TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ในอดีตที่ผ่านมา คาเฟ่เป็นแหล่งรวมของนักเขียนจนบางคาเฟ่กลายเป็นตำนาน เช่น La Closerie des Lilas ในกรุงปารีส ฝรั่งเศสที่ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักเขียนชาวอเมริกันชื่อดังเคยนั่งอ่านต้นฉบับเรื่อง “The Great Gatsby” ให้เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ เพื่อนนักเขียนอีกคนฟัง หรือคาเฟ่ Literary Cafe ในเซนต์ปีเตอร์เบิร์กที่มีลูกค้าประจำเป็นนักเขียนอย่าง ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี และอะเลคซันดร์ พุชกิน และเจ. เค. โรว์ลิ่ง นักเขียนเจ้าของผลงานแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่มียอดขายกว่า 500 ล้านเล่มก็เป็นอีกคนที่ไปสถิตตามคาเฟ่ต่าง ๆ ในลอนดอน เช่น The Elephant House, Spoon Café Bistro และ Traverse Theatre Café เพื่อประพันธ์งาน
ร้านคาเฟ่จึงเป็นสถานที่โปรดของหนอนหนังสือและบรรดานักเขียนที่ชมชอบบรรยากาศของการดื่มด่ำกับตัวอักษรตรงหน้าพร้อมกับจิบกาแฟไปด้วย ปัจจุบัน ได้มีธุรกิจที่เรียกว่าบุ๊กคาเฟ่หรือร้านกาแฟที่ผนวกร้านหนังสือเข้าด้วยกัน แม้ไม่ใช่ธุรกิจแปลกใหม่แถมยังมีมานานแล้ว แต่ก็ถือเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจโดยเฉพาะที่เกาหลีใต้เมื่อร้านหนังสือเริ่มล้มหายตายจาก แต่สิ่งที่ผุดขึ้นมาแทนกลับเป็นบุ๊กคาเฟ่ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและการรับมือของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ต่างๆ
ที่ย่านฮงแดในกรุงโซลซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยฮงอิก ก่อนหน้านั้นเป็นย่านที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ มากระจุกอยู่ แต่ภายหลังสำนักพิมพ์จำนวนมากย้ายออกไปยัง Paju Book City- เมืองหนังสือพาจูอันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งอยู่ติดกับชายแดนเกาหลีเหนือ ในจังหวัดคยองกีตามนโยบายของรัฐบาล ฮงแดจึงกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่มีคาเฟ่ให้บริการชุกชุม ทั้งคาเฟ่สัตว์เลี้ยง คาเฟ่ที่มีหมอดูบริการ คาเฟ่ที่จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์วินเทจ และคาเฟ่ผนวกแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ
และอีกประเภทของคาเฟ่ที่ผุดขึ้นมากมายเห็นจะเป็นบุ๊กคาเฟ่ซึ่งจำลองร้านหนังสือหรือห้องสมุดมาไว้ในร้านกาแฟ ร้านประเภทนี้ดึงดูดหนอนหนังสือและลูกค้าที่ชอบบรรยากาศห้องสมุดได้เป็นอย่างดี บางร้านอนุญาตให้เลือกหนังหนังสือมาอ่านฟรี หลายร้านจำหน่านหนังสือควบคู่ไปด้วย
จาง ยู อึน เจ้าของร้านบุ๊กคาเฟ่ชื่อ Cafe Comma ฮงแดแสดงทัศนะว่าก่อนหน้านั้น ผู้คนใช้บริการคาเฟ่เป็นบางครั้งบางคราวหรือในวาระพิเศษเท่านั้น แต่ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะเข้าคาเฟ่ทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ อาจเป็นเพราะครอบครัวมีขนาดเล็กลง ที่อยู่อาศัยก็มีพื้นที่จำกัดไปด้วย ผู้คนเลยมองหาพื้นที่ที่สามารถไปเตรดเตร่หรือหย่อนใจ คาเฟ่จึงเป็นเหมือน third place ที่ผู้คนชอบใช้เวลานอกเหนือจากที่บ้าน และที่ทำงาน
จางซึ่งเคยทำงานที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเป็นผู้ประกอบการยุคแรก ๆ ที่บุกเบิกร้านคาเฟ่ควบร้านหนังสือ Cafe Comma เปิดบริการเมื่อปี 2011 จุดเริ่มต้นมาจากการเห็นหนังสือที่ขายไม่หมดแล้วถูกส่งคืนกลับยังสำนักพิมพ์ แล้วทางสำนักพิมพ์ไม่รู้จะจัดการอย่างไรก็วางกองไว้เฉย ๆ ทั้งที่หนังสือยังอยู่ในสภาพดี
จางจึงลงทุนเปิดคาเฟ่และตกแต่งร้านด้วยชั้นหนังสือตั้งแต่พื้นจดเพดาน แล้วนำหนังสือที่ส่งคืนสำนักพิมพ์มาจัดเรียงจนเต็มชั้น มีบันไดให้ลูกค้าได้ปีนสำรวจหนังสือที่อยู่บนชั้นสูง ๆ ลูกค้าสามารถหยิบหนังสือมาอ่าน มาพูดคุยกับลูกค้าคอเดียวกันได้ หรือหากสนใจครอบครอง หนังสือทุกเล่มใน Cafe Comma ซึ่งเป็นหนังสือใหม่ ทางร้านจำหน่ายครึ่งราคาจากราคาปก
ไม่เพียงคนรักหนังสือที่ลงทุนทำบุ๊กคาเฟ่ สำนักพิมพ์เองก็ผันมาทำธุรกิจนี้เช่นกัน อย่างชางบี พับลิชเชอร์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่รายหนึ่งก็เปิด “คาเฟ่ชางบี” และนำหนังสือในเครือสำนักพิมพ์มาวางจำหน่ายไปด้วย นอกจากนั้น ทางคาเฟ่ยังจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่นงานสัมมนาที่เชิญนักเขียน นักวิชาการมาเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ ส่งผลให้คาเฟ่ชางบีกลายเป็นคาเฟ่ฮอตฮิตของนักเขียน และปัญญาชน แม้กระทั่งนักการเมืองก็ยังใช้เป็นสถานที่พบปะกัน
เจียง จี ยอน ผู้จัดการร้านกล่าวว่าคาเฟ่ชางบีเป็นมากกว่าคาเฟ่ ร้านหนังสือ หรือห้องสมุด บรรณาธิการของสำนักพิมพ์ของชางบีก็เปลี่ยนบรรยากาศมานั่งทำงาน หรือนัดประชุมในคาเฟ่ คนที่มาใช้บริการจึงมีทั้งนักเขียน และลูกค้าที่เป็นนักอ่าน แม้หนังสือขายทางออนไลน์ได้ จะอย่างไรก็ยังเป็นสินค้าที่ต้องการพื้นที่ในการแสดง ให้ลูกค้าได้จับต้องและทดลองอ่าน
ส่วนที่ Rabbit’s Wisdom เป็นคาเฟ่อีกแห่งที่ตั้งอยู่ในย่านฮงแด บรรยากาศของร้านเรียกว่าเหมือนห้องสมุดดี ๆ เพราะเป็นคาเฟ่ที่มีจุดขายคือความเงียบและกลิ่นไอของความเป็นสถาบันวิชาการ หนังสือที่โชว์ในร้านมีหลากหลายหมวดหมู่ รวมถึงหนังสือใหม่ที่เพิ่งมาจากแท่นพิมพ์ ชอย วอน ซุก เจ้าของร้านเล่าว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักเขียน นักแปล นักวาดภาพประกอบจึงชอบบรรยากาศที่ไม่อึกทึกไม่รบกวนสมาธิและการทำงาน
ขณะที่บุ๊กคาเฟ่อีกแห่งชื่อ Between Pages กลับดึงดูดลูกค้าสายแฟชั่นเนื่องจากเป็นคาเฟ่ที่ก่อตั้งโดยสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์นิตยสารหัวนอก ได้แก่ Harper’s Bazaar, Esquire และ Motor Trend ลูกค้าสามารถเข้ามาอ่านนิตยสารฉบับเก่า หรือจะซื้อฉบับใหม่ติดไม้ติดมือกลับบ้านก็ได้ นอกจากนั้น ทางคาเฟ่ยังเปิดเวิร์กช้อปให้ความรู้เกี่ยวกับแฟชั่นและความงาม เช่น การแต่งตัว วิธีแต่งหน้า หรือทำผมอีกด้วย ฮอง วอน จุน ผู้บริหารสำนักพิมพ์เปิดเผยจุดประสงค์ของการเปิดคาเฟ่ก็เพื่อขายแมกกาซีนเพราะร้านหนังสือปิดไปเยอะเลยไม่ค่อยมีที่วางหนังสือ
เจ้าของร้านคาเฟ่หลายเสียงพูดตรงกันว่าหนังสือเป็น public goods หรือสินค้าที่ผู้บริโภคหลายคน บริโภคร่วมกันได้ และบริโภคในปริมาณที่เท่าเทียมกันทุกคน เป็นการบริโภคร่วมกัน และไม่มีการแก่งแย่งกันในการบริโภค การหายไปของร้านหนังสือจึงส่งผลกระทบต่อสำนักพิมพ์ อย่างไรก็ตาม การได้พลิกหน้ากระดาษอ่านหนังสือจากเล่มเป็นอะไรที่แตกต่างโดยที่การอ่านจากหน้าจอไม่อาจเทียบเคียงได้ เชื่อว่ายังมีผู้คนอีกมากที่ชอบอ่านหนังสือเป็นเล่ม และบุ๊กคาเฟ่น่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้
ที่มา : https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20130125000784
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี