TEXT : สุรางรัก
PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์
Main Idea
- ลัลณ์ลลิลไบโอเทค ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหัวเชื้อเห็ด จังหวัดสระบุรี คือ หนึ่งตัวอย่างธุรกิจที่นำหลักการไคเซนของโตโยต้าเข้ามาใช้ จนทำให้สามารถเพิ่มการผลิตจาก 44 % เป็น 79 % สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนบาทต่อเดือนได้
- 3 หลักการใหญ่ไคเซน ได้แก่ 1.Muda (มูดะ) - ความสูญเปล่า 2. Mura (มูระ) - ความไม่สม่ำเสมอของการดำเนินงา และ 3. Muri (มูริ) - การทำสิ่งที่เกินกำลัง
การลงทุนอาจเป็นหนึ่งในแนวทางการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ธุรกิจ แต่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น หรือกำไรน้อยลง จริงๆ แล้วเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยไม่ต้องจ่ายต้นทุนเพิ่มได้หรือไม่?
บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด จังหวัดสระบุรี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหัวเชื้อเห็ดมากกว่า 20 สายพันธุ์ รวมถึงอุปกรณ์เพาะเห็ดให้แก่เกษตรกรต่างๆ คือ หนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นได้ โดยไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่ม เพียงแต่ใช้หลักการไคเซนของโตโยต้าเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ จนทำให้สามารถเพิ่มการผลิตจาก 44 % เป็น 79 % สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนบาทต่อเดือนได้ โดยได้เข้าร่วมโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในปี 2562
ด้วยการยังคงรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงาน และนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงต่อยอดธุรกิจได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ได้รับคัดเลือกจัดตั้งเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 6” ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจแก่วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ SME อื่นๆ ต่อไป ตามพันธกิจใหม่ของโตโยต้าที่ตั้งเป้าหมายเปิดศูนย์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งใน 6 ภูมิภาค เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปีที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศไทย
ค้นต้นตอปัญหา ด้วย 3 หลักใหญ่ไคเซน
โดยก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการกับโตโยต้า อภิศักดิ์ แซ่หลี ผู้บริหาร บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด ได้เล่าถึงตัวธุรกิจว่าเดิมนั้นเริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นฟาร์มเพาะปลูกเห็ดมาก่อน ต่อมาด้วยจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น จึงปรับตัวเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า ต่อยอดธุรกิจเป็นการจำหน่ายหัวเชื้อเห็ดและอุปกรณ์เพาะเห็ดให้กับเกษตรกรแทน ด้วยการเป็นเจ้าแรกๆ ในตลาดออนไลน์จึงทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ยอดขายเติบโตไว จนเกิดปัญหาไม่สามารถผลิตออร์เดอร์ได้ทันตามเวลาที่ลูกค้าต้องการ
วิธีแรกที่เขาคิดนำมาแก้ปัญหา คือ การหาคนมาเพิ่ม โดยลืมนึกไปว่าจำนวนคนที่เพิ่มเข้ามา อาจไม่ได้หมายถึงคุณภาพของงานที่จะเพิ่มขึ้นมาด้วย กระทั่งได้รู้จักกับโครงการของโตโยต้า จึงทำให้สามารถมองเห็นปัญหาที่แท้จริงและหาวิธีการแก้ไขที่ยั่งยืนขึ้นมาได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณคนเลย เพียงแต่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น โดยผ่านการมองปัญหาใน 3 ด้านใหญ่ตามหลัก 3 M ของไคเซน คือ
1. Muda (มูดะ) คือ ความสูญเปล่า
2. Mura (มูระ) คือ ความไม่สม่ำเสมอของการดำเนินงาน
3. Muri (มูริ) คือ การทำสิ่งที่เกินกำลัง
จนทำให้สามารถพบปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ปัญหาการผลิตที่ล่าช้า เนื่องจากมีกระบวนการเคลื่อนย้ายหลายจุด แต่ละจุดไม่มีความต่อเนื่องกัน ไม่มีการจัดไลน์การผลิตอย่างเป็นระบบ ทำให้ต้องสูญเสียเวลาในการเคลื่อนย้ายมาก เช่น จากจุดสต็อกขวดแก้ว มาจุดกรอกข้าวฟ่างใช้เวลา 17 วินาที / ตะกร้า หรือ 47 นาที / วัน, ย้ายจากจุดบรรจุข้าวฟ่างไปจุดอุดฝา 19 วินาที / ตะกร้า หรือ 53 นาที / วัน หรือการเคลื่อนย้ายจากจุดอุดฝาขวดไปยังห้องนึ่ง และจากห้องสต็อกสินค้าไปยังห้องตัดเชื้อที่ใช้เวลามากถึง 3 นาทีต่อรอบ หรือเสียเวลาประมาณ 87 นาทีต่อวัน
2. ปัญหาการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่พอดี ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การใช้ถาดเหล็กบรรจุขวดแก้วทำให้มีน้ำหนักมาก พนักงานต้องยกหลายเที่ยวต่อวัน ทำให้เกิดความเมื่อยล้า หรือตัวถาดสไลด์ (Dolly) ที่ใช้ในห้องนึ่งฆ่าเชื้อก็มีขนาดใหญ่เกินไป เพื่อขนสินค้าจำนวนครั้งละ 24 ตะกร้า ทำให้เวลาเข็นเข้า-ออกเตาต้องใช้พนักงาน 5-6 คน ซึ่งต้องหยุดงานจากจุดอื่นๆ เพื่อมาเข็น Dolly เข้าห้องนึ่ง
3. ปัญหาการสต็อกสินค้าในปริมาณมากเกินไป เช่น การสต็อกข้าวฟ่างเพื่อนำมาทำหัวเชื้อเห็ด โดยจะใช้วิธีสั่งมาทีเดียวปีละครั้ง ทำให้ต้องสต็อกข้าวฟ่างมากถึง 144 ตัน ต้นทุนสูงถึง 1.3 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็เกิดของเสียในสต็อกจำนวนมากจากมอด เชื้อรา แถมยังต้องใช้พื้นที่ในการสต็อกบริเวณมากด้วย
4. การส่งมอบสินค้ามีความล่าช้า ไม่มีการจัดการออร์เดอร์ที่เป็นระบบ แต่ละฝ่ายต่างแยกกันทำ ทำให้ไม่สามารถรู้ข้อมูลที่อัพเดตได้ ไม่รู้ว่าต้องตามงานที่ใคร
ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิต
โดยจากปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด ได้นำองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้ามาปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจตนเอง ดังนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยการออกแบบไลน์การผลิตใหม่ เปลี่ยนจากการทำงานเป็นจุดๆ มาเป็นการไลน์การทำงานต่อเนื่อง โดยใช้ระบบกลไก “คาราคุริ” มาออกแบบรางเลื่อนเพื่อขนย้ายสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยการพนักงานไม่ต้องเดินและไม่ต้องยกของขึ้นลงให้เสียเวลา เริ่มตั้งแต่การกรอกข้าวฟ่าง การอุดฝาขวด ไปจนถึงห้องนึ่ง
2. เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยทุ่นแรง เช่น เปลี่ยนจากถาดเหล็กที่ใช้บรรจุขวดแก้วมาเป็นถาดตะกร้าพลาสติกแทน ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าและใช้พื้นที่ในการเก็บน้อยกว่าเดิม รวมทั้งราคาถูกกว่า ทำให้ทำงานสะดวกขึ้น อีกทั้งมีการปรับขนาดถาดสไลด์ในห้องนึ่งฆ่าเชื้อให้เหมาะสมกับการทำงาน จากใส่เข้าไปครั้งละ 24 ตะกร้า ก็ลดลงให้เหลือ 12 ตะกร้า ทำให้น้ำหนักลดลง ใช้พนักงานเพียง 2-3 คน ก็สามารถทำการเข็นเข้า-ออกเตาได้ ซึ่งทั้งการใช้ระบบรางเข้ามาช่วย การเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เหมาะสม ทั้งหมดนี้ทำให้ช่วยลดเวลาโดยรวมในการทำงานลง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจาก 44% เป็น 79 % ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2,000 ขวดต่อวัน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 364,000 บาทต่อเดือนได้
3. สต็อกสินค้าให้พอดีกับการใช้งาน สั่งทีละน้อยๆ ในจำนวนครั้งที่ถี่ขึ้น เพื่อลดปัญหาต้นทุนจม และการสูญเสียที่เกิดขึ้นในสต็อก เช่น จากเคยสั่งข้าวฟ่างปีละ 1 ครั้ง เพื่อเก็บไว้ใช้ทีเดียว ก็เปลี่ยนมาเป็นสั่งเดือนละครั้ง โดยคำนวณจากปริมาณยอดขายเฉลี่ยต่อเดือนมาคำนวณหาวัตถุดิบที่ต้องใช้จริง ซึ่งเฉลี่ยในแต่ละเดือนลัลณ์ลลิลฯ สามารถขายหัวเชื้อเห็ดได้ประมาณ 5,000-7,000 ขวด / วัน คิดเป็นจำนวนข้าวฟ่างที่ต้องใช้ต่อเดือนเท่ากับ 16 ตัน / เดือน หรือคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 144,000 บาท ทำให้มีทุนหมุนเวียนในธุรกิจเพิ่มขึ้น และยังมีพื้นที่ใช้งานเพิ่มกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ด้วย
4. วางแผนการจัดการออร์เดอร์อย่างเป็นระบบ มีการจัดทำบอร์ดควบคุมการส่งมอบในแต่ละจุด ทำให้สามารถตรวจสอบจำนวนการส่งมอบของลูกค้าแต่ละรายและวางแผนการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทันตามวันเวลาที่ตกลงไว้
นอกจากนี้ภายหลังต่อมายังมีการปรับปรุงพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าและระบบการขายออนไลน์มากขึ้น โดยจากขวดแก้วบรรจุหัวเชื้อ เริ่มมีการนำขวดพลาสติกมาใช้ ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบากว่า ค่าขนส่งถูกลง และยังป้องกันการแตกเสียหายด้วย นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมการทำเชื้อเห็ดเหลวขึ้นมาเพื่อใช้กับขวดพลาสติก ซึ่งโดยปกติการผลิตหัวเชื้อต้องเลี้ยงเชื้อบนอาหารวุ้น PDA แล้วตัดชิ้นออกมาเพื่อบรรจุลงไปในขวด ทำให้การตัดและใส่ขวดชิ้นหนึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงได้มีการพัฒนาตัววุ้นดังกล่าวให้กลายเป็นเชื้อน้ำ เป็นอาหารเหลวแล้วก็ใช้เข็มฉีดยาดูดขึ้นมาแล้วฉีดลงขวด ทำให้ลดเวลาในการผลิตและลูกค้าสะดวกในการใช้งานมากขึ้นด้วย
จากการพยายามรักษาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และมีการนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยตนเองตามหลักวิถีโตโยต้าได้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถบริหารงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ จึงไม่แปลกใจเลยที่บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเทค จำกัด จะได้รับเลือกจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 6 เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจแก่วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการธุรกิจ SME รายอื่นๆ ต่อไป ตามปณิธานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืนของโตโยต้าในโอกาสดำเนินงานในไทยครบรอบ 60 ปีครั้งนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี