ซีอิ๊วตรารถยนต์ แบรนด์ซีอิ๊วหนึ่งเดียวของภูเก็ต สานต่อสูตรหมักโอ่งดินแบบโบราณ 100 ปี

TEXT : ชาญชัย หาสสุด

PHOTO : ภูเก็ตจันทร์แสง

Main Idea

  • “ซีอิ๊วตรารถยนต์” ของดีคู่ครัวคนภูเก็ต ที่ใครได้ชิมรสชาติเป็นต้องติดใจ เพราะเป็นสูตรดั้งเดิมทำกันมาร้อยกว่าปีแล้ว

 

  • ในวันนี้กิจการเติบโตมาจนถึงรุ่นที่ 2 และ 3 ช่วยสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น แม้จะบรรจุในขวดทันสมัย แต่ยังคงคุณภาพการผลิตที่พิถีพิถันแบบโบราณหมักใส่โอ่งดินมาจนถึงทุกวันนี้

 

     เมื่อปลายปี 2558 ภูเก็ตได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารจาก UNESCO  (Creative City of Gastronomy) ซึ่งแสดงให้เราเห็นถึงความโดดเด่นของเอกลักษณ์ทางด้านอาหารของภูเก็ต นอกจากทะเล ชายหาดและแสงแดดที่มีชื่อเสียงจนกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก “ซีอิ๊วตรารถยนต์” คือ สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมการกินของชาวภูเก็ตยิ่งน่าสนใจ ไม่แพ้ความสวยงามทางธรรมชาติที่มีอยู่เลย

     ถ้าถามคนภูเก็ต มีน้อยมากที่ไม่รู้จัก ซีอิ๊วตรารถยนต์ ซีอิ๊วคู่ครัวของคนภูเก็ตมานาน

     “พ่อกับแม่มีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน เดินทางมาอยู่ภูเก็ต เมื่อประมาณแปดสิบกว่าปีก่อน เปิดร้านขายของชำเล็กๆ  แม่ได้ความรู้การทำซีอิ๊วมาจากเมืองจีน ซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมทำมาเป็นร้อยๆ ปี ด้วยความบังเอิญที่ทำกินเอง แล้วแบ่งให้เพื่อนบ้านชิม จนหลายคนติดใจในรสชาติ เชียร์ให้ทำขาย ตั้งแต่นั้นบ้านเราก็ขายซีอิ๊วมาตั้งแต่จำความได้

     อาป๋า - เกียรติศักด์ จันทร์เวียงทอง ทายาทรุ่นที่ 2 เล่าให้ผมฟังถึงที่มาของซีอิ๊วยอดนิยมของคนภูเก็ตด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและเป็นกันเอง

     โดยเล่าต่อว่าช่วงแรกๆ ที่ทำขายนั้น ไม่ได้จริงจังมากนัก เพราะที่ร้านก็ขายของสินค้าอื่นๆ ไปด้วย จนกระทั่งถึงรุ่นของอาป๋าซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 เมื่อเรียนจบจึงมีความคิดอยากทำซีอิ๊วขายจริงจัง เพราะหลายคนติดใจในรสชาติ แล้วบอกต่อกันปากต่อปาก จึงสร้างแบรนด์ขึ้นมาโดยใช้เป็นรูปรถยนต์เป็นโลโก้ มาจากพาหนะที่พ่อกับแม่ใช้เดินทางมาประเทศไทย และยังหมายถึงการเดินทางของธุรกิจซีอิ๊วของครอบครัวได้ด้วย โดยเริ่มจากผลิตและขายส่งให้ร้านของชำเล็กๆ ในตัวจังหวัดก่อน แล้วค่อยขยายออกไปจังหวัดอื่นในภาคใต้ จากนั้นมาซีอิ๊วตรารถยนต์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในภาคใต้โดยเฉพาะกับคนภูเก็ต

     “ไม่ใช่ว่าจะขายดีเลยตั้งแต่แรกนะ ต้องใช้เวลาถึงเกือบ 4-5 ปี ถึงจะมีคนรู้จัก จากภูเก็ตจึงเริ่มขยายพื้นที่ไปยังพังงา กระบี่ และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้ จนวันนี้หลายคนรู้จักซีอิ๊วของเรามากขึ้น ตอนนี้มีลูกๆ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 มาช่วยสานต่อ จากตอนแรกที่ใช้แค่กำลังการผลิตในครอบครัว เมื่อยอดขายเพิ่มมากขึ้น เราจึงสร้างโรงงานภูเก็ตจันทร์แสงขึ้นมา และย้ายแหล่งผลิตจากที่บ้านมาที่โรงงาน เมื่อประมาณสิบปีก่อนจนถึงปัจจุบัน”

     ถามว่าทำไมซีอิ๊วตรารถยนต์จึงครองใจคนภูเก็ตและผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน อามะ - รัตนา จันทร์เวียงทอง ผู้เป็นภรรยาไขข้อข้องใจให้ผมฟังว่า

     “รสชาติที่กลมกล่อม ได้มาจากกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติ ซึ่งยึดสูตรดั้งเดิมที่สืบทอดกันมามากกว่าร้อยปี”

     ประโยคสั้นๆ ที่เสริมต่อจากเรื่องราวของจุดกำเนิดซีอิ๊วท้องถิ่นแบรนด์เดียวที่เหลืออยู่ในตลาดภูเก็ต ทำให้ผมเข้าใจถึงเสน่ห์การผลิตที่มาจากน้ำมือของคนจริงๆ ที่ตั้งใจเกือบทุกขั้นตอน มีแค่บางอย่างเท่านั้นที่ต้องใช้เครื่องจักรทุ่นแรงและปรับเปลี่ยนให้ถูกหลักอนามัย

     เราพูดคุยกันเรื่อยๆ จนผมตั้งคำถามว่า ใช้เวลานานไหมกว่าที่ลูกๆ จะตัดสินใจมาช่วยงานเต็มตัว อาป๋ากับอามะตอบแบบไม่ลังเลว่า ทุกคนตั้งใจจริง อาจจะเกิดจากการปลูกฝังลูกทั้งสองมาตั้งแต่เด็กให้เข้าใจขั้นตอนการทำงาน ตลอดจนการลงมือทำและช่วยงานผลิต

     ภาพแรกที่ผมเห็นตอนออกไปเดินดูโรงงาน โอ่งดินร่วมร้อยใบวางเรียงรายกลางลานโล่ง ต่างจากภาพในหัวที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรโดยสิ้นเชิง อาป๋าเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการทำซีอิ๊วต่อว่า

     “ขั้นแรกต้องคัดเลือกพันธุ์ถั่วเหลืองก่อน ซึ่งส่วนมากมาจากสุโขทัยบ้าง เชียงใหม่บ้าง นำไปสู่ขั้นตอนการผลิตตามสูตรดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมา ขั้นตอนที่ซับซ้อนที่สุดน่าจะเป็นการหมักที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งปี ในขั้นตอนนี้เราต้องมีคนดูแลตลอด คอยเปิด-ปิดโอ่งหมักให้รับแดดตามระยะเวลาที่เหมาะสม แล้วต้องดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่งั้นรสชาติจะเพี้ยน” อาป๋าบอก

     จากการใช้เวลาพูดคุยกับอาป๋าและอามะ ผมสัมผัสได้ถึงความเป็นผู้ใหญ่ใจดีใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มตลอดเวลา

     ถ้าเปรียบภูเก็ตเป็นเหรียญสักเหรียญ ด้านหงายคงหนีไม่พ้น ภาพของเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่นักท่องเที่ยวหลายคนปักหมุดไว้เป็นจุดหมายปลายทางสักครั้งในชีวิต  ในขณะที่ด้านคว่ำของเหรียญ คือ เสน่ห์ของเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่มักถูกมองข้าม ซึ่งอย่างน้อยต้องมีเรื่องอาหารการกินรวมอยู่ด้วย จนวันนี้เมื่อภูเก็ตได้รับรางวัลด้านอาหารจากองค์กรระดับโลก เหรียญด้านที่คว่ำอยู่คงมีคนพลิกขึ้นมาดูมากขึ้น และหนึ่งในนั้นเขาต้องได้เห็นและรู้จัก “ซีอิ๊วตรารถยนต์”

ซีอิ๊วขาวตรารถยนต์

https://www.facebook.com/Junsaeng?mibextid=LQQJ4d

โทร. 081 892 3178

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย