื่อสาร และความทะเยอทะยาน

     ออปเพนไฮเมอร์ถูกเลือกมารับหน้าที่คุมโปรเจกต์แมนฮัตตัน เพราะความรู้ทางฟิสิกส์นิวเคลียร์ เข้าใจในการออกแบบและวิธีการสร้างระเบิดปรมาณู และสิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างไปจากนักวิทยาศาสต์คนอื่นๆ ก็คือ ความทะเยอทะยาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันโครงการให้สำเร็จได้ ออพเพนไฮเมอร์มีความโดดเด่นจากนักฟิสิกส์ทั่วไป งานวิจัยและการคำนวณของเขามีบทบาทต่อควอนตัมฟิสิกส์และดาราศาสตร์ ส่งอิทธิพลต่อการตั้งทฤษฎีเพื่อคาดการณ์สิ่งต่างๆ ตั้งแต่นิวตรอนไปจนถึงหลุมดำ เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลหลายครั้ง แต่ไม่เคยชนะเลยสักครั้ง

2.ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

     สถานที่ตั้งห้องทดลองสำหรับโครงการที่ลับสุดยอด ต้องห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก หลายคนคิดว่าการแยกจากครอบครัวจะทำให้งานสำเร็จได้เร็วขึ้น แต่ออปเพนไฮเมอร์คิดว่าความสมดุลระหว่างชีวิตและการงานเป็นสิ่งจำเป็น หากมีครอบครัวอยู่ด้วย การทำงานจะมีประสิทธิผลมากขึ้น ดังนั้นเขาจึงสร้างชุมชนสำหรับพนักงานโครงการและครอบครัวขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดี เป็นที่มาของการสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่ ลอส อลาโมส เมืองลึกลับที่มีการคุ้มกันอย่างเข้มงวด นักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางไปอยู่เมืองใหม่นี้ เหมือนหายตัวไปจากโลก

3.เลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะที่สุดให้มาทำงาน

     โดยไม่มีการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งความสำเร็จส่วนใหญ่ของโครงการแมนฮัตตันมาจากนักฟิสิกส์จำนวนมากที่มีเชื้อสายยิว รวมถึงตัวออปเพนไฮเมอร์เองด้วย เหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายนาซีล้าหลังอเมริกาในการพัฒนาระเบิดปรมาณู ก็เพราะไม่ยอมให้คนยิวทำงานอยู่ในโครงการของพวกเขา

4.งานที่สำคัญที่สุดของผู้นำคือปล่อยให้คนที่มีความสามารถทำงานตามความถนัด

     เมื่อเรารู้จุดอ่อนของตัวเอง เราสามารถหาคนที่มีจุดแข็งที่เขามาเติมเต็มส่วนนี้ได้ การทำงานร่วมกับผู้ที่มีทักษะด้านอื่น จะช่วยขยายขอบเขตความเชี่ยวชาญออกไป ออปเฟนไฮเมอร์รู้ว่าใครมีความสามารถทางด้านไหนหรือทำอะไรได้ดี ดังนั้นเขาจะมอบหมายให้คนอื่นรับงานส่วนที่ตัวเองไม่ถนัดไปทำ

5.รับข้อมูลที่จำเป็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และทำหน้าที่ตัดสินใจเรื่องยากๆ ตีแตกปัญหาด้วยความเฉียบคม

     ในฐานะผู้ควบคุมเชิงทฤษฎี เขาเก็บทุกรายละเอียด เข้าไปร่วมการทดลองด้วยตัวเองเสมอ ทุกครั้งที่มีปัญหาในการวิจัย เขาสามารถตีแตกปัญหาได้อย่างเฉียบคม แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ทำให้โครงการนี้ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง สามารถถ่ายทอดแนวคิดที่ซับซ้อน ไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างชัดเจน มีความสามารถในการรับมือสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง และมีการตัดสินใจเลือกที่เด็ดขาด

6.สร้างการมีส่วนร่วมและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

     ออปเพนไฮเมอร์เป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการทีมงานที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งสายงานที่แตกต่างกัน ทักษะในการสื่อสาร เป็นพื้นฐานของการเป็นผู้นำ ออปเพนไฮเมอร์รับหน้าที่ทั้งเคลียร์ปัญหาระหว่างนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรจากกองทัพ บริหารนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิ 6,000 คนให้ทำงานร่วมกันได้ ในจำนวนนั้นมีนักฟิสิกส์ระดับรางวัลโนเบลหลายคนด้วย เป็นตัวอย่างของผู้นำที่นำพาโครงการให้บรรลุเป้าหมายได้ เขามีศิลปะการสื่อสารที่สร้างการมีส่วนร่วมและสร้างแรงบันดาลใจให้เป็นตัวขับเคลื่อนให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างกระตือรือร้น

     ออปเพนไฮเมอร์เป็นตัวอย่างของการ สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร การทำงานร่วมกันและการทำงานเป็นทีม  การทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากภูมิหลังที่แตกต่าง เขาควบคุมมุมมองที่หลากหลาย เพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน    ออปเพนไฮเมอร์ไม่เพียงแค่รวมกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เฉลียวฉลาดและมีความสามารถมากที่สุดในยุคนั้นเข้าด้วยกันแต่เขายังสร้างแรงบันดาลใจ แรงผลักดัน รวมไปถึงจัดสรรหน้าที่และสนับสนุนให้พวกเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไปได้  เขาใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีในการประกอบการตัดสินใจแต่ละครั้ง  ผ่านบรรยากาศเฉพาะในการทำงานที่มีทั้งความกระตือรือร้นและท้าทาย ความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อม ความสมดุลในการงานและชีวิต ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสภาพแวดล้อมของการทำงานร่วมกัน

7.ต้องตระหนักถึงผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมอยู่เสมอ

     ออปเพนไฮเมอร์เป็นผู้ที่ทำให้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเขาเห็นความเลวร้ายของอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้ สงครามโลกยุติ เขาหันมารณรงค์ให้จำกัดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในระดับนานาชาติและไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่อานุภาพรุนแรงกว่า เขาบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์และจริยธรรม จนกระทั่งเสียชีวิตไปในปี 1967  

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล