ทำไม Textile Recycling เป็นตลาดที่น่าสนใจ ทำกำไรให้ธุรกิจได้

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • ในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกคาดว่าจะสูงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10.7% CAGR จากในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนมูลค่าตลาด Textile Recycling ของไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท หรือราว 0.5% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทย

 

  • การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิลจะช่วยเพิ่มกำไรขั้นต้นได้ เช่น การผลิตเสื้อยืดจากเส้นใยรีไซเคิล 100% จะช่วยให้ผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 3% ต่อตัว เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรของเสื้อยืดทั่วไป

 

     อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับที่ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง เมื่อเทียบจากการใช้วัตถุดิบและน้ำในขั้นตอนการผลิตที่มีปริมาณสูง ทำให้วงการแฟชั่นทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับเทรนด์เสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

     โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทเสื้อผ้าชั้นนำร่วมลงนามและสนับสนุนกฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Fashion Industry Charter for Climate Action) โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% ภายในปี 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ทำให้ในระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเสื้อผ้าต่างๆ เริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล (Textile Recycling)

ทำความรู้จักกับ Textile Recycling

     Textile Recycling คือ เสื้อผ้าที่ผลิตมาจากขยะสิ่งทอ โดยวัสดุที่ใช้สำหรับการรีไซเคิลสิ่งทอสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

     1. ขยะสิ่งทอก่อนการบริโภค (Pre-consumer) ส่วนใหญ่เป็นเศษด้ายและเศษผ้าที่เหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

     2. ขยะสิ่งทอหลังการบริโภค (Post-consumer) คือ สิ่งทอที่ถูกทิ้ง เสื่อมสภาพหรือผ่านการใช้งานแล้ว เช่น เสื้อผ้าเก่า และของใช้ในบ้านต่างๆ

กระบวนการผลิต Textile Recycling

     จะเริ่มจากการนำวัสดุของแข็งที่ติดมากับเสื้อผ้าออก เช่น กระดุมและซิป แล้วนำขยะสิ่งทอมาตัดหรือฉีกออกเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจะทำการคัดแยกเฉดสีเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพ โดยการนำเอาตัวทำละลายที่เหมาะสมกับเส้นใยแต่ละชนิดมาทำละลายเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอม แล้วอัดขึ้นรูปเพื่อนำมาปั่นเป็นเส้นใยรีไซเคิลสำหรับผลิตเสื้อผ้าใหม่หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ

     อย่างไรก็ดี เสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลได้ 100% เนื่องจากส่วนประกอบและเส้นใยของเสื้อผ้ามีความหลากหลาย ซึ่งเส้นใยแต่ละชนิดมีความสามารถในการรีไซเคิลต่างกัน อีกทั้งกระบวนการรีไซเคิลสิ่งทอจะส่งผลให้ความยาวของเส้นใยสั้นลง จึงต้องทำการผสมกับเส้นใยบริสุทธิ์ในสัดส่วนราว 30-50% เพื่อให้เส้นใยมีคุณภาพมากขึ้น

ต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลจะมีแนวโน้มลดลง

    โดยทั่วไป เสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลยังคงมีราคาแพงกว่าเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยบริสุทธิ์ เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการคัดแยกส่วนประกอบและสีของเสื้อผ้า เพื่อให้ได้วัตถุดิบตั้งต้นที่สม่ำเสมอสำหรับการรีไซเคิล ทำให้การประหยัดต้นทุนต่อหน่วย (Economies of Scale) ทำได้ค่อนข้างยาก กอปรกับต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อรีไซเคิลสิ่งทอยังอยู่ในระดับสูง

     อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นทุนในการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใย รีไซเคิลจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากบริษัทต่างๆ สนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้า รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล ขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยินดีที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลในราคาที่สูงขึ้น ทำให้ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการเสื้อผ้าทั้งในต่างประเทศและผู้ประกอบการไทยออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น ซึ่งบางบริษัทมีเป้าหมายการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้ารีไซเคิล 100% ในช่วง 3-8 ปีข้างหน้า เช่น Zara และ H&M เป็นต้น

ทำไมตลาด Textile Recycling จึงน่าสนใจ

1. เป็นแนวทางที่สอดรับกับ BCG Model ตอบโจทย์กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม

     การผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากขยะสิ่งทอก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าทั่วไป จากงานวิจัยของ Shameek Vats, Marja Rissanen (2016) ที่ชี้ว่า การใช้ขยะสิ่งทอทุกๆ  1 กิโลกรัมสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ราว 3.6 kgCO2e รวมทั้งช่วยประหยัดน้ำ 6,000 ลิตร ปุ๋ยเคมี 0.3 กิโลกรัม และยาฆ่าแมลง 0.2 กิโลกรัม

2. พฤติกรรมของผู้บริโภคสนใจที่จะซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

     จากผลสำรวจของ McKinsey & Company (2022) ชี้ว่า 54% ของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจของ Eurobarometer (2020) ชี้ว่า 77% ของผู้บริโภคชาวสหภาพยุโรปส่งเสริมการผลิตเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล ขณะที่ผลสำรวจของ PR Newswire (2019) ชี้ว่า 83% ของผู้บริโภคชาวจีนจะเลือกซื้อเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิล เป็นต้น

3. ลดความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบเสื้อผ้าที่มีความผันผวน

     ฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเสื้อผ้าทั่วโลก แต่ราคาจะผันผวนตามสภาพอากาศ ไทยจำเป็นต้องนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯ อินเดีย และจีนมากถึง 99% ของความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมดเพื่อนำมาผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากไทยผลิตฝ้ายได้เพียงปีละประมาณ 1,200 ตันเท่านั้น

4. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต

     ข้อมูลจาก Dealroom พบว่า มูลค่าเงินลงทุนจากธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ในกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวกับ Textile Recycling เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 มีเงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 มีมูลค่าเพียง 569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 287%YoY

มูลค่าตลาด Textile Recycling

     ในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling ของโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.6 แสนล้านบาท) จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.7%CAGR

     สำหรับประเทศไทย Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2575 มูลค่าตลาด Textile Recycling จะอยู่ที่ราว 1.3 พันล้านบาท หรือราว 0.5% ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าของไทย ซึ่งจะอยู่ที่ราว 258.2 พันล้านบาท

 

เปรียบเทียบการทำธุรกิจ Textile Recycling

     การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิลจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตเสื้อยืดจากเส้นใยรีไซเคิล 100% จะช่วยให้ผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 3%/ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรของเสื้อยืดทั่วไป โดยราคาขายจริงเฉลี่ยในตลาดของเสื้อยืดทั่วไปอยู่ที่ 400 บาท/ตัว ส่วนต้นทุนของการผลิตเสื้อยืดทั่วไปจะอยู่ที่ราว 45% ของราคาขาย หรือ 180 บาท/ตัว ซึ่งต้นทุนของวัตถุดิบเส้นใยคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนรวมหรือ 36 บาท/ตัว และต้นทุนอื่นๆ อยู่ที่ 144 บาท/ตัว ทำให้กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 220 บาท/ตัว หรือ 55%/ตัว ขณะที่เสื้อยืดที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลมีราคาขายอยู่ที่ราว 450 บาท/ตัว แต่ต้นทุนวัตถุดิบเส้นใยรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้น 30% จากเสื้อยืดทั่วไปเป็น 46.8 บาท/ตัว และเมื่อต้นทุนอื่นๆ คงที่อยู่ที่ 144 บาท/ตัว ทำให้ผู้ผลิตมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 259.2 บาท/ตัว หรือ  58%/ตัว ซึ่งมากกว่ากำไรของการผลิตเสื้อยืดทั่วไปที่ 3%/ตัว

     นอกจากนี้ การผลิตสิ่งทอจากเส้นใยรีไซเคิล 100% ยังช่วยลดปริมาณของการใช้น้ำมากถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 45% ต่อปี เนื่องจากการใช้เส้นใยรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งทอจะช่วยลดการปลูกฝ้าย และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตเส้นใยบริสุทธิ์ใหม่อีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทผลิตผ้าฝ้ายทอจากฝ้ายรีไซเคิล 100% โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 100,000 กิโลกรัมต่อปี จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ 46 พันลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือราว 600,000-700,000 บาทต่อปี รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่าจำนวน 50,000 ต้น

     แม้การผลิตเสื้อผ้า Textile Recycling จะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อเทียบกับการผลิตเสื้อผ้าทั่วไปที่ใช้เส้นใยบริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคและความท้าทายที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องพิจารณา ดังนี้

  • ความซ้บซ้อนของเทคโนโลยีการรีไซเคิลสิ่งทอ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่อยู่ในระยะนำร่อง (Pilot Scale)

 

  • ปัญหาความไม่แน่นอนของอุปทานเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเพื่อนำมารีไซเคิล

 

  • ขาดมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ารีไซเคิลยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก

 

 

ที่มา : Krungthai COMPASS

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย