TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
เป็นที่ทราบกันว่าชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเปล่า และเอเชียซึ่งเกาะติดวัฒนธรรมการดื่มชาอย่างเหนียวแน่นมาแต่โบราณกลับโอบรับกาแฟ เครื่องดื่มคาเฟอีนอีกชนิดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งจนกลายเป็นปรากฏการณ์ด้านวัฒนธรรมที่นำไปสู่อุตสาหกรรมทำเงินในที่สุด
ข้อมูลจากองค์การกาแฟสากลระบุอัตราการบริโภคกาแฟในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นราว 1.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับยุโรป และสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 0.5 และ 1.2 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่งผลให้เอเชียถูกจับตามองว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางกาแฟโลกในเร็ววันนี้ ปัจจัยหนึ่งมาจากการขยายจำนวนของชนชั้นกลางในสังคมซึ่งเป็นกลุ่มที่กระตือรือร้นที่จะลิ้มลองทุกอย่างที่เป็นกระแส
อย่างไรก็ตาม การบริโภคกาแฟในเอเชียส่วนหนึ่งยังมาจากการถ่ายโอนวัฒนธรรมที่เกิดในยุคอาณานิคมและเป็นการรับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตก ไปดูกันว่า 5 ประเทศเอเชียที่มีการขับเคลื่อนจากเครื่องดื่มชาไปยังกาแฟนั้นเกิดขึ้นเมื่อไรและมีความแตกต่างกันอย่างไรจนนำไปสู่สังคมแห่งการบริโภคกาแฟ
เวียดนาม ขึ้นแท่นประเทศส่งออกกาแฟรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล และเป็นรายใหญ่สุดในเอเชีย กาแฟถูกนำมาปลูกครั้งแรกในเวียดนามยุคอาณานิคมฝรั่งเศสช่วงศตวรรษ 19 และหยั่งรากฝังลึกนับแต่บัดนั้น นอกจากกาแฟดริปด้วยกระป๋องอลูมิเนียมใส่นมข้นหวานอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดื่มที่ขายกันริมทาง ปัจจุบันยังควบคู่ไปกับกาแฟตามร้านคาเฟ่ที่สกัดแบบหลากหลายวิธีโดยบาริสต้า
เมื่อกาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ความพิถีพิถันในการเลือกกาแฟก็มีมากขึ้น ตั้งแต่แหล่งที่มา ประเภทของการคั่ว ไปจนถึงรสชาติที่ได้ คาเฟ่ต่าง ๆ จึงสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ บางคาเฟ่ที่เป็นแบรนด์ข้ามชาติถึงกับนำเข้าเมล็ดกาแฟจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกมาบริการ
ขณะที่ผู้ปลูกกาแฟในเวียดนามเองที่เคยเน้นส่งออกก็พยายามเพิ่มมูลค่าของเมล็ดกาแฟโรบัสต้าด้วยการพัฒนาคุณภาพและคัดสินค้าเกรดดีเพื่อจำหน่ายในประเทศ ทายาทของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรุ่นหลัง ๆ ไม่ได้โฟกัสที่การส่งออกอย่างเดียวแต่ยังขยายธุรกิจด้วยการเปิดเชนคาเฟ่เพื่อบริการลูกค้าท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวด้วย สำหรับชาวเวียดนาม ร้านกาแฟและคาเฟ่ริมทางถือเป็นที่มั่นสุดท้ายที่ลูกค้าสามารถใช้บริการพร้อมกับเสพความเป็นไปของชีวิตผู้คนบนท้องถนน
อินโดนีเซีย มีความคล้ายเวียดนามตรงเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมนำกาแฟมาเผยแพร่และมีการปลูกกาแฟเป็นล่ำเป็นสันจนถึงปัจจุบัน จนอินโดนีเซียกลายเป็นผู้ส่งออกกาแฟมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และใหญ่อันดับ 4 ของโลก ธุรกิจกาแฟได้รับความนิยมแพร่หลายหลังจากที่เชนร้านคาเฟ่ต่างชาติ เช่น สตาร์บัคส์ขยายบริการเข้ามา
ประกอบกับความต้องการที่สูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะบรรดานักเรียนนอกที่ไม่เพียงใช้บริการ แต่ยังเข้ามาจับธุรกิจคาเฟ่อีกด้วย หนึ่งในนั้นคืออิมาน กุสุมาปุตรา ซึ่งจบด้านการเงินจากออสเตรเลียและกลับมาเปิดคาเฟ่ชื่อ Kopikalyan 3 สาขาในจาการ์ตาและเพิ่งขยายไปโตเกียวเมื่อปลายปี 2020 โดยทางร้านเน้นใช้เมล็ดกาแฟอาราบิก้าที่เป็นผลผลิตของอินโดนีเซียที่คัดจาก 8 พื้นที่ปลูกด้วยกัน ตั้งแต่อาเจะห์ไปจนถึงปาปัว
ทั้งนี้ อินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนมาก กาแฟที่มาจากแต่ละที่ให้รสชาติแตกต่างกันไป จึงกลายเป็นจุดเด่น และเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากได้แก่กาแฟเย็นใส่นมและน้ำตาลมะพร้าว แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่ผู้คนนิยมดื่มชามาก่อน แต่ปัจจุบัน กาแฟได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะร้อยละ 90 ของประชากรเป็นมุสลิม เมื่อแอลกอฮอล์เป็นของต้องห้าม นอกจากชาแล้ว กาแฟจึงกลายเป็น social drink หรือเครื่องดื่มเพื่อเข้าสังคมอีกทางเลือกหนึ่งนั่นเอง
จีน ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของคาเฟ่ข้ามชาติอย่าง สตาร์บัคส์ และคอสต้าคอฟฟี่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 ได้จุดประกายให้คนรุ่นใหม่หันมาดื่มกาแฟ แต่หลังจากนั้น ธุรกิจคาเฟ่ท้องถิ่นที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้นำพาวัฒนธรรมการดื่มกาแฟมายังสังคมจีนอย่างกว้างขวาง
ธุรกิจกาแฟในจีนบูมมากแค่ไหน ดูเซี่ยงไฮ้เมืองเดียวก็พอจะบอกได้ ข้อมูลเมื่อปี 2021 ระบุเซี่ยงไฮ้ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีร้านกาแฟแบบ stand-alone มากสุดในโลกด้วยจำนวน 6,913 ร้าน เทียบกับโตเกียวที่มี 3,826 ร้าน ลอนดอน และนิวยอร์ก 3,233 และ 1,519 ร้านตามลำดับ
กลุ่มผู้บริโภคที่ทำให้ธุรกิจกาแฟในประเทศเติบโตคือคนหนุ่มสาววัยทำงานที่อาศัยในเมืองและมีกำลังซื้อสูง คนเหล่านี้พร้อมที่จะเกาะทุกกระแส กาแฟจึงถือเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งและที่นิยมอย่างมากคือบริการแบบเดลิเวอรี มีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟจีนยังเติบโตในอัตรา 27 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและจะมีมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนในปี 2025
ญี่ปุ่น เป็นอีกเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มชาที่เหนียวแน่นมาก แต่เชื่อหรือไม่ ญี่ปุ่นเป็นตลาดกาแฟที่ใหญ่มาก ปี 2020 ที่ผ่านมา ยอดขายกาแฟในญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงถึง 34,450 ล้านดอลลาร์ มาซาฮิโร คันโนะ ประธานสมาคมกาแฟสเปเชียลตี้ของญี่ปุ่นแสดงทัศนะว่าชาอาจยังเป็นเครื่องดื่มหลัก แต่จำนวนคนดื่มกาแฟก็เพิ่มมากขึ้น เลยกลายเป็นว่าความนิยมในการดื่มกาแฟเริ่มแซงหน้าชาไปแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจชาอีกต่อไป
สมาคมผู้ผลิตชาญี่ปุ่นเผยปริมาณการบริโภคชาในประเทศลดลงอย่างมาก ยกตัวอย่าง ปี 2019 ที่ลดลง 30 เปอร์เซนต์เหลือ 108,454 ตัน ในทางกลับกัน การบริโภคกาแฟในประเทศกลับเพิ่มขึ้น 5.8 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 452,903 ตัน วัฒนธรรมการดื่มกาแฟเริ่มแทรกซึมเข้ามายังญี่ปุ่นในยุคเมจิหรือคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนโหยหาความเป็นตะวันตก กระทั่งการมาถึงของสตาร์บัคส์ซึ่งกลายเป็นตัวเร่ง
ราวปี 2010 บริการกาแฟตามสั่งตามร้านสะดวกซื้อทำให้ตลาดกาแฟในญี่ปุ่นขยายใหญ่มากขึ้น นอกจากกาแฟตามร้าน สินค้าที่เป็นเมล็ดกาแฟ และอุปกรณ์สำหรับชงกาแฟเพื่อใช้ที่บ้านก็ขายดีไม่แพ้กัน ไม่เท่านั้น วิถีการดำเนินชีวิตแบบเร่งรีบยังทำให้อุตสาหกรรมกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มได้รับอานิสงค์กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ เนื่องจากหาซื้อง่ายและราคาไม่แพง
เกาหลีใต้ เมื่อเทียบจำนวนการบริโภคกาแฟต่อคน เกาหลีใต้นับได้ว่าบริโภคสูงสุดเป็นอันดับ 1 มากกว่า 300 แก้วต่อคนต่อปี แซงหน้าสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ตลาดกาแฟเกาหลีใต้เติบโตเร็วมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแม้จะเกิดวิกฤติโควิดระบาดก็ตาม
สำหรับผู้บริโภคในเกาหลี ร้านคาเฟ่ต่าง ๆ ถือเป็น third place หรือสถานที่ที่พวกเขาใช้เวลานอกเหนือจากบ้าน และที่ทำงาน คนเกาหลีจึงนิยมสถิตตามคาเฟ่เพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใช้เป็นที่ติวหนังสือ อ่านหนังสือเตรียมสอบ คุยธุรกิจ ปลีกวิเวก นัดสังสรรค์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ปี 2021 ที่ผ่านมา เกาหลีนำเข้ากาแฟมากถึง 916 ล้านดอลลาร์ สถาบันวิจัยฮุนไดคาดการณ์ตลาดกาแฟเกาหลีใต้จะขยายตัวมีมูลค่า 9 ล้านล้านวอน (7,500 ล้านดอลลาร์) ในปีหน้า
สืบเนื่องจากผู้บริโภคโดยเฉพาะชนชั้นกลาง และคุ้นชินกับวิถีตะวันตกแสวงหาไลฟ์สไตล์ รวมถึงการพิถีพิถันกับคุณภาพเครื่องดื่มอย่างกาแฟมากขึ้นจึงมีส่วนกระตุ้นให้ตลาดเติบโต เชื่อว่าไม่เฉพาะเกาหลีใต้ แต่การบริโภคกาแฟของคนรุ่นใหม่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในหลายประเทศเอเชีย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี