TEXT : ปองกมล ศรีสืบ
ก่อนที่ผู้เขียนจะไปเดินชมงาน Plant Based Festival ที่จัดโดย SME Thailand เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน ณ สามย่านมิตรทาวน์ ก็มีคำถามสองสามข้ออยู่ในหัว
คำถามแรก คือ อาหาร Plant based เป็นเรื่องใหม่จริงๆ หรือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ เพราะในความ เป็นจริง ถ้าเหมารวมว่ามันคือ อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ เราจะรู้จักสิ่งเหล่านี้ผ่านเทศกาลกินเจ และนิยามของ อาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว
คำถามถัดมา ก็คือ เหล่าบรรดานักธุรกิจ Start Up จะยังพัฒนาสินค้าเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับ Plant Based ได้อีกหรือไม่ สุดท้ายคือ คำว่า ‘นวัตกรรม’ ยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ลูกค้าเข้า มาหาแบรนด์ต่างๆ ได้จริงหรือ?
หลังจากไปเดินงานครบทั้งสองวัน ก็พบว่าตัวเองช้อปปิ้งสินค้าในงานเยอะแยะมากมายจนกระทั่ง ท้ายรถไม่มีที่จะวางของทั้งสองวัน พร้อมกับได้คำตอบว่า
“ธุรกิจนี้ เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แถมยังมีโอกาสเติบโตชนิดก้าวกระโดดและน่าจับตามองสุดๆ”
ทำความรู้จัก Plant based
ก่อนจะไปสรุปไอเดียในการทำธุรกิจและส่องนวัตกรรมเด็ดๆ จากงานนี้ เราต้องทำความเข้าใจ เกี่ยวกับความหมายของตลาด Plant based กันก่อน Plant based คือ อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก ซึ่งใช้วัตถุดิบทำจากพืชที่ให้โปรตีนสูง แล้วนำมาแต่งกลิ่น รสชาติ ให้เหมือนกับเนื้อสัตว์
ความแตกต่างน่าจะมาจาก Key Word ของ Plant based ที่ว่า ‘โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ หรือ โปรตีนทางเลือก’ ดังนั้น วัตถุดิบที่ใช้สำหรับ Plant based จึงมักจะเป็นพืชที่ให้โปรตีนสูง
เทรนด์ของ Plant based ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่มันก่อตัวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ราวๆ ปี 2002 (อ้างอิงจาก Time Line ในนิตยสาร Start Up Free Copy ฉบับ 102 ที่แจกภายในงาน) หลังจากนั้นมา Plant based ก็เกิดเป็น “เทรนด์” ขึ้นมาทั่วโลก ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น กระแสใส่ใจสุขภาพ กระแสการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม (การทำปศุสัตว์สร้างก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก) กระแสของอาหารมังสวิรัติ รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากอาหาร
จากมูลค่าตลาด Plant based ทั่วโลก จะเห็นได้ว่าตลาดนี้มีการเติบโตขั้นต่ำประมาณปีละ 20%
ปี 2020 = 29.4 พันล้าน / ปี 2021 = 35.6 พันล้าน / ปี 2022 = 44.2 พันล้าน
ในขณะที่ตัวเลขของเมืองไทย ตลาดโปรตีนทางเลือกในปีนี้ อยู่ที่ 3.65 หมื่นล้านบาท และในจำนวนนี้ มีโปรตีนทางเลือกจาก ‘นวัตกรรม’ ใหม่ ถึง 4,100 ล้านบาท!!!
ธรรมดาตรงไหน เอาปากกามาวง
เจาะลึกนวัตกรรม Plant based
กลับมาที่นวัตกรรม Plant based ที่น่าสนใจผลิตภัณฑ์ภายในงานไม่ได้มีแค่เอาพืชผักผลไม้มาปรุงแต่ง เป็นวัตถุดิบทดแทนเนื้อสัตว์ได้เท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น นม เนย โยเกิร์ต จากพืช ไข่จากพืช รวมถึงเครื่องปรุงจากพืชและอาหารพร้อมทานอีกหลายอย่าง
ประเด็นหลักไม่ใช่เรื่องของวัตถุดิบ แต่อยู่ที่ “นวัตกรรม” ที่ผู้ประกอบการใช้เพื่อครีเอทผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาได้ตื่นตาตื่นใจ และทำให้งานประสบความสำเร็จในแง่ของจำนวนผู้เข้าชมงานที่เนืองแน่นทั้งสองวัน รวมไปถึงยอดขายที่เกิดขึ้นหน้างานอีกด้วย อันนี้ดูง่ายๆ แค่ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ไปออกบูธ ต้องเติม สต็อกของขายทั้งวัน และมีหลายบูธที่ของหมดตั้งแต่งานยังไม่เลิก
นวัตกรรมภายในงานมีอะไรบ้าง?
เริ่มจากการใช้พืชทำวัตถุดิบ มีตั้งแต่ เนื้อหมู ไก่ เนื้อ แกะ ซึ่งมีทั้งเป็นแบบสับธรรมดา และมีแบบปั้น เป็นก้อนสำหรับทำเบอร์เกอร์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีอาหารพร้อมทานอีกจำนวนมาก เช่น ขนมจีบ ทงคัตสึ มีทบอล เกี๊ยวไก่ เกี๊ยวกุ้ง โยเกิร์ต หมูกรอบ และอาหารทะเลจากพืช นอกจากนี้ ก็ยังมี อาหารมื้อที่ครีเอทกัน ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น พิซซ่าที่โรยชีสที่ทำจากพืช (ซึ่งอร่อย มากกก) สปาเก็ตตี้มีทบอล แฮมเบอร์เกอร์ สเต๊ก ข้าวหมูอบ ข้าวหมูกรอบ ข้าวผัดทะเล บะหมี่ลูกชิ้นปลา ฯลฯ แล้วก็ยังมีพวกอาหารเสริม โปรตีนเชค วิตามินต่างๆ อีกมากมาย
โอกาสธุรกิจ
ลองมาคิดเล่นๆ ว่าจากภาพรวมทั้งหมดของปรากฎการณ์ Plant based ภายในงานแค่ 2 วัน กับตัวเลขสถิติการเติบโตของธุรกิจด้านนี้ เราเห็นโอกาสอะไรบ้าง?
- เกษตรกร ปลูกพืชผักผลไม้ สำหรับส่งวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตอาหารโปรตีนทางเลือก (ปลูกเฉพาะ เจาะจงไปเลยว่าสำหรับ Plant Base)
- Packaging เติบโตไปพร้อมกันได้ทั้งสายงานผลิตและสายงานออกแบบ
- ร้านอาหารและเครื่องดื่มแนวสุขภาพ ถ้าคุณเห็นไอเดียของที่มาขายในงาน คุณจะรู้เลยว่า แนวทาง การเปิดร้านอาหารเพื่อสุขภาพโดยการชูเรื่องโปรตีนจากพืช เป็นอะไรที่ “ทันสมัย” มาก แถมยัง เจาะกลุ่มได้ ตั้งแต่ วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงสูงวัย การทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพแบบเท่ๆ สไตล์โมเดิร์นนั้น ทำได้ไม่ยากเลย แถมยังไม่ค่อยมีใครทำด้วย ซึ่งเปิดได้ทั้งแบบคีออส หรือจะตั้งเป็นร้านจริงจังก็ได้ งานนี้ลืมภาพลักษณ์เดิมๆ ไปได้เลยว่าร้านอาหารสุขภาพจะต้องเชยๆ และเจาะกลุ่มคนสูงอายุเท่านั้น
หรือ ถ้าคำว่าร้านแนวสุขภาพยังไม่ชัดพอ ขึ้น Tag Line เลยก็ได้ว่าเป็นร้านอาหาร Plant based อร่อยได้ ย่อยง่าย โปรตีนสูง ไม่ต้องง้อเนื้อสัตว์
- Delivery ทำอาหารกล่องสำหรับจัดส่ง ก็น่าสนใจ ไม่ต้องมีหน้าร้านแถมยังเลือกช้อปวัตถุดิบ ที่น่าสนใจมาครีเอทเมนูข้าวกล่องได้อีกด้วย
ก็แค่เพิ่มเติมเมนูมังสวิรัติ หรือ Plant based อร่อยๆ เป็นทางเลือกให้ ลูกค้า บางทีลูกค้าอาจจะอยากเปิดใจลองชิมจากเมนูครีเอทของคุณ แล้วกลายเป็นขาประจำก็ได้
- คิดค้นและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เลียบเคียง หรือมีการใช้คู่กับ Plant based ไล่ไปตั้งแต่ พืชผักผลไม้ ออแกนนิกส์ หมึกพิมพ์ฉลากของผลิตภัณฑ์ปลอดสาร แพ็กเกจใส่อาหารทำจากพืชย่อยสลายได้ โปรตีนเชค สำหรับนักกีฬา กล่องข้าวพกพา กระเป๋าหนังเทียม ถุงผ้า หรือแม้แต่ Application ที่ใช้คำนวนปริมาณ สารอาหารที่จำเป็นในแต่ละวัน
- ปั้นแบรนด์ Plant based ขึ้นเอง ดูจากเทรนด์และแนวโน้มตลาดแล้ว ถือว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้น ของธุรกิจ ประเภทนี้ ทำก่อนก็ถูกจดจำก่อน แนวโน้มการทำก็ไม่ได้ยากเหมือนเจ้าแรกๆ ที่ทำมาก่อน เพราะอย่างน้อยเราก็ ได้ไอเดียเรื่องวัตถุดิบเป็นตัวตั้งต้น แถมยังมีสินค้าให้เราได้ทดลองชิม วิเคราะห์ และเอาไปปรับเป็นสินค้า ตัวใหม่ได้ไม่ยาก หรืออาจจะเจาะจงไปที่ Plant basedสำหรับคนแพ้ถั่ว หรือแพ้เห็ด ก็ได้
- งานบริการ คุณอาจจะรับเป็นโค้ชด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย โดยเน้นให้บริการ สำหรับ คนกิน Plant basedหรือคนที่กินมังสวิรัติโดยเฉพาะไปเลย เพราะตอนนี้ในวงการนักกีฬาก็ มีการทำวิจัยเก็บ ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์อาหารแล้วพบว่า นักกีฬาที่กินอาหารจาก Plant basedมีสมรรถภาพในการเล่นกีฬา ดีกว่านักกีฬาที่กินเนื้อสัตว์ (หาข้อมูลได้ จากสารคดีทาง Netflix) ถ้าคุณเปิดตัวเป็นรายแรกๆ รับรองว่า คิวยาว ไปถึงสิ้นปีแน่ๆ
บทสรุปจากเรื่องนี้ก็คือ หากคุณคิดอยากเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ หรือเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว การจับตาดูเทรนด์หรือกระแสของธุรกิจ เป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
คุณอาจจะกระโดดลงไปในเทรนด์ที่อยู่ในจังหวะขาขึ้น หรือถ้าคิดว่าไม่อยากลงไปต่อสู้ในตลาด แดงเดือด ก็สามารถลงไปเล่นเป็นผู้ผลิตป้อนโรงงานอีกที หรืออาจจะออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้คู่ไปกับเทรนด์นั้นๆ ก็ได้
หรือว่า ถ้าไม่ใช่อะไรสักอย่างแนวๆ นี้ คุณก็ยังเป็น “ผู้บริโภค” ที่ทันสมัยและอินเทรนด์มากๆ ได้อยู่นะ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี