คุยกับ พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา แนวคิด circular economy นวัตกรรมเปลี่ยนขวด PET ให้เป็นธุรกิจเงินล้าน

TEXT : Neung Cch.

PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์

Main Idea

  • เมื่อธุรกิจรับเหมาของครอบครัวมีปัญหาทำให้เกิดภาระหนี้สิ้น ลูกชายคนโตจึงเสียสละยุติการเรียนเพื่อมาช่วยทางบ้าน

 

  • จากเด็กหนุ่มม. 5 ทำธุรกิจการ์เมนต์รับตัดเย็บเสื้อผ้า มีลูกน้องกว่า 200 คน

 

  • สู่เจ้าของโรงงาน บริษัทไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด ที่เปลี่ยนขวด PET ให้เป็นฮีโร่กลับสู่สังคมเพื่อลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่ทั้งทำรายได้และยังพาให้บริษัท คว้ารางวัล THAILAND TOP SME AWARDS 2022

 

     เพราะขวด PET เป็นพลาสติกที่นิยมนำไปใช้ทำเป็นขวดบรรจุน้ำดื่มมากที่สุด ทำให้มีการผลิตขวดประเภทนี้ออกมาเป็นจำนวนมากและท้ายสุดก็กลายเป็นขยะเป็นผู้ร้ายในสายตาคนทั่วไป

     ทว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการขวดประเภทนี้ โดยเฉพาะคนจีนทราบข่าวว่าประเทศไทยมีขวด PET ฝังกลบอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงขนาดจ้างรถแบ็คโฮมาขุดเพื่อเอานำกลับไปรีไซเคิล แต่ก็ไม่เพียงพอกับการกำจัดเพราะด้วยปริมาณขวด PET ที่มากขึ้นทุกวัน นั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลทำให้ พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด ตั้งปณิธานว่าต้องการจะลดปริมาณขยะด้วยแนวคิด Circular Economy ชุบชีวิตขวด PET จากผู้ร้ายในสายตาคนทั่วไปให้กลับไปเป็นของที่มีมูลค่าในสังคมอีกครั้ง

     SME Thailand Online ได้มีโอกาสพูดคุยถึงแนวคิดวิธีการทำธุรกิจรีไซเคิลให้เติบโตอย่างยั่งยืน และวิธีบริหารองค์กรทั้งภายในภายนอก ซึ่งมีข้อมูลหลายอย่างน่าสนใจในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ทั้งเงินและได้ทั้งรางวัล

Q: แนวคิดที่ทำให้ลุกขึ้นมาประกอบธุรกิจรีไซเคิลจากขวด PET

     จริงๆ แล้วคุณพ่อทำธุรกิจรับเหมา แต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมเป็นลูกชายคนโตตอนนั้นเรียนม. 3 เลยตัดสินใจออกมาช่วยแบ่งภาระทางบ้าน ทำทุกอย่างตั้งแต่ขายหนังสือการ์ตูน ซื้อผ้ามาไปตัดเย็บเป็นเสื้อ ผมเคยทำเสื้อสกรีนคำว่า “โสด” ได้ไอเดียมาจาก Music Video ของเบิร์ด ธงไชย ขายดีมาก วันหนึ่งขายได้ประมาณ 500 โหล ทำธุรกิจนี้ได้ประมาณสองปีมีลูกน้องประมาณ 200 คน ส่งเสื้อไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทย และส่งต่างประเทศด้วย

     กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของโรงงานที่มาซื้อเสื้อเขากำลังหา Flake เกล็ดพลาสติกที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิลจะเอาไปทำเป็นเส้นใยผลิตเสื้อผ้า พอดีผมอยากหาอะไรทำใหม่ๆ สนใจก็ลองทำดู ก็เริ่มจากการเป็นเทรดดิ้งหาพลาสติกรีไซเคิล เริ่มจากหาให้เขาเดือนละ 50 ตันเพิ่มเป็น 400 ตัน จากนั้นก็เริ่มมีโรงงานอื่นๆ ติดต่อให้ช่วยหาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลให้เขาบ้าง ก็เริ่มทำเป็นธุรกิจเทรดดิ้ง

Q: การทำธุรกิจรีไซเคิลแบบนี้มีวิธีการหาลูกค้าอย่างไร

     ช่วงแรกกลุ่มลูกค้าหลักมาจากประเทศจีนที่ต้องการพลาสติกรีไซเคิลไปทำเส้นใยสั้นเพื่อเอาไปยัดหมอน ตุ๊กตา ส่วนที่สองเป็นกลุ่มลูกค้าโรงงานในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละโรงงานจะออร์เดอร์ขั้นต่ำที่ 200 ตันขึ้นไป

     ประมาณ 15 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าถ้าเราอยากจะสื่อสารกับคนภายนอกให้เขาอยากซื้อหรืออยากขายของให้เรา จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ สมัยนั้นคำว่า www มาแรงมาก ผมจึงทำเว็บไซต์ตั้งชื่อเว็บว่า Thai Plastic Recycle เป็น 3 คำที่ง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่ว่าทรงประสิทธิภาพมาก คำว่า Thai จะช่วยให้ลูกค้าต่างประเทศเจาะจงมาหาพลาสติกเมืองไทยก็จะเจอ บวกกับคำว่าพลาสติก รีไซเคิล ก็จะทำให้ได้ลูกค้าตรงกลุ่มเลย ดังนั้นเว็บไซต์ Thai Plastic Recycle ถูกล็อกไว้เลยใน Google อันดับ 1-3 ไม่ต้องซื้อโฆษณา ได้ผลมากตอนนั้นผมไม่ต้องมีเซลล์ เว็บไซต์ทำงานให้เราทั้งหมด 24 ชั่วโมง ได้ลูกค้าจากหลายๆ ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ดูไบ ปากีสถาน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน

     ตอนนั้นในวงการพลาสติกรีไซเคิลพูดได้เลยไม่มีใครทำเว็บไซต์ ผมกล้าพูดได้ผมเป็นโรงงานเจ้าแรกในวงการรีไซเคิลพลาสติกที่มีเว็บไซต์ ทำให้ลูกค้าเชื่อใจเรา แล้วผมเกิดจากเว็บไซต์และผมก็ภูมิใจกับมันด้วย จากที่จะใช้เป็นชื่อเว็บไซต์เฉยๆ ต่อมาก็นำไปตั้งชื่อบริษัท

Q: จากธุรกิจเทรดดิ้งทำไมถึงได้ตัดสินใจมาเปิดโรงงานพลาสติกรีไซเคิลที่เน้นรีไซเคิลขวด PET อย่างเดียว

     สิ่งที่เราเห็นคือ PET เป็นพลาสติกชนิดเดียวในกลุ่มพลาสติกทั้งหมดที่มีปริมาณการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ขวดเยอะที่สุด กลายเป็น waste ที่อยู่ในระบบมากที่สุด บวกกับตอนนั้นจีนมีการซื้อ Flake เกล็ดพลาสติกค่อนข้างเยอะ เราก็ผันตัวเองจากการเป็น trading มาสร้างโรงงาน เปิดเป็นบริษัท ปี 2558 ในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

     บริษัทเรารับขวดเข้ามา 2,500-3,000 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 1,428 ล้านขวดต่อปี เราใช้ขวด PET ในประเทศอย่างเดียว ซึ่งเป็นนโยบายบริษัท เราต้องการเป็นโรงงานรีไซเคิลให้กับประเทศไทย

Q: จากการทำธุรกิจเทรดดิ้งผันสู่การเป็นโรงงานต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

     สิ่งที่เห็นตอนนั้นกระบวนการล้าง PET ยังไม่ค่อยมีคุณภาพ เลยตัดสินใจนำประสบการณ์ที่มีโอกาสได้เข้าโรงงานเยอะมาก เข้าใจสภาวะแวดล้อมโรงงาน วิธีการทำธุรกิจ เข้าใจกฏหมาย รูปแบบการวางแพลนเครื่องจักร รูปแบบการใช้แรงงาน เราเอาสิ่งที่รู้เห็นมาพัฒนา       

     อีกอย่างคือเรื่องของภาครัฐ สนับสนุนการใช้เรื่องของรีไซเคิล ทำให้อุตสาหกรรมตรงนี้เติบโตเร็วขึ้น มีเทคโนโลยีที่ถูกลง เราสามารถเอื้อมถึงได้ เป็นทางเลือกทำให้เรามีโอกาสย้ายจาก Red Ocean เป็นเทรดดิ้งแข่งขันกันที่ราคา มาสู่ Blue Ocean เน้นผลิตสินค้าที่มีคุณค่าส่งมอบให้กับโรงงานต่างๆ ช่วยให้เขาลดต้นทุนที่จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศ 

     โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีกำแพงภาษีเกี่ยวกับเรื่องคาร์บอน แรงมาก 30-50% ดังนั้นการใช้วัตถุดิบรีไซเคิล รียูส ช่วยลดกำแพงภาษีให้ได้เปรียบหรืออย่างน้อยก็เท่ากับเจ้าอื่น

     จากการที่เราพัฒนาสินค้ามีคุณค่ามากขึ้น โอกาสที่เราได้เข้ามาคือ สามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ได้ตลาดใหม่ๆ พวกตลาดแพ็กเกจจิ้ง พวกกล่องใส่อาหาร กล่องใส่ไข่ กล่องใส่ผลไม้ กล่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ฯลฯ

Q: คนภายนอกส่วนใหญ่มักมองว่าพลาสติกเป็นตัวร้าย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไรหรือไม่

     พลาสติกได้มาจากกระบวนการปิโตรเลียมคือน้ำมัน เคยเป็นพระเอกช่วงหนึ่งมาแทนทรัพยากรพวกไม้ เหล็ก แต่ข้อเสียคือใช้เวลาในการย่อยสลายนานเป็นร้อยปี แต่ที่บริษัทไทยพลาสติก เราไม่ได้มองเขาเป็นผู้ร้าย เราทำให้สิ่งที่คนจะทิ้งเอากลับมาชุบชีวิตใหม่ เราสร้างเขาให้เป็นพระเอกขึ้นมาอีกรอบหนึ่งเมื่อออกไปสู่สังคม

     ถ้าไม่มีพวกผม ต้องนำขวด PET ไปฝังใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย หรือใช้วิธีเผาก็จะสร้างมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่บริษัทเราทำคือ ทำให้เกิดวงจร Circular Economy ผมมั่นในว่าเราคือ พระเอกนะ ในการทำให้เขามีชีวิตกลับมามีคุณค่าอีกรอบ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลูกหลานพวกเรารุ่นต่อไป

     

Q: มีวิธีสื่อสารกับพนักงานอย่างไรให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานกับพลาสติกที่เป็นของเหลือทิ้งหรือขยะ

     ส่วนตัวผมมองว่าอุปสรรคภายในเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ก่อนเป็นบริษัทเราเป็นรูปแบบกงสี บริหารกันภายในครอบครัว คนมันน้อย แต่ด้วยปริมาณออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยทีมงานที่ดี มีคุณภาพ แต่จะทำอย่างไรให้พนักงานทั้งหมดเห็นภาพอย่างที่เราเห็นว่าสิ่งที่บริษัทเราทำอยู่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อประเทศ เพื่อโลก

     ช่วงแรกๆ มีพนักงานลาออกเยอะมาก มีโอกาสได้ไปปรึกษาผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านให้คำแนะนำมาว่า สิ่งที่ทำอยู่เราทำเรื่องมูลค่าหรือคุณค่า ผมได้โจทย์นี้มาช่วงแรกๆ นอนไม่หลับเลย เอาไปคิดทุกวันจนเข้าใจว่าไอ้มูลค่ากับคุณค่าต่างกันอย่างไร

     ในที่สุดผมตีโจทย์ออกว่า คุณค่าต้องเกิดจากข้างใน ก็เริ่มนำรูปภาพขวดพลาสติกลอยตามริมทะเลไปติดตามห้องแผนกต่างๆ แม้แต่ห้องน้ำ เพื่อให้คนที่มาทำงานรู้สึกเขามีภารกิจ ช่วยทำให้โลกดีขึ้น ให้ประเทศมีมลภาวะน้อยลง เราสร้างพลังบวกให้แก่เขา สร้างคุณค่าให้แก่เขาว่าสิ่งที่เขาทำอยู่พลากสติกที่เรียกว่าขยะที่เรียกว่า PET ให้กลับออกไปเป็นเพชรได้อีก

     พอ mindset เปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยน อัตราการลาออกเหลือ 2% จาก 20-30% เมื่อทุกคนเขาใจภารกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนนิ่งขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตต่อชั่วโมงดีขึ้นทันทีเพราะทุกคนมีภารกิจในการจัดการ ต้องคอยบำรุงเครื่องจักรไม่ให้มันเสีย เมื่อก่อน 1 ชั่วโมงผลิตได้ 3.5 ตันตอนนี้ผลิตได้ 3.8 ตันต่อชั่วโมง

Q: เป้าหมายของบริษัท

     เราอยากเป็นบริษัทที่เติบโตแบบยั่งยืน ฉะนั้นจึงต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฏหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานการบริหารเรื่องน้ำเสีย เรื่องมาตรฐานต่างๆ อาทิ ISO 9001: มาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 14001: มาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญได้รับเครื่องหมาย Circular Mark ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน ถือเป็น SME ที่ได้เครื่องหมายนี้ ส่วนในการผลิตเกล็ดพลาสติกก็จะมีการตรวจ COA ค่ามาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะตัว PVC ห้ามเกิน 150ppm และเกล็ดพลาสติกขนาด ไม่เกิน 4-12 มิลลิเมตร

     ธุรกิจนี้อาจจะไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมาก แต่กลับมีโรงงานที่เติบโตได้น้อย เพราะหลายโรงงานยังทำไม่ถูกต้องตามกฏหมาย อาทิ ขาดใบอนุญาตประกอบกิจการ ใบ รง. แต่เราทำทุกอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพราะอนาคตเราเตรียมเข้าสู่ตลาด IPO อนาคตจะทำเป็นเม็ดรีไซเคิลแล้วจะกลับมาเป็นขวดใหม่ bottle to bottle เพื่อให้เกิดระบบ Circular Economy แบบครบวงจร

     ด้วยแนวคิดนี้ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัล THAILAND TOP SME AWARDS 2022 ประเภทธุรกิจสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนแห่งปี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับนิตยสาร Business+ บริษัท เออาร์ไอพี จ ากัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  นอกจากได้รางวัลแล้วปีที่ผ่านมาบริษัทยังทำรายได้ถึง 400 ล้านบาทอีกด้วย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจาะกระบวนท่าท้าดวล ส่ง “อบอวล” สู้ศึกตลาดยาดม ปรุงกลิ่นหอมแปลกใหม่ ไม่เหมือนใครจากมือแพทย์แผนไทยประยุกต์สุดล้ำ!

“อบอวล” แบรนด์ยาดมสุดชิค ที่กำเนิดจากความคิดของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ ไม่ใช่แค่สดชื่น แต่ต้องถึงกับร้องว่า “มีกลิ่นนี้ด้วยหรือฟะ!” อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “อบอวล” ที่มีอายุกว่า 3 ปี โดดเด่นไม่แพ้ใคร..ลองไปกะเทาะดูเนื้อในของธุรกิจกัน

ทำไม Live Exchange จึงเป็นตลาดทุนที่ SME อยากโตต้องรู้จัก ฟัง ประพันธ์ เจริญประวัติ

พูดคุยกับบ "ประพันธ์ เจริญประวัติ" ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI และ Live Exchange ที่จะบอกเล่าว่าทำไม การระดมทุนคือกลไกสำคัญที่จะพา SME ไปสู่ความสำเร็จ และ Live Exchange คือบันไดขั้นแรกที่ SME ทุกขนาดต้องรู้จัก

 The 3rd daughter วาดฝันให้เป็นจริง จากสติกเกอร์สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ครองใจคนกว่า 10 ปี

ชวนไปดูเส้นทางการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากความหลงใหลในศิลปะจนพัฒนาแบรนด์ The 3rd daughter เข้าไปอยู่ในชีวิตของใครหลายคนผ่านสารพัดของกระจุกกระจิกที่แสนน่ารักมาได้มากกว่า 10 ปี! ของตาต้า-ลดาพร ทรัพย์ภคกุล