TEXT: Momo
Main Idea
- คาร์บอนเครดิต ระบบที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน
- ทำให้มีเทรนด์การค้าใหม่เกิดขึ้นนั้นก็คือ ตลาดซื้อ – ขาย ตลาดคาร์บอนเครดิต
- มีแนวโน้มว่าราคาการค้าคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากตันละ 34 บาท ในปี 2564 เป็น 107 บาทในปี 2565
อย่างที่ผู้ประกอบการทุกคนรู้ดีว่าโลกของเราร้อนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เนื่องจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทำให้มีเทรนด์การค้าใหม่เกิดขึ้นนั้นก็คือ ตลาดซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีแนวโน้มว่าราคาการค้าคาร์บอนเครดิตในปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ภายในปีเดียว จากตันละ 34 บาท ในปี 2564 เป็น 107 บาท และเราเห็นเว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงจะพาผู้ประกอบการทุกคนไปรู้จักกับการซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิตกันว่าคืออะไร และมีขั้นตอนซื้อขายอย่างไร ตามมาดูกันเลย
คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร
เป็นระบบที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยภาคธุรกิจจะต้องทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาคำนวณคาร์บอนเครดิตออกมา ตัวอย่างเช่น ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่คำนวณได้สามารถนำมาขายให้ธุรกิจหรือหน่วยงานได้ ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือเป็น ตลาดซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต นั่นเอง
พอถึงตรงนี้ทุกคนก็คงสงสัยว่าทำไมถึงต้องซื้อคาร์บอนเครดิตด้วย ธุรกิจซื้อคาร์บอนเครดิต เพราะว่ามีกระบวนการการทำงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่กำหนด ซึ่งบริษัทที่ทำการซื้อคาร์บอนเครดิตไป สามารถมีสิทธิปล่อยก๊าซได้มากขึ้น นั่นเอง
ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon market) คืออะไร
เป็นตัวกลางที่ทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สำหรับธุรกิจที่ต้องการ คาร์บอนเครดิต มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดั้งนี้
1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) คือ ตลาดที่มีการอนุญาตซื้อขายที่ได้การรองรับจากกฎหมายและมีข้อบังคับที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปหักล้างกับปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกไปได้ เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market)คือ ตลาดที่จัดตั้งโดยผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยความสมัครใจ แต่ไม่ได้ผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally binding target) ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าและการฟื้นฟูสภาพป่าใหม่ หรือ การปรับปรุงการจัดการป่าไม้ เป็นต้น
การซื้อขายคาร์บอนเครดิตทำได้ 2 รูปแบบ
1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและ
2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด
ทั้งนี้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจถูกกำหนดโดยผู้กำกับดูแลตลาด (Regulator) หรือเป็นการตั้งเป้าหมายโดยสมัครใจขององค์กรซึ่งปัจจุบัน การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส ตามหลักการของการตั้งเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science Based Target (SBT) นั่นเอง
นอกจากนี้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ยังต้องคำนึงถึงประเภทของสัญญาซื้อขาย โดยในปัจจุบันสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Emission Reduction Purchase Agreement) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า "ERPA" ในตลาดภาคบังคับ มี 2 ประเภท
1. Forward Contract: เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงที่จะส่งมอบคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งในอนาคตโดยเป็นสัญญาที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้า ตั้งราคาซื้อขายที่ยืดหยุ่นได้ ผู้ซื้อและผู้ขายรับความเสี่ยงร่วมกัน รับประกันรายได้ที่ได้รับล่วงหน้า มีการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในการพัฒนาโครงการ และสามารถต่อรองราคาคาร์บอนเครดิตตามระดับความเสี่ยงได้
2. Spot Market Contract: เป็นการซื้อขายหลังจากที่ได้รับคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรอง โดยเป็นสัญญาที่กำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้รับความเสี่ยง (แต่น้อย) สามารถกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในราคาสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และราคาคาร์บอนเครดิตในขณะที่ซื้อขาย ไม่สามารถรับประกันรายได้ล่วงหน้า และไม่ต้องมีการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการ
ประเด็นสัญญาซื้อขายที่ต้องระวัง
- ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองที่ตกลงจะขาย ซึ่งผู้ขายต้องมั่นใจว่าสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามที่กำหนดในสัญญา
- การประเมินราคาคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองควรจะเป็นเท่าไร และต้องส่งมอบให้กับใคร ระยะเวลาส่งมอบและวิธีการรับเงิน
- คู่สัญญาฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขอการรับรองคาร์บอนเครดิตผลกระทบจากการที่ไม่สามารถส่งมอบคาร์บอนเครดิตหรือส่งมอบไม่ครบตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประเด็นเรื่องถ้อยแถลงหรือข้อความในสัญญาเพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เกิดสถานการณ์หรือเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถควบคุมได้
- การจัดให้มีกลไกและกระบวนการการเจรจาในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เป็นต้น
สำหรับตลาดคาร์บอนนั้นต้องยกให้สหภาพยุโรป หรือ อียูที่เป็นตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตตลาดนี้ มีมูลค่าที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ยที่ 2,769 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ขณะที่ในประเทศไทย ราคาคาร์บอนเครดิต ในปี 2561 อยู่ที่ 21.37 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จนมาถึงปัจจุบันปี 2565 ราคาสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 107.23 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือประมาณ 3 ดอลลาร์/ตันคาร์บอนฯ ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานจะมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนฯ
อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานมูลนิธิ Worldview Climate Foundation (WCF) เปิดเผยในการประชุมนานาชาติ จัดโดย มูลนิธิ Worldview International ว่า ราคาการค้าคาร์บอน (Carbon Trading) เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากคาร์บอนตันละ 34 บาท ในปี 2564 เป็น 107 บาทในปี 2565
ขั้นตอนซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ผู้ประกอบการสามารถทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านระบบ T-VER Registry ซึ่งมีขั้นตอนการซื้อขายดังนี้ ในกรณีที่มอบให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นผู้แทนในการดำเนินธุรกรรมในระบบ T-VER Registry
1. ให้ผู้ใช้งานแจ้งชื่อ หมายเลขบัญชีของผู้ที่ประสงค์จะซื้อ และจำนวนคาร์บอนเครดิต ไปยังองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พร้อมสำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทางของเจ้าของบัญชี
2. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก จะทำการพิจารณาความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสาร
3. สุดท้ายองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก จะดำเนินการโอน (Transfer) หรือชดเชย (Offset) คาร์บอนเครดิต แก่ผู้ใช้งานภายใน 3 วันทำการ หลังจากตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว
หมายเหตุ แต่ไม่สามารถนำโครงการมาขึ้นทะเบียนย้อนหลังได้เกิน 1 ปี
ซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต มีการเรียกเก็บภาษีไหม ?
โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 514) พ.ศ. 2554 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในการดำเนินการโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจอื่นๆ
แค่ปลูกต้นไม้ก็ขายคาร์บอนเครดิตได้
ทุกคนอาจจะสงสัยว่าทำไม้แค่ปลูกต้นไม้ จะสร้างรายได้ได้อย่างไร อย่างที่เราได้บอกไปข้างต้นแล้วว่ามีธุรกิจที่ซื้อคาร์บอนเครดิต แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นต้นไม้อะไรก็ได้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาบอกชนิดของต้นไม้ ที่ปลูกแล้ว ได้คาร์บอนเครดิต ซึ่งอยู่ 58 ต้นด้วยกัน ดังนี้
ตะเคียนทอง, ตะเคียนหิน, ตะเคียนชันตาแมว, ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา), สะเดา, สะเดาเทียม, ตะกู, ยมหิน, ยมหอม, นางพญาเสือโคร่ง, นนทรี, สัตบรรณตีนเป็ดทะเล, พฤกษ์, ปีบ, ตะแบกนา, เสลา, อินทนิลน้ำ, ตะแบกเลือด, นากบุด, ไม้สัก, พะยูง, ชิงชัน, กระซัก, กระพี้เขาควาย, สาธร, แดง, ประดู่ป่า, ประดู่บ้าน, มะค่าโมง, มะค่าแต้, เคี่ยม, เคี่ยวคะนอง, เต็ง, รัง, พะยอม
ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร - จำปีป่า), จำปีถิ่นไทย (จำปีดง, จำปีแขก, จำปีเพชร), แคนา, กัลปพฤษ์, ราชพฤษ์, สุพรรณิการ์, เหลืองปรีดียาธร, มะหาด, มะข้ามป้อม, หว้า, จามจุรี, พลับพลา, กันเกรา, กระทังใบใหญ่, หลุมพอ, กฤษณา, ไม้หอม, เทพทาโร, ฝาง, ไผ่ทุกชนิด, ไม้สกุลมะม่วง, ไม้สกุลทุเรียน, มะขาม
วิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้
1. วางแปลงสำรวจและสำรวจต้นไม้ โดยการจำแนกเป็นพื้นที่ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ 10*10 เมตร จะทำการสำรวจจาก ชนิดของต้นไม้ จำนวน ขนาดความโตของต้นไม้ และความสูงของต้นไม้
2. การวาดขนาดของต้นไม้ จะทำการวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก (DBH)หรือ เส้นรอบวงเพียงอก และวัดความสูงของต้นไม้
3. การคำนวณมวลชีวภาพของต้นไม้ ซึ่งจะทำการคำนวณโดยวิธี สมการมวลชีวภาพ หรือ สมการแอลโลเมตรี
4. การคำนวณการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพ ตามค่ามตราฐาน ร้อยละ 47 ของมวลชีวภาพ และคำนวณค่าดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็น 44/12 เท่าของคาร์บอน
ประโยชน์ของการซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิต
- ระยะสั้น จะช่วยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำง่ายขึ้น เนื่องจากมีการขยายการลงทุนในพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานรวมถึงการลงทุนในทุนทางธรรมชาติ
- ระยะยาว จะช่วยในการสนับสนุนการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกติดลบโดยให้การสนับสนุนทางการเงินกับการปลูกป่าหรือเทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน
และนี่คือประโยชน์ของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรรู้
ที่มา : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน)
http://dev1.colorpack.net/ghg/tver-step/tver-carbon-trading-procedure.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี