TEXT: Momo
PHOTO: TAO BIN
ใครจะคิดว่าจากตู้เต่าบินแบรนด์ที่ทุกคนทั่วประเทศรู้จัก ที่ทำกำไรได้วันละ 1 ล้านบาทในตอนนี้ และวางตู้จำหน่ายไป 3,000 ตู้แล้ว จะเคยเจ๊งมาก่อน แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดทำให้แบรนด์เต่าบินกลับมาบินได้อีกครั้ง ซึ่งเรียกได้ว่าเติบโตมากเลยทีเดียว ไปดูว่าการปรับเปลี่ยนแนวคิดว่านี่คืออะไร ไปฟัง วทันยา อมตานนท์ เจ้าของแบรนด์เต่าบิน กันได้เลย
อะไรที่ทำให้เต่าบินมาถึงจุดนี้ได้
ตู้เต่าบินไม่ได้เริ่มต้นอยู่ดีๆ ก็มาเป็นตู้กาแฟ เพราะเมื่อก่อนเริ่มต้นจากขายตู้น้ำขวดน้ำกระป๋อง ซึ่งเป็นสินค้าที่ซื้อมาแล้วขายไป และกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนมันใช้เวลานานมาก เรียกได้ว่าเจ็บมาเยอะเลยก็ว่าได้ พอขาดทุนมาได้ระยะเวลาหนึ่ง เธอก็เริ่มมองว่าเราควรจะทำอย่างไรดี จะหาอะไรมาขายดี และจะเปลี่ยนแนวทางอย่างไรดีให้ธุรกิจไปรอด ทำให้เธอมานั่งคิดว่าปัจจุบันอะไรที่เป็นที่นิยม และมีความต้องการของผู้บริโภคอย่างแน่นอน เธอจึงคิดได้ว่าตอนนี้ธุรกิจคาเฟ่คนให้ความสนใจมากๆ ใครๆ ก็นั่งคาเฟ่ ทำให้ธุรกิจคาเฟ่พุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลย เธอก็เลยเริ่มมองแล้วว่า ถ้าอย่างนั้นขายเป็นเครื่องดื่มดีไหม เพราะว่าการทำอย่างนี้เหมือนเราได้ผลิตเอง โดยไม่ต้องไปเสียต้นทุน หรือถูกฟันกำไรไปก่อนเหมือนการซื้อมาขายไป เรามาผลิตและขายเองไปเลยดีกว่า
ซึ่งในตอนนั้นเธอเริ่มมองจากการนำเข้าตู้จากต่างประเทศมาก่อน และลองมาทำขายดู โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “เติมเต็ม” เป็นตู้กาแฟที่ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ มีประมาณ 100 ตู้ แต่ทำไปทำมาก็เจ๊งเหมือนกัน รอบนี้ไม่ได้เจ๊งเพราะว่าขายไม่ได้ มันเป็นเพราะว่าตู้มันยังไม่ดีพอ เพราะคนที่ผลิตตู้กาแฟไม่คิดถึงคนที่เอาไปทำต่อ ทำให้เจอปัญหามากมาย เธอก็ได้มานั่งคิดแล้วว่าในเมื่อมันขายได้ คนต้องการซื้อ เธอลองมาพัฒนาเองดู ทำให้ได้กลายมาเป็นตู้เต่าบินในทุกวันนี้
“มันคือการมองเห็นว่าอะไรที่มันมีความต้องการ เห็นว่าจริงๆ แล้ว จุดที่มันพอจะเอาความถนัดของเรามาเสริม เพื่อให้เราได้เปรียบมันคือจุดไหน อันนี้คือคีย์สำคัญของเต่าบิน”
ใช้ความถนัดสร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์
เธอได้บอกว่าเต่าบินเดิมเรามีองค์ความรู้อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ทำขึ้นมาเองได้เลย เพราะต้องรู้ด้วยว่าบริษัทเราถนัดอะไร อย่างบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจมากว่า 30 ปี และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เธอบอกว่าบริษัทมีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี ทำให้รู้ว่าสามารถทำตู้เต่าบินเองได้
“เราต้องรู้ว่าจุดที่เราทำได้ และได้เปรียบคือตรงไหน ซึ่งส่วนได้เปรียบของเต่าบินก็คือ เรามีความรู้มาก่อน และเป็นสิ่งที่เราเคยทำได้มาก่อน จากนั้นเราก็ต่อยอดจากตรงนั้นขึ้นมา เมื่อเห็นปัญหา และเห็นว่าบริษัทมีต้นทุนในส่วนนี้และเราสามารถแก้ได้”
ตอนแรกเธอทำขึ้นมาประมาณ 3 ตู้ เพื่อเอามาลองพัฒนาก่อน แต่กว่าที่จะเอาไปตั้งขายข้างนอกก็ใช้ระยะเวลายาวนานในการพัฒนา ซึ่งใช้เวลา 2 ปี ก่อนที่จะได้เอาไปวางข้างนอก เอาจริงๆ เราคิดว่ามันค่อนข้างเร็วมากๆ ในการพัฒนา
อุปสรรคและความท้าทาย
“เจอเยอะค่ะ ปัจจุบันเราก็ยังไม่หยุดพัฒนา สำหรับตองคือเตาบินยังไม่เสร็จ ยังเป็นหนึ่งในงานประดิษฐ์ที่ยังไม่สมบูรณ์”
โดยปัญหาที่เจอหลักๆ ก็คือ ตู้เสีย เช่น เรื่องผง การผลิต การทำความสะอาด การเพิ่มยูวี การเปลี่ยนถังน้ำ ทำยังไงให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของตู้ได้มากที่สุด โดยที่เข้าไปเซอร์วิสน้อยที่สุด
คอนเซปต์ของเต่าบินคือ ต้องการพัฒนาโปรดักต์ออกมา เพื่อให้ออกไปสู่ตลาดให้เร็วที่สุด แต่การทำอะไรเร็วก็ต้องเจอความความเสี่ยงที่เกิดขึ้น บางครั้งก็ต้องออกไปแก้จริงในหน้างาน แต่แลกมาด้วยการที่เป็นเจ้าแรกที่อยู่ในตลาดก่อน เป็นคนทำตู้เต่าบินก่อน เพราะว่าถ้าไม่ได้ทำออกไปก็จะไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่มันเกิดขึ้น
เป้าหมายในอนาคต
ตอนนี้เต่าบินวางตู้จำหน่ายไป 3,000 ตู้ แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ทางแบรนด์วางไว้ เพราะว่าแบรนด์ต้องการอยากเป็นความสะดวกสบายของทุกคน พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าจะออกไปที่ไหนก็เจอตู้เต่าบิน เดินไปที่ไหนก็เจอ ซึ่งทางแบรนด์ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีตู้เต่าบิน 20,000 ตู้ ภายใน 3-5 ปี ในส่วนของต่างประเทศนั้นทางแบรนด์ยังไม่พร้อม เพราะต้องพัฒนาต่อ และการไปต่างประเทศมันมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ที่จะต้องผ่านไปก่อน อย่างเช่น การพัฒนาซอฟแวร์ ซึ่งยังทำไม่เสร็จ อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา แต่มีแพลนว่าจะไปวางขายต่างประเทศแน่นอน
สิ่งที่อยากบอกกับ SME
“หนึ่ง คือ การมองปัญหาให้ออกเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าคิดเยอะๆ ศึกษาเยอะๆ มันจะเจอจุดสุดท้ายที่เราจะสามารถพออ่านได้ว่า ความจริงแล้วปัญหามันมีค่าพอที่จะแก้หรือป่าว หรือเราควรจะข้ามมันไป”
“สองคือการ มองกลับมาที่ตัวเองว่าอะไรคือความถนัดของเรา และพร้อมที่จะไปแก้ปัญหาตรงนั้นได้หรือป่าว” วทันยา กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี