TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว
PHOTO : barefoot restaurant
Main Idea
- จะมีสักกี่คนที่กล้าเปิดร้านอาหาร โดยไม่มีความรู้ทั้งเรื่องการทำอาหารและธุรกิจ ซ้ำยังมีเงินติดกระเป๋าแค่ 5 หมื่นบาท!
- มาฟังบทเรียนนอกตำราจาก “เอิน- สาธิตา สลับแสง” ผู้ก่อตั้ง ร้านแบร์ฟุต barefoot restaurant ผู้ที่ย้ำชัดว่า ทำธุรกิจร้านอาหารไม่ได้สบาย และไม่ได้มีแต่เรื่องที่ชอบ แต่ถ้าอยากจะอยู่รอด ก็ต้องสนุกไปกับมันให้ได้
ร้านอาหารโฮมเมด บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง เสิร์ฟเมนูยอดนิยมอย่าง พาสต้าเส้นสด พิซซ่า และหลากหลายเมนูน่ารับประทาน โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและพืชผักตามฤดูกาลมาเป็นส่วนประกอบหลัก นี่คือ “ร้านแบร์ฟุต” (barefoot restaurant) ธุรกิจเล็กๆ ในเมืองเชียงใหม่ ที่เกิดจากอุดมการณ์อยากเป็นตัวกลางเชื่อมผู้คนและชุมชนผ่านทางอาหาร ใครจะคิดว่า กิจการที่เริ่มจากความไม่รู้ อาศัยลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จะยังคงอยู่มาได้นานถึง 9 ปี ทั้งยังขยับขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายได้ในวันนี้
มาฟังบทเรียนนอกตำรา จาก “เอิน- สาธิตา สลับแสง” ผู้ก่อตั้ง ร้านแบร์ฟุต barefoot restaurant ผู้ที่ย้ำชัดว่า ทำธุรกิจร้านอาหารไม่ได้สบาย และไม่ได้มีแต่เรื่องที่ชอบ แต่ถ้าอยากจะอยู่รอด ก็ต้องสนุกไปกับมันให้ได้
ทำธุรกิจร้านอาหารโดยไม่รู้ทั้งเรื่องอาหารและธุรกิจ
จะมีสักกี่คนที่กล้าเปิดร้านอาหาร โดยไม่มีความรู้ทั้งเรื่องการทำอาหารและธุรกิจ ซ้ำยังมีเงินติดกระเป๋าแค่ 5 หมื่นบาท!
“สาธิตา” คือหนึ่งในนั้น เธอเรียนจบมาทางด้านวรรณกรรมภาษาอังกฤษ จากภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจส่วนตัวในเรื่องวัตถุดิบท้องถิ่นและวัตถุดิบตามฤดูกาล บวกความเป็นคนชอบเล่าเรื่อง จึงอยากเป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องเล่าเมืองเชียงใหม่และความยั่งยืนไปสู่ผู้คน ผ่านทางอาหาร
ด้วยความที่ชอบค้าขายมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มหารายได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม ทั้งรับของมาขาย ไปจนถึงทำเบเกอรี่ง่ายๆ ส่งร้านกาแฟ วันหนึ่งบ้านหลังข้างๆ ที่ติดกับร้านกาแฟที่ไปส่ง ปล่อยให้เช่าพอดิบพอดี เธอเลยเกิดความคิดที่อยากจะเปิดร้านอาหาร โดยมีเงินติดตัวแค่ 5 หมื่นบาท ส่วนความรู้เรื่องอาหารและธุรกิจเท่ากับ “ศูนย์”
“ตอนเริ่มทำไม่ได้ถนัดอาหารอะไรเป็นพิเศษเลย อาศัยเรียนรู้จากกูเกิลและยูทูปเอา โดยเริ่มจากทำพาสต้าเส้นสด เพราะชอบอาหารตระกูลเส้นอยู่แล้ว และคิดว่าเราอยากสื่อสารอาหารที่ลูกค้าได้เห็นกระบวนการทำตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ อย่างพาสต้า เราจะนวดแป้ง รีดเส้นให้เห็นกันต่อหน้าเลย นอกจากนี้ไม่ว่าจะ พาสต้าหรือพิซซ่าเอง ต่างเป็นอาหารที่คนรู้จักดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เด็กหรือว่าผู้ใหญ่ เขานึกออกว่า หน้าตาเป็นอย่างไร รสชาติประมาณไหน แต่จุดเด่นคือ เราจะเปลี่ยนจากวัตถุดิบทั่วไป มาใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและตามฤดูกาลแทน”
และนั่นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ “แบร์ฟุต” ร้านอาหารอิตาเลียนรสชาติไทยๆ ถือกำเนิดขึ้น
ทำทันที ไม่เวิร์กก็แค่ปิดไป ไม่กลัวความล้มเหลว
บางคนทำธุรกิจจะเริ่มจากการวางแผน และใช้เวลาไปกับแผนนั้นจนมั่นใจก่อนเปิดธุรกิจ แต่สำหรับสาธิตาเธอบอกว่า เมื่อความคิดเกิด ก็เปิดทันที
“ตอนนั้นก็เปิดเลย ลองผิดลองถูกกับลูกค้าไปเลย โดยเราไม่ได้วางโพซิชันร้านว่า จะต้องเป็นร้านหรูหรืออะไร แต่ด้วยบรรยากาศของเชียงใหม่เอง ผู้คนจะค่อนข้างเปิดอยู่แล้ว ไม่ว่าอะไรที่แปลกใหม่ เขาก็จะเข้ามาลองโดยไม่ได้มีอคติ เราก็เลยลองทำ ดูว่าจะทำได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็แค่ปิดไป
ตอนนั้นมีเงินในกระเป๋า 50,000 บาท ราคาบ้านเช่าอยู่ที่ 4,500 บาท เนื่องจากเป็นบ้าน 2 ชั้น เลยชวนเพื่อนที่ทำโปรดักชันเฮ้าส์มาหารด้วยกัน ชั้นบนเพื่อนใช้ เราก็มาทำครัวเล็กๆ ด้านล่าง เลยเสียค่าเช่าแค่เดือนละ 2,000 กว่าบาท ก็คิดว่าไม่ได้มากมายอะไร ถ้าเงิน 50,000 บาท นี้หมด เราก็แค่เริ่มต้นใหม่” เธอบอกความใจกล้าในตอนนั้น
เพราะความไม่รู้ ธุรกิจเลยอยู่รอด
ร้านอาหารคือหนึ่งในธุรกิจปราบเซียนที่สามารถทำให้ “เจ๊ง” ได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน แต่ใครจะคิดว่าหนึ่งในผู้อยู่รอด จะเป็นร้านที่ชื่อแบร์ฟุต ซึ่งเจ้าของย้ำนักย้ำหนาว่า...ไม่รู้อะไรเลย
“ด้วยความที่เราไม่มีพื้นฐานในเรื่องการบริหารพอๆ กับไม่มีพื้นฐานเรื่องการทำอาหารเลย ซึ่งความไม่รู้นี้ก็มีข้อดีของมัน เพราะทำให้เราทำธุรกิจแบบเปิดกว้างมากๆ อย่างเช่น เราไม่มีพื้นฐานเรื่องการทำครัว ก็จะไม่รู้ว่าอันนี้ไม่ควรคู่กับอันนี้ หรืออันนี้ควรคู่กับอันนี้ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราค่อนข้างเปิดกว้างและสร้างสรรค์อะไรได้หลากหลายขึ้น หรืออย่างการบริหารธุรกิจก็เช่นกัน เราไม่รู้ว่า ณ ตอนนี้ขาดทุนหรือยัง ตอนนี้เราควรไปต่อหรือพอได้แล้ว รู้แค่ว่า เราใช้เงิน 5 หมื่นบาทที่เรามี ทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจนี้อยู่รอดให้ได้ ก็แค่ทำไปเรื่อยๆ เลยไม่เจ๊ง และดั้นด้นมาได้จนถึงทุกวันนี้”
เธอบอกวิธีคิดง่ายๆ แต่นั่นก็ทำให้ร้านแบร์ฟุตอยู่มาได้นานถึง 9 ปี จากธุรกิจเล็กๆ ก็ย้ายมาโลเคชันใหม่ตรงถนนท่าแพ ย่านการค้าสำคัญของเมืองเชียงใหม่ เริ่มมีทีมงานทั้งแบบฟูลไทม์และพาร์ตไทม์มาช่วยแบ่งเบาภาระงาน มีเมนูอาหารที่หลากหลายขึ้น มีสินค้าในแบรนด์ตัวเอง อย่างซอส และเส้นพาสต้าสด เปิดคลาสสอนทำอาหารทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยเน้นสอนอาหารไทยให้ชาวต่างชาติ และสอนอาหารต่างชาติให้คนไทย มีบริการรับจัดเลี้ยงเล็กๆ บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจอาหาร เป็นต้น
ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ก็เพิ่งเปิดร้านใหม่ในชื่อ “โพสพ POHSOP local-rice eatery” ร้านอาหารมังสวิรัติที่ยังคงคอนเซ็ปต์ ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ตามฤดูกาลและอุดหนุนผู้ผลิตรายย่อย โดยเน้นไปที่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเป็นหลัก ตามที่มาของชื่อร้านนั่นเอง
ธุรกิจไม่มีคู่แข่ง จับมือกัน แชร์ไอเดียกันได้
ถ้าเราเปิดร้านอาหาร ร้านที่เปิดขายอาหารชนิดเดียวกัน มีลูกค้ากลุ่มเดียวกัน เราก็คงนิยามว่า “คู่แข่ง” แต่นั่นไม่ใช่กับผู้ประกอบการที่ชื่อแบร์ฟุต เพราะโลกธุรกิจของพวกเขา ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และสามารถมาจับมือทำธุรกิจร่วมกันได้
“อย่างร้านแรกที่เราอยู่ จะเป็นลักษณะของเวิ้งที่มีหลายๆ ร้านอยู่ด้วยกัน ทุกคนก็จะอาศัยอยู่ตรงนั้น กลายเป็นเพื่อนบ้านกัน พอเราย้ายออก ก็มาคิดว่า เราไม่ได้อยากรับผิดชอบเรื่องเครื่องดื่ม เลยลองชวนเพื่อนที่ทำเครื่องดื่มมาเป็นหุ้นส่วนกัน ในเชิงที่ว่า เราขายของในพื้นที่เดียวกัน แต่ต่างคนต่างบริหารจัดการกันเอง เราเลยเป็นร้านที่มีเครื่องดื่มให้บริการด้วย
ในขณะที่โลเคชันใหม่ จะเป็นโซนธุรกิจหน่อย มีหลายร้านที่ขายคล้ายๆ กัน ถ้าเป็นคนที่รู้เรื่องธุรกิจเขาอาจมองว่า ที่นี่มีคู่แข่งเยอะ แต่เรากลับมองว่า เขาเป็นเพื่อนบ้าน เป็นคู่ค้ามากกว่าคู่แข่ง อาจจะด้วยความที่เราไม่รู้ธุรกิจอีกนั่นแหละ จึงทำร้านแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อย่างลูกค้ามาร้านเราเพราะหาอีกร้านไม่เจอ เราก็ยินดีผายมือให้เขาไปหาร้านที่ถูกต้อง เพราะมองว่า อย่างน้อยเขาก็รู้จักร้านเราแล้ว เขาอาจจะแวะมาทีหลังก็ได้ เราให้สิทธิ์ลูกค้าเป็นผู้เลือก โดยที่ไม่ต้องไปกันซีน ไปบลัฟกันเพื่อให้ได้ลูกค้า แต่เน้นช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถึงขนาดแลกเปลี่ยนไอเดียกันด้วยซ้ำ”
วิธีคิดนี้ไม่ได้มีแต่แบร์ฟุตเท่านั้น ทว่ายังรวมถึงผู้ประกอบการอีกหลายรายในเมืองเชียงใหม่ ที่เลือกจะร่วมมือกันและอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย จนกลายเป็นเสน่ห์ของการทำธุรกิจในเมืองที่เต็มไปด้วยผู้ประกอบการมากมายในวันนี้
เจอเรื่องทุกข์ ก็ต้องสนุกให้ได้
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างบทเรียนนอกตำรา จากวิชาธุรกิจของแบร์ฟุต ซึ่งหากสามารถใช้ประสบการณ์ 9 ปี ในการที่พอจะแนะนำใครได้ สาธิตา ก็บอกว่า อยากให้คนที่ทำธุรกิจ บาลานซ์สิ่งที่ตัวเองชอบและความเป็นธุรกิจให้ไปด้วยกันได้ และไม่ว่าจะเจอกับอะไร จะชอบหรือไม่ชอบ ทนทุกข์หรือเจ็บช้ำ ก็ต้องเลือกที่จะสนุกไปกับมันให้ได้
“มีพี่ที่รู้จักเคยพูดว่า ถ้าเราไม่ชอบใครให้แนะนำไปเปิดร้านอาหาร เพราะถ้าขายดีเขาจะเหนื่อย ถ้าขายไม่ดีเขาจะเครียด (หัวเราะ) แต่ถ้าอยากให้แนะนำจริงๆ อยากบอกว่า นี่ไม่ใช่ธุรกิจที่สบายเลย คนอาจมองผิวเผินว่ามันดี แต่พอมาเป็นเจ้าของธุรกิจเองแล้ว เราจะไม่สามารถเลือกในสิ่งที่มีแพชชันอย่างเดียวเท่านั้น อย่างเช่น เราอยากทำอาหารก็เลยเปิดร้านอาหาร แต่การเป็นนายตัวเอง ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ตาม มันจะมีทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ แต่เพื่อให้ธุรกิจเรายังคงอยู่รอดได้ เราก็ต้องเลือกที่จะสนุกไปกับมัน ไม่ว่าจะมีความสุขหรือทุกข์ทรมานก็ตาม แต่ถ้าสุดท้ายแล้วเราไม่ไหวจริงๆ มันก็โอเคที่จะยอมแพ้ แล้วก็ยอมรับว่า มันไม่ใช่ทางของเรา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องรู้สึกผิดอะไรเลย” เธอบอกในตอนท้าย
ร้านแบร์ฟุต barefoot restaurant FB : barefootcafechiangmai IG : barefoot_cafe ร้านโพสพ POHSOP local-rice eatery FB : pohsoplocalrice IG : pohsop.chiangmai |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี