จะหาซัพพลายเออร์ยังไงให้ถูกใจ ฟัง “Janfive Studio” แบรนด์ที่ทำงาน กับซัพพลายเออร์ 100 กว่ารายเล่าให้ฟัง

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Janfive Studio

 

     นอกจากไอเดีย ความคิด และเงินทุนที่ทำให้สามารถประกอบเป็นธุรกิจขึ้นมาได้แล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เป็นกำลังสำคัญทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ก็คือ “ซัพพลายเออร์” ผู้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเนรมิตฝันให้เป็นจริงแก่ผู้ประกอบการทั้งหลาย เพราะหากไอเดียดี แต่ผลิตสินค้าออกมาไม่ได้คุณภาพ ธุรกิจก็คงไม่ประสบความสำเร็จได้ แต่การจะเฟ้นหาหรือดีลกับซัพพลายเออร์สักเจ้าหนึ่งให้ได้อย่างที่ต้องการนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย บางครั้งถูกใจงาน แต่อาจไม่ถูกใจราคา หรือระยะเวลาไม่ได้บ้าง กว่าจะได้ที่คลิกเข้ากันได้ จึงไม่ต่างจากการหาเนื้อคู่ดีๆ นี่เอง

     วันนี้เลยจะชวนมารู้จักกับ "Janfive Studio" แบรนด์สินค้าจากงานศิลปะ ผลงานการออกแบบของ เฟื่องลดา แวร์ดิญองต์ โดยจากประสบการณ์ทำงานมากว่า 7 ปี ทำให้ผลิตสินค้ามาแล้วนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ผ้าพันคอ กระเป๋าผ้า เทียนหอม จนถึงสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น ชุดจานชามและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ผ้าม่าน วอลเปเปอร์ ผ่านการดีลกับซัพพลายเออร์มาแล้วเป็นร้อยๆ เจ้า มีเคล็ดลับอะไรน่าสนใจบ้างไปดูกัน

เผยสินค้า 1 อย่าง เคยใช้ซัพพลายเออร์มากสุดถึง 5 เจ้า!

     โดยก่อนจะมาเล่าเคล็ดลับให้ฟัง เฟื่องลดาได้พูดถึงความสำคัญของซัพพลายเออร์ พร้อมยกตัวอย่างการทำงานให้ฟังก่อน

     “ซัพพลายเออร์ คือ บุคคลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเราไปต่อได้หรือไม่ได้เลย เพราะ คือ ผู้ที่ถ่ายทอดไอเดียของเราออกมาเป็นสินค้าให้ออกสู่ตลาด เพราะบางครั้งดีไซน์สวยมาก แต่ผลิตออกมาคุณภาพไม่ดี ก็ไม่ได้ หรือของขายดีมากเลย แต่ผลิตไม่ทัน ไม่มีของขาย ก็ไม่ได้อีก นอกจากเรื่องเงินทุนแล้ว การจะทำธุรกิจขึ้นมาได้เราจึงมองว่ามาจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.ประสบการณ์ที่สั่งสมมา 2. ตัวเราเอง และ 3. ซัพพลายเออร์ เป็น 1 ใน 3 ส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเราเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

     “โดยเอกลักษณ์ของงาน Janfive ทุกชิ้น คือ เราจะใช้วิธีออกแบบภาพวาดขึ้นมาก่อนจากสิ่งที่เราสนใจ จากนั้นจึงนำมาต่อยอดพิมพ์ลงบนวัสดุต่างๆ เช่น ผ้า, แก้ว, จาน, ชาม โดยจุดเด่นของงานเรา คือ เราจะใช้สีฟ้าและครามเป็นหลัก โดยในแต่ละชิ้นงานที่ทำออกมา เราต้องดีลกับซัพพลายเออร์หลายเจ้า อย่างมากที่สุดที่เคยทำมา ก็คือ เทียนหอม เราใช้ซัพพลายเออร์มากถึง 5 เจ้าเลย เพราะรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เริ่มตั้งแต่ 1. คนทำหัวน้ำหอม พอหลังจากได้หัวน้ำหอมแล้ว เราก็ต้องไปดีลกับคนที่ 2. คือ คนทำแก้วใส่เทียน โดยออกแบบขึ้นมาใหม่เฉพาะแบรนด์ของเราเลย จากนั้นก็ต้องไปคนที่ 3. คือ คนพิมพ์ลวดลายบนแก้ว เสร็จแล้วพอทุกอย่างพร้อมก็มาถึงขั้นตอนที่ 4. คือ คนทำเทียน เพื่อนำหัวน้ำหอมที่ได้มาผสมรวมกับเทียน เพื่อบรรจุลงในขวดแก้ว ส่วนคนสุดท้ายที่ 5.ก็คือ คนทำกล่องใส่เทียน จึงจะได้เป็นสินค้าออกมาหนึ่งชิ้น”

     โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เธอได้ฝากคำแนะนำสำหรับเพื่อนผู้ประกอบการเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ไว้ดังนี้

  • เลือกคนที่เปิดใจคุยด้วยได้

     

     “การเลือกซัพพลายเออร์ไม่มีสูตรตายตัว หลายครั้งที่เราต้องทดลองหาไปเรื่อยๆ ซึ่งบางครั้ง 10 เจ้า เราอาจจะเจอแค่เจ้าเดียวก็ได้ ก็เหมือนกับเนื้อคู่ ซึ่งการทำงานจะออกมาดี ต้องอาศัยความเชื่อใจ ดังนั้นควรเลือกคนที่ยอมเปิดใจคุยกับเรามากที่สุด เพราะเราต้องทำงานด้วยกันไปอีกนาน”

  • รูปแบบต้องชัดเจน

     

     “เวลาไปคุยกับซัพพลายเออร์เราต้องสรุปจบกับตัวเองให้เรียบร้อยก่อนว่าเราต้องการทำออกมาในรูปแบบไหน ใช้วัสดุอะไรหรือประมาณไหน จำนวนประมาณเท่าไหร่ เพราะเวลาไปคุยกับซัพพลายเออร์ 1. เขาจะดูก่อนว่าทำได้ไหม 2. ต้นทุนสูงไปหรือเปล่า เขาจะตีราคามาให้ ซึ่งซัพพลายเออร์แต่ละเจ้าก็มีกติกาการทำงานไม่เหมือนกันอีก เช่น บางเจ้าอาจใช้เวลาผลิตเป็นสัปดาห์ หรือบางเจ้าอาจเป็นเดือน รวมถึงข้อจำกัดอื่นๆ เป็นต้น ดังนั้นเราต้องชัดเจนในตัวเองก่อน”

  • เผื่อเวลาไว้แต่เนิ่นๆ

     

     “ในการจะผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้น ไม่ใช่มีแค่ระยะเวลาในการผลิตเท่านั้น แต่ยังต้องมีเรื่องการหาวัตถุดิบ ซึ่งบางครั้งอาจมีปัญหาติดขัดขึ้นมาได้ เหมือนกับในช่วงโควิด-19 ที่กว่าจะนำวัตถุดิบเข้ามาจากต่างประเทศได้ ต้องใช้เวลานานมากกว่าปกติ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ทันการกับระยะเวลาที่เรากำหนดออกขาย ดังนั้นจึงควรเผื่อเวลาในการทำงานไว้ด้วย อย่างของแบรนด์ Janfive ในการคิดสินค้าออกมาแต่ละคอลเลคชั่น เราวางแผนล่วงหน้าเป็นปีๆ เลย ซึ่งการวางแผนดีไว้แต่เนิ่นๆ ก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว”

  • อย่าผลิตเยอะเกินไป

     

     “ด้วยความที่เป็นคนตัวเล็ก การจะผลิตสินค้าขึ้นมาแต่ละอย่างค่อนข้างต้องใช้เงินเยอะ และใช้ระยะเวลานาน ไปจนถึงขั้นตอนในการขายก็ต้องใช้เวลาอีก ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจที่จะผลิตอะไรควรคิดคำนวณให้ดีๆ ไม่ควรผลิตเยอะเกินไป ควรเลือกทำในแบบที่คิดว่าน่าจะขายได้ ออกได้เร็ว เพราะถึงแม้ผลิตจำนวนเยอะ ได้ต้นทุนถูกก็จริง แต่สุดท้ายถ้าต้องใช้เวลานานกว่าจะขายหมด มันก็คือ ต้นทุนที่จมไป อาจทำให้เกิดสภาพคล่องที่ไม่ดีนัก”

  • เวลา คือ ต้นทุนที่สำคัญที่สุด

     

     “ต้นทุนที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจ จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เงินลงทุน แต่ คือ เวลาที่ต้องเสียไป เพราะเมื่อใช้เวลาในการผลิตนานเกินไป นอกจากทำต้นทุนจมแล้ว ยังทำให้เสียโอกาสหลายๆ อย่างที่เข้ามา ตั้งแต่โอกาสในการขาย, การทำกำไร, การที่แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

  • อย่าเปลี่ยนซัพพลายเออร์บ่อยๆ

     

     “เพราะการเปลี่ยนซัพพลายเออร์จะทำให้งานเราเปลี่ยน ลูกค้าที่เป็นขาประจำเขาสามารถรู้ได้ เหตุผลอีกข้อ ก็คือ การเปลี่ยนบ่อยๆ ก็เหมือนต้องไปเริ่มสตาร์ทใหม่ เสียทั้งเวลา ทำไปแล้วก็ไม่รู้จะถูกใจอีกหรือเปล่า ฉะนั้นหากอยู่กับเจ้าไหนแล้วรู้สึกถูกใจแล้ว งานโอเค ต้นทุนโอเค มีเทคนิคฝีมือดี ก็ควรเก็บรักษาไว้ อย่าเปลี่ยนบ่อยๆ ”

3 กลยุทธ์มัดใจซัพพลายเออร์ให้อยู่ด้วยกันไปนานๆ

  • ทำให้มองเห็นภาพเดียวกัน

     

     การจะทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ให้ราบรื่นได้ ตั้งแต่แรก คือ เราต้องทำให้เขามองเห็นภาพเดียวกันก่อน ต้องทำให้เขาเข้าใจในลักษณะงานของเรา เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการ เปรียบเหมือนเราเป็นสมอง แต่เขา คือ แขน ขา ทำให้ชิ้นงานของเราสำเร็จออกมาได้อย่างที่ต้องการ

  • อย่ากดราคา

     

     ข้อต่อมาที่จะทำให้เราและซัพพลายเออร์ทำงานร่วมกันไปได้นานๆ ก็คือ การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ดังนั้นถึงแม้เราต้องการต้นทุนถูกที่สุด แต่ก็อย่ากดราคาเขาเกินไป ให้คิดไว้เสมอว่าเขาอยู่ได้ เราอยู่ได้

  • ทำให้มองเห็นอนาคต

     

     นอกจากต้องการงานปริมาณเยอะๆ เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนการผลิตของเขาแล้ว อีกสิ่งที่ซัพพลายเออร์ต้องการจากเจ้าของแบรนด์ ก็คือ งานระยะยาว มีความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ถึงแม้ช่วงแรกเราอาจผลิตจำนวนไม่เยอะ แต่ถ้าทำให้เขามองเห็นอนาคตร่วมกันได้ว่า แบรนด์เราเติบโตได้อย่างแน่นอน เราสามารถป้อนงานให้เขาได้ตลอด ก็ทำให้เขาตกลงใจที่จะทำธุรกิจร่วมกับเราได้ คอยซัพพอตและช่วยเหลือเราได้

Janfive Studio

https://web.facebook.com/janfivestudio

โทร. 091 979 9369

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย