สูตรต่อยอดของดีที่บ้าน ให้เป็นธุรกิจเงินล้านฉบับ SME บทเรียนลัดจากทายาทที่ทำสำเร็จได้จริง

TEXT : กองบรรณาธิการ

 Main Idea

  • ไม่ขายสินค้าแต่ขายแบรนด์

 

  • เพิ่มเทคโนโลยี เน้นข้อมูลให้ชัดเจน

 

  • ปรับสินค้าให้เข้ากับยุค

 

  • คอนเนกชั่นก็สำคัญ

 

  • อย่าปล่อยให้ปัญหาสินค้าเป็นปัญหาเรื้อรัง

 

  • เป็น OEM ก็โตในแบบ OEM ได้

 

  • สร้างตลาดใหม่ที่เพิ่มกำไร 8 เท่า

 

  • เปลี่ยน “เจ๊ง” เป็น “เจ๋ง”

 

     ถ้าวันหนึ่งคุณคือผู้ที่ถูกชะตาฟ้าลิขิตให้ต้องรับไม้ต่อกิจการที่บ้าน และยังไม่พร้อมหรือยังไม่เจอหนทางที่จะต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้รุ่งโรจน์ นี่คือ บทเรียนทางลัดจากทายาทธุรกิจที่ผ่านร้อนผ่านหนาว บางคนเจ๊งมาก่อนจะเจ๋ง แต่ในที่สุดพวกเขาก็พบกับคำว่า “สำเร็จ” ที่ SME Thailand Online ได้รวบรวมไว้เป็นทางลัดได้ศึกษากัน

ไม่ได้ขายสินค้าแต่ขายแบรนด์

     หากพูดถึงธุรกิจครอบครัวหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจคือ ข้าวตราไก่แจ้ เอสเอ็มอีจากชลบุรี ที่มีจุดเด่น คือ เป็นรายแรกในจังหวัดทำข้าวถุงขายเพราะกว่าสามสิบปีที่แล้วส่วนมากมักขายแบบการตัก

     ปัญหาและอุปสรรคในช่วงแรกของธุรกิจคือการยอมรับจากลูกค้า มักจะเจอคำถามซ้ำๆ ที่ต้องตอบบ่อยๆ คือ ทำไมจะต้องซื้อข้าวถุง แถมบางคนยังคิดว่าต้องจ่ายแพงกว่าข้าวแบบตัก อีกทั้งชื่อแบรนด์ของยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

     วิธีการแก้ไข คือ ทางแบรนด์พยายามไปสร้างความเข้าใจกับลูกค้าว่า ราคาขายไม่ได้แพงกว่ามากเมื่อเทียบกิโลกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักข้าวที่ให้ก็ตรงกว่า คุณภาพเวลาหุงก็ดีกว่า ทำให้แบรนด์ไก่แจ้เริ่มเป็นที่รู้จักในจังหวัดชลบุรีจนกระทั่งขึ้นเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด

     หลังจากรุ่นพ่อเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล เป็นทายามเริ่มเข้ามาสืบทอดกิจการต่อ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวบรรจุถุง ตราไก่แจ้ โดยมีแนวความคิดว่า ในเมื่อคนในจังหวัดลชลบุรียังกินข้าวตราไก่แจ้ แล้วทำไม่คนพื้นที่อื่นจะกินข้าวของเราไม่ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการขยายแบรนด์ให้กว้างขึ้น จากที่มีตลาดเฉพาะสามอำเภอของชลบุรีได้ขยายไปครอบคลุมทั่วจังหวัดตลอดจนจังหวัดรอบข้างได้ในที่สุด

     “ช่วงแรกที่ผมเข้ามารับช่วงกิจการและขยายงานค่อนข้างลำบากมาก เพราะทำธุรกิจแบบระบบเถ้าแก่คือทำด้วยตัวเองไม่มีพนักงานขายแม้แต่คนเดียว ผมต้องขึ้นของเอง เก็บเงินเอง ออกหาลูกค้าเอง ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ทัน บางครั้งก็ให้บริการได้ไม่ดี”

     จากวันที่ขยายธุรกิจด้วยตัวคนเดียว เมื่อสามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น ยอดขายมากขึ้น ธีรินทร์ได้เพิ่มงบการตลาดตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจ้างบุคลากรเพิ่ม และเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบบัญชีภายในให้มีมาตรฐาน จนวันนี้บริษัทมียอดขายรวมกว่า 2,000 ล้านบาท

     “จุดแข็งที่ทำให้แบรนด์ของเราได้รับการยอมรับ ผมคิดว่าเป็นเรื่องคุณภาพของสินค้าที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเก็บไว้นานเท่าไรก็ยังคงคุณภาพ อีกเรื่องหนึ่งคงเป็นชื่อแบรนด์ที่มีคนจดจำได้เยอะ มีคนเคยบอกว่า ทำไมไม่เปลี่ยนชื่อให้สวยกว่านี้ แต่ผมเชื่อว่าเพราะชื่อไก่แจ้คนเลยจดจำได้มากกว่าเลยตัดสินใจคงชื่อนี้ต่อไป”

     ธีรินทร์ยังบอกอีกว่า อยากสร้างแบรนด์ข้าวตราไก่แจ้ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ส่วนตัวไม่คิดว่ากำลังขายข้าว แต่จะขายความเป็นแบรนด์ โดยเน้นที่ความน่าเชื่อถือและรับประกันคุณภาพ ถ้าคิดแต่เพียงแค่ขายข้าวก็จะต้องแข่งขันที่ราคาซึ่งในระยะยาวไม่เป็นผลดีนัก

เพิ่มเทคโนโลยี เน้นข้อมูลให้ชัดเจน

     จากการมองการณ์ไกลที่เห็นว่าอนาคตผู้คนจะออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้มีเวลาหุงหาอาหารเองน้อยลง จึงจุดประกายความคิดที่จะเริ่มต้นธุรกิจทำอาหารบรรจุถุงหรือขวดที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้สะดวก ประหยัดเวลา จึงเกิดเป็น“น้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม” บรรจุขวดแก้ว ปี 2502 ถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของครอบครัวแดงสุภา ด้วยวิสัยทัศน์ของหัวหน้าครอบครัว ศิริชัย ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานเป็นพนักงานขาย บริษัทดีทแฮล์มมาก่อน 

     พอมาถึงผู้บริหารรุ่นที่ 2 นอกจากแนวคิดที่ต้องพัฒนาพัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่งแล้ว ยังเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคในยุคนี้มีความรู้มากขึ้น การตัดสินใจซื้อสินค้าจะมีการอ่าน วิเคราะห์ว่ามีผลต่อสุขภาพหรือไม่ เช่น ส่วนผสมในสินค้ามีอะไรบ้าง จึงต้องแจ้งบนฉลากอย่างชัดเจน โดยนโยบายหลักของเราคือผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของ “แม่ประนอม”ปราศจากสีเจือปน ไม่ใส่ผงชูรส และไม่ใส่วัตถุกันเสีย เพื่อผู้บริโภคจะได้รับความปลอดภัย”

ปรับสินค้าให้เข้ากับยุค

    ใดๆ ในโลกล้วนไม่จีรัง เวลาหมุน สิ่งต่างๆ ก็มักเปลี่ยนตามทำให้ของบางอย่างหายไปตามเวลา ทว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคนี้ยังมีสินค้าประเภทหนึ่งคือ รถอีแต๋น ที่ยังคงโลดแล่นบนถนนธุรกิจได้แม้จะมียานยนต์รูปแบบใหม่ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

     ธนะธัช ตังคะประเสริฐ – เต้ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท ปราจีนบุรีประเสริฐพานิช ที่เหมือนฮีโร่กลับมาปลดล็อกธุรกิจครอบครัวที่กำลังเงียบเหงาให้กลับมามียอดขายคึกคักอีกครั้ง

     แต่ด้วยเป็นธุรกิจเก่าแก่ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ ความนิยมในรถอีแต๋นก็ลดลงมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ยิ่งช่วงหลังที่มีรถแทรกเตอร์ ยานยนต์รูปแบบใหม่ๆ เข้ามาทดแทน ธนะธัช มองว่าจะทำให้รถอีแต๋นไปได้ต้องประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย โดยให้มีความคุ้มค่ามากกว่าที่เอาไว้ใช้บรรทุกสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว

     ถ้าใครคิดว่าการปรับเปลี่ยนนำเทคโนโลยีมาพัฒนากับธุรกิจเก่าจะทำให้ธุรกิจไปต่อได้ แต่ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น อย่างการแก้ปัญหาของทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท ปราจีนบุรีประเสริฐพานิช ในช่วงเริ่มต้นเขามองว่า

     “ถ้ามีการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนอาจจะส่งผลต่อราคา ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้า ในเบื้องต้นผมยังพยายามยึดเรื่องราคาและการใช้งานได้จริงเป็นหลักไว้ก่อน

     ดังนั้นสิ่งที่เขาทำในช่วงเริ่มต้นกิจการคือ การปรับโฉมเพิ่มฟังก์ชันให้รถอีแต๋นสามารถทำงานได้มากขึ้น เช่น ดัดแปลงเป็นรถเครน รถดัมพ์ รถแท็งก์น้ำ รถบรรทุกติดลิฟต์ฝาท้าย ฯลฯ หรือถ้า หากลูกค้าต้องการแบบไหนจะประกอบปรับสเปกตามวัตถุประสงค์ที่ลูกค้าต้องการ เมื่อรถคันเดียวแต่ทำงานได้หลากหลายก็ช่วยประหยัดต้นทุน อาทิ หากอยากได้รถดัมพ์ก็ไม่ต้องไปเช่ารถบรรทุกที่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อวันหลายพันบาท ฯลฯ

     ไม่เพียงเสียงตอบรับเป็นไปในทางที่ดีการเพิ่มมิติการทำงานให้รถอีแต๋นยังช่วยให้บริษัทได้กลุ่มลูกค้าเพิ่ม จากเมื่อก่อนที่เป็นกลุ่มเกษตรกร ปัจจุบันก็มีกลุ่มลูกค้าที่นำรถอีแต๋นไปใช้ยกของในบ่อกุ้ง หรือร้านอุปกรณ์ก่อสร้างที่นำรถอีแต๋นไปใช้ขนของภายในร้าน

คอนเนกชั่นก็สำคัญ  

     นอกจากจะมองเห็นจุดบอดของกิจการมะขามที่บ้านในเรื่องของบรรจุภัณฑ์แล้ว เต้น-ธนนท์ โฆวงศ์ประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด นอกจากจะนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรับปรุงเรื่องแพ็กเกจจิ้งแล้วเขายังเข้าไปดูแลเรื่องการสร้างคอนเนคชันกับลูกค้าเก่าด้วย

     “ตอนนั้นได้ฟีดแบ็คกับลูกค้ามาว่าปกติไม่ค่อยเจอคนของบ้านมะขาม เพราะตอนรุ่นพ่อแม่ไม่มีใครเข้าไปหาลูกค้าเลย แต่พอเป็นรุ่นเราได้เข้าไปเยี่ยมเยียนและพาทีมงานสร้างคอนเนคชั่นใหม่ ทำให้ช่วงแรกก็ทำให้ยอดขายโตเพิ่มเป็นเท่าตัวเลย”

อย่าปล่อยให้ปัญหาสินค้าเป็นปัญหาเรื้อรัง

     หลายคนที่กลับไปต่อยอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเน้นไปที่การตลาด แต่อย่าลืมจุดเริ่มต้นคือตัวสินค้าว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะนั่นอาจทำให้การต่อยอดธุรกิจไม่ไปถึงไหน แต่หากได้รับการแก้ไขสินค้าจะไปได้แม้กระทั่งตลาดต่างประเทศ เช่นทายาทของบ้านมะขามที่มองเห็นปัญหาสินค้าว่า เกิดมอดได้ง่าย ทำให้ตอนที่ส่งไปออสเตรเลียโดนตีกลับ จึงแก้ไขโดยการคิดค้น “เครื่องกำจัดมอดมะขามด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” ที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งใช้เวลาในการวิจัยประมาณ 2 ปี กว่าจะได้มาเป็นเครื่องตัวนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมการกำจัดมอดในมะขาม 100 เปอร์เซ็นต์รายแรกของประเทศ

     นอกจากนี้ปัญหาที่สองของมะขาม คือ เมื่อโดนอากาศจะมีสีหมองคล้ำ ทำให้ไม่น่ารับประทาน  แก้ไขโดยการดีไซน์แพ็กเกจจิ้งไม่ให้มีอากาศเข้าสู่ตัวสินค้าได้ง่ายด้วยการใช้กระป๋องฝาฟอยล์ช่วยยืดระยะเวลาการเข้าของอากาศได้อีก 2-3 เดือน จากเดิม 4-5 เดือน เป็น 6-9 เดือน

เป็น OEM ก็โตในแบบ OEM ได้

     ประโยคหนึ่งที่มักได้ยินเสมอในการทำธุรกิจคือ การสร้างแบรนด์ตัวเอง และทุ่มเททำการตลาดเพื่อให้แบรนด์ได้แจ้งเกิด ทว่าธุรกิจยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยคู่แข่งขัน และสารพัดเงื่อนไขการตลาดที่ไม่ง่ายและถูกเหมือนเก่า การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแบรนด์ตัวเองกลับกลายเป็นความเหนื่อยหนัก แถมต้องใช้เม็ดเงินที่สูง ทว่าผลลัพธ์ที่ไม่ดีเหมือนเก่า

     นี่คือ โจทย์หินของ “ณัฐพงศ์ แซ่จ๋าว” ทายาทรุ่นที่ 2 ของ บริษัท ตงเซิน แอนด์ ภัทรวดี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายธัญพืชอบกรอบและผลไม้อบแห้ง แห่งจังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ในตลาดมาประมาณ 18 ปี (ก่อตั้งปี 2547) หลังเขาเข้ามาดูธุรกิจได้ประมาณ 8 ปี และเห็นภาพชัดเจนขึ้นในยุคโควิด-19 ว่า การทำธุรกิจแบบเดิมเริ่มไม่ง่าย ต้องพลิกเกมมาทำ OEM ผลิตสินค้าให้ลูกค้า เพื่อสร้างทางรอดสู่ธุรกิจครอบครัว

     ณัฐพงศ์ ยอมรับว่า การสร้างแบรนด์และทำตลาดเองในยุคนี้ทั้งยากและเหนื่อย ยิ่งในยุคโควิดที่ใครๆ ต่างก็ลุกมาเป็นพ่อค้าแม่ค้า การจะเป็นอีกแบรนด์ที่ไปยื้อแย่งลูกค้าในตลาดอาจไม่ใช่เรื่องสนุกนัก แต่ใครจะคิดว่าโจทย์ยากในวันที่สร้างแบรนด์เองนักยาก จะกลายเป็นโอกาสกับการเป็น OEM

     “กลายเป็นว่าช่วงโควิดที่มีพ่อค้าแม่ค้าเกิดขึ้นเยอะ แทนที่เราจะไปแข่งกับเขาตรงๆ เราเลือกถอยออกมาผลิตสินค้าให้คนอื่นไปทำแบรนด์แล้วแข่งขันกันเองดีกว่า เราเพิ่งเริ่มทำได้ประมาณ 7 เดือนเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ตัวเลขพุ่งขึ้นเร็วมาก ทำให้เราคิดว่ามาถูกทางแล้ว ตอนแรกโรงงานของเราแทบไม่มีพนักงานฝั่งออฟฟิศเลย แต่ตอนนี้เราเริ่มมีทีมเซลส์มาดูแลลูกค้า OEM เริ่มจากทีมงาน 3 คน เพิ่มมาเป็น 5 คน ซึ่งปัจจุบันเรามีทีมงานส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 10 คนแล้ว จากการเติบโตที่เพิ่มขึ้น” เขาบอก

     จากตลาดที่เคยเน้นขายแบรนด์ตัวเองเป็นหลัก ในวันนี้พวกเขารับจ้างผลิตถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นลูกค้ารายเล็กประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และรายใหญ่อีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

สร้างตลาดใหม่ที่เพิ่มกำไร 8 เท่า

     รู้ไหมว่าพลเมืองที่แพ้กลูเตนในโลกนี้มีจำนวนเท่าไร? คำตอบคือ สูงถึงประมาณ 600-700 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก นั่นคือโอกาสธุรกิจที่ทำให้ “พันธวุฒ กาญจนประภาส” ซึ่งเรียนจบมาทางด้านเทคโนโลยีอาหาร (Food Technology) ทายาทรุ่น 4 ของ บริษัท ชอไชยวัฒน์ อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง ที่อยู่ในตลาดมานานกว่า 63 ปี ตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ใช้งานวิจัยและพัฒนามาต่อยอดธุรกิจสู่ “Sava Flour” แป้งกลูเตนฟรีสำหรับผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ทำจากมันสำปะหลัง จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากแป้งมันธรรมดาได้สูงถึง 8 เท่า แค่ 1 พาเลท ก็กำไรเท่า 1 ตู้คอนเทนเนอร์

     ชอไชยวัฒน์ อุตสาหกรรม คือโรงงานทำแป้งมันสำปะหลังใน จ.ชลบุรี ที่อยู่ในตลาดมากว่า 63 ปี ปัจจุบันทายาทรุ่น 4 เริ่มเข้ามาสานต่อธุรกิจ คือ  “กร” ,“พันธวุฒ” และ “เกศ” กาญจนประภาส รับตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายบริหาร, ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาสินค้า และผู้จัดการฝ่ายผลิต ตามลำดับ พวกเขาเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าดั้งเดิมของครอบครัว

     ผลลัพธ์จากการคิดใหม่คือผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ “Sava Flour” แป้งกลูเตนฟรีสำหรับทำเบเกอรี่ แป้งอเนกประสงค์ปราศจากกลูเตนเจ้าแรกในไทย ซึ่งตัวแป้งมีปริมาณไฟเบอร์และสารอาหารที่เหมาะสม สามารถนำไปทำเบเกอรี่ได้หลากหลาย อาทิ คุกกี้ ชูครีม ชิฟฟอน แพนเค้ก เค้กกล้วยหอม มัฟฟิน ครัมเบิ้ล วาฟเฟิล บราวนี่ ชีสเค้ก โคนไอศกรีม เป็นต้น

     วิชั่นจากการมองการณ์ไกลทำให้พวกเขาได้ผลิตภัณฑ์ใหม่มาอย่างถูกที่ถูกเวลา ตอบเทรนด์โลก และตอบโจทย์ธุรกิจ แม้จะต้องใช้เวลาวิจัยพัฒนาอยู่หลายปีก็ตาม เพราะได้สินค้าใหม่ เพิ่มมูลค่าได้ถึง 8 เท่า

      “สินค้าเดิมของเราจะเน้นขายวอลลุ่มแต่ว่ามาร์จิ้นค่อนข้างบาง แต่ของใหม่ที่เราทำ เราขายในปริมาณที่น้อยกว่าก็จริง แต่ได้มาร์จิ้นสูงกว่า สมมติของเก่า 1 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ของใหม่ขายแค่ 1 พาเลท ก็ได้กำไรเท่ากัน” เขาเทียบให้เห็นภาพ

เปลี่ยน “เจ๊ง” เป็น “เจ๋ง”

     หลายคนที่ต้องพลาดท่าเพราะกิจการที่บ้านมีรายได้ดีอยู่แล้ว หากแต่ลงไปทำจริงกับไม่เป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับ ศักดา แสงกันหา กรรมการผู้จัดการ บริษัท มะลิกู๊ด จำกัด ทายาทของ "วันเพ็ญ แสงกันหา" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน จ.นครราชสีมา ยอมรับว่าเมื่อเห็นยอดรายได้จากการขาย และการตอบรับของไหมไทยในตลาดโลก จึงก่อเกิดความสนใจและคิดอยากต่อยอดธุรกิจครอบครัว โดยตัดสินใจดรอปเรียนไปถึง 3 ปี เพื่อกลับมาต่อยอดกิจการของที่บ้าน ด้วยไฟที่มุ่งมั่น และพลังในตัวเต็มเปี่ยม ทว่าสุดท้ายกลับ “เจ๊ง” ไม่เป็นท่า

     “ตอนนั้นผมเหมือนเด็กน้อยที่ร้อนวิชา กลับมาก็มองว่าต้องทำเป็นระบบ ต้องผลิตแบบนั้นแบบนี้ ทฤษฎีนี่เป๊ะมาเลย ปรากฏว่า เจ๊ง ทำไม่ได้ พอกลับไปทบทวนดูก็พบว่าในตอนนั้นเรายังไม่ได้เข้าใจบริบทของสังคมที่เราอยู่เลย ไม่เข้าใจว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านเขาเป็นแบบไหน บางอย่างเขาทำไม่ได้ เราก็ควรเอาสิ่งที่ชุมชนมีหรือทำได้ไปต่อรองกับลูกค้า เพื่อทำให้สิ่งที่เรามีอยู่เกิดมูลค่ามากขึ้น ตอนนั้นผมกลับมาทำอยู่ประมาณ 2-3 ปี เรียกว่าไม่ถึงกับล้มเหลวแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ส่งงานลูกค้าได้ แต่กำไรส่วนหนึ่งก็ต้องเสียไปจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น” เขาเล่าบทเรียนช้ำๆ

     เมื่อไม่มีทักษะ ไม่มีโนว์ฮาวเรื่องแฟชั่น ฉะนั้นเขาจึงไปเสริมจากกการเข้าร่วมอบรมต่างๆ จนเข้าใจเรื่องการสร้างแบรนด์ การทำคอนเล็กชัน มากขึ้น

     จนได้ปรึกษากับอาจารย์ที่ที่จะนำเศษผ้าเหลืออยู่ประมาณเดือนละเกือบ 100 หลา มาทำแบรนด์ของตัวเอง แต่ก็ยังประสบปัญหาคอลเล็กชันแรกทำออกมา 15 แบบ ขายได้จริงแค่ 3 แบบ กลายเป็นบทเรียนสู่คอลเกลชันที่ 2 ที่ต้องที่ใส่ความเป็นตัวเองลงไปเยอะขึ้น กลายมาเป็นคอนเล็กชันที่ 2 เป็นเสื้อคลุมยาวขายได้มูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาหลายเท่า
     ตามมาด้วยคอนเล็กชันที่ 3 ที่มีทั้งแฟชั่นผู้หญิงและผู้ชาย มีแจ็กเก็ตผ้าไหม เสื้อเชิ้ตแต่งคอแต่งขอบด้วยผ้าไหมเสื้อคลุม กระเป๋า ฯลฯ สร้างความชัดเจนและโดดเด่นให้กับแบรนด์ Maligood ในวันนี้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขายังเคยคว้ารางวัล Best Design Awards มาแล้วด้วย

     และนี่คือ เรื่องราวของเหล่าทายาทที่วันนี้ได้สร้างตำนานธุรกิจบทใหม่ในแบบฉบับของเขา เพื่อรอส่งไม้ถัดไปให้คนรุ่นต่อไปมาสืบต่อเช่นเดียวกับพวกเขา

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ขายแค่มาม่า ก็ยืนหนึ่ง! มาม่าฟ้าธานี ธุรกิจเล็กที่สร้างตำนานได้

แม้ว่าจะขายเพียง "มาม่า" ซึ่งเป็นสินค้าธรรมดาเพียงอย่างเดียว แต่ "มาม่าฟ้าธานี" กลับได้รับที่นิยม และประสบความสำเร็จอย่างมาก ความสำเร็จนี้สามารถวิเคราะห์ได้จากหลายปัจจัยที่น่าสนใจ

แผ่นดินไหววงการอาหารไทย 2025 SME รับมือยังไง? แบรนด์ใหญ่บุกตลาดแมส

จากกลยุทธ์สงครามราคาของแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ที่แข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดแมส ในยุคเศรษฐกิจไม่แน่นอนเช่นนี้ ผู้ประกอบการรายย่อย จะเรียนรู้และรับมืออย่างไร?