TEXT / PHOTO : Nitta Su.
Main Idea
- “สมาร์ทอิมเมจ” คือ โรงหล่อขนาดย่อมแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร ผลงานที่ทำล้วนเป็นประติมากรรมระดับประเทศหลายชิ้น อาทิ “สิงห์ทอง” ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย, “พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช” และ “พญานาคเจ็ดเศียร” จ.มุกดาหาร และ “ปลาใบ” จ.กระบี่
- แต่กว่าจะพบเส้นทางที่ใช่ เรื่องราวชีวิตกลับไม่ได้ง่าย เคยล้มเกือบหมดตัว บ้านโดนยึด รถโดนยึด เป็นหนี้กว่า 70 ล้าน เพราะเอาเงินไปลงทุนทำธุรกิจเดิม
- จากจุดต่ำสุด เมื่อไม่มีอะไรจะเสีย ก็กลับทำให้พบเส้นทางเดินใหม่ งานที่ใช่ งานที่ชอบ และบทเรียนครั้งเก่าทำให้วันนี้เติบโตแข็งแกร่งขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง
งานหล่อรูปปั้นสิงห์ทองตัวโต ขนาดความสูงกว่า 9 เมตร ที่ตั้งเด่นเป็นสง่ามองเห็นมาแต่ไกล ณ ไร่บุญรอด หรือที่หลายคนนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “สิงห์ปาร์ค” จังหวัดเชียงราย มองดูที่ชิ้นงานหากใครไม่รู้คงคิดว่าเป็นฝีมือการทำของศิลปินระดับประเทศ หรือบริษัทผู้รับเหมาขนาดใหญ่ จึงจะสามารถรับงานใหญ่ระดับนี้ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าจะให้เฉลย คำตอบที่ได้อาจฟังดูห่างไกลจากสิ่งที่คิดเอาไว้ เพราะผู้ที่ทำนั้นไม่ใช่ทั้งศิลปินที่ใครก็รู้จัก หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่คือ คนตัวเล็กๆ ที่เป็นเพียงเจ้าของโรงหล่อแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนครชื่อว่า “สมาร์ทอิมเมจ” ที่กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ได้ เรื่องราวชีวิตของเขากลับยิ่งใหญ่ไม่แพ้รูปปั้นที่เขาลงมือทำเลย
เอาไม้ซีก ไปงัดไม้ซุง
จุดเริ่มต้นเส้นทางงานศิลปะของ นิภัทร สุวาส แทบจะไม่มีพื้นฐานอะไรที่ปูมาทางด้านศิลปะเลย เขาไม่ได้ร่ำเรียนมาทางสายศิลป์ ปู่ย่าตายายเป็นชาวนา พ่อแม่รับราชการครู อาชีพแรกที่ทำ คือ เป็นเซลล์ จนพอเก็บหอมรอมริบได้เงินก้อนหนึ่งจึงกลับมาตั้งโรงงานผลิตวุ้นเส้นเล็กๆ ของตัวเองในห้องเช่าเพียง 1 คูหาที่จังหวัดสกลนคร
“ตอนแรกทำธุรกิจผลิตวุ้นเส้นมาก่อน ในตอนนั้นเรามองเห็นลู่ทางว่าตลาดนี้ยังพอมีช่องว่างอยู่ คือ วุ้นเส้นเป็นวัตถุดิบที่ไม่มีรสชาติ ไม่ว่าจะซื้อแบรนด์ไหนก็เหมือนกันหมด เลยเป็นโอกาสให้เราสามารถเข้ามาแข่งขันได้ ถึงจะเป็นแบรนด์เล็กก็ตาม โดยก่อนหน้านั้นได้ไปเข้าโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่และต้องการต่อยอดธุรกิจของ SME D Bank เขามีเปิดอบรม และก็สนับสนุนเงินทุนให้กู้ก้อนหนึ่ง ก็เลยมาเปิดเป็นโรงงานผลิตวุ้นเส้นในชื่อ “ต.เจริญ วุ้นเส้น” เริ่มจากห้องเช่าเล็กๆ 1 คูหา ทำกันกับภรรยาและลูกน้องหนึ่งคน เดือนแรกๆ ขายได้ 2-3 แสนบาท จนผ่านไป 1 ปี เติบโตขึ้น 10% มีรายได้ตกเดือนละ 3 ล้านบาท ขายดีจนทำให้เจ้าใหญ่หันมามอง เหมือนเราเป็นน้องใหม่มาแย่งตลาดเขา จนสุดท้ายทำได้ 2 ปี เราก็ไปไม่รอด
“ตอนนั้น คือ แข่งดัมพ์ราคากัน ด้วยความที่เราเป็นเจ้าเล็กและน้องใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาด เราก็ขายถูกกว่าเขาหน่อย สมมติเขาขาย 10 บาท ผมก็ขาย 9 บาท เพราะไม่งั้นก็ไปแข่งกับเขาไม่ได้ และด้วยความที่เราเป็นรายเล็กใกล้ชิดลูกค้าได้มากกว่า ลูกค้าก็เริ่มเทมาทางเราเยอะขึ้น ทีนี้บริษัทใหญ่เขาก็เริ่มมองว่าเราเป็นปัญหาสำหรับเขาแล้ว เขามาหาผมถึงที่เลย
"เสร็จแล้วพอกลับไป เขาก็ดัมพ์ราคาลงให้ถูกกว่าเรา เช่น จาก 10 บาท ก็เหลือ 5 บาท ให้เครดิตเทอม 1 เดือน ด้วยความเป็นน้องใหม่ไฟแรงเราก็สู้ตาม เพราะคิดว่าเป็นโปรโมชั่น อีกไม่นานเขาคงหยุด แต่ปรากฏเขาไม่ยอมหยุด จาก 5 บาท ก็ลดลงไปอีกเหลือ 3 บาท เครดิตเทอม 3 เดือน สู้กันอยู่ 2 ปี ไปกู้เงินมาลงทุนเพิ่มเพื่อลดราคาแข่งกัน จนสุดท้ายเราก็ต้องหยุด เป็นหนี้เกือบ 70 ล้านได้ บ้านโดนยึด รถโดนยึด ต้องขายทุกอย่างที่มีเพื่อประทังชีวิตให้รอด เรียกว่าแทบจะจมดินเลย พอเลิกขายไป เขาก็ปรับราคาขึ้นเป็น 12-13 บาท เพื่อมาเอาคืนที่เสียไป ซึ่งมันต่างกันเขาเป็นรายใหญ่ยอมขาดทุน 1 ปีได้ แต่เราใน 1 ปีนั้น คือ ธุรกิจเจ๊งไปเลย”
เข้าตาจน
จากธุรกิจแรกที่เหมือนจะไปได้ดี แต่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี ทุกอย่างก็จบลง นิภัทร ยังไม่ได้คิดจะเริ่มต้นอะไรใหม่ นอกจากพยายามเคลียร์หนี้สินที่มีอยู่แล้ว ชีวิตไม่รู้จะทำอะไร เขาจึงใช้เวลาว่างที่มีอยู่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เผื่อจะหาลู่ทางอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงปี 2549 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 60 ปี เมืองถูกประดับประดาไปด้วยซุ้มประตูงดงาม และดวงไฟมากมาย นอกจากช่วยเยียวยาจิตใจที่ได้เห็นของสวยๆ งามๆ แล้ว ยังจุดประกายความคิดให้เขาได้เริ่มต้นสู่เส้นทางสายใหม่ที่เป็นความชอบลึกๆ อยู่ภายในใจมาเนิ่นนานด้วย
“ตอนนั้นเจอเจ้าหนี้บุกบ้านแทบทุกวัน ก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยลองเข้ามากรุงเทพฯ เผื่อจะเจออะไรใหม่ๆ บ้าง เป็นช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 60 ปีพอดี เราก็ได้เห็นซุ้มประตูสวยๆ เลยเกิดความคิดว่าที่สกลนคร หรือจังหวัดอื่น ก็น่าจะทำแบบนี้บ้าง ตอนนั้นไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เลยกลับไปที่สกลนคร ไปเสนอไอเดียให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยฟัง ท่านก็ถามแค่ว่า ทำได้ไหม เราก็ตอบแค่ “ทำได้ครับ” ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีอะไรในหัวเลย ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เริ่มต้นจากตรงไหน แต่ด้วยความที่ไม่มีกิน เลยรับปากไปก่อน
"พอได้โปรเจกต์มาก็กลับเข้ากรุงเทพฯ ใหม่ ไปถามที่สำนักงานเขตเลยว่า พี่ครับอันนี้สั่งจากที่ไหน ก็ไปตามหาช่าง จากนั้นก็เข้าไปขออนุญาตจากสำนักพระราชวังเลยว่าเราจะขอผลิตตราสัญลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนในที่สุดก็ได้มา เกิดเป็นธุรกิจใหม่ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ จริงๆ ผมไม่ได้มีประสบการณ์มาทางด้านศิลปะเลย แต่เป็นสิ่งที่เราชอบและเคยคิดอยากทำอยู่แล้ว ทำไม่เป็นผมก็ไปขอเรียนกับช่างที่ไปจ้างเขาทำงาน บางที่ก็สอน บางที่ไม่สอน ก็ไปบ่อยๆ ฝึกจำเอา และค่อยกลับมาดูว่าอันไหนเราพอทำเองได้ อันไหนควรปรับอะไร จนกลายเป็นองค์ความรู้ของเรา”
บททดสอบใหม่
จากผลงานชิ้นแรกที่ทำให้กลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง นิภัทร เริ่มมองหาเส้นทางไปต่อ ซึ่งความยากแตกต่างจากธุรกิจเดิม ก็คือ จะทำยังไงให้ลูกค้าเกิดความต้องการซื้อ เพราะเขามองว่าสินค้าดังกล่าว เป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่ใช่สินค้าที่จำเป็นต้องกินต้องใช้ ความท้าทายจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
“ถึงเราจะเจอเส้นทางใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะผ่านไปได้ง่ายๆ หากคิดจะไปต่อ ตอนนั้นพอเสร็จจากโปรเจกต์แรกแล้ว เราก็เคว้งเลยไม่รู้จะทำอะไรต่อดี เพราะงานพวกนี้ไม่ใช่ขายกันง่ายๆ ถ้าไม่มีโปรเจกต์พิเศษ ก็ไม่มีคนอยากซื้อ เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย มีราคาแพง คราวนี้เราก็เลยลองไปเสนอขายงานตามบริษัทต่างๆ บ้าง บ้านคนมีตังค์บ้าง ไปในที่ที่คิดว่าจะมีคนซื้อเรา ใช้เวลาอยู่นาน จนได้โปรเจกต์จากผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งให้ทำเป็นรูปหล่อนักษัตร 12 ราศี ปรากฏว่าพอทำเสร็จ มีคนมาเห็นผลงาน ก็เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาจ้างต่อกันมาเรื่อยๆ เราเลยรู้ว่าที่ผ่านมาเราขายผิดวิธี วิธีที่ดี คือ ทำให้เขาเห็นก่อน ให้เกิดความต้องการ แล้วเขาจะมาซื้อเราเอง”
จากผลงานชิ้นเข้าตา นิภัทรก็ได้รับงานต่อมาเรื่อยๆ จนมาถึงผลงานชิ้นโบว์แดงที่สร้างชื่อ ทำให้คนรู้จักเขามากขึ้น ก็คือ งานหล่อรูปปั้น “สิงห์ทอง” ณ ไร่บุญรอด หรือ “สิงห์ปาร์ค” จังหวัดเชียงราย จนทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับประเทศในกลุ่มคนทำงานประติมากรรม เช่น รูปปั้น รูปหล่อต่างๆ
“จำได้ ตอนนั้นพอเราเริ่มทำชิ้นงานออกมาเรื่อยๆ ผู้บริหารของบุญรอดบริวเวอรี่ได้มาเห็นผลงานเรา แล้วชอบ เลยติดต่อว่าอยากทำรูปปั้นสิงห์เอาไว้ที่ไร่บุญรอด เพราะตอนนั้นใกล้จะเสร็จแล้ว ผมเลยถามว่าอยากเอาไปทำอะไร เขาบอกว่าไร่ของเขามีข้อเสียอย่างหนึ่ง คือ อยู่ลึกมาก เขาเลยอยากทำอะไรที่เป็นจุดเด่นให้คนเข้าไปข้างใน ตอนแรกเขาบอกว่าอยากได้สัก 3 เมตร แต่ผมมองว่าถ้าทำเท่านั้น คนมองเห็นจากระยะไกลไม่ได้ ถ้าจะดึงคนได้ต้องให้เห็นตั้งแต่ 5-10 กม. สรุปเลยออกมาที่ไซส์ 9 เมตรอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ผมไม่ได้อยากขายใหญ่ๆ แต่อยากให้ทำแล้วลูกค้าได้ประโยชน์จริงๆ บ้านสร้างเสร็จแล้วไม่ชอบ เรายังขายมือสองได้ แต่งานพวกนี้ ถ้าสั่งทำแล้ว ทำเลย เป็นความชอบของเรา เอาไปขายต่อใคร คงไม่ได้”
นอกจากรูปปั้นสิงห์ทองแล้ว นิภัทรยังได้ผลิตผลงานประติมากรรมระดับประเทศไว้อีกหลายชิ้น อาทิ “พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช” และ “พญานาคเจ็ดเศียร” จ.มุกดาหาร, “ปลาใบ” ที่ทำด้วยทองสำริดใหญ่ที่สุดในโลก ณ ริมอ่าวนาง จ.กระบี่ นอกจากนี้ยังมีงานชนิดอื่นๆ เช่น รูปปั้นไดโนเสาร์, งานหุ่นการ์ตูนไฟเบอร์กลาส, น้ำตกจำลอง, งานตกแต่งเสาไฟ ป้ายซอย ป้ายถนน ไปจนถึงการผลิตพระเครื่อง เป็นต้น
“เราแตกต่างจากโรงหล่อทั่วไป คือ เราสามารถรับงานได้หลากหลาย ในขณะที่โรงหล่ออื่นๆ อาจจะถนัดอะไร ก็ทำแต่แบบนั้น เช่น บางโรงถนัดทำพระพุทธรูป ก็ทำแต่พระพุทธรูป แต่เราสามารถทำได้หมด พระคริสต์, อิสลาม, ฮินดู, ประติมากรรมสไตล์ยุโรป ไทย จีน ฯลฯ งานหล่อ, งานปั้น, ไฟเบอร์กลาส ไปจนถึงสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เช่น น้ำตกจำลองขนาดใหญ่ ภาพวาด 3 มิติเราก็ทำได้ นี่คือ ความแตกต่างของเรา เราพยายามตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ทุกอย่าง
“ความยากของงานพวกนี้ คือ ไม่มีแบบตายตัว ไม่เหมือนการสร้างตึก สร้างอาคาร แต่ของเราเป็นงานศิลปะ ทุกชิ้นต้องเรียนรู้ใหม่หมด ออกแบบขึ้นมาแล้ว จะทำยังไงให้สร้างขึ้นมาได้ ต้องแข็งแรงทนทานด้วย ที่สำคัญ คือ งานพวกนี้ไม่ได้มีตัวอย่างหรือรสชาติให้ชิมก่อนเหมือนการทำอาหาร แล้วค่อยตัดสินใจซื้อ ดังนั้นเราจะทำยังไงให้เขาเชื่อใจ มั่นใจที่จะทำกับเรา ทำยังไงให้ความสวยของเรากับลูกค้า เป็นความสวยแบบเดียวกัน ให้จูนกันได้อย่างลงตัว เป็นความท้าทายที่ยากมาก”
ไม่ยอมกลับไปจนอีก
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ จากที่เคยล้มไปแล้ว ก็กลับลุกยืนขึ้นมาได้อีกครั้ง ในวันนี้แม้จะเป็นเพียงธุรกิจโรงหล่อไซส์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสกลนคร แต่ชื่อเสียงของ “สมาร์ทอิมเมจ” กลับเป็นที่รู้จักและยอมรับในแวดวงผู้สร้างงานประติมากรรมระดับประเทศ นอกจากความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่นิภัทรพยายามบอกตัวเองเอาไว้เสมอ ก็คือ เขาจะไม่ยอมกลับไปยืนที่จุดเดิมที่เคยล้มเหลวมาอีก
“ที่เรามาถึงทุกวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากบทเรียนในธุรกิจแรก ซึ่งสอนเราเอาไว้เยอะ สิ่งไหนที่เราเคยพลาด เราจะไม่ทำอีก การทำธุรกิจที่สองผมจึงพยายามปิดจุดอ่อนทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น 1.การแข่งขัน เราจะไม่เข้าไปแข่งขันในตลาดใหญ่ที่กำลังเราสู้เขาไม่ได้แน่นอน 2.เราจะไม่สู้ด้วยสินค้าที่ผลิตออกมาเหมือนๆ กัน แต่จะสู้ด้วยความแตกต่าง สร้างให้เกิดคุณค่าขึ้นมาเฉพาะของชิ้นนั้น 3.เราจะเลือกทำเท่าที่เรามีกำลังไหว ไม่เบ่ง ไม่เกินตัว และข้อสุดท้าย 4.รอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การรับงาน เราจะเก็บมัดจำลูกค้ามาก่อนเลย 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันลูกค้าเปลี่ยนใจภายหลัง และพยายามบริหารจัดการจากเงินที่ลูกค้าให้มา ไม่ทำอะไรเกินตัว กู้ให้น้อยที่สุด
“ที่ทำทุกอย่างแบบนั้น ก็เพราะเราไม่อยากกลับไปยืนจุดเดิมที่แย่ๆ ในวันนั้นอีก เหมือนคนเคยติดคุก เมื่อออกมาแล้วจะมี 2 แบบ คือ 1.ไม่กลัวแล้ว เพราะเคยผ่านมาแล้ว 2. คือ ไม่อยากกลับเข้าไปแล้ว เพราะรู้ว่าลำบากแค่ไหน ซึ่งผมเป็นแบบหลัง ดังนั้นทุกอย่างจึงต้องระมัดระวังที่สุด ไม่ได้กลัว แต่เป็นการป้องกันเอาไว้ เพราะผมว่าคงไม่ง่ายนักจากคนที่เคยจมดินไปแล้ว จะกลับขึ้นมาอยู่บนดินได้อีกครั้ง ซึ่งผมอาจเป็นคนหนึ่งที่โชคดีที่กลับมาได้ จึงไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก ดังนั้นกันเอาไว้ก่อนดีกว่า เพราะเราก็ไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเราจะพลาดอีกครั้งเมื่อใด” เจ้าของโรงหล่อสมาร์ทอิมเมจ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้
สมาร์ทอิมเมจ https://web.facebook.com/Nipatstory999/?locale=th_TH&_rdc=1&_rdr โทร. 086 450 8950 |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี