10 ข้อคิดการทำธุรกิจ Startup จาก Upstarts หนังแนวสตาร์ทอัพเรื่องแรกของบอลลีวู้ด

TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์

 

     อัพสตาร์ท ทะยานสู่ฝัน (Upstarts) เป็นหนังอินเดียเรื่องแรกที่นำเสนอเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เข้าฉายทางสตีมมิ่ง  Netflix ในปีนี้ หนังเรื่องนี้ฉายครั้งแรกในช่วงเวลาใกล้ๆ กับที่โลกรู้จักโควิด-19 ตอนนั้นธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังมาแรง ความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวอินเดียที่เพิ่งจบวิศวกรคอมพิวเตอร์ในเวลานั้นคือการคิดไอเดียเจ๋งๆ ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ อย่างกลุ่มเพื่อนรักสามคน คาปิล วินัย และยาช จากหนัง Upstarts ที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน ต่างคนต่างทำงานไปคนละด้าน ขณะที่ยังคงมีความฝันอยากก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ และใช้เวลาว่างสุมหัว ดื่มเหล้า คิดไอเดียเจ๋งๆ ร่วมกัน

     หนังเรื่องนี้นำเสนอภาพของการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในอินเดียให้เห็นชัดเจน และนี่คือ 10 ข้อที่สรุปออกมาจากเรื่องราวของสามหนุ่มและหนึ่งหญิงสาว Upstart ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพในหนังเรื่องนี้

1. ไอเดียธุรกิจมักเริ่มต้นจากการหาวิธีแก้ปัญหา

     ทุกคนอยากเปลี่ยนโลกในแบบของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น คาปิลฝันว่าอยากทำสิ่งที่มีความหมายและทำเงินด้วย เขาเป็นอาสาสมัครออกไปตามหมู่บ้านทุกวันเสาร์ เขาพบคนป่วย ที่ยาเพียงเข็มเดียวก็จะช่วยชีวิตได้ แต่ทั้งหมู่บ้านไม่มียาเหลืออยู่เลย และยาจากในเมืองจะมาส่งสองสัปดาห์ครั้ง เขาโทรขอความช่วยเหลือจากเพื่อนรัก กว่าเพื่อนจะซื้อยามาส่งให้ก็ช้าไปเสียแล้ว การเห็นคนตายไปต่อหน้าต่อตาทำให้คาปิลสะเทือนใจมาก ทำไมในประเทศอินเดียที่ถึงพร้อมด้วยเครือข่ายโทรศัพท์ กลับไม่มียาที่ช่วยชีวิตคนในชนบท สามหนุ่มสุมหัวระดมสมองหาวิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ในที่สุดก็เกิดไอเดียสร้างแอปพลิเคชั่น ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สื่อกลางสำหรับการขนส่งยา ยาชเขียนโค้ดทำแอปต้นแบบทดลอง ระบุยาที่ต้องการ จุดรับยา จุดส่งยา    

2. แอปที่พัฒนาขึ้น ต้องใช้งานง่าย ไม่ชวนสับสน

     คาปิลกับยาชทุ่มเงินเก็บลงทุนพัฒนาแอป carrykaro ขึ้นมาจนใช้งานได้ แต่เมื่อเอาไปแนะนำในหมู่บ้าน ชาวบ้านกลับเดินหนีไปหมด คาปิลไม่ยอมแพ้ เดินเข้าไปทีละบ้าน แนะนำแอปและวิธีการสั่งยาจากในเมืองให้มาส่งถึงประตูบ้าน เพื่อนำมารักษาคนป่วย ทว่าแม้แต่คนที่สนใจอยากรู้ พอฟังเขาอธิบายวิธีใช้ ก็ยังส่ายหน้าไม่เข้าใจ เขาสรุปได้ว่าแอปใช้งานยากเกินไป ยาชบอกว่าลูกค้าต่างหากที่โง่ใช้งานไม่เป็น วินัยนั่งมองเพื่อนๆ แล้วทนไม่ได้ เข้าไปขอดูโค้ดเทมเพลต ช่วยปรับหน้าตาแอปให้ดูเรียบง่าย วันรุ่งขึ้นก็มีคำสั่งยาเข้ามา และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

3. ศึกษาให้รอบคอบทุกด้านเกี่ยวกับธุรกิจที่ลงทุน และตกลงกันให้ชัดเจนก่อนเสนอขอทุน

     คาปิลลาออกจากงานเพื่อทำตามความฝัน เดินหน้าโปรโมทแอป carrykaro เต็มตัว จำนวนคนสั่งยาเพิ่มเป็นหลักร้อยต่อวัน ในที่สุดก็ถึงขีดจำกัดที่เซิร์ฟเวอร์รับได้ แต่พวกเขาไม่มีเงินทุนไปต่อ จึงเข้าประกวดชิงเงินทุนสตาร์ทอัพฝันพันล้าน 2017 ซึ่งนอกจากมีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะก็ยังเป็นโอกาสที่จะได้นักลงทุนมาร่วมสนับสนุน  

     ในงานนี้ จายา เพื่อนสาวร่วมรุ่นของสามหนุ่มก็มาเสนอโปรเจกต์สายด่วนช่วยคนที่คิดฆ่าตัวตาย พร้อมแอปปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตรวจจับอารมณ์ผู้ใช้ หากประเมินว่ากำลังมีภาวะซึมเศร้าก็จะแจ้งต่อญาติและหมออย่างเงียบๆ แม้กรรมการจะเห็นว่าไอเดียน่าสนใจ แต่ก็ไม่ผ่านด่านทัศนคติที่ว่าผู้หญิงต้องแต่งงาน มีครอบครัว

     เมื่อสามหนุ่มขึ้นเวทีนำเสนอโปรเจกต์ carrykaro กรรมการเห็นว่าไอเดียน่าสนใจ อัตราการเติบโตก็น่าประทับใจ แต่เมื่อยิงคำถามว่า ถ้ายาที่ส่งผ่านแอปเป็นยาปลอม แล้วมีคนตาย ญาติจะฟ้องได้ไหม พวกเขาตอบไม่ได้ และเมื่อถูกถามต่อถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับยา ก็ยิ่งไปต่อไม่ถูก แถมแต่ละคนยังตอบไม่ตรงกันในเรื่องการขยายขอบเขตของธุรกิจ

     หลังจากกลับมาประชุมแบ่งหน้าที่ชัดเจนว่าใครจะดูแลเรื่องไหน คาปิลควบคุมเรื่องธุรกิจและการเงิน วินัยรับหน้าที่ดูแลปฏิบัติการทั่วไป และยาชรับผิดชอบเรื่องเทคโนโลยี พวกเขาระดมสมองเตรียมลุยเวทีประกวดสตาร์ทอัพต่อไป และพบกับคำถามใหม่ ว่าสามารถเขียนโค้ด ให้ชาวบ้านส่งสินค้าเข้าเมืองได้หรือไม่ คาปิลตอบว่าหมายถึงการพลิกกลับรูปแบบธุรกิจ “เราไม่ทำ” หลังจากปิดประตูโอกาสเสียเอง พวกเขาก็กลับมาจมอยู่กับความสิ้นหวัง แล้วเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น

4. การงานที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย

     ลูกค้าคนหนึ่งที่ใช้บริการ CarryKaro โทรมาขอบคุณที่พวกเขามาช่วยจุดประกายความหวังในการรักษาลูกชายที่นอนป่วยมาสองเดือน คำขอบคุณจากลูกค้าทำให้สามหนุ่มมีกำลังใจอีกครั้ง แต่ก็ยังคงหาผู้ลงทุนไม่ได้ ทำให้แอปต้องปิดชั่วคราว สถานะสั่งซื้อเป็นศูนย์ คาปิลกลับไปหาเจ้านายเก่าและได้รับข้อเสนอให้ไปทำงานที่อเมริกา อีกสองสามปีค่อยกลับมาลองใหม่อีกตั้ง

     ระหว่างที่รอขึ้นเครื่องไปเจนไนเพื่อทำวีซ่า คาปิลได้พบชายหนุ่มที่เพิ่งกลับจากอเมริกา จึงบอกว่าเขากำลังจะไปอเมริกา และเล่าถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องปิดตัวไป พร้อมหยิบโทรศัพท์มาเปิดแอปให้ดู ชายหนุ่มบอกว่าเป็นไอเดียที่เจ๋งมาก ทั้งคู่แนะนำชื่อก่อนแยกย้ายกันไป คาปิลเสิร์ชชื่อ เวียร์ ดิวัน พบว่าเขาคือลูกชายของราชาบุหรี่อินเดีย จึงรีบวิ่งตามไปเสนอการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ

     เวียร์ถามกลับว่า รู้ใช่ไหมธุรกิจสตาร์ทอัพ 9 ใน 10 ของเจ๊งไม่เป็นท่า คาปิลบอกว่า แต่ธุรกิจที่สำเร็จก็เติบโตติดจรวด บริษัทของพวกเขานี่แหละ เวียร์ตัดสินใจลงทุน 25 ล้านรูปี แลกกับหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ สามหนุ่มถือหุ้นคนละ 25 เปอร์เซ็นต์ บริษัทของพวกเขาจะมีมูลค่าจดทะเบียน 100 ล้านรูปี ตัวเลขนี้คาดการณ์จากลูกค้า 1 ล้านคน ทำรายได้จากผู้ใช้คนละ 100 รูปี พวกเขาฉลองแด่ธุรกิจสตาร์ทอัพ carrykaro.com อย่างมีความสุข  

     เวียร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสตาร์ทอัพซึ่งให้ความรู้สึกต่างไปจากการเป็นทายาทราชาบุหรี่ ธุรกิจของพ่อแพร่มะเร็ง ส่วนธุรกิจของเขาคือส่งยาไปรักษาคน เขามุ่งไปที่การประชาสัมพันธ์ หานักลงทุนมาเพิ่มมูลค่าธุรกิจ

     carrykaro ได้ติดหนึ่งใน 20 อันดับสตาร์ทอัพอินเดียหน้าใหม่

5. ปัญหาคือโอกาส และการทำงานควรจะสนุก ช่วยเปลี่ยนโลกให้

     เวียร์พาคาปิลไปเมืองเจนไน นัดเจรจากับบริษัทร่วมลงทุนใหญ่ ระหว่างนั้นเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบห้าปี carrykaro เกิดปัญหาจากคำสั่งซื้อที่กระหน่ำเข้ามาจนแอปรับไม่ไหว สถานการณ์ในพื้นที่ย่ำแย่จนไม่มีใครยอมไปส่งของ คาปิลบอกเพื่อนว่า นี่เป็นโอกาสไม่ใช่ปัญหา และรับปากว่าเขาจะเป็นคนไปส่งเอง แต่เวียร์ต้องการให้เขาเตรียมนำเสนอบริษัทร่วมทุน อย่างน้อยก็จะมีเงินลงทุน 600 ล้าน และซีอีโอควรจัดการเรื่องนักลงทุน ไม่ใช่เป็นคนส่งของ

     วินัยกับยาชขับรถฝ่าพายุฝนนำเวชภัณฑ์ไปส่งในพื้นที่ประสบอุทกภัย ได้เห็นภาพความทุกข์ยาก ความโศกเศร้า สูญเสีย ของผู้คน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คาปิลคิดไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพนี้ ขณะที่คาปิลอยู่ในห้องพักโรงแรมที่เจนไน เตรียมนำเสนอแผนให้กับนักลงทุนรายใหญ่ เพื่อขยายธุรกิจ ทว่าในใจลึกๆ เขารู้สึกผิดและไม่มีความสุข

     เช้าอีกวัน สื่อออกข่าวผู้บริหาร carrykaro เวียร์กับคาปิลให้สัมภาษณ์ว่า “เราเป็นบริษัทเดียวที่ยังรับส่งยาในพื้นที่น้ำท่วม เวลานี้สิ่งสำคัญไม่ใช่กำไร แต่เป็นผู้คน น้ำท่วม เชื้อโรคแพร่ระบาด เราควรสนใจตรงนี้ ทีมงานเรากำลังจัดส่งยา”

6. การปกปิดตัวเลขให้ดูดีในสายตานักลงทุน อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

     ยาชกับวินัยที่เพิ่งกลับมาจากพื้นที่ ต้องเตรียมนำเสนอกับนักลงทุนรายใหญ่ผ่านการประชุมทางไกลร่วมกับเวียร์และคาปิล ในแผนนำเสนอ คาปิลจงใจปกปิดตัวเลข 14 หมู่บ้านที่ขาดทุนไม่ให้นักลงทุนรู้ ตามคำแนะนำของเวียร์ วินัยกับยาชไม่เห็นด้วย คาปิลทำเหมือนกับว่าลูกค้าของพวกเขาคือนักลงทุน ไม่ใช่ชาวบ้านที่สั่งยา อันที่จริงตอนนี้บริษัทมีมูลค่ามากกว่าที่พวกเขาคิดไว้ในตอนเริ่มต้น วินัยบอกเพื่อนว่า การทำงานควรจะสนุก ช่วยเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น สร้างความเปลี่ยนแปลง และได้ทำสิ่งดี ถ้าไม่ได้นักลงทุนรายนี้ก็ช่างเถอะ ได้ไม่คุ้มเสีย แต่คาปิลยืนยันว่าเรื่องนี้คุ้มแน่ เพราะเม็ดเงินลงทุนจะเข้ามามากมาย ยาชบอกเพื่อนให้คิดทบทวนให้ดี ถ้าตัดสินใจปกปิดตัวเลข หลอกลวงนักลงทุน พวกเขาจะลาออก  

     ในการนำเสนอ ฝ่ายนักลงทุนมองว่าธุรกิจนี้เหมือนท่อส่งน้ำขาเดียว และใช้ส่งแค่ยารักษา วินัยช่วยนำเสนอต่อ แอปของพวกเขาสามารถทำงานสองทางได้ และเคยทดลองส่งเหล้าจากหมู่บ้านสู่เมืองได้ผลจริงมาแล้ว ที่ผ่านมาเราทุ่มแค่ยาอย่างเดียว ยังมุ่งไปที่สินค้าอื่นๆ ได้อีก นักลงทุนเริ่มเห็นว่าน่าสนใจ แต่เมื่อถามถึงตัวเลขว่าส่งของไปกี่หมู่บ้าน คำตอบของคาปิลทำให้วินัยกับยาชตัดสินใจเงียบๆ หลังประชุมคาปิลโทรหาเพื่อนทั้งสองด้วยความยินดี นักลงทุนประทับใจ เขาเพิ่งเซ็นสัญญาไป แต่เพื่อนทั้งสองตัดสินใจลาออก  

7. ผู้ก่อตั้งธุรกิจ คิดค้นทุกอย่าง ควรเป็นผู้นำเสนอธุรกิจของตัวเอง

     หนึ่งปีต่อมา carrykaro.com กลายเป็นสตาร์ทอัพขนส่งอันดับหนึ่งของอินเดีย คาปิลกับเวียร์บินไปฮ่องกงนำเสนอธุรกิจกับ ซอฟท์เซนต์ เวนเจอร์ แคปปิตอล บริษัทร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เวียร์ทำหน้าที่นำเสนอมูลค่าธุรกิจ อัตราการเติบโต ทว่าผู้บริหารซอฟท์เซนต์กลับตัดบทว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเอกสารแล้ว สิ่งที่อยากรู้คือ “มันคืออะไรและทำไม” เวียร์พยายามอธิบาย "บริการของเราคือขนส่ง ส่วนเหตุผลก็คือกำไรงามๆ จากเงินที่ลงทุน" ฝ่ายซอฟท์เซนต์หันมาถามคาปิล "คุณเป็นผู้ก่อตั้ง ผู้คิดค้นทุกอย่าง ทำไมให้เขาพูดแทน ฉันอยากฟังจากปากของคุณ มันคืออะไร และทำไม"

     "มีคนตาย ชายแก่ แกตายในอ้อมแขนผม ยาเพียงเข็มเดียวสามารถช่วยชีวิตเขา ง่ายๆ แค่นั้น ผมไม่เคยเห็นคนตายมาก่อน ผมเคยเป็นอาสาสมัครเอ็นจีโอ ผมตระหนักว่ามีคนจำนวนมากอาศัยในที่ที่ยาเข้าถึงลำบาก”

     คาปิลกลายเป็นดาวเด่นในวงการสตาร์ทอัพ ในฐานะผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทสตาร์ทอัพจากบังคาลอร์  carrykaro.com ซึ่งเริ่มต้นมาจากยา แล้วขยายไปรวมทุกอย่าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และอาจจะเป็นเสื้อผ้า และกำลังจะได้เงินลงทุน 6,000 ล้านจากบริษัทระดับโลกอย่างซอฟต์เซนต์

8. นักลงทุนให้เงิน เงินดึงดูดลูกค้า ลูกค้าทำให้บริษัทโต มีมูลค่าเพิ่ม แปลว่ามูลค่าเพิ่มขึ้นจากมีนักลงทุนใหม่ๆ แต่การเติบโตแบบฟองสบู่ต้องแตกสักวัน

     จายามาขอคำแนะนำจากคาปิล เธอร้องขอเงินจากนักลงทุนจนเหนื่อย คาปิลอธิบาย สิ่งที่นักลงทุนต้องการคือผลตอบแทนที่ดี แต่ลงทุนกับอะไรก็ได้ ทำไมต้องเป็นสตาร์ทอัพ เพราะสตาร์ทอัพความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนสูงตาม สตาร์ทอัพส่วนใหญ่เจ๊ง แต่ที่โตก็เหมือนติดจรวด ดังนั้นต้องขายว่าธุรกิจจะโตติดจรวด จายา   

     "เธอต้องทำให้ได้ ทำไมบริษัทแท็กซี่แจกโค้ดโปรโมต ทำไมบริษัทช้อปปิ้งออนไลน์จัดเทศกาลลดราคา ทุกวันนี้บริษัทเรายังขาดทุนนะ" จายาแปลกใจที่สตาร์ทอัพระดับพันล้านยังขาดทุน คาปิลอธิบายต่อ

     "ขายหุ้นให้นักลงทุน รับเงินพวกเขา ใช้เงินเหล่านี้ดึงดูดลูกค้า อาจต้องขาดทุน แต่บริษัทเราจะโต พอเราโตมูลค่าก็เพิ่มขึ้น พอมูลค่าบริษัทเพิ่ม จงหานักลงทุนใหม่ ขายหุ้นราคาแพงขึ้นให้พวกเขา นักลงทุนรุ่นแรกจะได้กำไร พวกเขาจะมีความสุข เรามีเงินลงทุนในบริษัทเพิ่มขึ้น เราก็จะมีความสุข เป็นวัฏจักร นักลงทุนให้เงิน เงินดึงดูดลูกค้า ลูกค้าทำให้บริษัทโต โตแปลว่ามูลค่าเพิ่ม มูลค่าเพิ่มคือนักลงทุนใหม่ เข้าใจไหม"

     จายาบอกคาปิลว่า "นี่มันฟองสบู่ มันต้องแตกสักวัน"

9. มูลค่าหุ้นยังนำมาใช้ไม่ได้ในทันที

     ยาชต้องการขายหุ้น CarryKaro เพื่อนำเงินมาลงทุนในสตาร์ทอัพ แต่ได้รู้ว่าสัญญาตอนเริ่มก่อตั้งบริษัทระบุไว้ต้องรออีกสามปี เขาจึงขอกู้ยืมส่วนบุคคลจำนวนหนึ่งร้อยล้าน คาปิลปฏิเสธบอกว่าเขาไม่มีเงินขนาดนั้น แม้ภาพลักษณ์ภายนอกจะเป็น “หนุ่มโสดพันล้าน” แต่นั่นเป็นตัวเลขตามเอกสาร เขาเองก็ขายหุ้นไม่ได้ และตอนนี้ยังเป็นพนักงานกินเงินเดือนในบริษัท 

10. ถึงเราจะพยายามตะโกนว่า "โตๆๆ" แค่ไหน แต่การเติบโตก็มีขีดจำกัดของมัน

     สตาร์ทอัพอินเดียคนแรกๆ ที่ในที่สุดก็ถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง กล่าวถึงอุตสาหกรรมนี้ว่า "ถึงจะตะโกนว่า "โตๆๆ" แค่ไหน การเติบโตก็มีขีดจำกัดของมัน "

     ข่าวกองทุนนิวยอร์กลดมูลค่าหุ้นของแอปอีคอมเมิร์ชฟลิปชิป ข่าวนโยบายภาษีใหม่ของอินเดีย ทำให้นักลงทุนถอนตัวจากตลาดสตาร์ทอัพอินเดีย มีบริษัทสตาร์ทอัพปิดตัวเพราะทุนร่อยหรอ หลายบริษัทกระเสือกกระสนหาเงินลงทุน เม็ดเงินทั่วโลกหดหาย เมื่ออัตราดอกเบี้ยในอเมริกาสูงขึ้น หุ้นแนสแด็กร่วง carrykaro.com ก็ไม่พ้นจากผลกระทบครั้งนี้ ซอฟท์เซนต์ที่ตกลงว่าจะลงทุน 6,000 ล้าน ต่อรองว่าจะจ่ายแค่ครึ่งเดียวในจำนวนหุ้นเท่าเดิม

     เกิดวิกฤตในแวดวงสตาร์ทอัพ มีการลอยแพพนักงานหลายร้อยคน พนักงานของ carrykaro ก็เริ่มมีความกังวล เวียร์จัดการเรื่องนี้ด้วยการจัดงานเลี้ยงฉลองให้พนักงาน สร้างภาพให้เห็นว่าทุกอย่างยังปกติดี แม้มูลค่าหุ้นยังไม่ตก แต่ก็หานักลงทุนรายใหม่ๆ ไม่ได้ ขณะที่ยอดสั่งซื้อต่อวันลดลง เพราะมีแอปเลียนแบบ deliverkaro.com มาแย่งลูกค้าไป คาปิลวิเคราะห์ว่าบริษัทใหม่นี้จะอยู่ได้ไม่ถึง 6 เดือน แต่เวียร์ต้องการจบปัญหาด้วยการเข้าซื้อกิจการ และยังต้องการปิดแผนกเอ็นจีโอที่ยังขาดทุน คาปิลมองว่าแผนกเอ็นจีโอคือหัวใจของบริษัท ในที่สุดเขาก็ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัทที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ด้วยเรื่องปกปิดตัวเลขหมู่บ้านที่ขาดทุน

     ยาชตัดสินใจไปสัมภาษณ์งานที่วินัยแนะนำให้ และได้รู้ว่าทักษะที่เคยมีล้าสมัยไปแล้ว ต้องไปเริ่มต้นฝึกอบรมร่วมกับเด็กจบใหม่ เขาเดินออกจากบริษัทอย่างสิ้นหวัง ขึ้นลิฟต์ไปชั้นดาดฟ้า แต่ก่อนที่จะตัดสินใจกระโดดตึก คนที่เขาโทรหาไม่ใช่เพื่อนรักทั้งสอง แต่เป็นจายาที่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อช่วยคนที่คิดฆ่าตัวตาย บริษัทเล็กๆ แห่งนี้ได้ช่วยชีวิตคนที่คิดฆ่าตัวตายไว้ 778 คนแล้ว คนสุดท้ายก็คือยาชนั่นเอง 

     คาปิลกลับไปพบเวียร์และคณะกรรมการ ลาออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง และนำแผนกเอ็นจีโอที่จะถูกยุบไปด้วย เขาจับมือกับยาชเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง วินัยมาแสดงความยินดีกับเพื่อนรักในวันเปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กและห้องตรวจสุขภาพแห่งที่ 1,000 ซึ่งยาชมีไอเดียต่อยอดจากแผนกเอ็นจีโอ “ทำไมพามาแค่ยา พาหมอมาด้วยสิ” เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดศูนย์ตรวจสุขภาพที่มีแพทย์อาสามาร่วมงาน ยาชกลายเป็นซีทีโอของศูนย์พัฒนาทักษะท้องถิ่น ฝึกคนท้องถิ่นรุ่นใหม่ให้เขียนโค้ด

     เพื่อนรักสามคนได้กลับมาดื่มด้วยกันอีกครั้ง

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย