นานาบ้าบิ่น เบื้องหลังความสำเร็จร้านเด็ดภูเก็ต ได้ดีเพราะเมียคุม (สูตร)

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : ชาญชัย หาญสุด

Main Idea

  • เมื่อแฟนชอบกินบ้าบิ่นเป็นชีวิตจิตใจแต่หากินที่ไหนไม่ถูกใจ เดือนร้อนผู้เป็นสามี

 

  • ที่ต้องลงมือทำเองกว่าจะได้สูตรที่เมียชอบทำเอาผู้เป็นแม่ก็เกือบอาเจียนหลายรอบ

 

  • ผลของความพยายาม บวกกลยุทธ์ของศรีภรรยา พาให้ นานาบ้าบิ่น เป็นของเด็ดแห่งภูเก็ตที่คิวแน่นจนต้องเปิดถึง 5 สาขาในเวลาไม่ถึงปี

 

     ทั้งๆ ที่ลงทุนไปเรียนทำขนมจีบมาขายแต่สุดท้าย ไชยกฤตย์ ทิพย์สถิรมาศ ก็ต้องพับโปรเจ็กต์นั้นไว้ก่อน เนื่องด้วยมีโปรเจกต์ด่วนกว่า คือ หวาน-ปรียานุช เรณุนันท์ ณ อยุธยา ภรรยาอยากทานขนมบ้าบิ่น ทำให้เจ้าของบริษัทออกแบบกราฟฟิคดีไซน์ ต้องใช้เวลาว่างมาฝึกทำขนมบ้าบิ่น ที่มีโจทย์คือต้องไม่ใช้มะพร้าวขูดที่ละเอียดเนื่องจากแฟนทานแล้วจะรู้สึกคันคอ สองต้องไม่หวานมากเนื่องจากคนทำเป็นโรคเบาหวาน

     “จริงๆ ตัวเองชอบทำขนมจีบ อยากทำขนมจีบขายมากกว่า แต่ว่าแฟนอยากกินบ้าบิ่น เขาก็เลยมากดดันเรา พอโดนกดดันเราก็ไม่ชอบ อยากเอาชนะเค้า ก็เปิดดูสูตรในอินเทอร์เน็ต ดูทุกอย่างเกี่ยวกับบ้าบิ่น แล้วก็มาลองทำ ช่วงแรกก็มีปัญหาเรื่องความหวาน เพราะผมเน้นไม่หวานเลย จนแฟนท้วงบอกขอให้หวานขึ้นหน่อยให้คนธรรมดาสามารถทานได้ด้วย ผมก็เลยปรับทีละนิด ยึดตามแฟน เปรียบแฟนเป็นลูกค้าคนหนึ่ง แล้วก็จะใช้มะพร้าวที่เป็นเส้นๆ จะมีลักษณะของมะพร้าว 4 ชนิดในบ้าบิ่นชิ้นเดียวให้ Texture ต่างกันไปทั้ง มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแข็ง แข็งมาก”

จากคนไม่ชอบบ้าบิ่น สู่เจ้าของธุรกิจบ้าบิ่น

     กว่าจะได้สูตรที่ลงตัวไชยบอกว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ที่ให้คนรอบข้างช่วยกันชิม ชิมจนถึงขนาดคุณแม่เบื่อเลย แต่ท้ายสุดก็ได้รสชาติที่ถูกปากคนในครอบครัวและรอบตัว เมื่อมั่นใจว่าอร่อยแล้วจึงเริ่มเปิดหน้าร้านขายที่ข้างโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นสาขาแรก

     “มันตอบโจทย์ทั้งหมอ พยาบาล คนป่วยเองก็ชอบอยากกินของหวาน มีหลายคนที่มาซื้อแล้วบอกว่า เขาเป็นเบาหวานจะกินได้ไหม ผมบอกไม่ต้องกลัวผมก็เป็นเบาหวาน เขาก็หัวเราะกันใหญ่ เขาก็ซื้อกินเอง ไปฝากคนแก่ที่บ้าน”

 แค่สองวันแรกขายได้ชั่วโมงเดียวก็ต้องปิดร้าน

     แม้รสชาติจะถูกปากผู้บริโภค แต่โชคในการทำธุรกิจคงยังไม่เข้าข้างไชย เขาจำได้ดีว่าแค่วันที่สองของการเปิดร้านก็ต้องประสบกับปัญหามะพร้าวเสีย จึงต้องปิดร้านไปไม่อยากให้ลูกค้ากินของไม่ดี

     “ทำให้เราได้เรียนรู้ระวังมากขึ้น เพราะมะพร้าวเสียเกิดจากผมแช่มะพร้าวความเย็นไม่พอ เกิดจากพนักงานเก็บมะพร้าวไม่ดี แต่หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ทุกเช้าจะชิมมะพร้าวก่อน และไส้มะพร้าวคือ คอร์สที่สูงที่สุดเสียหมดก็หมดกำไรเลย”

ตั้งราคาขายตามมาดาม

     เมื่อจัดการกับเรื่องวัตถุดิบได้แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการตั้งราคาสินค้า

     “ผมทะเลาะกับแฟนเรื่องราคาด้วย (หัวเราะ) ผมจะขาย 35 บาท/ชิ้น แต่แฟนบอกให้ขาย 25 บาท/ชิ้น ทะเลาะกันเกือบตายสุดท้ายแฟนก็ชนะ ด้วยเหตุผลที่แฟนบอกว่าอยากให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงซื้อทานได้ นี่คือคอนเซปต์ของแฟน แล้วก็ใช่จริงๆ ด้วย เข้าทุกระดับก็มีคนชอบกินเยอะ”

ห้ามโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก

     ในยุคที่การค้าออนไลน์กำลังบูม แต่ไชย กลับได้รับกฏเหล็กจากภรรยาว่า ในวันที่เปิดร้านห้ามโฆษาผ่านเฟซบุ๊กโดยเด็ดขาด        

     “แฟนบอกว่าช่วงเปิดร้านห้ามลงเฟซบุ๊ก เพราะต้องการลูกค้าที่เป็นคนละแวกนั้นจริงๆ ไม่อยากเอาเพื่อนเรามาช่วยอวยกันว่าอร่อย หรือโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กมาเราจะเตรียมการไม่ทัน เพราะขนมบ้าบิ่นแต่ละชิ้นใช้เวลาทำ 45 นาที

     “จริงๆ ก่อนหน้านั้นผมเคยหุ้นกับเพื่อนทำร้านกาแฟแล้ววันแรกโปรโมตเยอะ ลูกค้ามาเต็มร้านทำไม่ทัน คนเยอะเราควบคุมคุณภาพลำบาก และเมื่อควบคุมไม่ได้ก็ไม่มีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ คือการขายอาหาร อาหารไม่ดีลูกค้าไม่กลับมา แม้แต่งร้านสวยขนาดไหนก็ตาม เช่นเดียวกันขายบ้าบิ่นให้มันอร่อย ลูกค้าก็จะซื้อซ้ำ ทุกวันนี้ลูกค้าคนแก่ๆ มาซื้อซ้ำสองวันมาซื้อที ผมว่าวิธีแฟนผมก็เวิร์ก เพราะถ้าโฆษณาหรือเชิญคนมาลูกค้าแถวนั้นอาจไม่ได้ซื้อ พอเขาไม่ได้ซื้อก็ไม่ได้เกิดการทดลองชิม เป็นวิธีที่ดีของแฟน”

คิวยาวเป็นเดือนต้องเลิกระบบจองคิว

     เหมือนทุกอย่างจะเริ่มลงตังทั้งรสชาติอาหาร หน้าร้าน หรือแม้กระทั่งราคา ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางก็ยังมีมาอีกเป็นระยะ โดยเฉพาะใครจะรู้ว่าของขายดีก็มีปัญหาเช่นกัน เหมือนกับร้านนานาบ้าบิ่นที่ช่วงแรกเปิดให้ลูกค้าจองคิว

     “ผ่านไปสองเดือนมีการจองคิวยาวเป็นเดือนเลย เริ่มรู้สึกไม่สนุกเลยเครียด นั่งร้องไห้กันทุกวันเลย มีความกดดันเยอะมาก ลูกค้ามาหน้าร้านหลายสิบคนแล้วไม่ได้กิน เพราะติดคิว รู้สึกผิด อยากขายแต่ไม่สามารถขายได้ จนกระทั่งผมติดโควิด เลยตัดสินใจยกเลิกระบบจองคิวรับแต่หน้าร้าน ทุกอย่างก็ดีขึ้น”

ขาดทุนคือกำไร กำไรคือขาดทุน

     ด้วยพื้นที่ขายของที่ค่อนข้างมีจำกัดทำให้ไม่สามารถขยายเตาหรือกำลังการผลิตได้ เจ้าของนานาบ้าบิ่นจึงต้องทำการขยายสาขา เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ทว่าทุกครั้งที่ขยายสาขาหวานจะรับหน้าที่เป็นติวเตอร์คอยเทรนด์ฝึกสอนพนักงานทุกอย่าง ที่ต้องเจอกับปัญหาหน้างานเหมือนเช่นที่พวกเขาเคยเจอมา

     “แฟนจะเทรนพนักงานก่อนมาอยู่หน้าร้านประมาณหนึ่งอาทิตย์ เราจะทำให้ดูก่อนว่า เวลาตอบลูกค้าเป็นอย่างไร เวลาผิดคิวเป็นอย่างไร เวลาลูกค้าได้ขนมช้า ปัญหาผิดคิวหรือทำพลาดอย่าโกหกลูกค้า มีปัญหาบอกลูกค้าตรงๆ ไม่ต้องบอกว่าใครผิดใครถูก และถ้ามีอะไรผิดพลั้งให้แถมขนมลูกค้าไปเลย แต่อย่าบอกว่าแถม ให้บอกว่าเป็นการขอโทษ ลูกค้ามาซื้อขนมโดนตำรวจปรับเพราะไม่มีที่จอดรถ ให้บอกลูกค้าเราช่วยจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือลูกค้าทำคิวหลุด แฟนจะให้พนักงานคืนตังค์ แล้วขอเบอร์โทรลูกค้า แล้วก็ขับรถเอาขนมไปส่งถึงที่ นี่คือแฟนผม ชอบบอกว่าขาดทุนคือกำไร กำไรคือขาดทุน”

ของโปรดของภรรยา สู่ธุรกิจหลักครอบครัว

     ปัจจุบันนอกจากนานาบ้าบิ่นจะมีถึง 5 สาขาแล้ว ยังมีคนสนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ เพียงแต่ไชยบอกว่าต้องรอให้พร้อมอีกสักระยะให้วางระบบให้ดีก่อนจึงจะขายแฟรนไชส์

     “ผมชอบทำหลายๆ อย่าง ผมคิดว่าถ้าผมตายไป บริษัทออกแบบผมปิดแน่นอน ไม่มีใครออกแบบผมแทนผมได้ แต่ธุรกิจบ้าบิ่น ผมตายไป อย่างน้อยแฟนผมทำต่อได้ หรือให้ลูกทำต่อได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันการธุรกิจเดียวมักไม่พอ มันต้องมีรายรับหลายๆ ทาง”

นานาบ้าบิ่น

Facebook : นานาบ้าบิ่น ภูเก็ต

โทรศัพท์ : 089-7290494

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย