สูตรรอดของ Tara Leather แบรนด์ไทยกับการฝ่าวิกฤติ กู้ชีพธุรกิจครอบครัวสู่ทศวรรษที่ 5

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด

 

     “อาชีพทำกระเป๋า ต้องเป็นอาชีพสุดท้ายเท่านั้น” ปณิธานของ สิทธิเดช ถนิตฤทธิพร หนึ่งในสามพี่น้องเจ้าของ Tara Leather หนึ่งในธุรกิจเครื่องหนังเอ็กโซติกกว่า 4 ทศวรรษ ที่ผ่านช่วงวิกฤติต่างๆ มาได้ ภายใต้ความเจ็บปวดเขาค้นพบบทเรียนสำคัญเป็นโอกาสให้ธุรกิจของครอบครัวอยู่รอดต่อไปได้

จากผลิตไม่พอขาย ตลาดหายไม่รู้ตัว

     หลายธุรกิจที่อิงตลาดนักท่องเที่ยวเป็นหลักปิดตัวลงในรอบสามปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บางธุรกิจยังอยู่รอด แต่ต้องอาศัยการปรับตัวอย่างยากลำบาก Tara Leather คือ หนึ่งในธุรกิจเครื่องหนังเอ็กโซติคที่ยังยืนหยัดผ่านช่วงวิกฤติมาได้ ในความเจ็บปวด เขาค้นพบบทเรียนที่เป็นโอกาสให้ธุรกิจอยู่ต่อ

     “อาชีพทำกระเป๋า ต้องเป็นอาชีพสุดท้ายเท่านั้น” สิทธิเดช ถนิตฤทธิพร หนึ่งในสามพี่น้องเจ้าของ Tara Leather  บอกผมว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการสืบสานธุรกิจกระเป่าหนังปลากระเบนตามปณิธานพ่อ

     “ดั้งเดิมพ่อเป็นคนนครสวรรค์ ย้ายมาทำงานช่างกระเป๋าปลากระเบนส่งบริษัทส่งออกที่สมุทรปราการ เท่าที่จำความได้ เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน งานช่างหนังต้องใช้ฝีมือมาก เริ่มจากต้องเจียหนังปลากระเบนหนาแข็งให้บางก่อนเย็บ ช่างที่ชำนาญในยุคนั้นจึงนับคนได้ ตลาดมีความต้องการสูงมาก ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ“ สิทธิเดชเล่าต่อถึงความเฟื่องฟูในยุคก่อนฟองสบู่แตก ปี 2540

     จนเพื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง (ฟองสบู่แตก) สินค้าส่งออกลำบาก เริ่มไม่มีงาน ต้องหาทางรอดด้วย

     ตระเวนขายตามตลาดเปิดท้าย ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้รางวัลเป็น สินค้า OTOP สี่ดาว นับเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพอีกขั้นและได้โอกาสในการออกตลาด OTOP ตามที่ต่างๆ จึงทำให้เห็นช่องทางตลาดเพิ่มมากขึ้น และนั่นคือการตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่ทำให้ครอบครัวปักหลักอยู่ภูเก็ต เพราะค้นพบว่าตลาดของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

     “สินค้าของเราจากเดิมแค่กระเป๋าจากหนังปลากระเบน ได้ขยายถึงผลิตภัณฑ์หนังจระเข้ด้วย ซึ่งเสน่ห์ของเครื่องหนังเอ็กโซติคเหล่านี้ อยู่ที่ลวดลายเฉพาะที่มีแค่อันเดียว โดยเฉพาะหนังปลากระเบนจะมีมุกด้วย ชิ้นละเม็ด ความพิเศษนี้ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของการเป็นสินค้าที่ระลึก ประกอบกับคุณภาพงานผลิตมีมาตรฐานสากลเทียบเท่าแบรนด์ต่างประเทศ แต่ราคาไม่แพงเท่า”

บทเรียนสำคัญการทำธุรกิจ

     สิทธิเดช อธิบายต่อว่า แม้ว่าตนเองไม่ใช่คนภูเก็ตโดยกำเนิด แต่ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีมานี้ รู้สึกรักและผูกพันกับภูเก็ต ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีมลพิษอย่างกรุงเทพมหานคร จึงเกิดแนวคิดถึงการเป็นแบรนด์เครื่องหนังเอ็กโซติคของภูเก็ต เริ่มมีการออกแบบให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น เสริมความเชื่อในเรื่องความเป็นสิริมงคล จากช่องลมของสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส มาใส่่เป็นลวดลายของกระเป๋าเงิน และกำลังจะพัฒนาผลิตถัณฑ์อื่นๆ ออกมาอีกในอนาคต

     จากรุ่นพ่อที่เน้นการผลิตส่งบริษัทส่งออก ลดขนาดเป็นแค่ธุรกิจครอบครัวในยุคฟองสบู่แตก เมื่อมาถึงรุ่นลูกที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น จนกลายเป็นร้านเล็กๆ ในบิ๊กซีภูเก็ต แล้วขยับขยายเป็นร้านในห้างจังชีลอนและเซ้นทรัลในปัจจุบัน

(สิทธิเดช และพี่สาว ภัทธิรา ถนิตฤทธิพร)

     “บทเรียนที่เราได้จากช่วงโควิด 19 คือ การไม่มีภูมิคุ้มกัน เน้นตลาดหลักแค่นักท่องเที่ยว ไม่ได้มองลู่ทางสำรองไว้ จนต้องปิดสาขาต่างๆ เกือบสิบแห่งที่เกาะสมุย เหลือไว้แค่เซ้นทรัลและจังชีลอนภูเก็ต ในวิกฤติเรายังเห็นโอกาส ให้ได้นั่งทบทวน วางแผนใหม่ รวบรวมสินค้าจากสาขาที่ปิด มาจัดโปรโมชั่น สร้างความคุ้นเคยกับแบรนด์ในตลาดคนไทย จนได้ผลน่าพอใจและสามารถประคองตัวผ่านมาได้  อย่างหนึ่งที่ช่วยให้เรารอดจากวิกฤติเศรษฐกิจสองครั้งหนักๆ คือ การยิึดมั่นในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ค่อยๆ ขยับขยาย พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความกะทัดรัดของขนาดธุรกิจที่เกิดจากการช่วยเหลือกันของสามพี่น้อง เลยอยู่รอดมาได้จนถึงวันนี้”

     “เมื่อก่อนถ้าทำธุรกิจ เราคิดแค่เรื่องของผลกำไร แต่เมื่อเติบโตมา เราคิดได้ว่าถึงเวลาต้องสร้างคุณค่าให้สังคมเป็นการตอบแทนบ้าง จึงได้รวมกลุ่มกันกับเจ้าของธุรกิจรายอื่นๆ แบ่งรายได้จาการขาย ทำโครงการ  ตัดชุดนักเรียนบริจาคให้โรงเรียนที่ขาดงบประมาณ มีการติดตาม ดำเนินการต่อในเรื่องการช่วยเหลือให้โรงเรียนสามารถพึ่งตัวเองได้ในที่สุด”

     ขณะที่พูดคุยกัน ครั้งหนึ่งสิทธิโชค ชูแผลเป็นบนนิ้ววัยเด็ก ตอนที่ช่วยพ่อกรีดหนังปลากระเบน เขาบอกว่า รู้สึกรักและผูกพันกับธุรกิจนี้ ได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องการได้มาของวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ อย่างหนังปลากระเบนและหนังจระเข้ และยังนึกขอบคุณคำพ่อประกาศว่า อาชีพนี้จะเป็นอาชีพสุดท้ายที่ทำ จนทำให้ลูกๆ มี Tara Leather ในทุกวันนี้

Tara Leather

https:// ww.facebook.com/profile.php?id=100027200602536

โทร. 084 249 4539

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย