TEXT : Nitta Su.
Main Idea
3 เคล็ดลับบริหารธุรกิจครอบครัวโตแบบยั่งยืน
- พูดคุยกันให้เยอะขึ้น
- หาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาช่วยบริหาร
- สร้างธรรมนูญบ้าน - ธรรมนูญธุรกิจให้ชัดเจน
ครอบครัว คือ รากฐานสำคัญของการสร้างคนคุณภาพออกสู่สังคม แต่ขณะเดียวกันยังเป็นฐานรากให้ธุรกิจเติบโตได้เช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจในลักษณะที่เป็น “Family Business” การเกาะกันไว้ให้เหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็หาจุดลงตัวของความคิดเห็น คือ วิธีสร้างธุรกิจครอบครัวที่แข็งแกร่ง
เพื่อให้เห็นภาพตัวอย่างชัดเจนขึ้น เรามีตัวอย่างจากธุรกิจครอบครัวหลักพันล้าน ที่เริ่มต้นจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเล็กๆ ในจังหวัดราชบุรีที่ทรานฟอร์มธุรกิจจนเติบโตกว่า 1,700 ล้านบาท (พฤษภาคม ปี 2566) และวางเป้าหมายเป็นบริษัท 2,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ให้ได้ โดยผ่านมุมมองจากทายาทรุ่น 3 ปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด
คุยกันให้เยอะขึ้น
“เราเป็นธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นมาประมาณ 50 กว่าปี ปัจจุบันดูแลบริหารธุรกิจโดยรุ่นที่ 2 คือ คุณพ่อ และน้องๆ อีกหลายคน รวมถึงผม ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 โดยช่วงแรกผมออกไปทดลองทำงานทำธุรกิจข้างนอกด้วยตัวเองก่อน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมาช่วยที่บ้าน ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นมากจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังแห่งหนึ่ง จนมีการปรับ Mindset จากโรงงานผลิตแป้งกลายมาเป็น Food Texture Solution โดยนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ ทำให้เราสามารถเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ในระยะเวลา 5 ปี เราสามารถขยับจาก 1,000 ล้านบาท เป็นเกือบ 2,000 ล้านบาทได้
“โดยเราเป็นธุรกิจครอบครัวโดยคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะก่อตั้งมาแล้วครึ่งศตวรรษ แต่เราก็พยายามปรับองค์กรให้มีความทันสมัยมากขึ้น ปัญหาหนึ่งที่เราพบในการทำธุรกิจครอบครัว คือ บางทีเราก็ไม่ค่อยคุยกัน พอไม่คุยก็จะไม่เข้าใจ จนอาจเป็นสาเหตุให้ทะเลาะกันได้ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น บวกกับตอนนี้เราหันมาจับกลุ่มผู้ประกอบการคนไทยมากขึ้น เราจึงย้ายออฟฟิศจากราชบุรี มาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยตัวออฟฟิศเราได้มีการออกแบบรูปแบบใหม่ ผู้บริหารทุกคนก็จะมารวมกันอยู่ที่นี่ โดยจะทำเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ได้มีโต๊ะหรือห้องส่วนตัวของผู้บริหารแต่ละคนเหมือนแต่ก่อน แต่มีเป็นโต๊ะกลาง เพื่อให้ผู้บริหารได้นั่งรวมกัน คุยกันมากขึ้น เวลาคนหนึ่งพูดอะไร ทุกคนก็ได้ยินกันหมด เป็นการปรับวัฒนธรรมองค์กรไปในตัว แรกๆ อาจจะยากสักหน่อย ไม่ค่อยชิน แต่เราเชื่อว่าเป็นวิธีที่ทำให้ดีขึ้นได้”
หาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาช่วยบริหาร
“ถึงจะเป็นธุรกิจครอบครัว แต่เรามีเป้าหมายชัดเจนว่าจะไม่ยึดติดว่าฝ่ายบริหารต้องเป็นคนในครอบครัวทั้งหมด ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลของรุ่น 2 เราพยายามลดบทบาทของการเป็นเจ้าของลง โดยพยายามลดดึงคนเก่งๆ ให้เข้ามาทำงานด้วย ซึ่ง Professional แต่ละคนที่เข้ามา ก็ไม่ไว้หน้าเราเหมือนกัน ถ้าเราทำอะไรที่ไม่โอเค ผิดพลาด เขาก็กล้าว่าต่อหน้าเลย เหมือนเราเป็นพนักงานคนหนึ่ง ไม่ใช่เจ้าของ ที่เขาพูดตรงๆ ก็เพื่อให้เราพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
“ข้อดีของการมี Professional เข้ามาอีกอย่าง คือ เป็นมีคนกลางมาช่วยตัดสินใจด้วย บางทีเราคุยกันเองอาจหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะต่างคนก็ต่างมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งแต่ละคนก็มีความคิดของตัวเอง ถูกในมุมของตัวเอง แต่การมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาด้วย เขาจะคุยด้วยหลักการ มีเหตุมีผล และประสบการณ์ ก็ทำให้ทุกคนสามารถยอมรับฟังได้ ซึ่งทุกวันนี้ในบอร์ดกรรมการของเราจะมีผู้บริหารทั้งหมด 7 คน เป็นผู้บริหารจากฝั่งครอบครัว 4 ท่าน อีก 3 ท่านที่เหลือมาจากฝั่งผู้เชี่ยวชาญ”
สร้างธรรมนูญบ้าน - ธรรมนูญธุรกิจให้ชัดเจน
“ข้อสุดท้าย ผมมองว่าสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้ยั่งยืน คือ เราต้องมีธรรมนูญบ้าน และธรรมนูญธุรกิจ เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ตระกูลผมมีสมาชิกทั้งหมดราว 32 คน ก็เป็นช่วงเวลาเหมาะสมกับการทำธรรมนูญครอบครัวในวันนี้ โดยหลักการจะมี 3 วง คือ ใครเป็นคนรันธุรกิจ, ใครเป็นผู้ถือหุ้น, ใครเป็นสมาชิกในครอบครัว แต่ละคนบทบาทไม่เหมือนกัน อย่างผมทำงานที่บ้าน ก็เป็นทั้งผู้ถือหุ้นและสมาชิกในบ้าน บทบาท คือ ถ้าอยู่ในบ้านก็เป็นสมาชิกในครอบครัว ถ้าอยู่ในธุรกิจก็ต้องดูแลพนักงาน เป็นต้น
“ในส่วนของการทำธรรมนูญเราจะแบ่งทีมผู้ดูแลเป็น 2 ส่วนชัดเจนเลย คือ 1.ทีมธรรมนูญบ้าน ดูแลเรื่องครอบครัวเป็นหลัก เช่น ผลประโยชน์ของครอบครัว สิทธิของคนในบ้าน 2.ทีมธรรมนูญธุรกิจ ก็จะดูแลเรื่องธุรกิจเป็นหลัก จะแยกออกมาเลย ไม่เอามาปนกัน โดยในการจัดตั้งธรรมนูญขึ้นมาของแต่ละครอบครัว เราอาจลองดูตัวอย่างจากธรรมนูญของครอบครัวนักธุรกิจอื่นที่ประสบความสำเร็จก็ได้ แล้วลองนำมาปรับใช้กับธุรกิจของเรา วิธีนี้จะช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น มีกฎ กติกา เวลาคุยกันก็หาข้อสรุปได้ง่ายขึ้น”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี