ไอเดียเปลี่ยนนวัตกรรมพร้อมใช้ เป็นธุรกิจที่ใช่เติบโตรับเทรนด์การค้าโลก ผ่านมุมมอง ผู้บริหาร สกสว.

TEXT : กองบรรณาธิการ

 Main Idea

  • เพื่อปลดล็อกงานวิจัยที่มักกองอยู่บนหิ้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำผลงานวิจัยกว่า 300 ผลงาน

 

  • ตอบรับเทรนด์การค้าโลกทั้ง การแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง และ Net Zero Emissions

 

  • อาทิ Powco เจลพลังงานรายแรกและรายเดียวของโลกที่ทำจากมะพร้าวน้ำหอมไทย Smart Indoor Plant โปรแกรมไฟสำหรับปลูกพืชอัตโนมัติ ให้ชมฟรีในงาน TRIUP FAIR 2023

 

     งานวิจัยต่อให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าอยู่แค่บนหิ้งก็คงไร้ประโยชน์ เพื่อให้งานวิจัยของไทยที่มีมากมายได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งการต่อยอดการวิจัยและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย

     รศ.ดร.สุดสวาสดิ์​ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบ​วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม​ ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์​ สกสว. เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา สกสว. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อน พ.ร.บ. ฉบับนี้ พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ประจำปี 2565 (TRIUP Fair 2022)”

     ภายใต้แนวคิด “ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัย สร้างศักยภาพไทยไร้ขีดจำกัด” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพ.ร.บ.ฯ และเตรียมความพร้อมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ฯ เพื่อสานต่อกิจกรรม และเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนให้เห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ

     สกสว. จึงได้จัดงานต่อเนื่องภายใต้แนวคิด “Journey to Impact : เส้นทางจากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” โดย สกสว. มองว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของงานวิจัย ไปจนถึงปลายทาง ต้องใส่ทรัพยากร อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย และต้องทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย

     “การจัดงานในปีนี้จึงมีจุดมุ่งเน้นสำคัญ คือ การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันวางเป้าหมายร่วมในการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ไปสู่การสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง และ Net Zero Emission โดยมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าเส้นทางการไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมนั้น จะต้องมีกระบวนการ และมีหน่วยงานที่ต้องเข้ามาหนุนเสริมในแต่ละขั้นตอนอย่างไร และภาพการทำงานใน 3 ประเด็นหลักนี้จะนำไปสู่การขยายโมเดลการทำงานในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ของประเทศต่อไป”

นวัตกรรมพร้อมใช้กว่า 300 ผลงาน

     รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจ หรือมองหาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะไปช่วยยกระดับธุรกิจ หรือสร้างความแตกต่างเพื่อการแข่งขัน จะได้พบผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยและผู้ประกอบการไทยพร้อมใช้จริงกว่า 300 ผลงาน

     นอกจากนี้ภายในงานได้เปิดพื้นที่เพื่อทำ Business Matching ให้มีการเจรจาธุรกิจ/ต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ สามารถลงทะเบียนจองนัดหมายล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ www.triupfair.net อีกทั้งมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ 1) ทุนวิจัย 2) ระเบียบและมาตรการกลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ SME และ Startup เช่น คำปรึกษาจาก อย. กรมทรัพย์สินทางปัญญา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันทางการเงินหลายแห่งจะมานำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งอาจจะมีสิทธิ์พิเศษต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่มาร่วมในงาน

     ยังมีเวทีเสวนาให้ความรู้และอัพเดตสถานการณ์ของ 3 ประเด็นหลัก และการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยน ซึ่งทุกกิจกรรมไม่มีค่าใช้จ่าย

งานวิจัยตอบเทรนด์การค้าโลก

     รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ชี้แจงว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเข้าสู่สังคมสูงวัย เห็นได้ว่าแนวโน้มของประชากรส่วนใหญ่ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น และมีการแสวงหานวัตกรรมทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น

     งานวิจัยในส่วนที่หนึ่งคือ “การแพทย์และสุขภาพ” ซึ่งประเทศไทยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพจำนวนมากที่มีศักยภาพ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการนำมาใช้จริง ดังนั้น หากมีการส่งเสริมและผลักดันให้นวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพของไทยได้รับการยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับสากล จะช่วยให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์สินค้าและนวัตกรรมด้านการแพทย์จากต่างประเทศ และประเทศสามารถพึ่งพาตนเองในด้านนี้ได้

     ในส่วนที่สองคือ “เกษตรและอาหารมูลค่าสูง” อย่างที่ทราบดีว่าประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ และอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะกับการผลิตของภาคการเกษตร และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่แม้ว่าภาคเกษตรจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย แต่ยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีการผลิตแบบเดิม ทำให้ผลิตภาพ และประสิทธิภาพไม่สูงมากนัก รวมทั้งยังไม่ได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรเท่าไรนัก ซึ่งประเด็นเกษตรและอาหารยังมีช่องว่าง และมีโอกาสในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยยกระดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่อุปทานให้ดียิ่งขึ้น

     ในส่วนที่สาม Net Zero Emissions ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน เนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 และการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ไว้ในการประชุม COP26 และผู้เล่นสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายคือ “ภาคธุรกิจ”  ซึ่งหลายๆ อุตสาหกรรมหันมาปรับตัว และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์มากขึ้น ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ ซึ่งจะมีส่วนทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

จากหิ้งสู่ห้าง

     เพื่อให้เห็นภาพ รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ได้ยกตัวอย่าง การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จดังนี้

     1. Powco เจลพลังงานมะพร้าวน้ำหอม

     ปัจจุบันต้องนำเข้าเจลพลังงานจากสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 99 นักวิจัยจึงคิดพัฒนาเจลพลังงานที่่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จนได้เป็นนวัตกรรมเจลน้ำมะพร้าวน้ำหอม GI ที่่ได้จากดินทีมีโพแทสเซียมสูงโดยธรรมชาติ ซึ่งเหมาะกับผู้รักการออกกำลังกายและนักกีฬา

     Powco (พาว-โค) เป็นผลิตภัณฑ์เจลพลังงานรายแรกและรายเดียวของโลกที่ทำจากมะพร้าวน้ำหอมไทย และมีการวิจัยในมนุษย์ ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนออกสู่ตลาด ผลงานนี้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าแล้วยังทำให้เกษตรกรไทยให้มีรายได้้สูงขึ้นจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มะพร้าวน้ำหอมอีกด้วย

     2. Smart Indoor Plant--ผลงานของ บริษัท ซีวิค อโกรเทค จำกัด (เครือข่ายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

     Smart Indoor Plant โปรแกรมไฟสำหรับปลูกพืชอัตโนมัติ นวัตกรรมทางการเกษตร สำหรับปลูกพืชแบบ Indoor และให้บริการด้านระบบปลูกแบบ Plant Factory with Artificial Lighting อย่างครบวงจร

     3. เมลาโทนินสลีปปิ้งมาส์กจากผลไม้ไทย

     เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนังที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยีในการนำส่งสาระสำคัญเมลาโทนินให้ซึมลึกเข้าสู่ผิวหนัง เมลาโทนินจากธรรมชาติมีความปลอดภัยและมีงานวิจัยสนับสนุนว่าช่วยเกี่ยวกับอาการนอนไม่หลับและมีฤทธิต้านอนุมูลอิสระ ผลิตภัณฑ์เมลาโทนินสลีปปิงมาส์กผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยในอาสาสมัคร พบว่าความปลอดภัย ไม่ระคายเคือง โดยหน่วยงานที่่เป็นที่่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติผลิตโดยโรงงานเครื่องสำอางที่่ได้รับรองคุณภาพและมาตรฐาน (GMP) และเป็นผลงานผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมงานวิจัยจากภูมิปัญญาไทย

3 เทคนิคเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นธุรกิจ

     สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจให้เป็นรูปธรรมนั้น รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ แนะนำว่า

     ประการแรก มองว่า ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต้องตอบโจทย์ และตรงกับความต้องการของ Demand

     ประการสอง เป็นปัจจัยด้านความพร้อมทั้งในส่วนของผลงานวิจัยและนวัตกรรม และความพร้อมของผู้ประกอบการ หรือ SME โดยงานวิจัยต้องมีความพร้อมใช้ และขยาย Scale ได้จริง เพราะโลกของธุรกิจต้องมี Speed of time และต้องมีต้นทุนที่เหมาะสมจึงจะแข่งขันได้

     ประการสุดท้าย คือ การได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุน/ผลักดันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยภาครัฐต้องสร้างระบบนิเวศ และกลไกหนุนเสริมให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ ทั้งในแง่นโยบาย แหล่งทุน Infrastructure มาตรการจูงใจ กฎระเบียบ รวมถึงการประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นความสำคัญ ภาคเอกชนต้องมีโจทย์ และ Demand ชัดเจน และให้ความเชื่อมั่นกับการใช้ผลงานวิจัยไทย ภาควิชาการต้องทำงานเชื่อมโยงและใกล้ชิดกับภาคเอกชน สร้างผลงานที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน ท้ายสุดภาคประชาชนต้องยอมรับ และให้การสนับสนุนการใช้สินค้านวัตกรรมของไทย เพื่อให้เอกชนและนักวิจัยไทยมีแรงจูงใจสร้างสรรค์และผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมดี ๆ ออกมา

     สำหรับ  SME ที่ต้องการได้งานวิจัยไปทำธุรกิจต้องไม่พลาดงาน TRIUP FAIR 2023 เร่งธุรกิจให้เติบโตด้วยวิจัยและนวัตกรรม 18 - 19 กรกฎาคม 2023 ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล