TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
Main Idea
- “Ve-Chick” เนื้อไก่จำแลง และ Ve-Sea (วีซี) ลูกชิ้นทะเลจากโปรตีนพืช คือ 2 นวัตกรรม Plant Based Food ใหม่ล่าสุด จากสวทช. ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อเพิ่มโอกาสธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย
- จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูรายละเอียดพร้อมกัน
ยังคงเป็นกระแสที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง สำหรับ Plant Based Food หรืออาหารโปรตีนจากพืช จากมูลค่ารวมตลาดโลกกว่า 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2565) ถึงแม้วันนี้อาจจะดูแผ่วลงไปบ้าง แต่ด้วยปัจจัยที่ช่วยตอบโจทย์หลายข้อ ตั้งแต่กินเพื่อสุขภาพดี, ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภค ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร เพื่อทดแทนภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคตจากประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นได้ จากที่กล่าวมาจึงเป็นเหตุผลทำให้แพลนต์เบสน่าจะได้ไปต่อ รวมถึงสร้างโอกาสให้กับธุรกิจอีกมากมาย
ด้วยเหตุนี้ สวทช หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงได้คิดค้น 2 นวัตกรรมโปรตีนจากพืชรูปแบบใหม่ เพื่อเติมโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ไทย นำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้ในรูปแบบของ Ve-Chick (วีชิค) เนื้อไก่จำแลง และ Ve-Sea (วีซี) ลูกชิ้นทะเล ที่ผลิตจากโปรตีนพืชด้วยกันทั้งคู่ รายละเอียดจะน่าสนใจแค่ไหน ลองมาฟัง ดร. กมลวรรณ อิศราคาร นักวิจัยทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค สวทช. หนึ่งในหัวหน้าทีมผู้คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวเล่าให้ฟังกัน
Ve-Chick 2 นวัตกรรมเนื้อไก่-ผงไก่จากโปรตีนพืช
“ต้องเกริ่นก่อนว่าที่เราตัดสินใจมาทำวิจัยด้าน Plant Based Food เพราะเห็นแนวโน้มมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้วว่าตลาดต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ผู้คนเริ่มกังวลว่าอาหารอาจจะไม่เพียงพอกับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทางทีม MTEC หรือศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาตอบโจทย์ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพการแข่งขันให้ SME ไทย โดยเราเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่อยู่ในแพลตฟอร์มชื่อว่า “FoodSERP” (Service Platform for Food & Functional Ingredients) ให้บริการผลิต วิเคราะห์ ทดสอบอาหาร และส่วนผสมฟังก์ชัน
“ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่เราคิดค้นขึ้นมามีชื่อว่า “Ve-Chick” เปิดตัวขึ้นครั้งแรกในงาน NAC 2021 เราทำออกมา 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกที่ทำออกมาก่อน คือ 1.เนื้อไก่จากโปรตีนพืชแช่เยือกแข็ง สามารถปรุงเป็นเนื้อไก่ เพื่อนำไปปรุงเป็นเมนูต่างๆ และ 2.เนื้อไก่จากโปรตีนพืชปราศจากกลูเตนในรูปแบบผงพรีมิกซ์ปราศจากกลูเตน ตัวนี้ถือเป็นไฮไลต์เลย เราเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทยในขณะนี้ที่สามารถทำขึ้นมาได้ ความพิเศษ คือ สามารถนำไปผสมน้ำหรือน้ำมัน จะได้เป็นเนื้อไก่พร้อมนำไปประกอบอาหาร ซึ่งสามารถเก็บได้นาน ไม่ต้องแช่เย็น และขึ้นรูปได้ตามที่ต้องการ
“ซึ่งปัจจุบันเราถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 3 ราย โดยพยายามเลือกโมเดลธุรกิจให้ไม่เหมือนกัน เพื่อป้องกันการแข่งขันกันเอง ได้แก่ บริษัท ปรายา ควอลิตี้ จำกัด เป็นบริษัท OEM รับจ้างผลิต, บริษัท กรีน สพูนส์ จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และบริษัท บี ไอ จี เนเชอรัลกรีน จำกัด เป็นผู้ผลิตและขายอาหารเจมาก่อน ผลตอบรับจากทั้ง 3 บริษัทถือว่าดีมาก โดยเฉพาะผงพรีมิกซ์ เพราะยังไม่มีในท้องตลาดในไทย หรือแม้แต่ตลาดโลกเองก็มีอยู่น้อย ทำให้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเขาได้”
Ve-Sea ต่อยอดโอกาสอาหารทะเลจากพืช ช่องว่างตลาดที่ยังมีอยู่อีกมาก
โดยนอกจาก Ve-Chick ทั้ง 2 ชนิดแล้ว ในปีนี้ เอ็มเทค สวทช. ได้มีการพัฒนานวัตกรรม Plant based food ล่าสุดขึ้นมาใหม่อีกชนิด ได้แก่ “Ve-Sea” หรือลูกชิ้นทะเลจากโปรตีนพืช ซึ่งจะเปิดตัวครั้งแรกในงาน Plant Based Festival 2023 วันที่ 1-3 กันยายน 2566 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ที่จะถึงนี้
“ในปีนี้เรากำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกมาอีกหนึ่งตัว ชื่อว่า “Ve-Sea” เป็นลูกชิ้นจากโปรตีนพืช ซึ่งสามารถปรับกลิ่น รส และเนื้อสัมผัสให้เหมือนกับลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง หรือปลาหมึกได้ ไปจนถึงเส้นปลา ฮือก้วย ฯลฯ ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างทางเลือกการบริโภคเนื้อจากพืชให้กับผู้บริโภคที่มากขึ้น ไปจนถึงโอกาสใหม่ในการทำธุรกิจ ซึ่งในตลาดโลกสัดส่วนของ Plant Based Seafood นั้นมีอยู่แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นจึงมีโอกาสอยู่อีกมาก”
ดร.กมลวรรณอธิบายว่าทั้ง Ve-Chick และ Ve-Sea นั้นต่างก็ใช้นวัตกรรมการผลิตที่เรียกว่า “Blending” หรือ เทคโนโลยีการผสมด้วยกันทั้งคู่ เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมา โดยผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรและกระบวนการการผลิตแบบเดิมที่มีอยู่ได้เลย ไม่ต้องลงทุนใหม่ เพียงแต่ต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติขององค์ประกอบแต่ละตัว ในการทำหน้าที่เพื่อให้ได้โครงสร้างและเนื้อสัมผัสที่ต้องการได้
“ทั้งวีชิคและวีซีผลิตมาจากโปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นหลัก โดยเทคโนโลยีที่เรานำเสนอทั้งสองตัวนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับเครื่องจักรและกระบวนการผลิตอาหารแบบเดิมที่มีอยู่ได้เลยในกรณีที่มีเครื่องจักรอยู่แล้ว เป็นการทำให้เขาสามารถเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจได้ โดยนำนวัตกรรมของเราไปปรับใช้ สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองขึ้นมาได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองเท่านั้น เป็นสตาร์ทอัพก็ทำได้ ขอแค่มีไอเดีย สร้างแบรนด์ ทำการตลาด สามารถจ้างผลิตแทนก็ได้”
นอกจากนวัตกรรม V-Chick และ V-Sea แล้ว สวทช. ยังมีผลิตภัณฑ์ “M-Pro jelly drink” เครื่องดื่มเจลลี่โปรตีนสูงเสริมแคลเซียมที่ผลิตจากโปรตีนถั่วเขียว ที่มีการปรับเนื้อสัมผัสความหนืดให้เหมาะกับผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะกลืนลำบากด้วย นอกจากนวัตกรรมที่กล่าวมา ผู้ประกอบการยังสามารถมาใช้บริการอื่นๆ จากทางเอ็มเทคได้ด้วย อาทิ การทดสอบ ตรวจสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์, การทำสินค้าตัวอย่าง ไปจนถึงขอคำปรึกษาเบื้องต้นแบบ One Stop Service
“ถึงไม่ได้เข้ามาช้อปงานวิจัยจากเรา ไม่ได้ให้เราทำ R & D ให้ ก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษา ไปจนถึงการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนทดลองออกสู่ตลาดได้ เราพร้อมให้บริการผู้ประกอบการไทยทุกคน นอกจากนี้อยากฝากเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจ Plant Based Food ตอนนี้เรามีงานวิจัยอีกหนึ่งตัวที่น่าสนใจเป็นนวัตกรรมขั้นสูงขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งในการทำเนื้อสัมผัส หรือ Plant Based Meat ให้ฉีกออกมาเป็นเส้นๆ คล้ายโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้
"โดยใช้เทคโนโลยีเอ็กซ์ทรูชันความชื้นสูงที่เรียกว่า “High Moisture Meat Analogue” เพื่อลื้อและจัดเรียงตีโปรตีนจากพืช ซึ่งมีโครงสร้างเป็นก้อนกลมให้สามารถฉีกออกมาเป็นเส้นๆ แบบโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ โดยนอกจากองค์ความรู้และสูตร ตอนนี้ทางเอ็มเทคเรามีเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์สกูรคู่ (ขนาดการผลิต 10-15 กิโลกรัม/ชั่วโมง) พร้อมให้บริการสำหรับทดลองสูตร และมองหาผู้ผลิตที่พร้อมร่วมวิจัยขยายกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป” ดร.กมลวรรณกล่าว
อยากไปต่อตลาดนี้ ต้องทำยังไง?
สุดท้ายสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจในตลาด Plant Based Food ดร.กมลวรรณได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า
“สำหรับตลาดแพลนต์เบสฟู้ดมองว่ายังไปได้อีกไกลเลย ไม่ใช่แค่กระแส เพราะมีหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ไม่มีคอเลสเตอรอล คนแพ้นมวัว แพ้อาหารทะเลสามารถกินได้ ด้านสิ่งแวดล้อม ก็ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหารเอง แพลนต์เบสก็ช่วยทดแทนการขาดแคลนอาหารในอนาคตได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เทรนด์
“แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจแพลนต์เบสระมัดระวังกันมากขึ้น ก็คือ ถึงจะผลิตมาจากโปรตีนพืช แต่ทุกวันนี้ผู้บริโภคโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นว่า สรุปแล้วแพลนต์เบสที่ทำออกมานี้ ดีต่อสุขภาพจริงไหม ผลิตมาจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ปลอดภัยหรือเปล่า มีการเริ่มมองหาแพลนต์เบสที่เป็น “Clean label” หรือฉลากที่สะอาด ไม่ใช้วัตถุเจือปนอาหารในปริมาณที่มากเกินไป โอกาสอีกอย่างสำหรับตลาดในบ้านเรา ก็คือ ทุกวันนี้มีแบรนด์แพลนต์เบสถูกผลิตออกมามาก แต่ยังขาดโรงงานผู้ผลิตวัตถุดิบที่จำเป็น เราต้องนำเข้าโปรตีนพืช, ไฟเบอร์, สารไฮโดรคอลลอยด์ (สารเพิ่มความหนืด) และส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็นจำนวนมาก ปีๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากมีผู้ประกอบการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ได้ นอกจากเป็นโอกาสที่น่าสนใจแล้ว ยังช่วยให้ตลาดแพลนต์เบสไทยเติบโตขึ้นได้อีกเยอะเลย” ดร.กมลวรรณกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้
ข้อมูลติดต่อ FoodSERP |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี