ถอดบทเรียนเจ๊ง จน เจ๋ง ธุรกิจที่ลิขิตเอง จากทายาท ผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ผัดหมี่ไท-ยวน ตราป้าแวม

Main Idea

  • หลายต่อหลายครั้งที่เรามักเห็นการถอดบทเรียนจากคนที่ประสบความสำเร็จระดับร้อยล้านพันล้าน เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจ ที่หลายคนอาจมองว่าไกลตัว

 

  • วันนี้ SME Thailand Online จะพาไปถอดบทเรียนจาก “วีรวัฒน์ วรนิวัฒน์” หรือ “วอย” คนตัวเล็กๆ ที่มีจิตใจแน่วแน่กับเส้นทางการเป็นเจ้าของกิจการมาตั้งแต่เด็ก จนทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง

 

  • ทั้งการสร้างโอกาสขายของในห้างสรรพสินค้า รายได้ที่เข้ามาง่ายและหายไปแบบไม่ทันตั้งตัว ความเสียหายของการเปิดบริษัทที่ยังไม่พร้อม หรือแม้แต่การต่อยอดธุรกิจครอบครัว ที่ต้องมีทั้งศึกในและศึกนอก ฯลฯ

 

  • ตำราของเขาที่ได้ลองผิดลองถูก อาจเป็นทางลัดช่วยขจัดผงเข้าตาสำหรับคนที่ผ่านได้เข้ามาอ่าน

 

ตำราบทที่ 1 ขวนขวายให้มากพอ

     เรียกได้ว่าเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก แต่หนุ่มสระบุรีคนนี้ก็คลุกคลีกับการช่วยคุณแม่ขายของชำมาตั้งแต่เด็ก แต่จับผลัดจับพลูไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบออกมาเลยได้ทำงานด้าน HR สรรหาบุคลากรในบริษัทเครือ CP เมื่อทำงานได้สองปีก็ลาออกไปทำตามความฝัน อยากจะนำผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม ของคุณแม่ที่ขายอยู่ที่ตลาดนัด ท่าน้ำบ้านต้นตาล ไปขยายตลาดให้ไกลกว่าเดิม

     “เหตุผลที่วอยตัดสินใจออกเพราะเคยฝันกับตัวเองว่า อยากเป็นเจ้าของธุรกิจอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อีกอย่างมองว่าผัดหมี่ไท-ยวน ของแม่มีศักยภาพที่จะเติบโตกว่าการขายแค่ที่ตลาดต้นตาล ประมาณปี 2556 จึงเลือกที่จะออกมาลุยขายตามงานอีเว้นต์ แต่พอออกมาขายจริงๆ ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คิด บางงานก็ขายไม่ได้เลยขาดทุน งานก็ไม่ได้มีตลอดทั้งปี ทำให้รายได้ไม่เสถียรพอ ทำได้ 9 เดือนก็ตัดสินใจหยุด”

     บทเรียนที่ได้

     “มองย้อนกลับไปก็ยังเลือกที่จะลาออกเหมือนเดิม เพราะมันได้ประสบการณ์บางอย่างว่าสิ่งที่ผิดพลาดคือ เราอาจไม่ได้ขวนขวายที่จะหาตลาดพยายามขายให้ได้มากกว่านั้น พอไปหลายๆ งานขายของไม่ได้เจอความ fail บ่อยๆ ตอนนั้นมันรู้สึกท้อ ล้มเลิกง่ายไป”

ตำราบทที่ 2 ทุกอย่างเป็นเครื่องมือสร้างเงิน

     หลังจากที่ไม่สามารถพาผัดหมี่ไท-ยวน ไปตีตลาดได้สำเร็จ เขาก็หวนกลับไปเป็นพนักงานออฟฟิศอีกครั้งในเครือ SCG แต่ก็ยังไม่ทิ้งความฝันเดิม ยังคงขายของเล็กๆ น้อยตามตลาดนัด อาทิ ไข่ป่าม หรือไขย่างบนกระทงใบตอง รวมทั้งทำธุรกิจอีกหลายอย่างควบคู่กับงานประจำ

     “ตอนนั้นเห็นคนในโรงงานนำผ้าอ้อมเด็กมาขายแล้วดี ตัดสินใจซื้อมาขายบ้างทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าขายที่ไหน ลงทุนไป 4 หมื่นกว่าบาท สุดท้ายก็กลายเป็นสต็อกเหลือเพียบ ก็เลยเบนเข็มไปเปิดร้านนมสดชื่อ The Salary Milk ปรากฏว่าเกินคาดมากๆ เดือนหนึ่งขายได้หลักแสน แต่ทำได้ 7 เดือน พอเข้าหน้าฝนไม่สามารถเป็นเหมือนเดิมได้เลย คนไม่มาเดิน ตัดสินใจปิดร้าน”

     บทเรียนที่ได้

     “การเปิดร้านนมเปิดโลกผมมากในหลายๆ เรื่อง ทั้งการขายสินค้าที่เป็นกระแสจะต้องคอยอัปเดตเทรนด์ปรับปรุงเมนูตลอดเวลา หรือการบริหารจัดการทางการเงิน ต้องแยกกระเป๋าเงินธุรกิจกับกระเป๋าส่วนตัว พอเราไม่แยกก็ไม่รู้รายได้ที่แท้จริง ทำให้มีปัญหา ขาดเงินไปจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเงินเดือนลูกน้อง สุดท้ายก็ขาดทุน ฉะนั้นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจคือแยกกระเป๋าธุรกิจกับเงินส่วนตัวออกจากกัน”

ตำราบทที่ 3 ใช้ไอเดียเป็นตัวนำทำเงิน

     แม้จะล้มลุกคลุกคลานแต่ วีรวัฒน์ หาได้หยุดความฝันของการเป็นนักธุรกิจลง ตรงกันข้ามฝันของเขากลับยิ่งใหญ่กว่าเดิม หลังจากเก็บหอมรอบริบกับชีวิตออฟฟิศได้ 4 ปี วอยก็ตัดสินใจลาออกอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการลาออกเพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเอง สร้างโรงงาน เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการทำธุรกิจอย่างจริงจัง

     บทเรียนที่ได้

     “เป็นความผิดพลาด บทเรียนราคาแพง ย้อนเวลาไปได้จะไม่ทำเลย เปิดบริษัทรับคน 5 คนทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จะให้เขาทำอะไร สิ่งที่จะบอกกับ SME คือ คุณพยายามเริ่มต้นบางสิ่งบางอย่างที่น้อยที่สุดได้ไหม คือบางทีเราฝันใหญ่ แต่บนโลกของการทำธุรกิจจริงๆ การมีพนักงานเยอะแยะ มีออฟฟิศสวยๆ แต่ว่าเราขายไม่ได้เลยก็ไม่ได้ช่วยอะไร

     ในมุมผมคิดว่าควรเริ่มต้นจากไอเดียก่อน ใช้เงินให้น้อยสุด ใช้ทรัพยากรที่มีทำอย่างไรก็ให้ขายของให้ได้ เหมือนกับต้องเรียนรู้การทำการตลาด แต่ตอนนั้นวอยซ์ไม่ได้โฟกัสเลย วอยซ์โฟกัสแต่ว่าเรื่องการผลิต ทำอย่างไรให้ได้มาตรฐาน อย. โฟกัสการจด VAT ทั้งๆ ที่รายได้เข้าบริษัทยังไม่มีเลย เหมือนกับคิดใหญ่ไปแล้ว คือตอนนั้นมาด้วยความมั่นใจ ฝันใหญ่ไฟแรง จนเราไม่ได้มองความจริงตรงหน้า สิ่งสำคัญที่ควรทำก่อนคือ มันขายได้แล้วหรือยัง อันนี้คือสิ่งที่วอยซ์รู้สึกผิดพลาดและเสียเงินกับเรื่องพวกนี้เยอะมาก อย่างเช่น สร้างโรงเรือนก็ประมาณเกือบล้าน เอามาเสียทำ อย. ซื้ออุปกรณ์ประมาณสองแสนบาท คือเหมือนกับว่า เราทำทุกอย่างให้พร้อมก่อน

     แต่ถ้ามองอีกมุม การเตรียมความพร้อมตอนนั้นทำให้วอยซ์ได้รับโอกาสที่บางคนไม่ได้รับเช่น เป็น OTOP 5 ดาว ได้รับคัดเลือกให้ไป pitching ที่ต่างประเทศ ไปออกรายการต่างๆ ก็ได้รับโอกาสจากตรงนี้เหมือนกัน”

ตำราบทที่ 4 อยากเข้าห้างได้ต้องมีตัวช่วย

              พอหลังจากเปิดบริษัท ทำสินค้าได้มาตรฐานต่างๆ จนได้รับการส่งเสริมให้เป็นสินค้า OTOP และเป้าหมายต่อไปคือการนำของไปขายในห้างสรรพสินค้า แต่ทว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับกิจการขนาดเล็ก เพราะด้วยความที่เป็นแบรนด์โนเนมการติดต่อโดยตรงหรือติดต่อผ่านอีเมลอาจไม่เพียงพอ จนกระทั่งได้นำธุรกิจไปเข้าร่วมกิจกรรมของภาครัฐ เช่น สสว. กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะภาครัฐจะช่วยเรื่องคอนเน็กชั่นทำให้ได้เจอคู่ค้าง่ายขึ้น

     บทเรียนที่ได้

     “สิ่งนั้นเป็นความสำเร็จแรกที่ทำได้หลังจากออกจากงานประจำ การเข้าร่วมโครงการภาครัฐจะมีส่วนช่วยเราได้ เขาสนับสนุนเราหลายๆ อย่างมาก มันคือ ทำให้เจอลูกค้า คู่ค้า อันนี้คือทำให้เราได้โอกาสดีๆ เข้ามากขึ้น”

ตำราบทที่ 5 ต้องเพิ่มทักษะ พร้อมเสมอกับทุกเหตุการณ์

     หลังจากที่สามารถนำผัดหมี่ขายในห้างสร้างยอดขายได้ถึงปีละ 2 ล้านกว่าบาท เรียกว่าเป็นขวัญและกำลังใจอย่างดีแล้ว แต่ก็ดีใจได้ไม่นาน เมื่อมาเจอกับเหตุการณ์โควิดระบาด คำว่าเกือบล่มจมก็มาเยือนหนุ่มสระบุรี เมื่อห้างปิด รายได้เสริมจากการขายอีเว้นต์ก็หด

     บทเรียนที่ได้

     “ตั้งแต่เกิดโควิดมีความรู้สึกว่าสถานการณ์ต่างๆ มันไม่แน่นอนเลย บางสิ่งบางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ ยิ่งตอกย้ำว่าเราไม่ควรมีรายได้ทางเดียว หลังจากนั้นผมพาตัวเองมาเรียนรู้ทางออนไลน์ ไปเพิ่มทักษะตัวเองให้หลากหลายรองรับอนาคต  อาทิ ทั้งเรื่องการตลาดออนไลน์ การเป็นนักปิดการขาย อยากให้พัฒนาตัวเอง พยายามเพิ่มทักษะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาให้ทันกับยุคสมัย ทำให้เรามองเห็นโลกได้กว้างขึ้น ได้ทักษะหลายๆ อย่างมากขึ้น แล้วสุดท้าย เวลาเราติดปัญหา ทักษะที่เราเรียนรู้เพิ่มจะช่วยเสริมให้เราอยู่รอด

ตำราบทที่ 6 การทำธุรกิจเหมือนกับการวิ่งมาราธอน

     หลังจากนี้วอยซ์บอกว่าจะพาผัดหมี่ไปขายในห้างสรรพสินค้าอีกครั้ง แต่ไม่อยากผลีผลามเหมือนช่วงวัยรุ่น ไม่อยากประมาท ต้องเตรียมให้พร้อมทั้งเรื่องการผลิต และเรียนรู้การทำธุรกิจที่รอบด้านมากขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมต่างๆ ทางธุรกิจที่ปรับขึ้นลงได้เสมอ

     บทเรียนที่ได้

     “การทำธุรกิจก็เหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่แค่ทำผัดหมี่ได้ร้อยล้านไม่ได้หมายความว่าวอยซ์สำเร็จแล้ว แต่มันหมายความว่ายังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกปีถัดไปยอดขายจะไปยังไงต่อจะขายได้ร้อยล้านเหมือนเดิมไหม จะเจออะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เราจะรักษาร้อยล้านได้ไง”

ตำราบทที่ 7 ทายาทต้องทำใจ ใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

     แม้จะมีเป้าหมายที่อยากจะทำให้ ผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม ของที่บ้านเติบโตและมีกระบวนการผลิตที่ดีขึ้น แต่ด้วยความคิดเห็นระหว่างคนสองรุ่น ที่ไม่ลงรอย เพราะผู้เป็นแม่เชื่อในสิ่งที่เขาได้ทำมา ส่วนผู้เป็นลูกก็อยากพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จึงกลายเป็นรอยบาดหมางแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออก

     “ตอนนั้นคิดอยู่มาถูกทางไหม ไม่อยากทำอะไรยุ่งเกี่ยวกับแม่เลย คิดแบบนั้นเลย แค่ทำอย่างไรให้ขายดีได้ดีกว่านี้ทั้งเรื่องกระบวนการผลิต เรื่องแพ็กเกจจิ้ง เรื่องฉลากที่ได้มาตรฐาน ต้องมีข้อมูลโภชนาการ ต้องมีรายละเอียดส่วนประกอบ ฯลฯ แล้วก็ยังมีปัญหาให้เราแก้อีกไม่เว้นแต่ละวัน แล้วยังมามีเรื่องปวดหัวกับคนในครอบครัวอีก มันเป็นอะไรร้ายแรงพอที่จะชินชากับเรื่องพวกนั้นได้”

     บทเรียนที่ได้

     “ใช้วิธีปล่อยวางกับเรื่องพวกนี้แล้วก็โฟกัสที่เป้าหมาย ถ้าเรากัดไม่ปล่อยไปให้ถึงเป้าหมายเราทำได้สุดท้ายเขาก็จะเปิดใจยอมฟังเราเชื่อเราจากหลักฐานที่มันเกิดขึ้น อย่างตอนที่เราสามารถนำไปเข้าห้างได้ เวลาเราพูดอะไรก็ฟังมากขึ้น”

     นี่คือ ตำราธุรกิจของ ทายาท ผัดหมี่ไท-ยวน ตรา ป้าแวม อาจเป็นเพียงตำราเล่มเล็กๆ แต่ให้สาระไม่น้อย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล