5 แนวคิด CEO ธุรกิจยักษ์  Transformation องค์กรอย่างไรให้ยั่งยืน

 

     ทุกคนรู้ว่าธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้อง Transformation ให้ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป แต่จะต้องทำแบบไหน อย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ

     วันนี้เรามีแนวคิดจาก 5 CEO ระดับประเทศ ที่ได้มาแชร์สูตรลับผ่าน งานเสวนา Transformation Starts at the Top! จัดโดย SEAC โดยหนึ่งในใจความสำคัญของ Transformation ไม่ใช่เพียงการปรับโครงสร้างการเงินและการบริหาร แต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนคนให้มีศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น โดยไม่ลืมคำนึงถึงความสุขในการทำงานด้วยเช่นกัน

5 เทคนิคจาก 5 CEO

“ดูแลคนทำดีให้สาสม ดูแลคนขัดขวางให้สาหัส”

     ข้อคิดน่าสนใจจากผู้บริหารท่านแรก ดร. ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มรพ. สมิติเวช และรพ. บีเอ็นเอช กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เล่าถึงวิธีจัดการทรัพยากรคนในช่วงการ Transformation โดยคุณหมอได้กล่าวว่า “การรักษาสมดุลของทรัพยากรคนเป็นเรื่องที่สำคัญ ในวันที่โรงพยาบาลสมิติเวชได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 เราต้องหาวิธีที่จะรักษาสภาพคล่องขององค์กร และปรับเปลี่ยนองค์กรผ่านทีม Transformation เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน บนหลักแนวคิด 4 ป้อง 1 ฉวย ดังนี้

     1. ป้องคน – คือการเข้าใจว่าบุคลากรทุกคนคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ผู้บริหารต้องเต็มที่ในการดูแลทุกคนให้ปลอดภัยในสภาวะโรคระบาด และต้องเป็นที่พึ่งเมื่อพวกเขาป่วยขึ้นมาได้ด้วย

     2. ป้องครัว – ครัวในที่นี้ หมายถึง ครอบครัว ซึ่งก็ครอบคลุมความเป็นไปของทั้งโรงพยาบาล เช่น ในวันที่รายได้ลดลงเราก็ต้องหาทางตัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากกว่าเพื่อความรอบคอบในการรักษาครอบครัวเอาไว้

     3. ป้องเงิน - เลือกที่จะตัดรายจ่ายและการดูแลคนที่ไม่จำเป็นออก เพื่อนำเงินส่วนที่เหลือมาใช้รักษาสิ่งสำคัญ

     4. ป้องงาน - ต้องดูว่างานอะไรที่สามารถตัดหรือแต่งเติมเพื่อให้เกิดคุณค่ามากขึ้นได้

     และอีก 1 ฉวย หมายถึง การเปลี่ยนงาน เงิน และทรัพย์สินให้เป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อฉวยโอกาสที่ดีเข้าสู่องค์กรให้ได้มากที่สุด

     พร้อมกันนี้ ยังเผยเทคนิคการบริหารคนด้วยไม้แข็งกับแนวคิด “ดูแลคนทำดีให้สาสม ดูแลคนขัดขวางให้สาหัส”

     และท้ายสุด ยังเผยสูตรลับการบริหารแบบ No Vision ที่อาศัยการสร้างคุณค่า (Value) และปรับตัวเท่าทันปัจจุบันและอนาคต (Agility) สำหรับเป็นทิศทางในการทำธุรกิจบนโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้รับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้อย่างทันท่วงที”

“เรียนรู้สิ่งใหม่  (Unlearn – Learn – Relearn)”

     การปรับโครงสร้างบริหาร เปลี่ยนผู้นำ ควบรวมองค์กร เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในวงการธุรกิจ มักมาพร้อมกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว ในโอกาสนี้เราก็ได้รับฟังประสบการณ์ที่น่าสนใจจาก ธนพล   ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของประเทศไทย กล่าวว่า

     “ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ของกลุ่ม มีการควบรวมธุรกิจ ทำให้เกิดการรวมอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 3 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม บนแพลตฟอร์มเดียวกัน สร้างความแข็งแกร่งและช่วยกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งความท้าทายครั้งใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้คนในองค์กรซึ่งมาจากต่างที่ ต่างวัฒนธรรม ยอมรับซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันได้  สร้างการปรับเปลี่ยนทัศนคติ สื่อสาร สร้างความเข้าใจให้พนักงานยอมรับ ปรับตัวกับนโยบายของบริษัท ต้องรู้จักปล่อยวางสิ่งเก่า และ “เรียนรู้สิ่งใหม่ (Unlearn – Learn – Relearn)” ”

     นอกจากนั้น คุณธนพล ยังได้จัดตั้งทีม ‘People Passion’ ไว้สำรวจทุกข์สุขพนักงาน สร้างความสัมพันธ์กับพนักงาน

     และสุดท้ายสูตรลับของการ Transformation คือการทำความเข้าใจธรรมชาติคน เปลี่ยนบทบาทตนเองเป็นผู้บริหารที่เข้าถึงได้ รับฟัง และรู้จักการปล่อยวาง ถอดหัวโขน ลดความอยากที่จะเป็นที่หนึ่งหรือความโดดเด่น มาเป็นผู้ที่เชื่อมโยงและประสานประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

“การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร”

     เพราะ Transformation ไม่ใช่การเปลี่ยนความคิดผู้บริหารเพียงลำพัง แต่ยังรวมถึงการทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจว่าจะ Transform ไปในทิศทางไหนโดยเริ่มจากผู้บริหารสูงสุดขององค์กรสู่พนักงาน รณชัย กองบุญมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด ผู้นำด้านการผลิตสิ่งพิมพ์ป้องกันการปลอมแปลงขั้นสูง ได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร”

     โดยเริ่มจากการเปลี่ยน Mindset ทั้งตนเอง ผู้บริหารและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ให้มีทัศนคติของการเป็นเจ้าของกิจการและมีวิธีคิดเพื่อช่วยให้องค์กรอยู่รอดได้ พร้อมฝ่าฟันกับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นผ่านทีมงาน ที่มีความสามารถในหลากหลายด้าน พร้อมเรียนรู้ทักษะความรู้ใหม่ๆ เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่องค์กร โดยมีการวางตำแหน่งคนเพื่อขับเคลื่อนในจุดต่างๆ และที่สำคัญต้องรู้จักรักษาสมดุลระหว่างครอบครัว ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและธุรกิจ โดยการสร้างเป้าหมายเดียวกัน

     สูตรลับคือใช้ความเข้าใจ มองหาคุณค่าและความสนใจของแต่ละคน วางคนตามตำแหน่งที่เหมาะสม สร้างให้เกิด Passion ที่เกิดพลังและลงมือทำด้วยกัน”

“สร้างสมดุลการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพ”

     โควิด-19 ทำให้ธุรกิจ On-Event ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากมาตรการล็อกดาวน์ ปนิษฐา บุรี กรรมการผู้จัดการศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค สถานที่จัดงานอีเวนต์ชั้นนำของประเทศและในเอเชีย-แปซิฟิก ได้เผยถึงช่วงเวลาที่พาองค์กรและครอบครัวผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าว โดยทำให้บุคลากรทุกฝ่ายมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ว่า “การผ่านล็อกดาวน์ถึงสองครั้งทำให้ศูนย์ฯ ไบเทคได้รับผลกระทบเชิงลบกว่า 50% เนื่องจากต้องปิดศูนย์เป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปี เราต้องหาทางแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการใช้ตัวเลข สถิติ ข้อมูลต่างๆ มาช่วยวิเคราะห์หาว่าอะไรไปต่อได้ อะไรต้องหยุด ผู้บริหารต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก่อน และทำงานให้เร็ว

     สูตรลับในการปรับโครงสร้างให้สำเร็จคือ การเปิดเผยข้อมูลจริงให้พนักงานรู้  ยอมรับสถานการณ์เดียวกัน ทดลองทางแก้ปัญหาต่างๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม “เพื่อสร้างสมดุลการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพ”

“เลือกคนที่ทำเพื่อองค์กร ไม่ใช่เอาใจนาย”

     คนเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์กร ในขณะเดียวกันการเลือกคนไม่ตรงกับความต้องการ หรือมีทัศนคติการทำงานที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรเป็นก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอิตัลไทย เจ้าของกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายทั้งด้านการโรงแรม ธุรกิจเครื่องจักรกล ธุรกิจก่อสร้างครบวงจร ฯลฯ เผยเคล็ดลับการพัฒนาคนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพว่า “Transformation ครอบคลุมทั้งเรื่องของนโยบายและการบริหารคน การ “เลือกคนทำงานคือต้องเป็นคนที่ทำงานเพื่อองค์กร ไม่ใช่เพื่อเอาใจเจ้านาย”

     อีกทั้งยังต้องการพนักงานที่เป็นที่มีแนวคิดของการเป็นนักสู้เพื่อให้สามารถพาบริษัทรอดพ้นจากสถานการณ์ได้ด้วย ในส่วนของการบริหาร เรานำแผนธุรกิจมาทบทวนใหม่ หาทางลดค่าใช้จ่ายให้คุ้มค่าที่สุด พร้อมทั้งสร้างแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ โดยทุกการเปลี่ยนแปลงและแผนรับมือต้องสามารถประเมินผลออกมาในเชิงตัวเลขได้ ต้องรู้จักคิดบวกและเป็นผู้บริหารที่มองการณ์ไกล

     สูตรลับสุดท้ายคือต้องรู้ว่าตนถนัดอะไร มี Passion ด้านไหน ผู้บริหารต้องรู้จักสร้างเป้าหมายร่วมกันในองค์กรผ่านความสำเร็จระยะสั้น (Quick Win) อย่างอิตัลไทย เราให้พนักงานได้เฉลิมฉลองความสำเร็จเล็กน้อยเพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคน”

     ปิดท้ายด้วย อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง SEAC ได้สรุปใจความไว้ว่า “Transformation ไม่มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตายตัว การปรับโครงสร้างองค์กรและธุรกิจนั้น นับรวมตั้งแต่การบริหารเงิน บริหารหลักการทำธุรกิจ ไปจนถึงการบริหารคนซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรคือส่วนสำคัญอย่างแรกที่จะทำให้ Transformation ลุล่วงไปด้วยดี ตามมาด้วยการพัฒนาความเป็นอยู่และทัศนคติที่มีร่วมกันของคนในองค์กร เพื่อศักยภาพการทำงานที่ก้าวหน้า SEAC คาดหวังว่าการบรรยายพูดคุยในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรม ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และปรับปรุงบุคลากรของตนให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตระดับองค์กรต่อไปในอนาคต”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย