เปิดที่มา คราฟท์เบียร์ตอซังข้าว ครูเต้ย เจ้าของแบรนด์ NAMSAI กับวิธีคิดสินค้าให้ฮอตจนอินบ๊อกซ์แตก

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสื่อโซเชียลสำหรับ คราฟท์เบียร์ตอซังข้าว ที่เปิดตัวในเพจได้เพียงไม่กี่วันก็มีคนอินบ็อกซ์มาขอซื้อถึงกระป๋องละ 500 บาท

 

  • มิหนำซ้ำเจ้าของไอเดียอย่าง "ครูเต้ย-ดาธิณี ตามเพิ่ม" ครู กศน.อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังได้รับข้อเสนอให้ไปเป็นที่ปรึกษาพร้อมจะออกทุนให้ไปผลิตสินค้าตัวนี้จำหน่าย

 

  • ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้การคิดสินค้า คราฟท์เบียร์ตอซังข้าว แบรนด์ NAMSAI ประสบความสำเร็จ SME Thailand Online จะพาไปไขข้อสงสัย

 

ที่มาคราฟท์เบียร์ตอซังข้าว

     ด้วยความที่เป็นครู กศน. ที่จะต้องคิดอาชีพเสริมไว้สอนให้กับนักเรียนบวกกับประสบกาณ์ที่ได้ทำงานอยู่โคกหนองนาโมเดล ทำให้ครูเต้ยมองถึงปัญหาที่เกิดในชุมชนแล้วนำมาต่อยอดเป็นหลักสูตรเพื่อสร้างได้ อาทิ การนำผักตบชวามาสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยรากทำเป็นปุ๋ย ต้นทำเส้นใย ใบทำจาน ต้นอ่อนทำอาหาร ไม่เพียงสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้วยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จากโมเดลแรกที่ประสบความสำเร็จก็เริ่มมีการขยายสู่โมเดลอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิ ไข่เค็ม ไข่อำพัน ที่ใช้ตอซังข้าวมาพอก กระทั่งครูเต้ยได้มีโอกาสประชุมร่วมกับท่านผู้ว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อหาทางออกแก้ปัญหาเรื่องการเผานา

     “จังหวัดอยุธยาเป็นพื้นที่ของการทำนาแทบจะ 90% แล้วส่วนใหญ่ชาวนาจะใช้วิธีการเผาตอซังข้าวทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เราอยากนำซังข้าวที่สร้างปัญหาแล้วก็ไร้ค่ามาเพิ่มมูลค่าช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้ชุมชนด้วย ก็เลยย้อนไปตอนแรกๆ ที่เราทำผ้าทอจากเส้นใยธรรมชาติ มีการใช้สีธรรมชาติโดยนำตอซังข้าวมาต้ม ช่วงต้มมันได้กลิ่นหอมมาก เหมือนเวลากินอิชิตัน โออิชิ ได้กลิ่นข้าวญี่ปุ่นหอมอย่างนั้นเลย แต่อันนี้มันหอมข้าวไทย คิดว่าตอซังข้าวน่าจะมีประโยชน์มากกว่าแค่ต้มย้อมให้สี”

ทำไมต้องเป็นเบียร์

     ไม่ใช่แค่สังคมหรือคนภายนอกที่สงสัยว่าทำไมต้องเป็นคราฟท์เบียร์ แม้แต่ช่วงแรกกลุ่มชุมชมในชุมชนตำบลหนองน้ำใสก็มีคำถามนี้กับครูเต้ยเช่นเดียวกัน

     “จากโมเดลผักตบชวา เรารู้ว่าสิ่งที่ขายดีที่สุดคือ ของกิน ผ้าทอมือจำหน่ายได้ราคาดี แต่นานๆ จะขายได้ ต่างกับของกินขายได้เรื่อยๆ แต่ช่วงแรกๆ ก็นึกว่า ตอซังข้าวจะทำออกมาเป็นอะไร จะมีคนกินไหม มีข้อเสนอของกลุ่มป้าๆ ในชุมชนให้ครูเต้ยทำ ชา แต่เราคิดว่าไม่เวิร์ก คือมองที่กลุ่มเป้าหมาย คนที่มาศูนย์ฝึกมีชีวิต อำเภอภาชี คนที่ชอบเที่ยว มาถึงก็อยากจิบไวน์ หรืออะไรเย็นๆ ไม่มีใครอยากมาจิบชาร้อนๆ มันไม่เหมาะกับอากาศบ้านเรา ก็เลยลองทำเป็นคราฟท์เบียร์เรามีตลาดอยู่แล้ว”

สารตั้งต้นจากทุ่งนาออร์แกนิก

     แม้จะเป็นไอเดียที่ดีช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนกังวลเมื่อรู้ข่าวว่ามีการทำคราฟท์เบียร์จากตอซังข้าวก็คือ ความปลอดภัยจากสารเคมี

     “กว่าจะมาถึงวันนี้ครูต้องต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เรื่องผักตบชวา กว่าทุกคนจะยอมกินหมี่หยกผักตบชวาได้ มันต้องผ่านหนักกว่าตอซังข้าว เพราะผักตบชวาอยู่ในลำคลองซึ่งเราไม่ได้ดูแล แล้วสารเคมีที่เกาะมากับรากเราต้องหาใบ Certificate มารับรอง ต้องเข้าหากรมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ยากกว่าทำเบียร์ตอซังข้าวหลายเท่า ในส่วนคราฟท์เบียร์ตอซังข้าวเรามีกรมเกษตรช่วยการันตีเรื่องดิน เรื่องข้าว แล้วเราก็ใช้นาออร์แกนิก 100% ที่เกี่ยวใหม่ ไม่ได้เกี่ยวแล้วทิ้งไว้เป็นอาทิตย์ ปล่อยให้ฝนตกใส่ เน่าแล้วเน่าอีก แล้วถึงนำมาใช้ เราจะใช้นาเกี่ยวข้าวใหม่ๆ เพื่อให้ได้ความหอมๆ แล้วเราคำนึงถึงว่าคนต้องเอาสิ่งนี้เข้าร่างกายฉะนั้นจะต้องมีความปลอดภัย”

    โดยการทำคราฟท์เบียร์จะใช้วิธีการคั่วตอซังจนหอมและนำมาต้มเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล จนเกิดกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมช่วยแก้ปัญหาการเผานา และเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม pm 2.5

ยากกว่าผลิตคราฟท์เบียร์คือ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง

     ครูเต้ย เผยว่า คอนเซปต์ในการผลิตคราฟท์เบียร์ตอซังข้าว คือ นำสิ่งที่ไร้ค่าสร้างปัญหาให้ชุมขนมาเป็นรายได้ นำสิ่งที่มันเป็นปัญหามาสร้างความยั่งยืน แต่สิ่งที่ยากคือการสื่อสารหรือการเล่าเรื่องให้คนทั่วไปเข้าใจ

     “การผลิตคราฟท์เบียร์ เป็นเหมือนวิทยาศาสตร์ มีสูตรในการผลิต ไม่ต้องลองผิดลองถูก จึงไม่ค่อยยากแต่สิ่งที่ยากกว่าคือ เราจะสื่อออกไปให้คนภายนอกเข้าใจได้อย่างไรว่าสิ่งอยู่ในกระป๋องทำมาจากธรรมชาติ เป็นเบียร์รักษ์โลก เป็นเบียร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เราใส่เป็นซังข้าว ใช้เวลาออกแบบถึงสองวันทำจนถึงเที่ยงคืน ครูใช้โปรแกรม canva ทำเองเลย รวมถึงการตั้งชื่อแบรนด์จะใช้ชื่อแบรนด์อะไรดี สุดท้ายก็มาลงตัวที่ น้ำใส (NAMSAI) ซึ่งเป็นชื่อตำบล แล้วก็สื่อถึงเบียร์ด้วย”

ฟีดแบ็กดีเกินคาด

     หลังจากที่แบรนด์น้ำใสได้ถูกเผยโฉมในเพจ กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่เพียงกี่วันก็มีเสียงตอบรับมากมายรวมทั้งอินบ็อกซ์ที่อยากได้เบียร์น้ำใสไปครอบครอง

     “พอเราลงเพจคนสนใจเยอะมาก เป็นฟีดแบ็กกลับมาว่าเราต้องตั้งรับยังไงกับตลาดที่มันใหญ่กว่าตลาดเดิมเป็นเท่าตัว จากที่วางแผนไว้ว่าวันที่ 15 กรกฎาคมจะทำให้คนมาดูงานที่ศูนย์ฯ จำนวน 200 กระป๋องนั้น กำลังปรึกษาท่านนายกอบต. หนองน้ำใส ว่าอาจจะขอปรับจากไซส์ 330 ml เป็น 250 ml เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งปัจจุบันก็มีมีคนอินบ็อกซ์มามายบางคนบอกว่ากระป๋องละ 500 บาทก็ขอซื้อ”

ปัจจัยที่ทำให้คราฟท์เบียร์สำเร็จ

     เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้คราฟท์เบียร์ตอซังข้าวได้รับการตอบรับที่ดี ครูเต้ย บอกว่ามาจาก การรู้จุดแข็งจุดอ่อนของชุมชน การสื่อสารกับชุมชน และการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

     “เราต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนชุมชน เราจะไม่ไปสร้างอาชีพจากสิ่งที่ชุมชนหาไม่ได้ ไม่มีการฝึกทำไม้กวาด เพราะต้องไปซื้อวัตถุดิบที่สุพรรณบุรี เราจะฝึกอาชีพจากวัตถุดิบที่เรามีได้ไม่ต้องลงทุน

     “ส่วนวิธีสื่อสารกับคนชุมชม อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับครูคือ ครูจะทำก่อน ว่ามันทำได้จริงไหม ถ้าทำได้จริงเราจึงไปบอกเขา แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็ถือเป็นประสบการณ์ ครูอยู่ในชุมชน 16 ปีครูว่าชุมชนเข้มแข็งครูคิดอะไรเขาทำหมดเลย ทำได้ทุกกอย่าง ไม่เคยดูถูกความคิดครูด้วยว่าจะได้เหรอ พร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ชุมชนเข้มแข็งก็ไม่รู้สึกท้อ เพราะอุปสรรคในการทำงานเรื่องคนนี่แหละ คิดอะไรได้แล้วถ้าชุมชนไม่คล้อยตาม ปฏิบัติตาม ก็ไปต่อยาก คนเดียวต้มเบียร์ไม่ได้เด้อ”

วิธีคิดสินค้าให้ขายได้

     สิ่งที่ครูเต้ยย้ำกับชุมชนเสมอถึงวิธีการคิดสินค้าขึ้นมาขายคือ สินค้านั้นต้องมีความแตกต่าง ต้องไม่ซ้ำกับใคร

     “ถ้ามองเรื่องการแข่งขัน สินค้ามันต้องมีความแตกต่างอยู่แล้ว ไม่ต่างก็แข่งไม่ได้ มันจะทำให้ไม่มีตัวตน แล้วสิ่งที่จะสร้างรายได้ได้จริงๆ คือ นำสิ่งที่ไม่มีราคาเอามาผลิตเป็นสินค้าโดยการใส่ไอเดียเข้าไป เหมือนตอซังข้าง ถ้าสินค้าเราต่างด้วย ต้นทุนถูกด้วยสินค้าจะสร้างรายได้ที่ชัดเจน”

ไอเดียดีจนมีคนขอซื้อตัว

     จากไอเดียที่ต้องการช่วยชุมชนกลายเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ประกอบการถึงกับมีคนเอ่ยปากขอให้ครูเต้ยไปเป็นที่ปรึกษาพร้อมออกทุนให้ผลิตเบียร์จำหน่าย

     “เป้าหมายของการทำคราฟท์เบียร์คือ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทุกวันนี้ครูเต้ยจะใช้วิธีให้ทีมงานไปเก็บตอซังข้าวจากชาวนา โดยที่ชาวนาจะได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนไร่ละ 1 พันบาท แล้วก็แม่บ้านก็มาช่วยกันต้มเบียร์ขายมีรายได้กัน ส่วนเป้าหมายของครู การได้รับคำชื่นชมหรือชื่อเสียงเหมือนเป็นรางวัลให้กับชีวิต เหมือนทำกับข้าวแล้วมี คนกินบอกอร่อยนั้นคือที่สุดแล้ว ครูไม่เดือดร้อนเรื่องเงินไม่ได้ต้องการเงินมากมาย”

     วันนี้ลองดูรอบๆ ตัวหรือยัง เพราะสินค้าที่มีค่าอาจเกิดจากสิ่งไร้ค่าที่ถูกมองข้ามไป

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Casper’s Gallery จากของขวัญงานแต่งให้เพื่อน สู่นักวาดภาพงานแต่งเจ้าแรกในไทย 3 ชม. รายได้ตกหมื่นกว่าบาท

ใครจะคิดว่าจากภาพวาดของขวัญวันแต่งงานให้เพื่อนที่ทำอย่างตั้งใจ จะทำให้ แคท - นรินนา ศรีวรรณา ที่ชื่นชอบการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ เห็นโอกาสในการทำธุรกิจภาพวาดงานแต่งขึ้นมา จนสามารถทำรายได้หลักหมื่นบาทในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ไทรสุก ธุรกิจสุดครีเอท เล่าเรื่องเขาใหญ่ผ่านไอศกรีม

จากการผนวกความฝันของ “เต้ย-ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน” ไกด์นำเที่ยวสำรวจป่าเขาใหญ่ และ “แนน วราภรณ์ มงคลแพทย์” แฟนสาวเจ้าของธุรกิจแปรรูปผลไม้ เกิดเป็น “ไทรสุก” ร้านไอศกรีมที่ถ่ายทอดเรื่องราวสัตว์ป่าผ่านรสชาติแสนอร่อยและสีสันที่สวยงาม