TEXT : Neung Cch.
PHOTO : สายลม นัยยะกุล
“อย่าขายกาแฟไทยด้วยความคิดที่ว่าช่วยให้เกษตรกรไม่ยากจน ไม่ควรเอาความสงสารมาเป็นจุดขาย กาแฟไทยต้องขายด้วยคุณภาพถึงจะโตแบบยั่งยืน”
นี่คือ หนึ่งในวิสัยทัศน์ของ นุ่น-ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ ที่ได้รับคะแนนเสียงโหวตอย่างท่วมท้นให้มารับตำแหน่งนายกหญิงคนแรกแห่งสมาคมกาแฟพิเศษไทย พร้อมกับภารกิจที่เธอหมายมั่นปั้นมือไว้ว่าในวาระของเธอนั้นต้องการจะทำให้กาแฟพิเศษไทยไม่ใช่แค่เติบโตขึ้นเท่านั้นแต่จะต้องเติบโตแบบยั่งยืนและสง่างาม
คำว่า “ทำไม” จุดเริ่มต้นของทุกอย่าง
ใครจะคิดว่าเบื้องหลังของการก้าวมารับตำแหน่งนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทยของหญิงสาววัย 33 ปีคนนี้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากคำว่า “ทำไม”
แม้ว่าเธอจะชอบดื่มกาแฟตั้งแต่สมัยเด็กๆ ที่มีแม่ทำหน้าที่บาริสต้าคอยชงกาแฟสำเร็จรูปให้ดื่ม แต่เหตุผลที่ชอบดื่มกาแฟในตอนนั้นเพียงแค่รู้สึกว่าการได้ดื่มกาแฟนั้นทำให้เธอดูเป็นผู้ใหญ่
ต่อมาเมื่อเธอได้มีโอกาสได้ลองดื่มกาแฟยี่ห้ออื่นนอกบ้านแล้วปรากฏกว่ารสชาติต่างจากที่เคยดื่มทุกวัน ทำให้เธอเริ่มเกิดคำถาม ว่าทำไมมันถึงต่างกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ ณัฏฐ์รดา เริ่มสนใจกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นที่ไหนเปิดสอนกาแฟเธอไปลงเรียนทั้งหมดไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ
“ไม่ได้คิดจะเปิดร้านกาแฟ ตอนนั้นเป็นแค่ผู้บริโภคคนหนึ่งอยากจะรู้ลึกเรื่องกาแฟ”
ความรู้ด้านกาแฟจากศูนย์ก็ค่อยๆ สะสมจนในช่วงวัย 23-24 ปีที่เธอกำลังจะตัดสินใจลาออกจากงานเพราะรู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่อยากคือทำงานในบริษัทต่างชาติที่มาพร้อมกับรายได้ที่ดี แต่นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้วเธออยากหางานที่มีคุณค่าให้กับตัวเองอีกด้วย
“มีโอกาสได้ไปไร่กาแฟพี่วัล ไปคลุกคลีกับชาวบ้าน รู้จักกับการเก็บกาแฟ ยิ่งชอบ รู้สึกว่ากาแฟตอนดีที่สุดคือตอนเป็นต้นไม้ ทุกอย่างคือแค่การรักษาคุณภาพเดิมให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคกินแล้วรู้สึกว่าพิเศษมาจากต้นทาง การไปครั้งนี้เหมือนจุดประกายไฟในการทำงานจนกระทั่งได้ไปคลุกคลีอยู่พี่ๆ ที่ทำงานในสมาคมกาแฟมากขึ้น ได้เป็นอาสาช่วยงาน จนกระทั่งมารับตำแหน่งนายกฯ”
ภารกิจพัฒนากาแฟพิเศษไทยให้ยั่งยืน
ยิ่งได้สัมผัสในวงการกาแฟพิเศษ และเสริมความรู้ทางด้านกาแฟ ที่มีตำแหน่งด้านกาแฟการันตีความสามารถมากมาย อาทิ Q Arabica Grader, COE Sensory Evaluation Training และ Thai Specialty Coffee Awards Sensory Judge 2020 – 2022 แต่เมื่อมารับตำแหน่งนายกฯ เธอมองความว่าความรู้เหล่านี้อาจไม่พอ จึงลงทุนไปเรียนมาร์เก็ตติ้งเพิ่มเพื่อหวังมาโปรโมทกาแฟพิเศษไทยที่มีคุณภาพดีอยู่แล้วให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น
“อย่าขายกาแฟไทยด้วยความคิดที่ว่าช่วยให้เกษตรกรไม่ยากจน อย่าขายความสงสาร กาแฟไทยต้องขายด้วยคุณภาพ ถ้าเกษตรกรทำกาแฟได้ดีมีคุณภาพเขาได้ผลตอบแทนแน่นอน การที่เกษตรกรมีวิถีชีวิตดีขึ้นเป็นผลพลอยได้ ถ้าจะให้วงกากาแฟยั่งยืนต้องโฟกัสที่คุณภาพเท่านั้น เราจะไม่อาศัยมาร์เก็ตติ้งแบบฉาบฉวย”
จากโจทย์ด้านบนสิ่งที่ทางสมาคมฯ ต้องทำคือจะทำอย่างไรให้สามารถรักษาคุณภาพกาแฟให้ได้ดี และปริมาณที่มากพอได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ โดยณัฏฐ์รดา ได้วางแนวทางในการพัฒนาสมาคมฯ ไว้สามประเด็นหลักดังนี้
1. การ reform ภายในสมาคมฯ ให้เข้มแข็งทำงานให้เป็นระบบ
2. สานต่อเจตนารมณ์จากผู้ก่อตั้งที่จะพัฒนากาแฟพิเศษไทย ให้เกษตรกรรายเล็ก รายใหญ่ สามารถทำกาแฟพิศษที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น มีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น และสิ่งที่เธอจะเพิ่มคือต้องสามารถทำซ้ำได้ คือให้มีกาแฟคุณพาพสม่ำเสมอออกมาในปริมาณที่มากพอเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
3. ทำให้อุตสาหกรรมมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง
“กาแฟพิเศษค่อนข้างโตเร็วด้วยซ้ำ แม้ช่วงโควิดก็ยังโตๆ ซึ่งการเติบโตของกาแฟมันไม่เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่โตตามสถานการณ์ เช่น แอลกอฮฮล์ กาแฟพิเศษมันโตไปในทิศทางที่ดีและเร็ว แต่ต้องระวังเรื่องข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันมีสถาบันที่สอนกาแฟเกิดขึ้นมากมายแล้วก็มีหลายคนที่ได้ไปเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้ระวังก่อนที่จะแชร์ข้อมูลออกไป เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ และขาดความเชื่อมั่นในวงการกาแฟพิเศษ”
ผ่านไปกว่า 300 กว่าวันในบทบาทของนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย เธอบอกว่าไม่ได้หนักใจอะไร เพราะกาแฟพิเศไทยก็มีคุณภาพดีอยู่แล้ว เพียงแต่ทางสมาคมฯ ก็ต้องช่วยผลักดันนำกาแฟเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้คนรู้จักมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“งาน Thai Specialty Coffee Awards ที่ผ่านมาก็มีผู้ส่งประกวดกาแฟเยอะขึ้น มีผลลัพธ์ที่ออกมาดี เกษตรกรทำกาแฟได้ดี ราคาสูงมาก 33,500 กิโลกรัม แพงกว่าเอธิโอเปียอีก เป็นสถิติสูงที่สุดที่เคยมีมาทั้งในแง่จำนวนคนส่งประกวดและราคา หรืองาน Thailand coffee fest 2022 ก็มีคนมางานแตะหลักแสน งานก็ดูเป็นนานาชาติขึ้น และปีหน้าถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปบุกงานกาแฟที่อเมริกา”
อนาคตวงการกาแฟพิเศษ
“ปัจจุบันต่อให้เราไม่ชงกาแฟกินเองที่บ้าน อย่างน้อยทุกคนต้องมีคนรู้จักสักหนึ่งคนที่มีเครื่องชงทำกาแฟกินเองที่บ้าน” ประโยคที่ ณัฏฐ์รดา สะท้อนให้เห็นภาพว่าวงการธุรกิจกาแฟพิเศษของไทยที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเพราะกาแฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยไปแล้ว
“มันจะโตไปเรื่อยๆ มีอินโนเวชั่นใหม่ๆ ทั้งในแง่ของการผลิต การชง แม้กระทั่งการบริโภค มีของที่แปลกมากขึ้น โควิดที่ผ่านมาทำให้คนชงกาแฟกินเองที่บ้านมีความอยากทำกาแฟดื่มเองมากขึ้น บาร์ทำกำแฟของคนชงกินเองที่บ้านจะมีอุปกรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ มีเมล็ดกาแฟใหม่ๆ อุปกรณ์ใหม่ๆ ให้เขาได้ลองมากขึ้น คนกินเปิดประสบการณ์พิเศษ ทำให้อุตสาหกรรมกาแฟพิเศษไปได้ไกลกว่านี้ แม้วันนี้คนไทยดื่มกาแฟเยอะขึ้นแต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับต่างชาติแทบจะดื่มกาแฟแทนน้ำ แต่คนไทยเฉลี่ยคนหนึ่งดื่มประมาณหนึ่งแก้วต่อวันทำให้อนาคตยังมีพื้นที่โตไปได้อีกในไทย” ณัฏฐ์รดา กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี