5 สิ่งสำคัญสร้างร้านคาเฟในอุดมคติ จากซีรี่ส์ Rokuhoudou Colorful Days

TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์


     "โรคุโฮโด" เป็นร้านคาเฟ่ในหนังซีรี่ส์ Netflix เรื่อง สี่หนุ่มโรคุโฮโด หรือ Rokuhoudou Colorful Days ซึ่งสร้างจากอนิเมะ (ที่มาจากมังงะหรือหนังสือการ์ตูนอีกที)  โรคุโฮโด ร้านคาเฟแนวย้อนยุคที่มีเมนูเลิศรสครบทั้ง ชา กาแฟ อาหาร และขนมหวาน บริหารโดยชายหนุ่มสี่คน ที่รับผิดชอบคนละด้านตามความถนัด ซุย เป็นผู้จัดการร้านและผู้เชี่ยวชาญการชงชา, กุเระ เป็นบาริสต้าฝีมือดีที่ฝันอยากทำให้ทุกคนมีรอยยิ้ม, โทคิทากะ เชฟผู้ปรุงอาหารที่ทำให้คนกินมีความสุข, สึบากิ เชฟขนมหวาน ที่มีแนวทางผสมผสานความเป็นญี่ปุ่นกับขนมตะวันตกได้อย่างลงตัว

     โชคชะตาพาพวกเขามาพบกัน เป็นเพื่อนร่วมงาน และกลายเป็นครอบครัวเดียวกัน  ร้านโรคุโฮโดไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจหรือสถานที่ทำงาน แต่เป็นบ้านของพวกเขา และเป็นพี่พักใจที่ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาได้ผ่อนคลาย เยียวยาจิตใจ แม้ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะมีแต่ตัวเอกที่เป็นชายล้วน แต่ก็มีภาพสวยๆ ของอาหารและเครื่องดื่มให้เสพตลอดทั้งเรื่อง และนี่คือ 5 สิ่งสำคัญเบื้องหลังร้านโรคุโฮโด การสานต่อธุรกิจครอบครัว ตลอดจนชีวิตและการทำงานของเจ้าของร้านมาไว้ดังนี้

1.เวลางานก็ตั้งใจทำงาน พอเลิกงานก็หยุดพักให้เต็มที่

     สาวออฟฟิศคนหนึ่งรับโทรศัพท์เรื่องงาน จากนั้นก็มองหาร้านกาแฟนั่งแก้งานส่งกลับไป เมื่อเห็นร้าน โรคุโฮโด เธอเดินเข้าไปสั่งกาแฟลาเต้ ก่อนหยิบคอมพิวเตอร์ขึ้นมานั่งทำงาน เมื่อบาริสต้านำกาแฟลาเต้ที่มีโฟมนมลายกระต่ายน้อยมาเสิร์ฟ เธอมองด้วยความแปลกใจ หลังจากจิบแรกเธอก็นิ่งไป เธอไม่เคยดื่มกาแฟลาเต้รสชาติแบบนี้มาก่อน “ฟองนมละมุน รสหวานบางเบา” เธอวางถ้วยกาแฟหันมาทำงานต่อ แล้วก็ได้ยินเสียงจากโต๊ะข้างๆ "อร่อยจังเลย" รู้ตัวอีกที พาร์เฟต์มัทฉะสูตรพิเศษ ก็มาวางตรงหน้าแล้ว เธอพยายามเรียกสติตั้งใจทำงานอีกครั้ง แต่แล้วเสียงคุยเรื่องอาหารของลุงกับป้าโต๊ะข้างๆ ก็แว่วมา เมื่อหันไปดู เธอก็ทนไม่ไหว้สั่งชุดข้าวราดน้ำซุปกับปลาแซลมอนและไข่ปลาแซลมอนมาชิมบ้าง รสชาติน้ำซุปที่เกินต้านทาน เนื้อปลาแซลมอนที่กรอบนอกฉ่ำใน เธอตั้งใจมานั่นทำงานแท้ๆ แต่พอเป็นร้านนี้ เธอทำอะไรไม่ได้เลย ในที่สุดจึงตัดสินใจปิดคอมพิวเตอร์ แล้วหันมาซาบซึ้งกับรสชาติอาหารตรงหน้า และตั้งใจว่าต่อไปนี้ "เวลางานก็ตั้งใจทำงาน พอเลิกงานก็หยุดพัก"  ผ่อนคลายและมีความสุขกับชั่วขณะนั้นอย่างเต็มที่

2.ลูกค้าที่เห็นคุณค่าของสินค้า ทำให้คนขายรู้สึกมีกำลังใจ

     สี่หนุ่มโรคุโฮโดมองลูกค้าเด็กสาวผู้แสดงสีหน้าที่มีความสุขเต็มเปี่ยมเมื่อได้จิบชาเขียวร้อนที่เสิร์ฟพร้อมวาราบิโมจิสูตรพิเศษของร้าน ทำให้พวกเขารู้สึกอบอุ่นไปด้วย แต่แล้วจู่ๆ หลังจากจิบชาเด็กสาวก็ถอนหายใจ คอตก ทำให้ซุยเสียความมั่นใจจนต้องถามว่าชาไม่ถูกปากหรือ เธอบอกว่าชารสชาติดีและถามกลับว่าที่นี่ใช้เกียวคุซุยผสมกับเมซุยเวลาชงชาหรือ ซุยแปลกใจที่เธอยังอายุน้อยแท้ๆ แต่กลับเชี่ยวชาญเรื่องชา ไม่นานมานี้ครอบครัวเธอเพิ่งตระเวนไปไร่ชาทั่วประเทศมา

     ซุยเดินไปส่งเด็กสาวจึงได้รู้ว่าบ้านของเธอเป็นร้านชาอามากามิ เถ้าแก่เจ้าของร้านซึ่งเป็นปู่ของเธอตัดสินใจจะเลิกกิจการ เพราะร้านกาแฟที่เป็นลูกค้าประจำอยากเปลี่ยนไปใช้ชาซองที่มีราคาถูกแทน ทำให้เขาหมดกำลังใจที่จะทำธุรกิจนี้ต่อไป ซุยดมกลิ่นใบชาของร้านแล้วเอ่ยปากขอรับชานี้แทน หลานสาวจึงบอกปู่ว่าเขาเป็นเจ้าของร้านกาแฟแนวโบราณที่ดีทีเดียว เถ้าแก่มองชุดกิโมโนที่ชายหนุ่มสวมแล้วปฏิเสธ บอกว่าร้านกาแฟนั้นคงดูดีแค่เปลือก แต่รสชาติและเนื้อในตื้นเขิน ซุยจึงท้าให้มาชิมชาที่เขาชงแล้วช่วยตัดสินว่าร้านของเขาคู่ควรหรือไม่

     เมื่อเถ้าแก่มาถึงร้านโรคุโฮโดก็จำได้ว่าเขาเคยมาที่นี่เมื่อหลายสิบปีก่อน และถามหาเจ้าของร้าน ซุยบอกว่านั่นเป็นคุณปู่ของเขาเอง ท่านเสียไปหลายปีแล้ว ชายชราถอนใจรำถึงว่า “คงไม่ได้ดื่มชาที่คุณเคียวโนะสึเกะชงอีกแล้วสินะ” ซุยฟังดังนั้นก็นึกโมโหตัวเองที่ดันไปท้าเถ้าแก่ เพราะเขารู้สึกว่าฝีมือตัวเองยังเทียบชั้นกับคุณปู่ไม่ได้  
     ชาเขียวจากร้านชาอามากาเสิร์ฟมาพร้อมเค้กชิฟฟ่อน เถ้าแก่พิจารณาชาในถ้วยแล้วยกขึ้นจิบ หลานสาวชิมเค้กแล้วก็หันมารบเร้าให้ปู่ชิม เขาไม่ชอบขนมแต่ก็ขัดใจหลานสาวไม่ได้ แล้วก็สัมผัสว่าเค้กชิฟฟอนมีกลิ่นชาของเขาชัดมากและมีรสขมหน่อยๆ จับคู่กับชาแล้วเข้ากันดี 

     เถ้าแก่บอกว่าชาที่ซุยชงไม่เหมือนกับของคุณปู่ เทียบกันแล้ว ขมน้อยกว่า ทำให้อยากดื่มอีกเรื่อย ๆ จะเรียกว่าดื่มง่ายกว่าก็ได้ รสชาติต่างกันนิดหน่อย แต่ก็ชงด้วยความใส่ใจเหมือนกัน แล้วจึงเล่าว่าสมัยหนุ่มๆ เขาคิดไม่ตกว่าควรรับช่วงทำร้านชาต่อหรือไม่ ตอนนั้นชาของคุณปู่ซุยเป็นแรงผลักดันให้เขาตัดสินใจทำร้านชานี้ ชาของซุยก็มีความอบอุ่นแบบเดียวกัน เขารู้สึกว่าได้รับกำลังใจอีกครั้ง เมื่อมีลูกค้าที่เห็นคุณค่าจึงเปลี่ยนใจทำกิจการต่อไป ซุยได้ใช้ใบชาจากร้านอามากามิ และเถ้าแก่ก็กลายเป็นลูกค้าประจำของร้านโรคุโฮโดอีกคน

3.รสชาติที่ปลอบโยนจิตใจ

     ค่ำวันหนึ่งมีลูกค้าหนุ่มออฟฟิศเข้ามาตอนกำลังจะปิดร้าน เขางานยุ่งจนไม่ได้กินอะไรมาทั้งวัน และยังมีประชุมลากยาวจนค่ำ ตั้งใจว่าเสร็จงานจะไปกินข้าวหน้าเทมปุระร้านโปรดให้ได้ แต่ไปถึงร้านกลับปิด ความรู้สึกอยากกินข้าวหน้าเทมปุระยิ่งมากขึ้น พอเห็นร้านโรคุโฮโด ที่ดูเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบโบราณ ก็เดินเข้าไปสั่งข้าวหน้าเทมปุระ และเมื่อรู้ว่าไม่มีในเมนูเขาก็หมดแรง เพ้อถึงแต่ข้าวหน้าเทมปุระ เชฟโทคิทากะเห็นร่างที่จมอยู่ในความสิ้นหวังของชายหนุ่ม จึงรับออเดอร์ข้าวหน้าเทมปุระ

     ในร้านมีลูกค้าอีกคนที่นั่งอยู่นานโดยไม่ได้สั่งอะไร ชายวัยเกษียณนัดลูกสาวไว้ แต่เธอติดงานกะทันหันมาไม่ได้แล้ว เขาทำตัวไม่ถูก เพราะไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนมานานและเพิ่งมาร้านคาเฟแบบนี้เป็นครั้งแรก เขาได้กลิ่นข้าวหน้าแกงกะหรี่ที่เตรียมไว้สำหรับเป็นมื้อค่ำของพนักงาน เมื่อรู้ว่าร้านไม่มีเมนูนี้ สีหน้าผิดหวังก็ทำให้ซุยเสนอ “ข้าวหน้าแกงกะหรี่” ให้  

     ชายต่างวัยสองคนได้กินอาหารที่อยากกิน แถมอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ รสชาติของอาหารได้ปลอบโยนจิตใจ ภรรยาของชายวัยเกษียณเพิ่งเสียไปไม่นาน แม้ชินกับการอยู่คนเดียวแล้ว แต่ก็ไม่มีความรู้สึกกระตือรือร้นอะไรในชีวิต พออายุมากขึ้น ต้องพลัดพรากจากหลายๆ สิ่งมากตามไปด้วย ถึงจะรู้ว่าทุกชีวิตต้องมีวันสิ้นสุด เขาก็ยังเหงาอยู่ดี แต่ว่าวันนี้รสชาติของแกงกะหรี่ทำให้คิดได้ว่าช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันและการได้อยู่ด้วยกันนั้นเป็นความสุขแล้ว

     ซุยเองก็คิดถึงครอบครัว เขามองภาพตอนเด็กๆ ที่ถ่ายกับคุณปู่ แต่แล้วแมวก็ทำกรอบรูปหล่น ซุยหยิบภาพที่หลุดจากกรอบขึ้นมา มันถูกพับไว้ จริงๆ แล้วในภาพยังมีเด็กชายอีกคนอยู่ด้วย

4.ครอบครัวและการสืบทอดธุรกิจ

     ซุยและยะเคียวเป็นพี่น้องฝาแฝด ทายาทของครอบครัวที่ทำธุรกิจเรียวกังหรือโรงแรมสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งคุณปู่เป็นผู้ก่อตั้ง หลังจากที่คุณปู่เกษียณตัวเอง ยกกิจการให้ลูกชายดูแล ก็มาเปิดร้านกาแฟคนเดียว ตอนเด็กๆ สองพี่น้องชอบมาเล่นที่ร้านนี้บ่อยๆ คุณปู่ชงชาให้หลานชายตัวน้อยทั้งสอง ซุยบอกกับพี่ชายฝาแฝดว่า “พอโตแล้ว มาสร้างเรียวกังที่ดีที่สุดด้วยกันเถอะ" สองพี่น้องสัญญากัน

     แม้ว่าจะเป็นฝาแฝด แต่ก็มีบุคลิกแตกต่างกัน ในวัยเด็กซุยเป็นคนร่าเริง ยะเคียวเงียบขรึม เก็บความรู้สึก พอโตขึ้นซุยก็ชอบเตะบอลกับเพื่อนและเป็นกัปตันทีม ส่วนยะเคียวชอบอ่านหนังสือ ได้อยู่ห้องพิเศษ และสอบได้ระดับท็อปของชั้น ขณะที่ซุยสอบตกแทบทุกวิชา พวกเขาไม่เคยทะเลาะกันเลย    

     เมื่อทั้งคู่มาทำงานที่เรียวกังของครอบครัว ซุยมักจะให้แขกที่ไม่มีเงินหรือมีปัญหามาพักฟรี และให้หักจากเงินเดือนของตัวเอง ยะเคียวเคยแอบได้ยินพนักงานพูดถึงซุย แม้จะผิดพลาดอยู่เรื่อย แต่ทุกคนก็เอ็นดู ไม่มีใครโกรธลง ส่วนยะเคียวในสายตาของพนักงาน เป็นคนที่พึ่งพาได้ แต่พออยู่ด้วยแล้วจะรู้สึกกดดัน เขาจึงอิจฉาซุยที่เข้ากับใครได้ง่ายและเป็นที่รักของทุกคน ซุยมักไปขลุกอยู่ที่ร้าน เรียนรู้วิธีชงชาจากปู่ ส่วนยะเคียวช่วยพ่อบริหารเรียวกัง จึงไม่ได้มาที่ร้านบ่อยนัก จนกระทั่งคุณปู่จากไป หลังเสร็จงานศพ ทั้งคู่ก็มานั่งจิบชาด้วยกันที่ร้าน ด้วยถ้วยชาคู่เดิม ซุยถามว่า ร้านนี้จะเป็นยังไงต่อ ยะเคียวบอกว่าคงต้องปิดไปเพราะเดิมทีก็เป็นแค่ร้านที่คุณปู่ทำเป็นงานอดิเรกหลังเกษียณ จากเรียวกัง ซุยถามถึงลูกค้าที่เคยมาที่นี่จะทำอย่างไร “ก็แค่ไปที่อื่น ร้านกาแฟยังมีอีกมากมาย ปู่ก็ไม่อยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บที่นี่ไว้"

     ซุยฟังดังนั้นก็โกรธ ขณะที่ยะเคียวต่อว่าซุยเรื่องที่เขาต้องตามแก้ปัญหา คนที่ซุยรับเข้ามาทำงานโดยไม่ปรึกษาใคร เชิดเงินของเรียวกังหนีไป ซุยขอโทษและบอกว่าจะทำงานใช้คืนให้เอง แต่ยะเคียวคิดทบทวนมาสักพักแล้วว่าซุยไม่เหมาะกับงานบริหารและดีแต่สร้างปัญหา วิธีของซุยไม่ได้ทำให้ใครมีความสุข เขาควรจะออกจากธุรกิจเรียวกังของครอบครัวไปเสีย วันนั้นสองพี่น้องทะเลาะกันรุนแรงจนไปชนถ้วยชาใบหนึ่งหล่นแตก พร้อมๆ กับความสัมพันธ์ของสองพี่น้อง หลังจากวันนั้น ทั้งคู่ก็ไม่ได้พบกันอีกหลายปี

     ยะเคียวซึ่งเป็นทายาทธุรกิจ เปลี่ยนเรียวกังเล็กๆ ของครอบครัวให้กลายเป็นเครือโรงแรมใหญ่ที่มีหลายสาขา และยังมีชื่อเสียงในฐานะโรงแรมที่เด่นเรื่องเบเกอรี ส่วนซุยก็เป็นแค่คนที่ถูกขับออกจากตระกูล เขาสานต่อร้านกาแฟเล็กๆ ของคุณปู่ เปิดเป็นร้านกาแฟโรคุโฮโด ดึงคนที่ถนัดในแต่ละด้านมาร่วมงาน ซึ่งเขายังคงชวนคนที่มีปัญหา ไม่มีที่ไป ซึ่งเมื่อมาอยู่ที่นี่ ก็ค้นพบทางของตัวเอง ลึกๆ สองพี่น้องต่างคิดถึงความหลังอย่างเสียใจ

5.คินสึงิ การซ่อมแซมถ้วยชาที่แตกหัก และเยียวยาความสัมพันธ์

     วันหนึ่งเพื่อนๆ พบเศษถ้วยชาที่ซุยเก็บไว้ เมื่อเห็นมันอีกครั้ง ซุยตัดสินใจบอกให้เพื่อนทิ้งไป แต่เชฟโทคิทากะ ซึ่งเป็นช่างปั้นดินเผากลับนำไปซ่อมแซมด้วยเทคนิค คินสึงิ ซึ่งเป็นศิลปะแห่งการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาโดยใช้ทองมาประสานให้กลับมาใช้การได้อีกครั้ง เป็นความสวยงามที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ ซุยได้รับถ้วยชาคินสึงิเป็นของขวัญ ถึงเวลาที่ความสัมพันธ์ก็ควรได้รับการซ่อมแซม

     วันหยุดของร้านโรคุโฮโด เชฟขนมหวานสึบากิชวนเพื่อนๆ ไปกินบุฟเฟต์ของหวานประจำปี เป็นการศึกษาหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจ เมื่อไปถึงซุยจึงรู้ว่างานนี้จัดที่โรงแรมอีสต์ไซด์กรันเดของยะเคียว ซุยมองเห็นเพื่อนๆ ทานขนมหวานอย่างมีความสุข และเมื่อมองไปรอบๆ ก็เห็นคนที่กำลังรับประทานขนมหวานต่างก็มีความสุข ได้ใช้ช่วงเวลาดีๆ กับคนที่ตัวเองรัก พนักงานก็ให้บริการลูกค้าด้วยความใส่ใจ รวมถึงหัวหน้ากับลูกน้องก็ยังทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีด้วยรอยยิ้ม

     ซุยไปหายะเคียวพร้อมกับถ้วยชาสองใบ เพื่อปรับความเข้าใจ แต่ยะเคียวไม่ยอมฟังอะไร ตัดบทบอกซุยว่า "กลับมาได้แล้วล่ะ เพื่อตัวนายเอง กลับมาที่โรงแรมของเราจะดีที่สุด"

     ซุยปฏิเสธว่าเขาก็มีร้านโรคุโฮโดต้องดูแล ยะเคียวจึงถามว่า "นายจ่ายเงินให้พนักงานหรือเปล่า เวลาพนักงานมีครอบครัว นายต้องรับผิดชอบชีวิตของพวกเขาทุกคน นายมีแผนธุรกิจที่ทำกำไรได้ต่อเนื่องหรือเปล่า" แม้ว่าซุยจะจ่ายให้พนักงานได้ไม่เท่ากับอีสต์ไซด์กรันเด แต่ทุกคนก็มีรายได้ และเงินก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด

     “ที่นายทำก็แค่เล่นพ่อแม่ลูกกับคนที่ชักชวนมาทำงานด้วย” ซุยโต้กลับว่าทุกคนเป็นมืออาชีพในสายงานของตัวเอง พวกเขาภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วก็กลับไปด้วยความโมโห เพราะตอนนั้นยะเคียวเองที่เป็นคนที่ไล่เขาออกจากเรียวกัง  

     อันที่จริงยะเคียวอยากให้น้องชายกลับมาทำโรงแรมด้วยกัน อย่างที่เคยสัญญากันไว้ตอนเด็ก แต่ก็ไม่พูดออกไปตรงๆ เมื่อเปิดดูของขวัญจากซุย ก็พบถ้วยชาสองใบที่พวกเขาเคยใช้ ถ้วยชาใบที่แตกไปได้รับการซ่อมแซมแล้วด้วยวิธีคินสึงิ

     ทั้งคู่ต่างรู้สึกเสียใจ ยะเคียวที่มีสติเสมอกลับใจลอยจนเกือบถูกรถชน เมื่อซุยรู้ข่าวก็รีบวิ่งไปที่โรงพยาบาลอย่างไม่คิดชีวิต ในใจก็คิดถึงที่เพิ่งทะเลาะกันครั้งล่าสุด ไปถึงก็พบว่ายะเคียวมีแผลถลอกเพียงเล็กน้อย ซุยบอกให้ยะเคียวมาที่โรคุโฮโดพร้อมกับถ้วยชา แต่หลังจากนั้นร้านโรคุโฮโดต้องปิดชั่วคราว (เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) ระหว่างนั้นสมาชิกแต่ละคนต่างดิ้นรนจนกว่าร้านจะกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง บาริสต้ากุเระไปปั่นจักรยานส่งอาหาร สึบากิไปฝึกงานกับเชฟขนมหวานที่อีสต์ไซด์กรันเด ส่วนโทคิทากะไปทำงานที่ร้านข้าวกล่อง ไม่มีใครคิดว่าจะต้องปิดร้านนานเป็นปี ทุกๆ คนต่างอดทนกันได้ดี จนกระทั่งถึงกำหนดเปิดร้าน ซุยกังวลใจที่ปิดร้านไปนานมาก ทุกคนคงชินกับวิถีชีวิตแบบใหม่กันแล้ว ลูกค้าจะกลับมาหรือเปล่า

     วันเปิดร้านคนแรกที่มารอก็คือ ยะเคียว ที่ถือถ้วยชาคู่นั้นมาด้วย สองพี่น้องได้จิบชาด้วยกันอีกครั้ง และเปิดใจคุยกัน ตอนที่ถูกไล่ออกจากเรียวกัง ซุยรู้สึกเหมือนตัวตนของเขาถูกปฏิเสธ หัวเขาว่างเปล่าไปหมด ไม่รู้จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร แล้วก็คิดขึ้นมาได้ว่าจะสร้างที่ที่คนไม่มีที่ไปอย่างเช่นตัวเขาสามารถอยู่ได้ และตอนนี้ โรคุโฮโด ก็คือที่ของเขา ดังนั้นเขาจะไม่กลับไปทำงานที่โรงแรมของยะเคียว

     “พอโตแล้ว เราสองคนมาสร้างเรียวกังที่ดีที่สุดด้วยกันนะ” คำพูดนี้ของซุยเป็นแรงบันดาลใจให้ยะเคียวสร้างธุรกิจจากเรียวกังเล็กๆ ให้เป็นเครือโรงแรมใหญ่ได้ ตอนนี้ทั้งคู่ต่างก็มีเส้นทางธุรกิจของตัวเอง ยะเคียวยอมรับว่าโรคุโฮโดเป็นร้านที่ดี ทั้งคนที่ทำงานอยู่ และคนที่มาเยือน ต่างก็มีรอยยิ้ม ซึ่งซุยก็รู้สึกแบบเดียวกันตอนที่ไปโรงแรมของยะเคียว   

     “ร้านกาแฟไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลยสำหรับการมีชีวิตอยู่ ถ้าแค่หิวน้ำ ดื่มน้ำเปล่าก็ได้ ถึงอย่างนั้นผู้คนก็อุตส่าห์มาดื่มชาและกาแฟในที่ที่พิเศษนี้ ถึงจะไม่จำเป็น แต่มันทำให้รู้สึกอิ่มเอม ผ่อนคลาย และยิ้มได้ ฉันว่าคนต้องการที่แบบนี้ เพื่อก้าวไปข้างหน้าและมีชีวิตอยู่ต่อไป”

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย