เที่ยวเมืองเก่าเล่าอดีต ครบวาระ 255 ปี การกอบกู้กรุงศรีฯ อยุธยาไม่เคยสิ้น รากเราไม่เคยสูญ

TEXT : วิชชุ ชาญณรงค์

PHOTO : อรุโณทัย

 

     อยุธยาอดีตราชธานีอันรุ่งโรจน์ รากลึกแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเคลื่อนย้าย หลายคนปฏิเสธท่องเที่ยวเมืองเก่าเพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ซากอิฐหินปรักหักพัง แต่เมื่อประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเพียงการรบราฆ่าฟัน โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดเก่าแก่ ซึ่งยังคงขรึมขลังทรงคุณค่า รูปธรรมที่สะท้อนความมั่งคั่งร่ำรวยและสุนทรียะอันล้ำเลิศ ขณะเดียวกันก็สะท้อนปรัชญาการใช้ชีวิตอันละเอียดอ่อนในชุมชนพหุวัฒนธรรม อยุธยาจึงเต็มไปด้วยลมหายใจที่ยังมีชีวิต ยังคงน่าเรียนรู้ สัมผัสมิเสื่อมคลาย

     นักท่องเที่ยวฝรั่งมังค่าผู้รักเรื่องราวประวัติศาสตร์ บางคนถึงขั้นเอ่ยว่าคนไทยโชคดีหลังจากได้เข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมที่จับต้องได้เฝ้ามองความหลากหลายของผู้คน ซึ่งอยู่ร่วมกันมีทั้งโบสถ์คริสต์ วัด มัสยิด และศาลเจ้า วัดเก่าโบราณมากกว่าร้อยแห่งในพื้นที่รอบเกาะกรุงเก่าเสมือนสื่อสะท้อน ศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนาที่บรรจงวาดไว้ในพุทธศาสนสถาน ผนวกกับประติมากรรมอยุธยาตอนปลาย เสน่ห์ที่ผสมผสานการสืบทอดทางวัฒนธรรมจากรากอารยธรรมดั้งเดิมในภูมิภาค ผสานรับเอารสนิยมจากภายนอกมาปรับใช้เกิดเป็นรูปแบบศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์กระทั่งยังส่งต่อมายังปัจจุบัน

     ความมีเสน่ห์ของเมืองเก่าแห่งนี้จึงยังเป็นที่หมายปองสำหรับผู้หลงใหลรากอันเก่าก่อน หากใครติดตามข้อมูลข่าวสารคงทราบดีว่า เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2560) คือ ปีที่ครบวาระ 250 ปี การกอบกู้กรุงศรีอยุธยา และการสถาปนากรุงธนบุรี 2 ยุคสมัยแห่งการสร้างสรรค์รอยเชื่อมต่อแห่งความงดงาม มีนิทรรศการ และเสวนาหลายเวทีหยิบยกเมืองมรดกโลกแห่งนี้มาเล่าในมุมต่างๆ เพราะยังมีผู้คนมากมายให้ความสนใจ ประเด็นแห่งการฟื้นฟูรากให้กลับมาแข็งแรงดั่งเดิมและต่อยอดประยุกต์ให้ร่วมกับสมัย โดยเฉพาะเรื่องราวของชาวบ้าน ความเป็นอยู่ การค้า และสภาพสังคม นอกเหนือไปจากเรื่องสงคราม

     “เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานึกถึงแง่มุมทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็แปลกอยู่เหมือนกันที่อยู่ดีๆ เราก็จะนึกถึงอยุธยาในฐานะของสงครามบ้างล่ะ ยุทธหัตถีบ้างล่ะ ประหลาดดีนะครับที่ทำไมภาพจำของอยุธยา ที่คนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงในแง่มุมของประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องของการเสียกรุงครั้งที่ 2”

     อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระกล่าวในสารคดีเรื่อง “อยุธยาที่ไม่รู้จัก” ตอน “อยุธยาที่หายไป”

     ความรู้เหล่านี้จึงเป็นพรมแดนของอยุธยาที่คนอีกไม่น้อยยังไม่ค่อยจะรู้จักกัน เช่นเดียวกับเรื่องของการค้าที่ส่วนใหญ่พูดกันแค่ว่า “อยุธยาถือเป็นเมืองท่าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ว่า คนเป็นตัวแทนการค้าให้กับทางอยุธยาล้วนเป็น “คนนอก” ซึ่งคนไทยเรียกว่า “แขก” และ “เจ๊ก” เพราะคนไทยท้องถิ่นจริงๆ เดินเรือทะเลไม่เป็นจึงต้องให้ “เจ๊ก” เป็นกรมท่าซ้ายช่วยเจรจาค้าขายกับฝ่ายจีน และให้ “แขก” เป็นกรมท่าขวาทำการค้ากับกลุ่มชนชาติที่อยู่ถัดไปจากฝั่งทะเลอันดามัน

     หรือเรื่องราวของคนนอกศาสนา (ไม่ใช่พุทธ) เราก็ไม่ค่อยจะพูดถึงกันสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้ต่างมีบทบาทที่สำคัญในสังคมอยุธยาเช่นกัน เช่น เรื่องของบาทหลวง หรือคนเข้ารีตและเรื่องราวเหล่านี้ ก็มักจะมีการจดบันทึกเป็นอย่างดี (ตามประสาฝรั่ง) แต่เรากลับไม่รู้กันเลยว่า ลูกครึ่งอยุธยารายหนึ่งเคยไปเรียนต่อเมืองนอกถึงนครวาติกันและได้ดิบได้ดีจนเกือบจะได้เป็นพระคาร์ดินัล แต่ด้วยความอยากกลับบ้าน นักเรียนนอกท่านนี้จึงปฏิเสธและเดินทางกลับมาตายที่บ้านเกิด

     การไปเที่ยวอยุธยาจึงมีมุมน่าสนใจมากกว่าแค่ไปซื้อโรตีสายไหมหรือไปกินกุ้งแม่น้ำเผาตัวโตๆ เช่นเดียวกับสถานที่และเรื่องราว Hidden Gems อีกหลายแห่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงทั้งในเรื่องราวของวัดวาอาราม คีตกรรมและนาฏกรรม ลองซอกแซกไปตามถนนอู่ทองเลียบรอบเกาะเมือง เลาะไปตามถนนสายเล็ก มุ่งไปยังคลองสระบัวไกลห่างจากย่านวัดเก่าเดิมๆ ที่เคยไปแวะชมตรงใต้ร่มไม้ใหญ่คุณจะพบอาณาขอบเขตของวัดตะไกรตั้งอยู่นอกเกาะเมืองภายในเขตพุทธาวาส มีเจดีย์แปดเหลี่ยม ล้อมรอบกำแพงแก้ว มีอุโบสถ วิหาร พระปรางค์ และเจดีย์ราย

     ว่ากันว่าวัดแห่งนี้ปรากฏชื่อในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผนตามเรื่องเล่าในเสภาซึ่งได้เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตามตำนานระบุว่า วัดแห่งนี้นี่เองที่ขุนช้างบวชให้นางพิม บริเวณหน้าวัดมีสระน้ำถึง 2 บ่อ แถมยังมีต้นตะเคียนเก่าแก่ ซึ่งน่าจะมีเพียงที่นี่ที่เดียวในอยุธยา ไม่ไกลกันเลาะไปทางตลาดคลองสระบัว ท้องทุ่งกว้างมีคลองขนาดกลาง ล้อมรอบเป็นที่ตั้งของวัดพระยาแมนเป็นวัดประจำรัชกาลของพระเพทราชา ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่นี่มีอุโบสถใหญ่ตั้งตระหง่านผนังมีการเจาะช่องเพื่อตั้งเชิงเทียน ทางโบราณคดียังชี้ด้วยว่าอุโบสถหลังนี้มีการสร้างทับซ้อนกันถึง 3 สมัย

     นอกจากนี้ งานหัตถศิลป์สานปลาตะเพียนก็น่าแวะชม อีกอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่า ความประณีตละเอียดอ่อนของงานสะท้อนผ่านความหวานของรูปร่าง ลวดลายบนตัวปลา และความสมดุลของการประกอบเป็นรูปเป็นร่างงานประดิษฐ์สืบทอดกันมานานนับกว่าร้อยปีที่อยู่คู่ชาวอยุธยา รวมถึงบ้านทำโขน หรือ พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น (เกริก ยุ้นพันธ์) มีของเก่าโบราณมากมายให้ได้ยลน่าสนใจไม่น้อยในแง่ท่องเที่ยวเรียนรู้

     ออกไปไกลนอกเมืองหน่อยนั่งกระเช้าข้ามฟากไปชมความงดงามของวัดนิเวศธรรมประวัตินอกเกาะด้านใต้ วัดนี้มีความแปลกสวยงามตามพระราชประสงค์ขององค์รัชกาลที่ 5 โปรดให้ถ่ายแบบ วัดคริสตศาสนาศิลปะแบบโกธิกมาสร้างเป็นพระอุโบสถ ความสวยงามเร้นซ่อนอยู่ตรงเหนือประตู อีกทั้งยังคงความวิจิตรบรรจงไว้อีกหลายส่วน ขณะที่ใครจะเอาฤกษ์เอาชัยไหว้พระวัดดังอย่างวัดพนัญเชิง วัดใหญ่ชัยมงคล วัดมหาธาตุ หรือวัดท่าการ้องที่มีตลาดน้ำเต็มไปด้วยขนมไทยหากินยาก แถมยังได้แวะสักการะพระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อยิ้มเติมบุญกันให้อิ่ม เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตรับปีใหม่อีกด้วย 

     น่าเสียดายหากความงดงามเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาของชาติที่เราเองยังรู้สึกเบื่อ ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งล้วนทรงคุณค่าและสมควรได้รับการสืบทอด เริ่มต้นปีด้วยการเดินทางแบบเรียบง่าย มีสติ ชีวิตที่ดีงามคืออะไร? ขอให้ได้รับคำตอบที่สมปรารถนา...โชคดีและสวัสดีปีใหม่

Information

     ขอแนะนำเส้นทางที่สามารถขี่จักรยานได้ประมาณ 9 เส้นทาง สอบถามรายละเอียดเส้นทางเพิ่มเติมได้ที่สำนักงาน ททท.พระนครศรีอยุธยา โทร. 0-3524-6076-7, สำนักงานตำรวจท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา (บางวันมีตำรวจอาสาท่องเที่ยวนำปั่น) และสามารถหาเช่าจักรยานได้ที่บริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟ บริเวณตลาดเจ้าพรหมและตามเกสต์เฮาส์ต่างๆ ได้ในอัตราคันละประมาณ 30-70 บาทต่อวัน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย