TEXT : กองบรรณาธิการ
Main Idea
- Circular Economy หรือ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” คือ โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่หลายองค์กรและหลายแบรนด์ธุรกิจต่างหันมาให้ความสำคัญ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการสร้างมูลค่าให้ธุรกิจ
- แต่ต้องทำแบบไหนถึงจะเกิดเป็นรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน ธุรกิจไปต่อได้ สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟู
- วันนี้จะชวนมาดูตัวอย่างการทำธุรกิจที่ทำให้เกิดการนำทรัพยากรมาใช้แบบหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุด กับ ‘moreloop’ แพลตฟอร์มขายผ้าเกิน หรือ ผ้าเหลือ จากโรงงานต่างๆ ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ที่นับวันก็ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมต่างออกมาช่วยกันหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ลดความรุนแรงจากผลเสียที่อาจตามมา โดยหลายครั้งอาจนำมาซึ่งแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ จนเกิดเป็นโอกาสให้กับหลายธุรกิจได้แจ้งเกิด
‘moreloop’ แพลตฟอร์มขายผ้าเกิน หรือ “ผ้าเหลือ” จากโรงงานต่างๆ ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง คือ หนึ่งตัวอย่างธุรกิจที่น่าสนใจที่สามารถใช้โอกาสจากช่องว่างปัญหาที่เกิดขึ้น นำมาสร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ โดยการใช้แนวคิด Circular Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน นำผ้าเหลือคุณภาพดีจากการสั่งผลิตมาเกิน ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งอย่างคุ้มค่า ทำอย่างไรจึงจะหาโอกาสธุรกิจได้แบบนี้บ้าง อมรพล หุวะนันทน์ CEO แห่ง moreloop จะมาถอดความคิดให้ฟัง
Circular Economy โอกาสธุรกิจสายกรีน
ยังมีที่ว่างเหลือกว่า 90%
“ตั้งแต่หลังสงครามโลกในปี 1950 เป็นต้นมา รายได้ต่อหัวของทุกๆ คนบนโลกดีขึ้น พอไม่มีสงคราม มนุษย์อยู่กันอย่างสงบ จึงมีการผลิตลูกหลานมากขึ้น จากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเรามีประชากรประมาณ 3,000 ล้านคน แต่ ณ ปัจจุบันเรามีประชากรบนโลกกว่า 8,000 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า การขุดนำทรัพยากรต่างๆ ที่มี เพื่อผลิตเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จึงเยอะขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบเส้นตรง คือ “ขุด ผลิต ใช้ ทิ้ง” ไม่มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ ทำให้ทรัพยากรร่อยหรอ ขยะเพิ่มมากขึ้น สมดุลในสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปถึงขั้นรุนแรง เราจึงเริ่มหันกลับมามองในระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Circular Economy” หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสหภาพยุโรปได้ให้ความหมายไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ทำยังไงให้ทรัพยากรอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 2.ทิ้งให้น้อยที่สุด และ 3.การนำกลับมาหมุนเวียนให้ใช้ได้หลายๆ รอบ
“จนถึงปัจจุบันนี้แม้เราจะเริ่มหันมามองการใช้อย่างหมุนเวียนกันมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มีการขุดขึ้นมาใช้กัน เรามีการหมุนเวียนกลับไปเพียงแค่ 9.1% (ข้อมูลจาก : Circularity Gap Report) ที่เหลืออีก 90% คือ ทิ้งหมด ซึ่งหากลองมองในมุมกลับ นำมาคิดเป็นโอกาสในการทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แสดงว่าเรายังเหลือโอกาสมากถึง 90% เพื่อรอให้เข้าไปเติมเต็ม และช่วยแก้ไขปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกทำในจุดไหน โดยหากคิดเป็นโอกาสในธุรกิจด้านนี้ว่ากันว่ามีมูลค่าถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญ เทียบเท่ากับ GDP ประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดรวมกันเดียว ซึ่งหากสามารถทำได้สำเร็จเราจะสามารถจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ถึง 60 ล้านอัตราเป็นอย่างน้อย ดังนั้นการลงทุนใน Circular Economy จึงเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่น่าลงทุนมากที่สุดในยุคนี้ เพราะยังมีโอกาสเหลืออยู่อีกมาก เป็นสิ่งที่ทั่วโลกขาดแคลนและต้องการมากในขณะนี้”
moreloop โมเดล
1. มองหาช่องว่างโอกาส จากปัญหาที่เกิดขึ้น
“พูดถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เป็นจุดเริ่มต้นของ moreloop กันบ้าง มีการกล่าวไว้ว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลกเติบโตขึ้นเร็วมาก ทั้งโลกมีการผลิตเสื้อผ้าออกมาที่ 5 หมื่นล้านชิ้น จนปี 2015 มีสถิติการผลิตมากกว่าแสนล้านชิ้น และ ณ ปัจจุบันนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านชิ้น ทั้งที่เรามีประชากรบนโลกอยู่เพียงแค่ 8,000 ล้านคน โดยมีสถิติเปรียบเทียบถึงผลกระทบจากการผลิตสินค้าแฟชั่นเอาไว้มากมาย เช่น 10% จากก๊าซเรือนกระจกมาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น, ทุกๆ 1 วินาที มีการเผาเสื้อผ้าที่เหลือเท่ากับรถบรรทุกเลย, น้ำที่ใช้ปลูกฝ้ายสำหรับเสื้อยืด 1 ตัว เท่ากับน้ำดื่ม 3 ปี เป็นต้น โดยจากสถิติ 9.1% ของการหมุนเวียนทรัพยากรนำกลับมาใช้บนโลก อุตสาหกรรมแฟชั่นมีการหมุนเวียนแค่ 1 % เท่านั้น!
“จากข้อมูลที่เล่ามา ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจอยากช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่เราไปเจอมา ก็คือ ในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีผ้าเหลือที่ไม่ได้ใช้จากการผลิต ซึ่งไม่ใช่เศษผ้า แต่เป็นผ้าคุณภาพดีที่โรงงานมักผลิตมาเกินไว้ 3-5% อยู่แล้วต่อการผลิต ดังนั้นจึงทำให้ปีๆ หนึ่ง มีเศษผ้าเหลือที่ยังไม่ได้ใช้งานในประเทศไทยประมาณ 350,000 ตัน หากนำมาผลิตเสื้อก็จะได้ประมาณ 700 ล้านตัว ซึ่งถ้าทั้งโลกอาจต้องคูณเข้าไปอีก 40-50 เท่า
Secret Tip
นอกจากผ้า หากใครอยากลองเริ่มทำธุรกิจแบบ Circular Economy ผมอยากให้ลองมองไปในกระบวนการผลิต เส้นทางการเดินทางของวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งอาจเป็นแก้ว, เหล็ก หรือวัสดุอื่นๆ ลองมองดูว่ามีปัญหาหรือช่องว่างตรงไหน ที่เราพอจะนำมาแก้ไข หรือทำให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนได้ และจะเกิดขึ้นมาเป็นธุรกิจได้ในรูปแบบใดบ้าง
2. ต้องทำได้จริง
“พอเรามองเห็นช่องว่างดังกล่าว จึงเกิดไอเดียอยากเป็นตัวกลางเพื่อนำผ้าเกินเหล่านั้น ส่งต่อให้กับธุรกิจหรือแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ได้นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นจริงและยั่งยืนได้ เราก็ต้องมาดูก่อนว่าสิ่งนั้นจะสามารถทำเป็นธุรกิจได้จริงไหม มีกำไรได้หรือเปล่า ที่สำคัญ คือ สามารถสเกลอัพต่อไปในอนาคตได้หรือไม่ จะมีแหล่งวัตุดิบต่อเนื่องหรือไม่ เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่เกิดความยั่งยืน แก้ไขปัญหาไม่ได้จริง
“โดยสิ่งที่ Moreloop ทำ ทำให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนทรัพยากร คือ 1.เราใช้ Waste 100% ที่เหลือตกค้างในโรงงานต่างๆ 2.เราตัดวงจรเพาะปลูก ปั่น ทอ ฟอก ย้อมไปทั้งหมด เพื่อให้เหลือคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาน้อยกว่า 5% ของทั้งกระบวนการผลิตเสื้อผ้า การที่เราตัดวงจร คือ ใช้ของเหลือ ไม่ต้องผลิตใหม่ ทำให้ประหยัดพลังงานไปได้มาก โดยรูปแบบธุรกิจของ moreloop จะมีลักษณะคล้ายกับ Airbnb คือ เป็นตัวกลางรวบรวมของเหลือมาทำให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อฝั่งเจ้าของธุรกิจและลูกค้า Airbnb รวบรวมห้อง เราก็รวบรวมผ้าจากโรงงานผลิตต่างๆ ”
3. เพิ่มช่องทางหารายได้
“ปัจจุบันเรามีโรงงานที่มาร่วมกับเรามากกว่า 70 แห่ง มีผ้ามากกว่า 3,000 ชนิด สิ่งที่เราทำ คือ เอาข้อมูลพวกนี้มาใส่บนเว็บไซต์ แต่การรวบรวมอย่างเดียวไม่น่าจะเป็นธุรกิจได้ เราคิดวิธีหารายได้ 3 วิธีจากการรวบรวมผ้า คือ 1) การขายผ้าเป็นวัตถุดิบ ให้คนอยากมาเริ่มต้นธุรกิจ หรือทำโปรเจกต์พิเศษมาซื้อผ้าจากพวกเรา ซึ่งหลายชิ้นเป็นผ้าคุณภาพดีจากแบรนด์ดัง ปัจจุบันเรามีลูกค้าประมาณ 200 เจ้าที่มาใช้ทรัพยากรจากที่เรารวบรวมมา 2) ผลิตสินค้าจากผ้าเหลือภายใต้แบรนด์ moreloop เพื่อขายตรงให้กับลูกค้า หรือรับทำเป็นของชำร่วยให้หน่วยงานและบริษัทต่างๆ และ 3) นำไปใช้ตกแต่งประดับตามอีเวนต์ต่างๆ โดยความพิเศษการซื้อผ้าจากเรามาใช้ คือ เราสามารถบอกลูกค้าได้ว่า ผ้า 1 ชิ้นที่เขาซื้อไปใช้นี้ สามารถช่วยลดการผลิตคาร์บอนไปได้เท่าไหร่ ถ้าเทียบกับการขับรถจะเท่ากับกี่กิโลเมตร”
ผลลัพธ์ความยั่งยืน
“moreloop เราเริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี 2018 เริ่มต้นจากการระบายผ้าเพียง 600 กิโลกรัม มีสะดุดไปบ้างในช่วงโควิด แต่จนปัจจุบันปี 2022 ที่ผ่านมา เราสามารถระบายผ้าจากของเหลือให้นำกลับเข้าไปใช้หมุนเวียนในระบบได้มากถึง 50,000 กิโลกรัม จนถึงทุกวันนี้ใกล้ถึง 60,000 กิโลกรัมแล้ว หากตีออกมาเป็นตัวเสื้อก็ได้เกิน 3 แสนชิ้นแล้ว นอกจากสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ การที่เขาได้ใช้ผ้าของเราจะทำให้มีคนเข้าใจและเห็นในสิ่งที่เราทำมากขึ้น ซึ่งหากตีเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ประหยัดไปได้ จนถึง ณ ตอนนี้ เราทำไปได้กว่า 870,000 คาร์บอน เทียบเท่าการขับรถ 165 รอบโลกทีเดียว”
เรียบเรียงจาก : งานสัมมนา “เพิ่มศักยภาพ SME ไทย ด้วยแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)” กรุงเทพฯ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี