เคล็ดลับ ขายผัก ผลไม้อินทรีย์ให้ปัง โมเดลทำธุรกิจยั่งยืนจากแบรนด์ สุขทุกคำ

TEXT : Surangrak Su.

PHOTO : สุขทุกคำ, เจษฎา ยอดสุรางค์

 

     ทุกวันนี้ผู้คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น การกินอาหารปลอดภัย ไร้สารเคมี เช่น ผักและผลไม้ปลอดสารพิษ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ผู้บริโภคต่างให้ความสนใจมากขึ้น แต่ด้วยปริมาณลูกค้าที่ยังถือว่าน้อยอยู่มากเมื่อเทียบกับภาพรวมของทั้งตลาด บวกกับอายุการเก็บรักษาที่สั้น (Shelf life) ทำให้เก็บรักษาสินค้าไว้ได้ไม่นาน จะทำอย่างไรจึงจะสามารถบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้พอดีกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่เกิดความสูญเสียของวัตถุดิบได้ วันนี้เลยจะชวนมาดู 3 เคล็ดลับการทำธุรกิจของแบรนด์ “สุขทุกคำ” ผู้จำหน่ายผักและผลไม้อินทรีย์ออนไลน์แบบครบวงจรกัน

ทำให้ครบวงจร ช่วยลดการสูญเสีย

      สมศักดิ์ เจียรสมบูรณ์  กรรมการผู้จัดการบริษัท สุขทุกคำ จำกัด เล่าที่มาของธุรกิจให้ฟังว่าแบรนด์สุขทุกคำ เริ่มจดทะเบียนก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาเมื่อปี 2562 โดยเป็นการซื้อกิจการต่อมาจากร้าน Health Me โมเดลการทำธุรกิจของแบรนด์จะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. ตลาดสด - การจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านทางเว็บไซต์ www.healthmediliver.com 2. ผูกปิ่นโต - ผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมปรุงจากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ และ 3. จัดเลี้ยง - บริการรับจัดเลี้ยงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยนอกจากใช้ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษในการปรุงอาหารแล้ว ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ยังผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติเป็นหลักด้วย เช่น ข้าวห่อใบตอง, ถ้วยกระดาษ เป็นต้น

     โดยผัก ผลไม้ที่นำมาจำหน่ายจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1. เครือข่ายเกษตรกรจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดต่างๆ เช่น สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน และ 2. จากไร่สุขทุกคำ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดพะเยา นอกจากนี้ยังมีการรับวัตถุดิบจากผู้ประกอบการพันธมิตรอาหารปลอดภัย เช่น เนื้อหมูอินทรีย์ ฟาร์มไข่เป็ด ไข่ไก่อินทรีย์ ไปจนถึงอาหารทะเลจากเรือประมงเล็กที่จับสดใหม่ ไม่ใช้สารเคมีในการเก็บรักษามาจำหน่ายเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย

     ซึ่งการสร้างโมเดลธุรกิจทั้ง 3 ส่วนขึ้นมา นอกจากช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับธุรกิจแล้ว วิธีการดังกล่าวยังช่วยลดความสูญเสียวัตถุดิบด้วย

     “การได้ผักมา 15 กก. ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถขายได้ทั้งหมดเลย เพราะระหว่างทางยังมีเรื่องการขนส่ง, อายุการเก็บรักษาที่สั้น ยังไม่นับรวมความต้องการของลูกค้าที่บางครั้งก็ไม่พอขาย บางครั้งก็ขายไม่หมด แต่การที่เรามีครัวของตัวเอง มีบริการรับจัดเลี้ยง และส่งปิ่นโตตามบ้าน ทำให้เราสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น โดยก่อนที่ผัก ผลไม้เหล่านั้นจะหมดอายุ หรือบางครั้งอาจสั่งมาขายปริมาณมากเกินไป เราก็สามารถนำมาดัดแปลงทำเป็นอาหาร ช่วยลดการสูญเสียไม่ให้เกิดขึ้นในธุรกิจ และยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วย” สมศักดิ์เล่าความสำคัญของทั้ง 3 โมเดลให้ฟัง

จัดทำสต็อกสินค้าให้ถูกต้อง ง่ายต่อการบริหารจัดการ

     จากการสร้างโมเดลธุรกิจให้ครบวงจร เพื่อช่วยลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ส่วนสำคัญต่อมาที่ต้องระวังในการจำหน่ายผัก ผลไม้สด ก็คือ การจัดทำสต็อกสินค้าให้ถูกต้อง เพื่อช่วยลดความผิดพลาดในการสั่งสินค้าของลูกค้า โดยในทุกๆ วันทางแบรนด์สุขทุกคำจะมีการตรวจเช็คสต็อกสินค้า เพื่อให้ได้ปริมาณจริงที่สามารถนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้าได้

     “เนื่องจากผัก ผลไม้ เป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาที่สั้น สมมติเราสั่งแก้วมังกร 100 กก. ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเอาลงขายในเว็บไซต์ได้ทั้งหมด 100 กก. เลย ต้องรอให้ของมาถึงก่อน เพื่อคัดแยกดูว่าระหว่างทางที่ขนส่งมาสูญเสียไปเท่าไหร่ เหลือจำนวนจริงที่สามารถขายได้เท่าไหร่ จากนั้นในแต่ละวันก็ต้องมาคอยดูอีกว่าผัก ผลไม้ที่เหลืออยู่นั้น สามารถใช้ได้จริงเท่าไหร่ มีเน่าเสียเพิ่มขึ้นไหม บางอย่างที่สามารถตัดแต่งได้ ถ้าทำแล้วจะเหลืออยู่จริงเท่าไหร่ เราจึงค่อยเอาขึ้นเว็บไซต์ เพื่อให้ลูกค้ากดเข้ามาซื้อ

     “หรืออีกกรณี คือ ผัก ผลไม้ เป็นสินค้าจากธรรมชาติ ไม่ใช่จากโรงงานผลิต ดังนั้นการจะกำหนดให้ได้ขนาดออกมาเป๊ะๆ เช่น 2 ลูก 1 กก. หรือ 3 ลูก 1 กก. ไม่สามารถทำได้ สมมติลูกค้าสั่งเข้ามาคนละ 1 กก. เราอาจชั่งได้คนแรก 1.1 กก. คนต่อมา 1.2 กก. ซึ่งเราก็ขายไปตามน้ำหนักจริง แต่พอหลายๆ คนเข้าสต็อกก็จะเคลื่อนไม่ตรงกับที่ทำเอาไว้ จึงต้องมีการเช็คสต็อกใหม่กันทุกวันว่ามีเหลืออยู่จริงๆ เท่าไหร่กันแน่    

     “ซึ่งข้อดีนอกจากเราจะสามารถขายสินค้าให้ลูกค้าในปริมาณที่ถูกต้องได้แล้ว ยังช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น บางช่วงอาจสั่งสินค้ามามากเกินไป แต่ลูกค้ากลับซื้อน้อย เมื่อเห็นแนวโน้มแบบนั้นแล้ว เราก็สามารถวางแผนคุยกับแผนกจัดเลี้ยง หรือทำปิ่นโตได้ว่าสามารถนำมาทำเป็นเมนูอะไรได้บ้างเหมือนที่ยกตัวอย่างให้ฟังไปในข้างต้น” สมศักดิ์กล่าว

จำแนกสินค้าขายดีออกเป็นกลุ่มๆ วางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง

     จาก 2 วิธีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกหนึ่งวิธีที่แบรนด์สุขทุกคำใช้สร้างความสมดุล บริหารระหว่างความต้องการซื้อของลูกค้าและปริมาณการเพาะปลูกที่เหมาะสมของเกษตรกร ก็คือ การจำแนกสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. สินค้าหาง่าย เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า 2. สินค้าหายาก เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น แครอท บรอกโคลี และ 3. สินค้าขายดี เช่น กระหล่ำปลี ผักกาดขาว

     “เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการทั้งเกษตรกรผู้ผลิต และการทำความเข้าใจกับลูกค้า เราจึงจำแนกสินค้าออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น รายการไหนขายดี ก็ต้องพยายามไม่ให้ขาด เราก็ต้องคุยกับเกษตรกรว่าสินค้าตัวนี้ขายดีนะ ควรมีสัปดาห์ละกี่กิโลกรัม ต้องวางแผนปลูกยังไงให้ได้ต่อเนื่อง ส่วนตัวไหนหายากก็พยายามอธิบายลูกค้าให้เข้าใจว่ามันไม่ได้มีบ่อยๆ จะมีเฉพาะแค่ช่วงฤดูนี้เท่านั้น

     “ในส่วนของธุรกิจ เราก็พยายามให้ลูกค้าได้สินค้าที่สดใหม่เสมอ โดยเราจะมีการเก็บสถิติข้อมูลไว้อยู่แล้วว่าสินค้าตัวไหนเป็นที่นิยมบ้าง แต่ละตัวใช้ต่อสัปดาห์ประมาณเท่าไหร่ และมีอายุการเก็บรักษาเป็นยังไง อยู่ได้กี่วัน ข้อมูลเหล่านี้เราต้องนำมาบริหารจัดการให้ลงตัวทั้งหมด โดยเราจะเปิดรับออร์เดอร์ล่วงหน้า 2 วัน ก่อนวันส่งสินค้าตามรอบส่งของร้าน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการสต็อก เช่น ถ้ารอบส่งวันพุธ ก็จะเปิดรับในวันจันทร์ จะไม่เปิดรับตั้งแต่วันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อกันสต็อกไว้ให้กับลูกค้าที่สั่งวันจันทร์และอังคาร หรือบางครั้งถ้ามีลูกค้าสั่งมาล่วงหน้านานๆ เช่น จะเอาวันศุกร์ แต่สั่งมาตั้งแต่จันทร์ แทนที่จะสั่งมาทีเดียวเยอะๆ เราก็จะใช้วิธีเปลี่ยนเป็นสั่งจำนวนน้อยลง แต่เพิ่มรอบการสั่งให้ถี่ขึ้นแทน เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าสดใหม่ เพราะหน้าที่ของเรา คือ ต้องพยายามทำให้สมดุลกับทุกฝ่ายทั้งเกษตรกรผู้ปลูก ลูกค้า หรือธุรกิจของเราเอง” สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

จากผู้บริโภค สู่เจ้าของธุรกิจ

    ก่อนหน้าที่จะมาเริ่มต้นทำธุรกิจจำหน่ายผักและผลไม้อินทรีย์ สมศักดิ์เอง ก็เคยเป็นหนึ่งในลูกค้าสมาชิกของตะกร้าปันผักอินทรีย์ รับผัก ผลไม้อินทรีย์ที่จัดส่งให้ถึงหน้าบ้านมาก่อน ต่อมาภายหลังด้วยความชื่นชอบส่วนตัวและแนวคิดที่อยากส่งต่อผัก ผลไม้ดีๆ ให้กับผู้อื่นได้รับประทานกันมากขึ้น บวกกับเคยทำงานเกี่ยวกับศูนย์กระจายสินค้ามาก่อน จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมหุ้นกับร้าน Health Me ที่เขาเคยเป็นลูกค้า ต่อมาภายหลังจึงเข้าซื้อกิจการเพื่อบริหารเต็มตัว และสร้างแบรนด์ “สุขทุกคำ” ขึ้นมา โดยความหมายสุขทุกคำของเขา ไม่ใช่แค่อร่อย แต่หมายถึงอาหารปลอดภัยดัวย ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริโภค เกษตกร ธุรกิจ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกทำลายด้วย

สุขทุกคำ

FB : สุขทุกคำ

โทร. 08 6332 8366

https://www.healthmedelivery.com/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย