คนไทยต้องดื่มกาแฟแพงขึ้นอีก 3 ปี ตามราคากาแฟโลกปรับตัวสูงขึ้น

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • จากวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้บราซิล และเวียดนาม แหล่งผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสต้าและพันธุ์โรบัสต้ารายใหญ่สุดของโลก มีผลผลิตน้อยลง

 

  • ทำให้เกิดปัญหา Supply Shock ราคากาแฟอาราบิก้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 (YoY) และราคากาแฟโรบัสต้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 (YoY) นับเป็นราคาเฉลี่ยที่พุ่งสูงสุดในรอบ 11 ปี

 

  • ผลผลิตกาแฟในไทยไม่เพียงพอกับความต้องการ คนไทยเฉลี่ยดื่มกาแฟสูงขึ้น 300 แก้วต่อคนต่อปี

    คอกาแฟอาจไม่ปลื้มสิ่งนี้ มีการคาดการณ์ว่าราคากาแฟโลกขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องราว 3 ปี

     ลางบอกเหตุว่าคอกาแฟต้องดื่มกาแฟแพงขึ้นเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เป็นต้นมา ราคากาแฟในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น จากสภาพอากาศที่แปรปรวน กดดันแหล่งผลิตกาแฟหลักของโลกอย่างบราซิลและเวียดนามได้รับความเสียหาย คาดว่า ราคากาแฟโลกอาจยืนสูงต่อเนื่องจนกว่าผลผลิตรอบใหม่ของบราซิลจะออกสู่ตลาดในราวปี 2568

ราคากาแฟตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี

     สภาพอากาศแปรปรวน กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคากาแฟโลกพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะบราซิล ผู้ผลิตกาแฟพันธุ์อาราบิก้ารายใหญ่สุดของโลกได้ประสบภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงและภาวะน้ำค้างแข็งปกคลุมอย่างหนักแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งคาดว่า ผลผลิตกาแฟของบราซิลในปีนี้อาจลดลงราวร้อยละ 11 (YoY) และอาจมีสต๊อกลดลงต่ำสุดในรอบ 23 ปี

     ด้านเวียดนาม ผู้ผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสต้ารายใหญ่สุดของโลกก็เผชิญภาวะน้ำท่วมจากพายุโซนร้อนอย่างรุนแรง กดดันผลผลิตและปริมาณสต๊อกกาแฟที่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งด้วย

     จากการที่ทั้งบราซิลและเวียดนามต่างเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ ครองสัดส่วนครึ่งหนึ่งของปริมาณการส่งออกกาแฟทั้งโลก ทำให้ปัญหา Supply Shock ที่เกิดขึ้นในผู้เล่นหลักมีอิทธิพลดันราคากาแฟในตลาดโลกให้พุ่งขึ้น สะท้อนได้จาก ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ราคากาแฟอาราบิก้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 (YoY) และราคากาแฟโรบัสต้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 (YoY) นับเป็นราคาเฉลี่ยที่พุ่งสูงสุดในรอบ 11 ปี

     นอกจากนี้ ประเทศผู้ผลิตกาแฟอื่นๆ ก็เผชิญความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่จะกดดันต่อผลผลิตกาแฟในปีนี้เช่นกัน เช่น ฮอนดูรัส กัวเตมาลา และนิการากัว ทำให้สต๊อกกาแฟลดลง ส่วนคอสตาริกา ได้มีสัญญาณความเสี่ยงต่อผลผลิตกาแฟที่จะลดลง  และยูกันดา เผชิญความแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตกาแฟโรบัสต้าลดลงอย่างมาก

คนไทยดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น 300 แก้วต่อคนต่อปี

     ขณะเดียวกัน ไทยยังต้องอาศัยนำเข้าเมล็ดกาแฟเป็นหลัก เพราะผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ  คือ ผลิตได้เพียงร้อยละ 25 ของความต้องการในปรเทศ  คนไทยดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี หรือดื่ม 300 แก้วต่อคนต่อปีหรือ 1.18 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ยังถือว่าต่ำกว่าผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นดื่ม 400 แก้วต่อคนต่อปีหรือ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และยุโรปดื่ม 500 แก้วต่อคนต่อปีหรือ 4-5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

     โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ไทยมีปริมาณการนำเข้ากาแฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 (YoY) และต้องเผชิญราคากาแฟนำเข้าที่สูงขึ้นราวร้อยละ 30.6 (YoY) สำหรับทั้งปี 2565 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการนำเข้ากาแฟของไทยจะอยู่ที่ 163 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 27 จากปีก่อน 

ผู้ประกอบการแปรรูปและร้านกาแฟต้องเผชิญต้นทุนสูงขึ้น

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลผลิตกาแฟโลกอาจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องราว 3 ปีจากนี้ จนกว่าผลผลิตกาแฟรอบใหม่  ของบราซิลจะออกสู่ตลาดในราวปี 2568 เพื่อชดเชยผลผลิตที่เสียหายเดิม ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันผลผลิตกาแฟ และดันราคากาแฟโลกให้ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลต่อไทยที่เป็นผู้นำเข้ากาแฟ ยิ่งในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการแปรรูปและร้านกาแฟอาจต้องเผชิญต้นทุนเมล็ดที่สูงขึ้น แต่น่าจะยังไม่ขาดแคลนเมล็ดกาแฟเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในระยะสั้น เพราะบางส่วนอาจถูกชดเชยด้วยผลผลิตภายในประเทศที่กำลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับต้นทุนการผลิตอื่นๆ ของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้บริโภคปลายทางอาจต้องจ่ายกาแฟต่อแก้วในราคาที่ปรับสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า

เกษตรกรปลูกกาแฟอาจได้รับผลดี

     ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 คาดว่า ราคากาแฟโรบัสต้าและอาราบิก้าที่เกษตรกรขายได้น่าจะอยู่ที่ราว 82 และ 151 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ จากความต้องการที่มีรองรับในจังหวะที่ผลผลิตโลกยังคงตึงตัว

    ไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 คาดว่า ราคาน่าจะยืนสูงต่อเนื่องได้ โดยราคากาแฟโรบัสต้าและอาราบิก้าที่เกษตรกรขายได้น่าจะอยู่ที่ราว 80-82 และ 149-151 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ อย่างไรก็ดี คงเป็นราคาที่ย่อลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยฉุดด้านฤดูกาลของไทยที่จะมีผลผลิตกาแฟออกสู่ตลาดจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณผลผลิตกาแฟทั้งฤดูกาล

     อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตเมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว (Single Origin) โดยเฉพาะในภาคเหนือที่เป็นสายพันธุ์อาราบิก้าที่มีชื่อเสียง เช่น กาแฟอมก๋อย จ.เชียงใหม่ กาแฟเวียงสา จ.น่าน โดยราคาอาราบิก้าเกรดคุณภาพมีราคาประมูลสูงสุดที่ 6,400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เกษตรกรในภาคใต้ ควรเน้นไปที่การปลูกกาแฟโรบัสต้าเกรดคุณภาพมากขึ้น เพื่อชดเชยผลผลิตโรบัสต้าเดิมที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ กาแฟโรบัสต้าเกรดคุณภาพอย่างไฟน์โรบัสต้ามีราคาประมูลสูงสุดสุดถึง 20,000 บาทต่อกิโลกรัม

     ดังนั้นสำหรับโอกาสการส่งออกกาแฟไทย นับว่ามีความท้าทายต่อการแข่งขันในเชิงปริมาณ เนื่องจากไทยมีผลผลิตเพียงร้อยละ 0.2 ของผลผลิตกาแฟทั้งโลก ผนวกกับราคาส่งออกเมล็ดกาแฟไทยที่สูงกว่าเวียดนาม ด้วยต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าและผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่า ทำให้ไทยยากที่จะแข่งขันในการส่งออกเมล็ดกาแฟไปยังตลาดโลก

     ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟ นับว่ากาแฟไทยยังเป็นที่ต้องการและยอมรับในตลาดโลก สะท้อนจากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ไทยมีปริมาณส่งออกกาแฟสำเร็จรูป (3 in 1) ขยายตัวร้อยละ 8.1 (YoY)  ตามความต้องการที่มีรองรับ เนื่องจากผู้บริโภคมองหาทางเลือกเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง (โรบัสต้าเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำกาแฟสำเร็จรูปจะมีราคาถูกกว่าอาราบิก้าที่เป็นวัตถุดิบหลักของกาแฟสด) ซึ่งจะเป็นโอกาสในการส่งออกกาแฟสำเร็จรูปของไทยในระยะต่อไปด้วย

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน