TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
Main Idea
- ทายาทอาณาจักรขนมหวานตัดสินใจสานต่อธุรกิจของที่บ้าน แต่มีแนวคิดที่ต่างจากเก่าแต่เข้ากับยุคสมัย
- นั่นคือ การนำพืชผักผลไม้ที่มีตำหนิหรือไม่สวยงามแต่ยังบริโภคได้มาแปรรูปเป็นผงผักผลไม้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาหาร ทำขนม หรือเครื่องดื่ม รวมถึงการผลิตเป็นสแน็คต่างๆ
- จุดประสงค์หลักคือ การลดจำนวนขยะจากอาหาร ข้อมูลจากสหประชาชาติหรือยูเอ็นระบุในแต่ละปีมีอาหารถูกทิ้งราว 930 ล้านตัน อันเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมอันหนึ่ง
กระแสคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่เฉพาะกลุ่มผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่ยังรวมไปถึงผู้ประกอบการในปัจจุบันด้วย ดังจะเห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายต่างพากันรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วยการ upgrade + recycle ทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า upcycle หรือการนำวัตถุดิบ/วัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะถูกทิ้งให้เป็นขนะไปแปรให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งในผู้ประกอบการที่ยึดโยงแนวคิดนี้คือ “เพียวพลัส” (PurePlus) ผู้ประกอบการในแอลเอผู้ผลิตสแน็คแบรนด์ “Faves”
ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอเพียวพลัส คือ เอมี่ เคลเลอร์ หลานสาวของนอร์แมน สเปงเกลอร์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นสองที่กุมบังเหียนบริษัทสแปงเกลอร์ แคนดี้ โค. ผู้ผลิตลูกอม ลูกกวาด อมยิ้มและเวเฟอร์ แบรนด์สแปงเกลอร์ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 116 ปีของสหรัฐฯ เรียกได้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่เติบโตมาพร้อมขนมแบรนด์นี้ และสินค้าขึ้นชื่อของบริษัทก็คืออมยิ้มรูปไม้เท้าลายแดงขาวนั่นเอง
Faves แบรนด์สแน็ครักษ์โลกจากของเหลือทิ้ง
จากการคลุกคลีในอาณาจักรขนมหวานตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเติบโตมา เอมี่เลือกทำธุรกิจในหมวดหมู่เดียวกันแต่แตกต่างในเรื่องแนวคิด โดยในปี 2018 เธอได้ชักชวนหุ้นส่วนก่อตั้งบริษัทเพียวพลัสเพื่อแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบที่ไม่เป็นที่ต้องการ เพียวพลัสได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรขึ้นมาและรับซื้อวัตถุดิบอันเป็นพืชผักผลไม้ที่ไม่สามารถจำหน่ายได้เนื่องจากมีตำหนิหรือรูปลักษณ์ไม่สวยงามสมบูรณ์แต่ยังสามารถบริโภคได้เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผงผักผลไม้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาหาร ทำขนม หรือเครื่องดื่ม รวมถึงการผลิตเป็นสแน็คต่าง ๆ
จุดประสงค์หลักของเพียวพลัสคือการลดจำนวนขยะจากอาหารอันเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมอันหนึ่ง ข้อมูลจากสหประชาชาติหรือยูเอ็นระบุในแต่ละปีมีอาหารถูกทิ้งราว 930 ล้านตันซึ่งเป็นปริมาณที่สูงจากที่คาดไว้ถึงสอง เท่า และราวร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศก็เกี่ยวข้องกับขยะจากอาหาร ยูเอ็นจึงตั้งเป้าจะลดปริมาณขยะจากอาหารลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ซึ่งเพียวพลัสต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้
นั่นจึงเป็นที่มาของการแนะนำ “Faves” ผลิตภัณฑ์สแน็คแบรนด์แรกของบริษัทที่ทำจากผัก อาทิ แครอท บีทรูท มันเทศ ฟักทอง ซูกินี่ มะเขือเทศ และผลไม้ เช่น ส้ม สับปะรด แอปเปิล ลูกแพร์ กีวี สตรอว์เบอร์รี่ที่ถูกคัดทิ้งเพราะไม่สวยงามสมบูรณ์ ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายมีทั้งผักผลไม้อบแห้ง และแบบแปรรูปเป็นขนมแท่งเพื่อสุขภาพ รวมถึงเจลลี่รสต่าง ๆ ที่ทำจากผงผักผลไม้
เอมี่กล่าวว่าไม่เพียงช่วยลดขยะจากอาหารเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การนำผักผลไม้ที่ไม่สวยงามแต่ยังสามารถบริโภคได้มาแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพยังเป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการดูแลสุขภาพอีกด้วย ซีอีโอของเพียวพลัสยังกล่าวอีกว่าหลังได้รับเงินทุนจากนักลงทุนราว 1.56 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว บริษัทตั้งเป้าจะใช้วัตถุดิบที่เป็นผักผลไม้มีตำหนิให้ได้ 2.2 ล้านชิ้นในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ จึงจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอีก โดยเล็งไว้ว่าสินค้าต่อไปที่จะผลิตคือลูกอมแบบแข็ง
ไอเดียถ้าไม่ลงมือทำก็เป็นแค่ภาพมายา
เพียวพลัสเป็นสตาร์ทอัพที่ตั้งสำนักงานที่แอลเอ แคลิฟอร์เนียทำให้สะดวกในการระดมทีมงานเนื่องจากแวดล้อมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในสายต่าง ๆ ทีมของเพียวพลัสประกอบด้วยคนที่อยู่ในวงการนวัตกรรมอาหาร คนที่เคยทำงานในบริษัทผลิตอาหารสำหรับทารก และอดีตพนักงานสายการตลาดของบริษัทมีชื่อ เช่น กระทิงแดง โกโปร จัสต์วอเตอร์ และสแตนซ์ ทีมงานที่แข็งแกร่งทำให้การดำเนินการของบริษัทเป็นไปค่อนข้างราบรื่น เอมี่ให้ข้อคิดสำหรับสตาร์ทอัพว่าต่อให้มีวิสัยทัศน์หรือไอเดียแต่ถ้าไม่ลงมือทำก็เป็นแค่ภาพมายา ดังนั้น ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอะไร เราจะไปถึงเป้าหมายได้ก็ต้องลุยทำงาน
เพียวพลัสไม่ใช่บริษัทแรกและบริษัทเดียวที่มีแนวคิดในการลดขยะจากอาหาร ภายใต้คอนเซปต์เพิ่มมูลค่าอาหารเหลือทิ้งด้วยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัทสตาร์ทอัพหลายรายได้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์หลากหลายออกมาเช่นกัน อาทิ การแปรรูปเปลือกผลไม้ ไปจนถึงการผลิตพาสต้าจากวัตถุดิบต่าง ๆ ล่าสุด แบรนด์ผลิตภัณฑ์วีแกนหลายรายก็จับกระแสลดโลกร้อนลดขยะจากอาหารด้วยการเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่สมบูรณ์เช่นกัน ยกตัวอย่าง Spudsy แบรนด์ขนมที่ทำจากมันเทศ โดย Spudsy ใช้มันฝรั่งที่ถูกคัดทิ้งเพราะมีตำหนิเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้ามากกว่า 150 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว
ที่มา : https://austinstartups.com/sxsw-pitch-finalist-pureplus-d5a6d01fb981
https://www.greenqueen.com.hk/pureplus-climate-candy-food-waste/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี