ทำไมชาไทยจะโกอินเตอร์ไม่ได้ ไร่ชาวังพุดตาล บทพิสูจน์ชาไทยที่คว้ารางวัลระดับโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ไร่ชาวังพุดตาล Wang Put Tan Tea Plantation

Main Idea

  • เมื่อทายาทของไร่ชาวังพุดตาล ต้องการสร้างเอกลักษณ์ให้ทั่วโลกรู้ว่า ดอยแม่สลอง จ. เชียงรายก็มีของดี

 

  • จึงส่งชาที่ไร่เข้าประกวด สามารถคว้ารางวัล Grand Gold price รางวัลสูงสุดจากเวที World Green Tea Contest ที่ญี่ปุ่นในปี 2564 และตอกย้ำด้วยรางวัล Gold price อีกครั้งในปีล่าสุดจากเวทีเดียวกัน

 

  • "นคร ชีวินกุลทอง" เจ้าของไอเดียจะมาเผยเทคนิคสำคัญที่ทำให้ชาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

 

ไร่ชาไทยที่ได้รางวัลระดับโลก

     เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เป็นที่หนึ่งมักถูกจดจำและพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นในเวทีการแข่งขันต่างๆ หรือในมุมของการทำธุรกิจการเป็นที่หนึ่งหรือเจ้าแรกอย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนจดจำได้มากกว่าการทำตามผู้อื่น

     เหมือนกับที่ทายาทไร่ชาวังพุดตาล มองว่า 20 ปีที่ผ่านมาการปลูกชาอู่หลงเพียงอย่างเดียว นอกจากไม่มีความหลากหลายแล้ว ชาอู่หลงยังมีต้นกำเนิดอยู่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มาจากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน

     “ถ้าเราทำชาอู่หลงไปเรื่อยๆ คงยากที่จะทำให้ดีกว่าต้นฉบับ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อม อากาศ สภาพดิน ทุกอย่างมันต่างจากที่จีน แต่ในขณะที่ชาที่ปลูกบนพื้นที่ของบ้านรามันมีเอกลักษณ์เฉพาะที่เหมือนกัน คิดว่าน่าจะทำอะไรกับมันได้ ส่วนตัวผมเป็นคนชอบทดลอง ชอบหาอะไรใหม่ๆ จึงเริ่มศึกษากว่าจะได้ชาตัวนี้ก็ใช้เวลา 3-4 ปี”

ลองแล้วต้องวัดผล

     วิธีหนึ่งที่จะทำให้รู้ว่าชาที่พัฒนาขึ้นมามีรสชาติดีเป็นที่ยอมรับก็คือ การเข้าประกวด ปี 2564 ชาจากดอยแม่สลองเดินทางสู่งานประกวด World Green Tea Contest งานเวทีชาระดับโลกที่จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นการเข้าร่วมประกวดเป็นครั้งแรก โดยการผลักดันจากสถาบันชาและกาแฟ ม.แม่ฟ้าหลวง และในปีแรกชาดำคีรี (Black Tea Khiri) ของเขาก็สามารถคว้ารางวัล Grand Gold price รางวัลสูงสุดของเวทีมาได้สำเร็จจากจำนวนผู้ร่วมประกวดกว่า 80 แบรนด์ และตามมาด้วยชาขาวคีรี (White Tea Khiri) ไปคว้ารางวัล Gold price ในปีล่าสุดจากผู้เข้าประกวดกว่า 100 แบรนด์

     นครเล่าว่าหลักเกณฑ์ตัดสินหลักๆ ในเวทีแห่งนี้ กรรมการจะพิจารณาจากเรื่องรสชาติซึ่งถือว่ามีคะแนนเยอะสุด ไม่ต่ำกว่า 30-40 คะแนน นอกจากนี้ก็ยังแบ่งคะแนนเป็นด้านอื่นๆ อาทิ ความหอมของชาทั้งก่อนชงและหลังชง, รสสัมผัส, Story แรงบันดาลใจของการปลูกชา, การออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม, รวมถึงการตั้งราคา ซึ่งทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้วย

เทคนิคคว้ารางวัล

     นครเล่าว่าเริ่มจากการตั้งชื่อที่เขานำชื่อภูเขาสันติคีรีที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อดอยแม่สลอง มาตั้งเป็นชื่อชาทั้งชาดำคีรีและชาขาวคีรี

     นอกจากนี้เขายังขายจุดดีของดอยแม่สลองว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกชา ด้วยความสูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 1,200 เมตร มีอากาศที่บริสุทธิ์ มีน้ำที่ดี เกษตรกรที่ใส่ใจที่ดี จนได้เป็นชาที่ดีออกมา

     Story ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ วิธีการเก็บชา เขาจะเลือกเก็บในช่วงอากาศที่ดีที่สุดคือ หน้าหนาว เพราะทำให้ไม่เจอความชื้นจากฝน ไม่ต้องเจอแดดร้อนเกินไป ซึ่งการเก็บชาในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วนำไปหมักก็จะได้ black tea ที่มีกลิ่นพิเศษเหมือนพวกผลไม้ที่ดอยแม่สลองปลูกด้วย เช่น พลัม พีช ลิ้นจี่

     นั่นคือ story ของชาดำคีรี ที่มีส่วนทำให้เขาประสบความสำเร็จได้รางวัลสูงสุดในการประกวด แต่ด้วยความชอบศึกษาและไม่หยุดนิ่งนครคิดว่าเมื่อมีชาดำก็ต้องมีชาขาว ในปีนี้เขาจึงได้ส่งชาขาวคีรีไปประกวดอีกรอบ ซึ่งขาขาวคีรีของเขาเน้นไปที่การดื่มเพื่อสุขภาพ

     “ชาขาวคีรีเป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการเครื่องจักรในการผลิตเลย ทุกอย่างอาศัยความเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างใช้ความพิถีพิถัน หนึ่งยอดหนึ่งใบใช้คนเก็บ จากนั้นก็มาผึ่งแสงแดดอ่อนๆ ลมบางๆ ค่อยๆ ตากให้มันแห้ง ต้องใช้เวลาประมาณ 3 วัน ถ้าแห้งเร็วเกินก็ไม่ดี เหมือนใบไม้แห้งไม่ได้กลิ่นอะไรเลย อากาศความชื้นเยอะเกินก็ไม่ได้ โดนความชื้นเกินจะทำให้แห้งช้าก็จะเกิดเชื้อรา ความหอมของชาบางชนิดอาจจะหายไป ถ้าแดดแรงไปต้องไเก็บในที่ร่ม จากนั้นก็มาผึ่งแดดอ่อนใหม่ ต้องทำแบบนี้วนไปจนกว่าชาจะเข้าที่”

ได้กล่องแต่ยังไม่ได้เงิน

     ผลจากความพยายามจนทำให้ชาคีรีได้รับรางวัลระดับโลกแล้ว นครบอกว่า ทำให้ไร่ชาเป็นที่รู้จักในหมู่นักดื่มชามากขึ้น แต่อาจยังไม่ได้สร้างรายได้ให้มากนัก เนื่องจากชาที่ไปคว้ารางวัลมันต้องพิถีพิถันในการทำอย่างมากทุกขั้นตอน จึงไม่สามารถผลิตจำนวนมากได้ อย่างชาขาวคีรีปีหนึ่งจะทำได้ไม่เกิน 10 กิโลกรัม หรือประมาณ 100 กระปุก แต่ละกระปุกราคาประมาณ 450 บาทเท่านั้น

     “ชาที่ขายได้ยังไม่พอค่าตั๋วไปรับรางวัลที่ญี่ปุ่นเลย (หัวเราะ) แต่มันได้คุณค่าทางจิตใจ ทำให้เรามีกำลังใจทำงานต่อชาที่เราปลูกอยู่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลักๆ ที่ทำก็เพราะอยากให้โลกรู้ว่าชาไทยมีคุณภาพ แม้มูลค่าไม่ได้ตามที่เราต้องการ แต่คุณค่าที่เราได้รับมันเยอะ ทำให้เรามีกำลังใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ”

     และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจเล็กๆ ที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้ถ้ามีความพยายาม

ไร่ชาวังพุดตาล

https://www.facebook.com/wangputtanteaplantation

Ig : wangputtanteaplantation
Line : @wangputtantea

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย