ยีนส์จากไหมไทย รายแรกของโลก นวัตกรรมของดีเมืองสุรินทร์ เปลี่ยนคนรุ่นใหม่หันมาใช้ผ้าไหมมากขึ้น

TEXT / PHOTO : สุรางรัก

Main Idea

  • เรือนไหม - ใบหม่อน ร้านขายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากไหมแบบครบวงจร จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

 

  • ล่าสุดพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งทอ ด้วยการผลิตผ้ายีนส์จากไหมไทย หรือ “ผ้าไหมยีนส์” หนึ่งเดียวในไทยและโลก เพื่อดัดแปลงเอาใจคนรุ่นใหม่ให้หันกลับมาใช้ผ้าไหมไทยกันมากขึ้น

 

     ถ้าพูดถึงจังหวัดสุรินทร์ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหม แต่รู้ไหมว่านอกจากผ้าไหมพื้นบ้านที่ทอด้วยลวดลายงดงามแล้ว วันนี้ยังมี “ผ้าไหมยีนส์” หรือ ยีนส์จากผ้าไหม นวัตกรรมหนึ่งเดียวในไทย หรืออาจเรียกว่าเป็นรายแรกๆ ของโลกก็ว่าได้ที่ผลิตขึ้นมาจากไหมไทย เพื่อดัดแปลงให้สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น รวมถึงจูงใจคนรุ่นใหม่ให้หันกลับมาใช้ผ้าไหมกันมากขึ้น

     เจ้าของไอเดียที่ว่าดังกล่าว ก็คือ “เรือนไหม-ใบหม่อน” ธุรกิจการผลิตไหมแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไปจนถึงการทอผ้าไหม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2530 โดยสืบทอดมาจากกิจการค้าเส้นไหมของครอบครัว

     อาทร แสงโสมวงศ์ หนึ่งในทายาทและเจ้าของกิจการปัจจุบันเล่าที่มาถึงไอเดียการนำเส้นไหมไทยมาผลิตเป็นผ้ายีนส์ให้ฟังว่า

     “ก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อน ผมได้ไปเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานหนึ่ง เขามีการทำวิจัยการตลาดเกี่ยวกับผ้าไหม โดยพบว่ากลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ถ้าพูดถึงผ้าไหมส่วนใหญ่เขาจะรู้สึกว่าเป็นผ้าที่คนสูงอายุใช้ และด้วยราคาที่แพง การดูแลรักษาก็ยากกว่า จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนำมาใช้ ทำให้ผมเกิดความคิดว่าอยากจะดึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้หันมาสนใจสินค้าผ้าไหมมากขึ้น เลยลองไปเสิร์ชดูว่ามีผ้าแบบไหนที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กัน จนไปเจอข้อมูลของผ้ายีนส์ ซึ่งใช้กันมานานหลายร้อยปีแล้วจนทุกวันนี้ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ พอดีมีโครงการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการจากสถาบันสิ่งทอเข้ามาพอดี ผมเลยลองสมัครเข้าไปและนำโมเดลการผลิตยีนส์จากเส้นไหมนี้ไปเสนอ จนในที่สุดก็ได้ร่วมทำวิจัยร่วมกัน และผลิตออกมาเป็นผ้าไหมยีนส์ได้ในที่สุด ขึ้นทะเบียนจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ประมาณปี 2560 - 2561 เป็นรายแรกและรายเดียวในไทยในขณะนี้”

     โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าเส้นไหมที่นำมาผลิตเป็นผ้ายีนส์นั้น จะเป็นไหมหยาบเส้นใหญ่ที่อยู่ส่วนนอกสุดของรังไหม ซึ่งมักไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ทอเป็นผ้าไหม และขายไม่ได้ราคาอยู่แล้ว โดยภาษาพื้นบ้านของสุรินทร์จะเรียกว่า "โซดกะบาล" หรือ "ไหมหัว" ส่วนสีที่นำมาใช้ย้อม ก็คือ สีครามจากธรรมชาติ ซึ่งสามารถกำหนดเฉดสีให้อ่อนหรือเข้มได้ โดยผ้าไหมยีนส์ของเรือนไหม ใบหม่อนนี้ผลิตจากเส้นไหมแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการผสมเส้นใยชนิดอื่น

     สำหรับความแตกต่างด้านคุณสมบัติระหว่างผ้าไหมยีนส์กับผ้ายีนส์ทั่วไป คือ ในขนาดของเส้นใยเท่ากัน เส้นไหมจะมีลักษณะเบากว่าเส้นใยคอตตอนของผ้ายีนส์ นอกจากนี้เส้นไหมยังมีแอนตี้แบคทีเรียในตัว ทำให้สวมใส่ได้สบายตัว ไม่อับชื้น ไม่เกิดกลิ่น น้ำหนักเบา แถมตัวเส้นไหมเองซึ่งผลิตขึ้นมาจากโปรตีน จึงสามารถช่วยรักษาสภาพผิวให้มีความชุ่มชื้น และป้องกันแสงยูวีได้ด้วย

     โดยปัจจุบันนี้ยังจำหน่ายในลักษณะของวัตถุดิบ ขายเป็นผืนผ้าเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการตัดเย็บออกมาขายเป็นชุด ซึ่งจำหน่ายอยู่ที่ราคาเมตรละ 1,800 บาทสำหรับผ้าไหมยีนส์ แต่หากเป็นผ้าไหมธรรมดาสีพื้นถ้าย้อมสีเคมีจะอยู่ที่ราคาเมตรละ 500 บาท ส่วนสีธรรมชาติจะอยู่ที่ราคาเมตรละ 1,000 บาทขึ้นไป

     “เนื่องจากเรามีความถนัดด้านการผลิตมากกว่า แต่ไม่ถนัดด้านการทำตลาด หรือการออกแบบแฟชั่น แต่เคยมีเอาไปให้ร้านที่กรุงเทพฯ ตัดออกมาเป็นชุดตัวอย่างให้บ้าง ซึ่งราคาก็ค่อนข้างสูง ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนของการหาพาร์ทเนอร์มาทำงานร่วมกัน ประกอบกับเจอวิกฤตโควิด-19 ด้วย จึงยังไม่ได้มีการเปิดตัวออกไปมาก แต่เชื่อว่าถ้าถึงวันนั้นจะทำให้เกิดอิมแพคครั้งใหญ่กับวงการไหมไทยขึ้นมาได้ ซึ่งในแต่ละปีเราจะให้ความสำคัญกับการทำวิจัยใหม่ๆ  ซึ่งหลายสถาบันการเงินก็มีส่วนช่วยสนับสนุนตรงนี้ เช่น SME D Bank เรามองว่าการทำธุรกิจหากเราหยุดนิ่งอยู่กับที่ คนอื่นก็จะตามเราทัน แต่นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถหนีจากคนอื่นได้” อาทรกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

เรือนไหม ใบหม่อน

https://web.facebook.com/ruenmaiisurin

โทร. 044 511 348

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Caffe Pralet คาเฟ่ที่เปลี่ยนมือจากแม่สู่ลูก Success เพราะยกเลิกเมนูเก่า เหลือ 2 เมนูเด็ด

Caffe Pralet เป็นคาเฟ่ที่เปิดมานาน 19 ปี เป็นที่รู้จักในเรื่องขนมอบ เค้ก และอาหารจานต่างๆ แต่เมื่อทิมโมธี ผู้เป็นลูกชายเข้ามารับไม้ต่อ เขาโละเมนูต่างๆ เหล่านี้ออก แล้วขายเพียงโดนัทสี่เหลี่ยมและแซนด์วิซ ..ซึ่งกลับทำให้ร้านกาแฟแห่งนี้ประสบความสำเร็จ

เจ้าแรกในไทย "วุ้นเส้นเฮยะ" ทำจาก โมโรเฮยะ ฉายาผักพระราชาของอียิปต์ พลิกจากไร่อ้อยสู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพ”

จากปณิธานของวิทยา เพชรมาลัยกุล ที่อยากให้คนไทยได้ทานของดี และอยากเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้อยู่ต่อถึงรุ่นลูก ไม่เพียงจะได้ผักที่ขายดิบขายดี แต่ยังต่อยอดแปรรูปสินค้าสร้างแบรนด์ "วุ้นเส้นโมโรเฮยะ" เจ้าแรกของไทย