โกยรายได้เพิ่ม 4 เท่า กรณีศึกษาจากแบรนด์ I Was a Sari ทำส่าหรีเก่าให้เป็นสินค้าใหม่

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     ต้องยอมรับว่าในอุตสาหกรรมแฟชั่นปัจจุบัน กระแสที่มาแรงและมีการตื่นตัวมากที่สุดเห็นจะเป็นแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) หรือแฟชั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Fashion) ที่เป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา และหนึ่งในนั้นคือ upcycling ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของที่จะถูกทิ้งมาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น

     จะเห็นว่ามีหลายแบรนด์แฟชั่นที่ขานรับนำวัสดุเก่าเหลือใช้มารังสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่นมากมาย ส่าหรี เครื่องแต่งกายของผู้หญิงอินเดียก็เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ถูกนำมาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมีผู้ประกอบการจากหลายแห่งทั่วโลกใจตรงกันดำเนินธุรกิจนำส่าหรีเก่ามาตัดเย็บให้เป็นสินค้าแฟชั่นหลากหลายแบบ

     ข้อมูลระบุผ้าที่จะนำมาเป็นส่าหรีจะเป็นผ้าผืนเดียวไร้รอบต่อความยาวไม่ต่ำกว่า 6 เมตร ใช้เป็นผ้านุ่งพันรอบตัว และจีบข้างหน้าเหน็บไว้ที่เอว แล้วใช้ชายผ้าที่เหลือพาดอก และสะพายบ่า ห้อยชายไปข้างหลัง หรือนำชายที่ห้อยมาคลุมศีรษะ ด้วยความที่เป็นผ้าผืนเดียวไม่ได้ตัดเย็บแบบเสื้อผ้าทั่วไปทำให้ส่าหรีสามารถดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น 

     สำหรับตลาดส่าหรีเฉพาะที่อินเดียนั้นมีมูลค่าราว 400,000 ล้านรูปีหรือเกือบ 2 แสนล้านบาท และในแต่ละวัน มีส่าหรีถูกทิ้งจำนวนมากนับพัน ๆ ผืน ก่อนหน้านั้นที่อินเดีย ส่าหรีเก่าเมื่อไม่ใช้แล้ว แม่บ้านจะนำไปตัดเย็บเป็นของใช้ในบ้าน เช่น ปลอกหมอน ปลอกผ่านวม ผ้าห่อตัวเด็ก เปลผ้าสำหรับทารก เสื้อผ้าสำหรับเด็ก หรือผ้าเช็ดจานในครัว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งมองเห็นประโยชน์ที่มากกว่านั้นจึงนำมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่นที่เพิ่มมูลค่าขึ้น

     แต่แบรนด์สินค้าจากส่าหรีที่ขึ้นชื่อสุดเห็นจะเป็น “I Was a Sari” ที่ก่อตั้งโดย สเตฟาโน ฟูเนรี ชาวอิตาลีที่ต้องการตั้งรกรากที่อินเดีย วันหนึ่งเขาไปเจอร้านจำหน่ายส่าหรีมือสองที่มุมไบจึงปรึกษาเพื่อนดีไซเนอร์ที่มิลานเรื่องการทำสินค้าไลฟ์สไตล์จากส่าหรี ปี 2013 เขาก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนและสร้างแบรนด์ “I Was a Sari”  ขึ้นมา โดยติดต่อดีไซเนอร์อิตาลีมาช่วยฝึกผู้หญิงในชุมชน 22 คนให้สามารถออกแบบและทำสินค้าต่าง ๆ ออกมา เช่น เสื้อผ้า ชุดนอน ต่างหู สร้อยคอ กระเป๋าผ้า กระเป๋าเป้ กระเป๋าสตางค์ เสื่อโยคะ ทั้งหมดล้วนเป็นงานทำมือ

     เนื่องจากเป็นธุรกิจเพื่อชุมชน สเตฟาโนจึงจ้างงานบรรดาสตรีที่อาศัยในสลัมเมืองมุมไบเพื่อสร้างรายได้ให้ผู้หญิงเหล่านั้น โมเดลธุรกิจของ “I Was a Sari” เป็นที่น่าสนใจจนแบรนด์ดังอย่างกุชชี่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ส่งทีมมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้จนสามารถไปวางขายในยุโรป ปัจจุบัน “I Was a Sari” มีพนักงาน 200 คน รายได้ขยับจาก 10 ล้านรูปี (5 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 40 ล้านรูปีหรือราว 20 ล้านบาทในปัจจุบัน

     นอกจาก “I Was a Sari”  แล้วก็ยังมีแบรนด์อื่น เช่น “Sari for Change” เป็นแบรนด์จากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ก่อตั้งโดยรายาณะ เอ็ดเวิร์ดส ผู้ประกอบการเชื้อสายอินเดียมาเลย์ซึ่งเล่าว่าก่อนหน้านั้น ชุมชนชาวอินเดียแอฟริกาใต้จะผูกพันกับส่าหรี โดยถือเป็นมรดกที่ตกทอดจากแม่สู่ลูกหรือหลาน แต่ปัจจุบัน ความนิยมในส่าหรีลดน้อยลง จะมีการสวมใส่ก็ในวาระพิเศษส่าหรีที่ไม่ได้แล้วจึงมักถูกทิ้งกลายเป็นขยะ

     ด้วยเหตุนี้ รายาณะจึงทำการรวบรวมส่าหรีเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาออกแบบและตัดเย็บเป็นเดรสคาฟตัน เสื้อคลุมตัวหลวมและยาวสไตล์อาหรับ รวมถึงนำมาทำเป็นกิโมโนแบบญี่ปุ่นด้วย นอกเหนือจากการนำส่าหรีเก่ามาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าสุด ความสำคัญอีกอย่างของ “Sari for Change” คือการได้สนับสนุนผู้หญิงในชุมชนให้มีงานทำ มีรายได้ ทั้งนี้ รายาณะได้จัดหาจักรเย็บผ้าให้กับคนงานของเธอเพื่อให้คนงานเหล่านั้นสามารถทำงานที่บ้านและดูแลครอบครัวไปด้วยได้

     ส่วนที่เมืองออนตาริโร ประเทศแคนาดา ปริยา โมฮัน ชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดียรุ่น 4 ได้สร้างแบรนด์ “Sari Knot Sari” ขึ้นจากธุรกิจเปลี่ยนส่าหรีเก่าให้เป็นสินค้าแฟชั่น ได้แก่ เสื้อสตรี เสื้อแจ็กเก็ต เสื้อกั๊ก เสื้อคลุม และเดรส โดยปริยาได้จ้างทีมดีไซเนอร์ที่นิวเดลีให้ออกแบบและผลิตสินค้าให้ สินค้าของ “Sari Knot Sari” จะเน้นให้มีทุกขนาดและสวมใส่ได้ทุกวัย และทุกวัน

     ธุรกิจเช่นนี้นอกจากสร้างงานในชุมชนยังช่วยเปิดแนะนำส่าหรีจากอินเดียในอีกรูปแบบหนึ่งให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ผลิตภัณฑ์จากทั้ง 3 แบรนด์ได้มีการส่งออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่อเมริกาเหนือ ไปยังยุโรป จนถึงออสเตรเลีย ลูกค้าที่อุดหนุนโดยมากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองตนเองเป็นพลเมืองโลก ให้ความสำคัญกับที่มาของผลิตภัณฑ์  และใส่ใจการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Life-Arts/Arts/Old-saris-new-purpose-Upcycling-clothing-and-lives

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย