Wanchai Ferry wontons แบรนด์ติ่มซำในตำนาน ผู้สร้างตนจากยาจกจนกลายเป็นมหาเศรษฐี

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

Main Idea

  • พลังของความเป็นแม่นั้นยิ่งใหญ่เสมอ โดยเฉพาะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้นทุนชีวิตไม่ได้สูงมากและต้องปากกัดตีนถีบเพื่อนำพาครอบครัวให้อยู่รอด เช่นเดียวกับเรื่องราวของ “ซาง เจี้ยนเหอ” หญิงชาวจีนที่ผู้เป็นต้นกำเนิดเกี๊ยวกึ่งสำเร็จรูป “ท่าเรือหวั่นไจ๋” (Wanchai Ferry wontons)

 

  • จากรถเข็นเล็กๆ ขายเกี๊ยวที่ท่าเรือหวั่นไจ๋ในฮ่องกงจนกลายเป็นแบรนด์ดังระดับโลกที่ครองส่วนแบ่งกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทติ่มซำทั่วโลก ไปดูเส้นทางความสำเร็จของซาง เจี้ยนเหอ หรือมาดามชอง เจ้าของฉายา “ราชินีเกี๊ยว” กัน

 

     ซาง เจี้ยนเหอ หรือที่คนฮ่องกงรู้จักในชื่อ มาดามชอง พื้นเพเป็นชาวมณฑลชานตงทางเหนือของจีน เกิดในครอบครัวยากจนที่มีแม่คนเดียวเลี้ยงดูเธอกับน้องสาว เธอช่วยแม่ทำงานตั้งแต่เด็กและหยุดเรียนตั้งแต่อายุ 15 เพื่อทำงานหาเงินเสียสละให้น้องสาวเรียนหนังสือ เจี้ยนเหอได้งานเป็นผู้ช่วยพยาบาลและหารายได้พิเศษทุกทาง จนกระทั่งครอบครัวเริ่มเงยหน้าอ้าปาก มีบ้านเป็นของตัวเอง และน้องสาวเรียนจบมีงานทำ

     ในวัย 22 ปี เจี้ยนเหอพบรักและแต่งงานกับชายชาวไทยเชื้อสายจีนที่ไปทำงานที่โรงพยาบาลเดียวกัน ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน และภายหลังได้ย้ายครอบครัวกลับไปอยู่ที่ไทย แต่ด้วยปัญหาบางประการทำให้เจี้ยนเหออยู่กับครอบครัวสามีไม่ได้ เธอตัดสินใจเลิกรากับสามีชาวไทยและหอบลูก 2 คนไปปักหลักที่ฮ่องกงโดยไม่กล้ากลับไปพบครอบครัวที่เมืองชิงเต่าในจีน

    จุดเริ่มต้นของการปากกัดตีนถีบเริ่มขึ้นที่ฮ่องกง ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว เจี้ยนเหอซึ่งยังพูดภาษากวางตุ้งไม่ได้ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการงานใช้แรงงานเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นรับจ้างทำความสะอาด ล้างจานในร้านอาหารที่ทำตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนไปรับจ้างเฝ้าไข้ตามโรงพยาบาล เธอทำงานหนักมากจนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน กระทั่งวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บที่หลัง ต้องพักฟื้นอยู่นาน เมื่อเพื่อนคนหนึ่งมาเยี่ยมที่ห้องเช่า เจี้ยนเหอได้ทำเกี๊ยวเลี้ยงเพื่อนเพื่อแสดงความขอบคุณแล้วได้รับคำชมว่าเกี๊ยวอร่อยมาก สามารถทำขายได้เลย 

     เจี้ยนเหอซึ่งกำลังตกงานและไม่มีรายได้นำคำพูดของเพื่อนไปคิดและตัดสินใจว่าเริ่มอาชีพใหม่ด้วยการขายเกี๊ยว เธอต่อรถเข็นขึ้นมาและทำเกี๊ยวสูตรจากจีนอย่างสุดความสามารถแล้วเข็นไปขายครั้งแรกบริเวณท่าเรือหวั่นไจ๋เมื่อปี 1978 ผลตอบรับดีมาก คุณภาพของเกี๊ยวที่ลูกใหญ่ไส้แน่นทำให้ลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปาก ทำให้เกี๊ยวขายดีมากลูกค้าต่อแถวยาวเพื่ออุดหนุน

     ชื่อเสียงของเกี๊ยวรถเข็นริมถนนขจรไกลกระทั่งปี 1982 ห้างสรรพสินค้าไดมารูของญี่ปุ่นที่มีสาขาในฮ่องกงติดต่อมาเพื่อขอทำธุรกิจด้วยโดยเป็นฝ่ายออกทุนสร้างโรงงานผลิตให้ในฮ่องกง นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของเกี๊ยวแช่แข็งแบรนด์ “ท่าเรือหวั่นไจ๋” (Wanchai Ferry wontons) ที่ส่งขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ โรงงานท่าเรือหวั๋นไจ๋เติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมกับความนิยมในผลิตภัณฑ์ และฉายา “ราชินีเกี๊ยว” ที่สื่อมวลชนฮ่องกงมอบให้ซาง เจี้ยนเหอ หรือมาดามชอง

     เจี้ยนเหอกล่าวว่าที่ธุรกิจประสบความสำเร็จเธอต้องขอบคุณลูกค้าชาวฮ่องกงที่อุดหนุนและติชม โดยเธอได้นำคำแนะนำต่าง ๆ มาปรับปรุงจนได้รสชาติที่ถูกใจมหาชน “ฉันถือว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์เกี๊ยวของฉันเป็นมิตรสหายเพราะพวกขามีส่วนช่วยฉันในการพัฒนาสินค้าทั้งด้านรสชาติและคุณภาพให้ลงตัวจนถึงทุกวันนี้”

     ปี 1997 ที่ฮ่องกงถูกส่งกลับคืนให้จีน ในเวลานั้น โรงงานท่าเรือหวั่นไจ๋ก็ขยายไป 5 แห่งและครองส่วนแบ่งตลาดเกี๊ยวแช่แข็งในฮ่องกงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และเตรียมขยายตลาดไปยังจีนแผ่นดินใหญ่โดยมีบริษัทพิลส์เบอรี่ ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารตั้งแต่อาหารเช้าไปจนถึงขนมหวานหลังมื้อค่ำของสหรัฐฯ เข้ามาถือหุ้น 70 เปอร์เซนต์ในโรงงานท่าเรือหวั่นไจ๋และอัดฉีดเงินลงทุนสร้างโรงงานในจีนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นโดยมีเป้าหมายเจาะตลาดจีน

     จนในที่สุดผลิตภัณฑ์เกี๊ยวแช่แข็งภายใต้แบรนด์ท่าเรือหวั่นไจ๋ก็วางจำหน่ายครั้งแรกในนครกวางโจว เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง จากเกี๊ยวแช่แข็งก็มีการเพิ่มไลน์อาหารไปยังเมนูติ่มซำต่าง ๆ จนได้รับความนิยมอย่างมากตามเมืองใหญ่ ๆ ของจีน และเริ่มมีการเล็งไปยังตลาดสหรัฐฯ หลังจากที่บริษัทเจเนอรัล มิลล์ ผู้แปรรูปอาหารรายใหญ่ของสหรัฐฯ เข้ามาซื้อกิจการพิลส์เบอรี ช่วงเวลาที่อาหารจีนกำลังบูมในสหรัฐฯ แต่กลับไม่มีอาหารจีนพร้อมรับประทานหรือแช่แข็งจำหน่าย ภายใต้การกุมบังเหียนของเจเนอรัล มิลล์ ผลิตภัณฑ์อาหารจีนพร้อมรับประทานแบรนด์ท่าเรือหวั่นไจ๋ก็ถูกแนะนำเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯในปี 2007 โดยปีแรกก็โกยรายได้ไปเหนาะ ๆ 50 ล้านดอลลาร์  

     นับจากนั้น สินค้าแบรนด์ท่าเรือหวั่นไจ๋ก็ขยายไปยังตลาดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลายให้เลือกตั้งแต่ติ่มซำ และอาหารจีนต่าง ๆ โดยเฉพาะเกี๊ยวต้นตำรับจากมาดามชองยังคงเป็นสินค้าขายดีของแบรนด์ เรียกว่าเกือบทุกบ้านต้องมีติดตู้เย็น และเป็นแบรนด์ที่สามารถครองส่วนแบ่งกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทติ่มซำทั่วโลก แม้ซาง เจี้ยนเหอ หรือมาดามชองจะเสียชีวิตไปแล้วด้วยวัย 73 ปีเมื่อปี 2019 แต่ชาวฮ่องกงก็ยังจดจำเธอในฐานะราชินีเกี๊ยวผู้สร้างตนจากยาจกจนกลายเป็นมหาเศรษฐี และยังรำลึกถึงเธอในฐานะผู้ให้กำเนิดแบรนด์ท่าเรือหวั่นไจ๋ และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวเกาะฮ่องกง

ที่มา : https://www.scmp.com/news/hong-kong/society/article/2185766/hong-kongs-dumpling-queen-chong-kin-wo-dies-aged-73

https://www.weekinchina.com/2019/02/frozen-assets/

https://www.generalmills.com/news/stories/how-wanchai-ferry-got-its-start

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Casper’s Gallery จากของขวัญงานแต่งให้เพื่อน สู่นักวาดภาพงานแต่งเจ้าแรกในไทย 3 ชม. รายได้ตกหมื่นกว่าบาท

ใครจะคิดว่าจากภาพวาดของขวัญวันแต่งงานให้เพื่อนที่ทำอย่างตั้งใจ จะทำให้ แคท - นรินนา ศรีวรรณา ที่ชื่นชอบการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ เห็นโอกาสในการทำธุรกิจภาพวาดงานแต่งขึ้นมา จนสามารถทำรายได้หลักหมื่นบาทในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ไทรสุก ธุรกิจสุดครีเอท เล่าเรื่องเขาใหญ่ผ่านไอศกรีม

จากการผนวกความฝันของ “เต้ย-ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน” ไกด์นำเที่ยวสำรวจป่าเขาใหญ่ และ “แนน วราภรณ์ มงคลแพทย์” แฟนสาวเจ้าของธุรกิจแปรรูปผลไม้ เกิดเป็น “ไทรสุก” ร้านไอศกรีมที่ถ่ายทอดเรื่องราวสัตว์ป่าผ่านรสชาติแสนอร่อยและสีสันที่สวยงาม