ถอดความสำเร็จ ชิฟฟ่อนเค้ก วรรณวนัช จากร้าน 1 คูหา สู่เจ้าของโรงงาน 100 ล้าน

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ชิฟฟ่อนเค้ก วรรณวนัช

Main Idea

  • เชื่อไหมว่าถ้าคุณมีความเชื่อ และลงมือทำ ถนนแห่งความสำเร็จก็ขยับเข้าหาคุณได้ไวขึ้น

 

  • เหมือนกับ ภาณุวัชร วัฒนกิจรุ่งโรจน์ ที่อาศัยความเชื่อและเริ่มลงมือทำตั้งแต่อายุ 18 แม้จะเคยโดนเจ้าของร้านปฏิเสธเป็นร้อยๆ ครั้ง ไม่ให้นำสินค้าไปวางขาย และบริษัทเกือบพังเพราะการไว้ใจที่ปรึกษา

 

  • บทเรียนในวันนั้นทำให้วันนี้ เค้กวรรณวนัช มีสินค้าวางจำหน่ายในอะเมซอนกว่า 200 สาขา พาให้เขากลายเป็นเจ้าของโรงงาน 100 ล้านในวัยยี่สิบต้นๆ

 

     คำสอนของคุณแม่ที่บอกว่าถ้าอยากได้อะไรก็ต้องขวนขวาย ทำให้ ภาณุวัชร อยากมีรถยนต์ขับ จึงต้องเริ่มมองหาวิธีสร้างรายได้ โดยเริ่มจากนำขนมเบเกอรี่ที่คุณแม่ทำเป็นอาชีพเสริมคู่ไปกับธุรกิจขายตรง พร้อมทั้งเป็นผู้ผลักดันให้ลูกชายได้เริ่มต้นธุรกิจ

Q : ทำไมมองว่าขนมที่ทำเป็นงานอดิเรกจะกลายเป็นธุรกิจที่ทำให้มีรายได้มั่นคง

     วันนั้นผมมองไม่เห็นว่าธุรกิจจะสร้างรายได้ให้เราได้อย่างไร ผมมีอย่างเดียวคือ ความเชื่อเลยครับ มีความเชื่อว่าของเราดี ของเราอร่อย บวกกับผมอยากได้รถยนต์ทำให้รู้สึกว่าต้องเริ่มทำธุรกิจเพื่อให้มีรายได้มากพอทำตามความฝันที่เราต้องการ ผมเลยตั้งเป้าหมายแรกในการทำธุรกิจอยากประสบความสำเร็จ โดยมีข้อกำหนดในการประสบความสำเร็จในตอนนั้นคือ อยากมีพนักงาน 100 คนมียอดขาย100 ล้านบาท

Q : จากความเชื่อมั่นมาต่อยอดธุรกิจได้อย่างไร

     สิ่งแรกเลยผมเริ่มเรียนรู้การทำขนมก่อน ผมอยากรู้ว่าขนมของเรามีจุดเด่นอะไรที่จะไปสู้ในตลาด จากนั้นเริ่มหาที่ขาย เริ่มมองว่าไปอยู่ในจุดไหน ตั้งคำถามกับตัวเองว่าต้องการจะโตไปเวย์ไหน เป็นแบบค้าส่ง B2B หรือค้าปลีก B2C ซึ่งตอนนั้นผมเลือก B2B ที่มีโมเดลต้นแบบคือ ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ผลิตส่งให้ลูกค้าๆ ไปขายต่อ เริ่มจากส่งให้ร้านค้าตามตลาดนัด ตลาดของฝาก

Q : ด้วยวัยวุฒิและชื่อเสียงของขนมที่ยังไม่เป็นที่รู้จักทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมรับ

     ตอนนั้นผมอายุประมาณ 19 ปี โดนลูกค้าปฏิเสธเป็นร้อยๆ ครั้ง บางคนก็มองว่าเราเด็กบ้าง บ้างก็บอกกล่องไม่สวย แพ็กเกจจิ้งไม่โดนใจ แบรนด์ยังดูเป็น OTOP มากเกินไป บางครั้งก็โดนลูกค้าตำหนิแรงๆ ต้องแอบไปนั่งร้องไห้ในรถก็มี แต่เราแค่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เอาเวลาแค่ 5-20 นาทีที่ลูกค้าปฏิเสธเรามาเป็นตัวตัดสินอนาคตตัวเองอีก 60 ปีมันไม่คุ้มกัน เจ้านี้ไม่ซื้อเราก็ไปหาคนอื่น พอคิดแบบนี้เครียดพักเดียว เริ่มสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเอง เริ่มหาเหตุผลให้ตัวเองทำธุรกิจต่อไป นำคำวิจารณ์เหล่านั้นกลับมาปรับปรุง จากเมื่อก่อนไม่ได้ห่อขนมใส่กล่องเลย ก็เริ่มห่อตัดเป็นชิ้นๆ ให้ทานง่าย แป๊ะสติ๊กเกอร์บอกรสชาติ เปลี่ยนแพ็กเก็จจิ้ง เปลี่ยนกล่องให้สวยงามขึ้น

     ช่วงแรกๆ ผมทำงานไม่มีวันหยุดเลยนะ ทำงานเกือบ 24 ชั่วโมง เชื่อว่าถึงร่างผมเป็นเด็กแต่จิตใจผมโตเป็นผู้ใหญ่ พร้อมแก้ไขปรับปรุง ไม่เคยโทษคนที่ปฏิเสธหรือตำหนิกลับขอบคุณพวกเค้าด้วยซ้ำ สอนบทเรียนให้เรา ควรพัฒนาให้มากกว่านี้

     พอได้ลองผิดลองถูก เริ่มมีความมั่นใจเลือกไปส่งตลาดใหญ่ขึ้นอย่างอะเมซอน เพราะเป็นแบรนด์ที่มีแนวทางการเติบโตสูงมาก ประกอบกับจังหวะนั้นเค้าประกาศจะตั้ง stan alone ด้วย ตอบโจทย์การทำธุรกิจเรา จนได้เริ่มวางขายที่สาขาแรกมีกระแสตอบรับดีก็เริ่มมีหลายสาขา

Q : เมื่อธุรกิจเติบโตต้องปรับต้วอย่างไรบ้าง

     เมื่อตลาดขยายได้มากขึ้น หลังบ้านเริ่มมีปัญหา กำลังการผลิตไม่พอ จากที่ผลิตกันที่ห้องแถวห้องเดียวก็เริ่มขยับขยายเป็นโรงงานเล็กๆ โรงงานที่หนึ่งมีเนื้อที่ 2-3 งาน แต่การเติบโตของเรายังโตทวีคูณ เราทำแทบจะทุกอย่างที่เป็นเบเกอรี่ ตั้งแต่เค้ก ขนมปัง แซนวิช เปี๊ยะ เอแคร์ ชิฟฟ่อน ฯลฯ วางแผนสร้างโรงงานที่สองเพิ่มในช่วงโควิด ซึ่งโรงงานที่สองนี้มีเนื้อที่ประมาณ 34 ไร่ สร้างเสร็จมาปีกว่าแล้ว มีกำลังการผลิตได้มากกว่าโรงงานเก่า 4 เท่า สามารถผลิตได้ประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อเดือน

     นอกจากเรื่องการขยายตลาดแล้ว การสร้างโรงงานก็มีหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้ อันดับแรกต้องรู้เรื่องกฏหมายสถานที่นั้นทำได้ไหม สถานที่นั้น ขอ รง. อุตสาหกรรมได้ไหม กฏหมายแรงงาน บัญชี กระบวนการผลิตใช้เครื่องจักรถูกต้อง วาง flow line อย่างไร จะขอมาตรฐานอย. GMP ต้องรู้หมดเลย

Q : จ้างที่ปรึกษาอาจกลายเป็นปัญหาให้บริษัทได้

     ผมเคยจ้างที่ปรึกษามาช่วยดูแลทีมอออฟิศ ซึ่งให้อำนาจเขา 100% สุดท้ายเป็นผลเสียกับบริษัทมากว่าเป็นผลดี เนื่องจากเขาไล่พนักงานเก่าๆ ผมออกหมดเลย ด้วยเหตุผลที่ว่าเค้ามีชุดความรู้ใหม่ๆ เข้ามา คนเก่าไม่ยอมร่วมมือ จึงอยากล้างน้ำเก่าเอาน้ำใหม่ขึ้นมา แต่กลับกลายเป็นว่าเขาปั้นแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคิด เขาชิ่งตัวไม่ต่อสัญญากับเรา

     ในความคิดผมจะจ้างที่ปรึกษานอกจากต้องดูโปรไฟล์ นิสัยใจคอแล้ว ต้องดูว่าเขามองแนวทางการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับเราไหม ให้อำนาจต้องอยู่ในสายตาเรา หรืออยู่ในสายตาคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ

Q : เคล็ดลับความสำเร็จของ เค้กวรรณวนัช

     ส่วนตัวผมว่าปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมีหลายอย่าง ต้องมีความเชื่อ ลงมือทำ ไม่ยอมแพ้ และสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าสำคัญคือ ควรโฟกัสลูกค้าว่าเขาต้องการอยากได้อะไร สิ่งที่ต้องคำนึง หนึ่ง สินค้าเราตอบโจทย์เขาได้ไหม สองสินค้าเราแก้ปัญหาให้เขาได้ไหม สาม เราเข้าไปเติมเต็มหรือเป็นส่วนหนึ่งที่เค้าต้องการหรือขาดเราไม่ได้หรือเปล่า บวกกับต้องเป็นสินค้ามีคุณภาพดี ราคาที่เหมาะสมด้วย แล้วสินค้าที่เราผลิตขึ้นมาถึงจะขายได้             

     แม้วันนี้เป้าหมายแรกของ ภาณุวัชร จะสำเร็จแล้วแต่เขาก็ยังมีเป้าหมายต่อไปที่ใหญ่กว่านั่นคือการพาบริษัทไปเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

ข้อมูลติดต่อ

Facebook : ชิฟฟ่อนเค้ก วรรณวนัช ของฝาก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

โทรศัพท์ : 064 242 7575

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย