TEXT : กองบรรณาธิการ
ถามว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์สำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างไร หลายคนคงนึกภาพไม่ออก
แต่ถ้าบอกว่า สามารถทำให้โรงงานผลิตยาสีฟันของญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตจากฟิลลิปปินส์มาตั้งโรงงานที่เมืองไทย เนื่องจากสามารถรองรับการพิมพ์เทคนิคการพิมพ์แบบพิเศษได้ จึงต้องการลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการสั่งกล่องจากเมืองไทย
นี่คืออานุภาพของการพิมพ์ ที่คนส่วนใหญ่อาจมองไม่เห็น
อุตสาหกรรมการพิมพ์ Sunset จริงหรือหลอก SME Thailand Online ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมการพิมพ์ไทย ที่มั่นใจว่าวงการการพิมพ์ไทยยังมีอนาคตสดใส และพร้อมจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Print Pack HUB ในภูมิภาคเอเซีย
ธุรกิจพระรอง แต่ดีมานต์ไม่เป็นรอง
ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมการพิมพ์เติบโตมากว่า 70 ปี แต่ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมการพิมพ์บทบาทที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คงมีภาพของธุรกิจสิ่งพิมพ์เท่านั้น พงศ์ธีระ จึงเปรียบอุตสาหกรรมการพิมพ์ว่าเหมือนกับพระรอง ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน Supporting Industry ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอีกหลากหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ยา เครื่องสำอาง และถ้ามองภาพรวมแล้วปีนี้คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์จะโตได้ 1.8% หรือมูลค่าขยับขึ้น 300,000 ล้านบาท
พงศ์ธีระ ขยายความว่าการที่ธุรกิจการพิมพ์เติบโตส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจการพิมพ์ก็เติบโตควบคู่ไปกับบรรจุภัณฑ์ด้วย นอกจากนี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนความต้องการบรรจุภัณฑ์ การพิมพ์ เติบโตมากขึ้น คาดว่า การพิมพ์ จะขยายตัวที่อัตราการเติบโตต่อปีที่ 26.1% จากปี 2565 ถึง 2573
“มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจบริการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ก่อนหน้า”
ปี 2566 การพิมพ์จะเติบโตไปพร้อมบรรจุภัณฑ์
ถึงแม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะถูกแทนที่ด้วยสื่อออนไลน์ และทำให้ภาคอุตสาหกรรมการพิมพ์ได้รับผลกระทบ แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์เป็นอย่างมาก ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์รวมทั้งบรรจุภัณฑ์เติบโตขึ้นมาก
อย่างไรก็ดีแนวโน้มประเภทของการพิมพ์ที่จะมีการเติบโตต่อไปได้ในปีหน้า พงศ์ธีระย้ำว่า จะเป็นการพิมพ์ที่โตไปพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะ กล่องกระดาษลูกฟูก บรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป Flexible Packaging (พลาสติกอ่อนตัว) เช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ฉลากสินค้าต่างๆ
นายกสมาคมการพิมพ์ไทยเตือนว่าอยากให้ผู้ประกอบการต้องระวังในเรื่องของ อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTB) เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของยุโรป โดยมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว อาทิ หากส่งน้ำผลไม้กระป๋องไปขายยุโรป ต้องเป็นหลอดกระดาษห้ามใช้หลอดพลาสติก ในส่วนของการพิมพ์เอง ถ้าเป็นอาหารก็ควรใช้หมึกที่เป็น food grade เป็นต้น
ไทยมีนิคมฯ การพิมพ์ เป็นโมเดลแรกของโลก
แม้จะมีเรื่อง NTB แต่พงศ์ธีระ เชื่อว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ เนื่องจากมีนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์สินสาคร ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมกลุ่มผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำไว้กว่า 200 ราย เพื่อให้เกิดระบบ utilize ทำงานได้เร็วขึ้น
“ตอนนี้ทางสมาคมฯ กำลังดูนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ทำแผงโซลาร์ที่ออสเตรเลียใช้หมึกพลากสติก เป็นหมึกเหนี่ยวนำไฟฟ้าสามารถรับแสงโซลาร์แล้วแปลงให้เป็นไฟฟ้าได้ รวมทั้งผลักดัน บีโอไอ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี สำหรับผู้ประกอบการที่ยกระดับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ สอดรับแนว BCG ช่วยรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ มีระบบตรวจติดตามสภาวะผลิตภัณฑ์ เป็นต้น) ไทยเป็น Print Pack HUB ในภูมิภาคเอเซียต่อไป
“ขณะนี้เอเซียถือเป็นตลาดที่บรรจุภัณฑ์เติบโตสุด ถ้าเราสามารถผลักดันผู้ประกอบการรายใหญ่ออกไปทำตลาดรอบบ้านได้ ก็จะเหลือตลาดในประเทศให้รายเล็ก” นายกสมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี