TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
เราอาจจะเคยเห็นร้านกาแฟในไทยที่ดึงคนพิการให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ยกตัวอย่างเช่น ร้าน 60+ Plus Bakery & Chocolate Café ในกรุงเทพที่มีผู้พิการคอยให้บริการ หรือร้านเชียงรายปัญญาที่มีบาริสต้าและพนักงานต้อนรับเป็นเด็กพิเศษทั้งหมด ร้านแรกอยู่ในความดูแลของมูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ส่วนร้านหลังดำเนินการโดยโรงเรียนเชียงรายปัญญานุกูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้
โมเดล Disability inclusion business หรือธุรกิจที่มีส่วนร่วมของคนพิการไม่จำกัดเฉพาะองค์กรไม่แสวงกำไรหรือหน่วยงานรัฐ เอกชนหลายแห่งทั่วโลกก็ดำเนินการจนสามารถสร้างผลกำไรและขยายธุรกิจให้เติบโตได้ ดังเช่น Bitty & Beau’s Coffee เชนคาเฟ่จากเมืองวิลมิงตัน รัฐนอร์ธแคโรไลน่า สหรัฐฯ ที่ก่อตั้งโดยครอบครัวไรท์ (Wright)
เอมี่ และ เบน ไรท์ เป็นคู่สามีภรรยาที่มีลูก 4 คน ได้แก่ ลิลลี่ เอ็มม่า โบและบิตตี้ ทว่า 3 ใน 4 ของทายาทเข้าข่ายพิการ ลิลลี่มีภาวะออทิสติก ขณะที่บิตตี้ และโบเป็นดาวน์ซินโดรม จากข้อมูลที่ระบุ ร้อยละ 80 ของผู้พิการในสหรัฐฯ ไม่ถูกจ้างงาน เพื่อปูทางให้ลูก ๆ ได้มีอาชีพเลี้ยงตัวในอนาคต เดือนมกราคม 2016 เอมี่และเบนจึงเปิดธุรกิจคาเฟ่ใช้ชื่อ “Bitty & Beau’s Coffee” หวังให้เป็นชุมชนจ้างงานผู้พิการ
Bitty & Beau’s Coffee สาขาแรกเปิดบริการโดยมีการจ้างงานพนักงาน 19 คนที่เป็นผู้พิการด้านสติปัญญา และพิการทางกาย ผลคือได้รับการตอบรับดีมากเนื่องจากเครื่องดื่มรสชาติดี อาหารอร่อย และบรรยากาศที่อบอวลด้วยความเป็นมิตรทำให้ลูกค้าติดใจ
ความสำเร็จของ Bitty & Beau’s Coffee สาขาแรกทำให้เอมี่ต้องการขยายธุรกิจเพื่อเข้าถึงการช่วยเหลือคนพิการในรัฐอื่นให้ได้มีงานทำ รูปแบบแฟรนไชส์จึงถูกนำมาใช้ โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์ ปัจจุบัน Bitty & Beau’s Coffee สามารถขยาย 24 สาขาใน 12 รัฐและมีพนักงานในสังกัดมากกว่า 200 คน ทั้งนี้ แต่ละสาขาจะเป็นพนักงานพิการทั้งหมดโดยมีพนักงานปกติคอยดูแลสาขาละ 1 คน
เอมี่กล่าวว่าเธอคาดหวังธุรกิจของเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจอื่น ๆ หันมาจ้างงานผู้พิการเพื่อสร้างความหลากหลายมากขึ้นในสังคมการทำงาน “เราหวังจะเป็นแบบอย่างให้คนเห็นว่าการดำเนินธุรกิจด้วยการจ้างผู้พิการก็สามารถทำกำไรได้” นอกเหนือจากการขายแฟรนไชส์ Bitty & Beau’s Coffee ยังขยายสาขาด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ในการเปิดบริการตามสำนักงานใหญ่ขององค์เหล่านั้น
ที่จีนเอง ร้านคาเฟ่หลายแห่งก็นำโมเดล Disability inclusion มาใช้เช่นกัน เช่นร้าน Hinichijou ที่รู้จักในชื่อ “คาเฟ่พี่หมี” จากการตกแต่งหน้าร้านให้เหมือนถ้ำ มีเพียงช่องเล็ก ๆ กว้างพอให้ลูกค้ารับเครื่องดื่มเท่านั้น โดยลูกค้าจะไม่เห็นหน้าพนักงาน เห็นเพียงอุ้งมือหมีที่ยื่นแก้วเครื่องดื่มให้เท่านั้น เหตุผลก็เนื่องจากพนักงานและบาริสต้าของร้านเป็นผู้พิการทางการได้ยิน ทางร้านจึงออกแบบหน้าร้านให้เป็นเหมือนถ้ำเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและทำให้พนักงานมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น หลังเป็นข่าวออกไปก็มีประชาชนจำนวนมากไปต่อแถวซื้อกาแฟเพื่อแสดงการสนับสนุนการทำงานของผู้พิการ
นอกจากผู้พิการด้านการได้ยิน ที่ร้าน Hinichijou อีกสาขาหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ก็กลายเป็นไวรัลจากการจ้างบาริสต้าฝาแฝดที่พิการทางสายตาเนื่องจากขาดออกซิเจนขณะคลอดก่อนกำหนด อิ้นเตี้ยนเป่า และอิ้นเตี้ยนหยู คู่แฝดวัย 23 ปีไม่ต้องการลงเอยด้วยอาชีพหมอนวดเหมือนผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่จึงฝึกเป็นบาริสต้าก่อนจะได้งานที่คาเฟ่แห่งนี้
Hinichijou นับเป็นคาเฟ่แห่งแรกในเซี่ยงไฮ้ที่จ้างงานผู้พิการ หวัง เตี้ยน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Hinichijou ให้สัมภาษณ์ว่าเขาและหุ้นส่วนต้องการช่วยเหลือผู้พิการให้มีงานทำ หรือหากเป็นไปได้ก็เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ในการคัดคนเข้าทำงาน ทางบริษัทได้เสาะหาผ่านสมาพันธ์ผู้พิการของจีน ทั้งนี้ สมาพันธ์ระบุจีนมีผู้พิการมากกว่า 85 ล้านคน และยังขาดโอกาสในการถูกจ้างงานจำนวนมาก
ไม่เฉพาะ Hinichijou มีร้านกาแฟอีกหลายแห่งที่สนับสนุนผู้พิการ อาทิ ร้าน Lili Time ในเซี่ยงไฮ้ที่จ้างพนักงานหูหนวกกว่า 10 คน หรือร้าน The Forget Me Not Café ซึ่งจ้างงานผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อมและความจำเสื่อม (อัลไซเมอร์) ร้านกาแฟที่ให้บริการโดยผู้พิการเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นมากกว่าร้านจำหน่ายเครื่องดื่มเพราะมีความเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนแฝงอยู่ และโดยมากธุรกิจมักยั่งยืนเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนนั่นเอง
ที่มา : https://www.pridemagazineonline.com/bitty-beaus-serves-more-than-just-coffee/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี