Young Tam Farm สูตรสำเร็จบ้านบ้านคาเฟ่ ที่มาจากการรู้จักท้องถิ่น

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

Main Idea

  • Young Tam Farm (ยังทำฟาร์ม) เกิดขึ้นเพราะการคิดต่อยอดของคนรุ่นใหม่ที่รู้จักท้องถิ่นดีอย่าง "อุ๊บุญ-สุภาวดี สุวรรณฤทธิ์"

 

  • เป็นคาเฟ่เล็กๆ ในพื้นที่ของอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีเมนูโฮมเมด และงานคราฟ์ตไว้ต้อนรับผู้มาเยือน

     นครศรีธรรมราช คือ จังหวัดหนึ่งที่มีป่าเขาอุดมสมบูรณ์ที่สุด พรหมคีรี คือ ชื่ออำเภอที่ยังมีความหมายไม่ไกลจากขุนเขา ผลพวงจากความพร้อมของธรรมชาติแถบนี้ จึงทำให้ผมรู้จักสวนสมรม วิธีการทำเกษตรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ก่อนหน้านี้คนทำสวนจบขั้นตอนด้วยการขายผลผลิต แต่เมือประมาณ 9 ปีก่อน Young Tam Farm (ยังทำฟาร์ม) เกิดขึ้นเพราะการคิดต่อยอดของคนรู้จักท้องถิ่นอย่าง อุ๊บุญ-สุภาวดี สุวรรณฤทธิ์

     ถนนสายเล็กพาเราแยกจากเส้นหลัก ลดเลี้ยวผ่านความร่มรื่นของสวนยางและผลไม้ ป้ายไม้เล็กๆ บอกชื่อ ยังทำฟาร์ม หน้าปากซอยอีกที สุดทางตรงอาคารไม้สองชั้นถูกใช้พื้นที่เป็นร้านอาหารและคาเฟ่กลางสวนสมรม ข้างๆ มีโรงเรือนที่ใช้ทำกิจกรรมและเวิร์คชอปต่างๆ ตามแต่โอกาสจะอำนวย มองลอดคาเฟ่ไปอีกด้าน จะเห็นบาร์พิซซ่า ข้างหลังมีเตาอบดินที่มีไฟฟืนลุกโซนอยู่ตลอดเวลา

     ผมพบเจอ ยังทำฟาร์ม จากเพื่อนรุ่นพี่ที่บังเอิญได้เดินทางด้วยกัน เมื่อห้าปีก่อนภาพคาเฟ่เล็กๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก มีเพิ่มแค่ชั้นสองกับที่นั่งยกพื้นด้านซ้ายทางเข้า มีการปรับตกแต่งให้เอื้อประโยชน์เรื่องการใช้สอย ดูเรียบร้อย แต่ยังรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง

     "พิซซ่าของที่นี่ ทำด้วยแป้งจากข้าวพื้นบ้าน"  อุ๊นำเสนอเมนูเด่นของร้าน

     ประโยคนี้มีน้ำหนักพอให้เราพร้อมเพรียงกันสั่งเมนูพิเศษนี้

     อุ๊บุญอธิบายเพิ่มเติมถึงที่มาของพิซซ่าที่ยังทำฟาร์มว่า เป็นพิซซ่าแป้งข้าวพื้นบ้านตามฤดูกาล ผลัดเปลี่ยนหมุนไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ ตอนนี้ที่ใช้อยู่หลักๆ จะเป็น แป้งข้าวไรซ์เบอรี่ทุ่งนาสร้าง แป้งข้าวเหนียวดำไร่นาบอน แป้งข้าวเกยไชยข้าวพื้นเมืองนครสวรรค์ แป้งข้าวเมล็ดฝ้าย ข้าวไร่นครศรีธรรมราช แป้งข้าวไร่หอมหัวบอล ส่วนหน้าพิซซ่าก็จะได้ผักในสวนเป็นวัตถุดิบ

     นอกจากนั้นยังมีเมนู ผักบ้านบ้านอบชีส เมนูผักกูด  ซึ่งทั้งพิซซ่าและผักอบซีส จึงเป็นจานอาหารที่มีความอร่อยด้วยการเอารูปลักษณ์ตะวันตกมาปรุงเป็นตะวันออกอย่างมีศิลปะและสร้างสรรค์

     ปลาใส่อวนทอดเป็นอีกจานเด็ดที่เราสั่ง คือการเอาปลาดุกมาถนอมอาหารโดยใส่ข้าวคั่วทิ้งไว้ให้เปรี้ยว แล้วนำมาทอดให้กรอบทานกับข้าวกล้อง มีหอม พริกสดและมะนาวใส่เคียงมาให้ ถ้าอยากเพิ่มรสชาติให้จัดจ้านขึ้น ส่วนเครื่องดื่มก็ปราณีตไม่แพ้กัน ส่วนมากทำจากวัตถุดิบท้องถิ่น มีการตกแต่งแก้วให้ดูน่าค้นหา สวยงาม ยิ่งแก้วไหนเป็นกาแฟ แก้วนั้นยิ่งถูกใจคอกาแฟแน่นอน

     การเติบโตของยังทำฟาร์มที่ผมเห็นจากวันนั้น ประเมินด้วยตาจากภาพของสถานที่และผู้คนที่เพิ่มจำนวนเข้ามาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสายในวันนี้ ที่นี่ประสบความสำเร็จอย่างไม่ต้องมีคำถาม

     "อิ่มตัวกับชีวิตกรุงเทพ เลยตัดสินใจกลับบ้าน"  น่าจะเป็นคำตอบสูตรสำเร็จ เมื่อมีคำถามถึงเหตุผลของการกลับบ้าน แต่อุ๊บุญสามารถสร้างยังทำฟาร์มให้หลายคนตระหนักว่า ความสำเร็จของผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องเกิดจากการใช้ศักยภาพของบ้านอย่างรู้ลึกและรู้ซึ้ง ซึ่งสิ่งสำคัญต้องมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วย ยังทำฟาร์มได้จัดกิจกรรมให้มี ตลาดนัดเล็กๆ เฉพาะกิจ ทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนใช้ชื่อว่า “ยังหลาด” ที่เริ่มจากเพื่อนและมิตรภาพ ชักชวนกันมาทำเป็นตลาด ที่มี งานเกษตร งานศิลปะ งานแฮนเมด DIY งานคราฟท์ ผลิตภัณฑ์โฮมเมด ของสะสม สินค้าที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

     "เบื่อและเหนื่อยกับการใช้ชีวิตที่กรุงเทพ" 

     ผมได้ยินคนสองประเภทที่พูดแบบนี้ พวกแรกอยากออกไปแต่กลัว พวกหลังกล้าที่จะหันหลังให้เมืองหลวงแล้ว "กลับบ้าน" 

     บ้านไม่ใช่แค่โครงสร้างใช้อยู่อาศัย แต่บ้านที่ได้ยินจากปากอุ๊บุญ ผมสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นในนั้น

Young Tam Farm

https://m.facebook.com/Youngtamfarm/

https://www.facebook.com/younglastNST

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย