TEXT : Neung Cch.
PHOTO : จานใบไม้ในสวน
Main Idea
- จากโครงงานส่งอาจารย์ของลูกชาย จุดประกายให้ผู้เป็นพ่อต่อยอดเป็นธุรกิจ
- ผลิตจานใบไม้ ที่ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาเผาป่าและลดฝุ่น PM 2.5
- แต่ยังกลายเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่เข้ากับเทรนด์ธุรกิจสิ่งแวดล้อม ที่ต่อยอดธุรกิจไปได้อีกไกล โดยเฉพาะออเดอร์ฝากาบหมากปิดกล่องใส่อาหารที่มีออเดอร์มากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อปี
กว่าจานใบไม้ในสวนจะได้รับการยอมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะช่วงปีแรกที่แทบขายไม่ได้เลย เพราะอุปสรรคใหญ่คือเรื่องราคาที่ถูกนำไปเปรียบเทีบบกับพลาสติกและโฟม แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เข้ารูปเข้ารอยมีกลุ่มลูกค้าเป็นโรงแรมดังๆ และยังส่งออกไปต่างประเทศได้อีกด้วย
ไอเดียธุรกิจนี้มีที่มาเป็นอย่างไร SME Thailand Online จะพาไปไขข้อสงสัยกับ ทวีศักดิ์ อ่องศิริกุล (หนึ่ง) ประธานวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ เจ้าของแบรนด์ใบไม้จานในสวน จากจังหวัดเชียงใหม่
Q : ทราบมาว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจจานใบไม้ ได้ไอเดียมาจากลูกชาย
“เดิมทีบ้านเราเป็นลูกชาวสวน พ่อแม่ทำสวนข้าวโพดมากว่า 30 ปี แล้วลูกชายของผมตอนนั้นเขาเรียนม.4 ต้องทำงานส่งอาจารย์ไปประกวดที่ต่างประเทศ มองเห็นว่าบ้านมีข้าวโพดเหลือเลยนำข้าวโพดมาอัดเป็นแผ่นขึ้นรูปเป็นตัวกันเสียง กันไฟ ขึ้นรูปเป็นฝ้า เพดาน เรามองว่าไอเดียลูกน่าสนใจ
“ประจวบเหมาะกับช่วงโควิดเราต้องปิดร้านอาหาร เลยคิดว่าจะทำอะไรดี มองเห็นเศษข้าวโพดที่บ้านที่มีเหลือเยอะมาก เลยเอาไอเดียลูกชายมาต่อยอด คือนำเปลือกข้าวโพดมาลองทับซ้อนแล้วเอาก้อนหินกดทับดู ปรากฏว่ามันขึ้นรูปได้สวยงามเลย ก็เลยเสิร์ชกูเกิ้ลหาข้อมูลว่าที่ไหนมีเครื่องปั๊มจานบ้าง ไปเจอเครื่องปั๊มจานที่สุพรรณบุรี เราลองทำใช้ในร้านอาหาร ปรากฏว่ากลุ่มลูกค้าที่เห็นเขาชอบ หลังจากนั้นทำมาเรื่อยๆ ทำใช้ในร้าน”
Q : จากที่ทำใช้เองในร้านอาหาร การต่อยอดมาเป็นธุรกิจต้องทำอย่างไรบ้าง
“ตอนแรกๆ เราก็ใช้ใบข้าวโพดทำจานแต่เนื่องจากโครงสร้างใบข้าวโพดยังแม่แข็งแรงพอ จึงมองไปที่วัสดุตัวอื่นคือ ใบตองตึงซึ่งมีความแข็งแรงเพราะทางภาคเหนือจะนำมาทำเป็นหลังคา และเป็นวัสดุที่อยู่ตามป่า ขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามแนวสันเขามีใบตองตึงจำนวนมาก และด้วยความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งว่าการเผาป่า จะทำให้เกิดผักหวาน เกิดเห็ดเผาะ ซึ่งใบตองตึงเวลาที่ร่วงลงพื้นก็จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เราก็เลยเกิดความคิดที่จะให้ชุมชนมีรายได้จากการเก็บใบตองตึงมาขายในขณะเดียวกันก็ทำให้เขาเกิดการหวงแหนทรัพยากรไม่อยากให้ใครมาเผาป่า แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีทุนไปซื้อเครื่องปั๊มจาน ไปขอความอนุเคราะห์จากมูลนิธินานาขาติสัมพันธ์ทำให้ได้งบประมาณมาซื้อเครื่องแรกราคา 45,000 บาท พร้อมกับก่อตั้ง วิสาหกิจชุมชนสร้างป่า”
Q : กระแสตอบรับจานใบไม้ในช่วงเริ่มต้นเป็นอย่างไรบ้าง
“ปีแรกๆ ยังขายไม่ได้เลย อุปสรรคหลักคือ ผลิตภัณฑ์ของเราถูกนำไปเปรียบเทียบกับพลาสติกและโฟม งานของเราเป็นงานคราฟท์ไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรม มักถูกกดราคาให้เท่ากับพลาสติกและโฟม ถูกเปรียบเทียบกับพลาสติกกับโฟมซึ่งราคาถูกกว่า ถ้าเป็นพลาสติกโฟมใบละ 2 บาทของเราใบละ 5 บาท เราเลยพยายามผลักดันผลิตภัณฑ์พวกนี้ให้ไปอยู่ในกลุ่มที่มีกำลังซื้อและสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม”
Q : วิธีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของจานใบไม้ในสวน
“เริ่มต้นเหนื่อยมากเหมือนกัน เราพยายามสร้างแบรนด์ จานใบไม้ในสวน ให้คนรู้จัก เรา เลยจัดสอนเวิร์กชอบเรื่องการทำจานใบไม้ให้หลายๆ กลุ่มวิสาหกิจทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ และต่างจังหวัด ได้มาเรียนรู้ เวลาเวิร์กชอปเราก็จะใช้จานใส่อาหารว่าง อาหารกลางวัน ให้เห็นว่าใช้งานได้จริง แล้วเราก็ไปรีวิวกับร้านอาหารต่างๆ ที่เขาสนใจ พยายามไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ รวมทั้งทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เช่น ได้ร่วมกับห้างเซ็นทรัลพัฒนา ทำถระถางจากเศษข้าวโพดและเศษวัสดุเหลือใช้จากสำนักงานห้างเซ็นทรัล เพื่อทำเป็นของขวัญของที่ระลึก”
Q : แนวโน้มธุรกิจจานใบไม้เป็นอย่างไรบ้าง
“เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการในตลาดนะ แต่เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของธรรมชาติ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการซื้อ ไม่ค่อยซีเรียสเรื่องราคาถ้าเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แล้วจานของเราไม่ใช้สารเคมีในการขึ้นรูปเลย ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าเป็นโรงแรม ร้านอาหารที่สนใจสิ่งแวดล้อมแล้ว เริ่มส่งออกไป อเมริกา กับ ออสเตรเลีย แต่ข้อจำกัดเราคือ ยังเป็นงานแฮนดเมด
“การขยายตลาดของเราคือ ไปสร้างเครือข่ายกับชุมชนที่เขามีเครื่อง มีวัตถุดิบในพื้นที่ เราจะให้เขานำผลิตภัณฑ์ที่เขาทำส่งกลับมาให้เรา ตอนนี้นอกจากจานใบไม้ ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ จานกาบหมาก กระถางทำจากเศษวัสดุเหลือใช้การเกษตร ตัวที่ออเดอร์เยอะคือ ฝากาบหมากไว้ปิดกล่องใส่อาหาร ส่งให้ต่างประเทศล้านชิ้นต่อปีที่เราได้ไปร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรรายหนึ่ง”
Q : เนื่องจากจานใบไม้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใส่อาหารจะทำอย่างไรให้กลุ่มลูกค้าไว้วางใจ
“เราได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การบริการ เรื่องการหาเชื้อโรคในจาน ได้ส่งตัวอย่างให้ทางห้องแล็บกลางที่เชียงใหม่ที่อุตสาหกรรมกลางจังหวัด ผ่านมาตรฐานที่กำหนดไว้ สามารถใส่อาหารได้ทั้งใส่ยำ ใส่อหารที่มีน้ำขลุกขลิกได้ แต่จำกัดเรื่องแม่แบบรูปพิมพ์ได้จานที่ก้นไม่ลึก”
Q : วางเป้าหมายในอนาคตไว้อย่างไร
“คิดว่าใบไม้เป็นชีวิตของเรา อยากพัฒนาสิ่งที่ low cost ให้เป็นเลอค่า พัฒนาต่อยอดให้เข้ากับยุคสมัย เช่น นำใบไม้ทำเป็นแผ่นรองเม้าส์ ยังมองไปถึงการทำโลงศพสำหรับสัตว์เลี้ยงซึ่งมีบริษัทต่างประเทศสนใจให้เราผลิตให้ และอยากทำตลาดส่งออกให้มากกว่านี้ให้ช่าวต่างชาติเห็นว่าคนไทยก็มีความคิดสร้างสรรค์”
จากของเหลือทิ้งก็เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าได้ถ้ารู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี