บทเรียนน่ารู้ของเหล่าทายาท เมื่อธุรกิจเก่ามั่นคง แต่ไม่ได้ทำให้มั่งคั่ง

TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์

 

     คนรุ่นใหม่บางคนพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหนีไปให้ไกลจากธุรกิจของครอบครัวที่คนรุ่นพ่อแม่ก่อตั้งมา แต่หลังจากนั้น บางคนก็กลับมาค้นพบ คุณค่า สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย และตัดสินใจกลับมาสานต่อในทิศทางของพวกเขาเอง เช่นเดียวกับ เรื่องราวของ อิสมาเอล บูลาสมูม หรือ “สไมล์” หนุ่มเบลเยียมเชื้อสายโมร็อกโก ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ค้นพบเส้นทางชีวิตพร้อมไปกับการสานต่อธุรกิจครอบครัว จากหนังซีรีส์สัญชาติเบลเยียมเรื่อง SOIL หรือ “ดินดี ตายสบาย” ที่ฉายทาง Netflix

    เบลเยียมเป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรป ที่ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1960 การขยายตัวทางอุตสาหกรรมทำให้ต้องการแรงงาน รัฐบาลจึงมีนโยบายเชื้อเชิญคนเข้ามาทำงาน หลังจากยกเลิกนโยบายนี้ไปในปลายทศวรรษ 1970 ชาวมุสลิมเชื้อสายโมร็อกโกก็กลายเป็นคนเบลเยียม ธรรมเนียมที่พวกเขายึดถือปฏิบัติคือการส่งศพกลับไปฝังที่ประเทศโมร็อกโก ทันทีที่มีคนตาย จะมีธุรกิจที่รับหน้าที่จัดการทุกอย่างให้ ตั้งแต่เก็บศพ ซื้อตั๋วเครื่องบิน จัดงานศพในโมร็อกโก ทั้งหมดถูกจัดการเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง

     โอมาร์พ่อของสไมล์ก็อยู่ในธุรกิจนี้ บริษัท อาซูร็องส์โอมาร์ ให้บริการส่งศพกลับไปฝังที่ประเทศโมร็อกโกมานานกว่า 30 ปี เขาเชื่อว่านี่เป็นงานที่มั่นคงที่สุดสำหรับชาวโมร็อกโกในเบลเยียม มีคนตายอยู่ตลอด อย่างไรคนก็ต้องการใช้บริการนี้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดด้วยซ้ำ เพราะเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่แม่ของสไมล์คิดเรื่องนี้ เธอสั่งเสียไว้ก่อนจากไป ตอนที่พ่อสาบานว่าจะฝังแม่ที่นี่ ใกล้กับลูกๆ ที่เธอรัก เขาและพี่สาวยืนอยู่ข้างเตียงแม่ในโรงพยาบาลที่บรัสเซลส์ด้วย

     แต่ทันทีที่แม่ตาย โลงศพแม่ถูกส่งไปสนามบิน เย็นวันต่อมาแม่ก็ถูกฝังที่สุสานในประเทศโมร็อกโก สำหรับเด็กชายวัย 12 ปี การที่ศพแม่ถูกฝังห่างไปสองพันกว่ากิโลเมตร กลายเป็นวันที่มืดมนที่สุดในชีวิต เป็นครั้งสุดท้ายที่เขากอดพ่อ และเมื่อเติบโตมาก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งกับธุรกิจครอบครัวเลย แล้วจู่ๆ เขาก็ต้องเรียนรู้บทเรียนในฐานะทายาทธุรกิจ 

1.ธุรกิจมั่นคง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย

     เมื่อ โอมาร์ ตัดสินใจวางมือจากธุรกิจ ยกกิจการให้ทายาทรับช่วงต่อ และออกเดินทาง บริษัท อาซูร็องส์โอมาร์ ครึ่งหนึ่งเป็นของนาเดียลูกสาวและราชิดลูกเขย ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของสไมล์ พ่อและพี่สาวอยากให้เขามาทำงานที่บริษัท เพราะเขาทำตามใจตัวเองมาหลายปี ไม่มีอะไรสำเร็จสักอย่าง สไมล์ดูเหมือนคนไม่เอาถ่าน แต่จริงๆ เขามีเป้าหมายในชีวิต นั่นคือ อยากรวยโดยไม่ต้องทำงานหนัก แม้ธุรกิจของพ่อมั่นคง แต่ก็ไม่ทำให้รวย เขากับเจบีเพื่อนรักจึงหมกมุ่นกับการคิดไอเดียธุรกิจเจ๋งๆ ที่จะสร้างความร่ำรวย แต่หลังจากพยายามมาไม่รู้กี่ครั้ง ก็ยังไม่มีอะไรใกล้ความจริงได้เลย พวกเขาทุ่มเงินจนหมด และยังค้างค่าเช่าห้องอยู่สามเดือน

     ไอเดียล่าสุดที่สไมล์ไปนำเสนอกับธนาคารเพื่อขอกู้เงิน 100,000 ยูโร คือ “กรรไกรตัดพิซซ่า” เขาต้องการทุนสำหรับผลิตกรรไกรตัดพิซซ่า 10,000 เล่ม และโฆษณา พวกเขาเชื่อว่าหากได้เงินกู้ก้อนนี้มาก็จะร่ำรวย แต่นายธนาคารบอกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อีกหกเดือนเขาจะกลับไปทำงานส่งพิซซ่าเหมือนเดิม อย่างเดียวที่เปลี่ยนไป คือ มีกรรไกรตัดพิซซ่า 9,995 เล่มในโรงรถ และต้องแบ่งเงินเดือนครึ่งหนึ่งมาจ่ายให้ธนาคารไปอีกสิบปี

     ส่วนราชิดเมื่อขยับจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ก็ฝันถึงการเปิดสาขาแห่งที่ 2 – 3 เป็นแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ เขาสั่งซื้อกระเบื้องดินเผาทางอินเตอร์เน็ต เพราะลดราคา 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อมาซ่อมผนังออฟฟิศ แต่สิ่งที่ได้มากลายเป็นวัตถุดิบ “ดินเหนียวจากโมร็อกโก” ที่ต้องมาเผาเอง แทนที่จะเป็นกระเบื้องสำเร็จ

2. จุดเปลี่ยนของธุรกิจส่งศพข้ามประเทศ

     นาเดียจ้างสไมล์กับเจบีให้มาช่วยขับรถไปรับเฟอร์นิเจอร์จากโมร็อกโก ลูกค้าเข้ามาสอบถามค่าใช้จ่ายในการส่งศพกลับไปฝังที่โมร็อกโกพอดี ราคา 5,500 ลดแล้วเหลือ 4,700 ยูโร แต่พวกเขามีงบแค่ 3,000 ยูโร จึงถูกปฏิเสธ สไมล์ได้ยินตัวเลขเขาก็หูผึ่ง จึงแอบติดต่อลูกค้า แนะนำตัวเองว่าเป็นหนึ่งในเจ้าของอาซูร็องส์โอมาร์ เสนอทางออกในราคา 3,000 ยูโร โดยนำศพกลับไปฝังที่โมร็อกโกทางรถยนต์ เขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับธุรกิจนี้เลย คิดง่ายๆ แค่ว่า นำศพออกจากโลง ใส่ตู้เย็น แอบขนข้ามชายแดนไปได้ก็น่าจะจบ  

     เมื่อพี่ชายของลูกค้ามาถึง รู้ว่าศพพ่อถูกส่งกลับโมร็อกโก สองพี่น้องก็เริ่มถกเถียงกัน พี่ชายตัดสินใจว่าจะฝังที่เบลเยียม ขณะที่น้องชายอยากฝังศพพ่อตามธรรมเนียม ให้สมกับที่เป็นมุสลิม ในดินศักดิ์สิทธิ์ที่โมร็อกโก สองพี่น้องทะเลาะกันไม่จบและเริ่มชกต่อยกัน ระหว่างที่สไมล์เข้าไปห้ามทัพ ก็หันไปเห็นลังดินเหนียวจากโมร็อกโกของราชิด ทันใดนั้นก็เห็นคำตอบอยู่ตรงหน้า พิธีฝังศพถูกจัดขึ้นที่เบลเยียม ด้วยดินจากโมร็อกโก

     เจบีเห็นช่องทางธุรกิจ ความคิดดีๆ นี้จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง คนที่อยากอยู่ใกล้ครอบครัวมีมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าถูกฝังที่อื่น ก็แค่เอาดินจากที่บ้านมา ดินอันบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์จากโมร็อกโก เป็นการประนีประนอมแบบเบลเยียมที่ทำให้ทุกคนมีความสุข

3. การเริ่มต้นเป็นส่วนที่ยากเสมอ

     โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมงานศพ แวดวงที่มีความทะเยอทะยานน้อยเกินไป และคิดถึงธรรมเนียมมากเกินไป ตอนนี้สไมล์รู้ว่าอยากทำอะไรในชีวิต เขาจะนำธุรกิจอาซูร็องส์โอมาร์เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นธุรกิจที่ช่วยเหลือชุมชน ไปพร้อมๆ กับการหาเงินก้อนโต แต่เขาต้องโน้มน้าว พ่อ ราชิด และทุกคนบนโลกให้ได้ก่อน

     เจบีช่วยออกแบบใบปลิวโฆษณา พวกเขานำไปแจกที่โรงพยาบาล ให้กับผู้ป่วยไม้ใกล้ฝั่ง และได้พบกับ เบน อัลลาล นักธุรกิจผู้ได้รางวัลดิวัน ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้ประกอบการดีเด่นสำหรับชาวโมร็อกโก สไมล์แนะนำตัวเองพร้อมยื่นใบปลิว “ฝังศพที่นี่ในดินจากโมร็อกโก ราคาถูกกว่ากันมาก” ให้ชายชรานำไปบอกลูกหลาน การไปหาลูกค้าในโรงพยาบาล เสนอบริการฝังศพให้คนไข้ใกล้ตาย เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง นาเดียถูกเรียกไปที่โรงพยาบาล รับรู้เรื่องที่น้องชายไปก่อไว้ เธอทิ้งใบปลิวลงถังขยะ แต่สไมล์ก็ยังเดินหน้าต่อไปด้วยความเชื่อมั่นในความคิดบรรเจิดตัวเอง เขาแอบเก็บใบปลิวไปวางแจกที่มัสยิด และถูกทิ้งลงถังขยะอีกครั้ง  

     เจบีที่จบทางด้านศิลปะ สร้างสรรค์ผลงานโดยการทำคลิปวิดีโอ นำเสนอดินจากโมร็อกโก ในขณะที่ค่าครองชีพมีแต่จะแพงขึ้นทุกปี การตายก็แพงเหมือนกัน หลายครอบครัวสู้ไม่ไหว ทางเลือกที่ถูกกว่าคือการฝังศพที่เบลเยียม ด้วยดินโมร็อกโกแท้ๆ สไมล์ดูคลิปผลงานของเพื่อนรักระหว่างที่ไปรับศพหญิงสาวที่จากไปเพราะอุบัติเหตุทิ้งลูกชายวัยสิบขวบไว้ เด็กน้อยถามชายหนุ่มว่าแม่จะขึ้นเครื่องบินไปไหน เขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงฝังแม่ที่นี่ไม่ได้ ขณะที่ปลอบโยนเด็กชาย สไมล์ก็นึกถึงตัวเองกับแม่ และได้ไอเดียใหม่มาปรับในคลิปโฆษณาธุรกิจ

     “เราทำธุรกิจส่งศพกลับประเทศมาหลายปี ส่วนใหญ่จะส่งไปโมร็อกโก วันนี้ผมส่งศพของคุณแม่ยังสาวกลับไป ลูกชายที่ยังเล็กของเธอสบตาผม และผมเห็นตัวเองเมื่อ 15 ปีก่อน เราเชื่อว่าเราทำให้ต่างไปได้ เรานำเศษเสี้ยวของโมร็อกโกมาหาคุณที่นี่ อยากให้คนที่คุณรักอยู่ใกล้ๆ ไหม อาซูร็องส์โอมาส์ ขอเสนอโอกาสที่จะฝังศพคนที่คุณรักที่นี่ ในดินโมร็อกโกแท้ๆ ไม่มีสิ่งเจือปน”

     คลิปนี้กระทบใจใครหลายคน แต่หลังจากอัพโหลดขึ้นโซเชียลก็กระเทือนยิ่งกว่า พวกเขาโดนทัวร์ลง คอมเมนต์กระหน่ำ ทั้งด่าว่าขู่ฆ่าสารพัด จนสไมล์เริ่มกลัว แต่ก็มีลูกค้าติดต่อเข้ามา ลูกของ เบน อัลลาล ตัดสินใจฝังศพพ่อที่เบลเยียม ในดินจากโมร็อกโก การได้ฝังศพมหาเศรษฐี นักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่พวกเขาก็ถูกข่มขู่ถึงบริษัทด้วยศพหมาเน่า เมื่อเจอแบบนี้สไมล์กลับมาคิดถึงทางเลือก เขาอยากให้คนจดจำแบบไหน ถอดใจยอมแพ้ แล้วกลายเป็นคนที่มีความคิดบ้าๆ บอๆ แต่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จ หรือคนที่ต่อสู้บากบั่นอย่างกล้าหาญแม้ต้องเสี่ยงชีวิต

     สไมล์เดินหน้าต่อไป เขาได้เรียนรู้ว่าหากไม่อยากล้มเหลว ต้องเข้าหาคนให้ถูกกลุ่ม เพราะคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ยอมรับแนวคิดของเขาแน่นอน จึงกำหนดอายุกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้เห็นคลิปโฆษณา ให้เหลือแค่ 15-50 ปี แล้วเขาก็ได้ลูกค้าคนสำคัญ ดาวเด่นนักฟุตบอลระดับนานาชาติ เอล ฟาสซี นักฟุตบอล เชื้อสาย เบลเยียม-โมร็อกโก เสียชีวิตกะทันหันจากอุบัติเหตุ ครอบครัวของเขาได้ดูคลิปของสไมล์จึงติดต่ออยากฝังศพที่เบลเยียม ในดินจากโมร็อกโก แต่ก็อยากทำตามธรรมเนียมที่ต้องฝังศพภายใน 48 ชั่วโมงด้วย พวกเขามีงบ 15,000 ยูโร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่ อาซูร็องส์โอมาส์ เคยรับลูกค้ามา สไมล์มองเห็นเส้นทางธุรกิจของเขาแล้ว

     แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อสุสานเรียกให้สไมล์ไปจัดการหลุมศพที่ฝังไปก่อนหน้า ซึ่งตอนนี้ดินจากโมร็อกโกเปลี่ยนสภาพแข็งเหมือนหิน เจบีวิเคราะห์ว่าดินสำหรับใช้ทำกระเบื้องคงผสมซีเมนต์ด้วย เมื่อถูกน้ำฝนและแสงแดด จึงทำให้แข็งตัว ดินเหนียวของราชิดใช้ไม่ได้แล้ว สไมล์ต้องหาทางออกใหม่ เขากับเจบีบินไปโมร็อกโก เพื่อขับรถอีก 24 ชั่วโมง นำดินที่สุสานในโมร็อกโกกลับมาเบลเยียมให้ทันกำหนดเวลาฝังศพ

     หลังจากขุดดินใส่รถตู้เรียบร้อย กำลังจะผ่านด่านเพื่อไปลงเรือข้ามฝั่งจากแอฟริกาเหนือไปยุโรป เจบีดันปากพล่อยทักทายตำรวจเป็นกันเองเกินไป ผล คือ รถถูกตรวจ พวกเขาต้องตักดินออกจากรถทิ้งไว้ข้างทาง และกลับไปดำเนินการขอใบอนุญาตส่งออกวัตถุดิบจึงจะขนดินออกนอกประเทศโมร็อกโกได้ ระหว่างที่เจบีย้อนกลับไปติดต่อญาติของสไมล์ให้ช่วยดำเนินการ สไมล์ก็รีบบินกลับไปเบลเยียม เพื่อนำดินของราชิดไปใช้แก้ขัดก่อน แต่ดินทั้งหมดถูกเผากลายเป็นกระเบื้องตกแต่งบนผนังแล้ว ทางออกสุดท้ายสไมล์แอบไปตักดินจากหน้าที่พักของเขาใส่ลังดินโมร็อกโก ซึ่งเจ้าของห้องมาเห็นเข้า ทำให้เขาถูกแบล็คเมล์

     ในพิธีฝังศพ ร็อกกี้ ศิลปินแร็ป คนโปรดของ เอล ฟาสซี มาแสดงปิดท้าย ป้าสองพี่น้องเจ้าของบริษัทนำเข้าและส่งออกศพที่สนามบินมาร่วมงานด้วย ป้าคนพี่ชื่นชมความคิดสร้างสรรค์ในการจัดงานศพของคนหนุ่มสาว และถามถึงซีดี ป้าคนน้องบอกพี่สาวว่าสมัยนี้ใครเขาใช้ซีดีกัน

     “ก็ฉันไง ตอนที่ฟิลิปส์คิดค้นแผ่นซีดีขึ้นมา แผ่นเสียงก็ขายไม่ออก เพราะคนหันไปซื้อซีดี สมัยนั้นทุกคนคิดว่ามันเป็นแหล่งสมบัติ แต่ความจริงมันเป็นกับดัก เพราะซีดีนำไปสู่การคิดค้นสตรีมมิ่ง และสตรีมมิ่งทำให้ทั้งอุตสาหกรรมพังทลาย”

     ป้าหันไปเตือนนาเดียว่าการเปลี่ยนให้คนโมร็อกโกหันมาฝังศพที่เบลเยียมแทนการส่งกลับไปฝังที่บ้านเกิด จะส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้พังทลาย เธอต้องระวังไม่ให้ตัวเองกลายเป็นฟิลิปส์แห่งวงการงานศพ

     งานศพของนักฟุตบอลคนดัง นอกจากทำเงินให้ธุรกิจ ยังได้ความสนใจจากสื่อ ไอเดียของสไมล์แพร่ไปไวยิ่งกว่าเชื้อไวรัส พวกเขาได้ลงข่าวในหนังสือพิมพ์ ลูกค้าหลั่งไหลมาจนโต๊ะวางศพไม่พอ นาเดียมอบหมายให้สไมล์เอาเงินสด 15,000 ยูโร ไปซื้อเตียงเย็น แต่เขาเอาเงินไปจ่ายให้คนที่มาแบล็คเมล์เรื่องดิน และขโมยเครื่องประดับของแม่จากบ้านพ่อไปจำนำเพื่อเอาเงินไปซื้อเตียงเย็นอีกที

     ในที่สุดดินโมร็อกโกอันล้ำค่ำ ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งเจือปนก็เดินทางมาถึง เป็นทางออกของปัญหาทั้งหมด  และกุญแจสู่ความสำเร็จของธุรกิจ จากนี้ไปลูกค้าของสไมล์จะได้รับในสิ่งที่สมควรได้ และเขาได้เรียนรู้บทเรียนราคา 15,000 ยูโร       

4. รางวัลสำหรับผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์

     ไอเดียของสไมล์ทำให้ อาซูร็องส์โอมาร์ ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลดิวัน มีลูกค้าเข้ามาให้จัดการศพมากกว่าตอนที่พ่อยังบริหารธุรกิจ ห้องเย็นแออัด ธุรกิจกำลังเติบโต พวกเขาต้องการขยายพื้นที่ เพื่อให้เพียงพอรับลูกค้าได้ สไมล์คิดจะกู้เงินธนาคารมาซื้ออาคารบริษัทรับจัดงานศพที่ประกาศขายเพราะเจ้าของจะ แต่เขาจะกู้เงินธนาคารได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีเงินทุน ไม่มีทรัพย์สินมาค้ำประกัน สไมล์นึกถึงบ้านของพ่อ โอมาร์ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง

     พี่สาวเจบีช่วยเขียนแผนธุรกิจเพื่อไปเสนอกู้เงินจากธนาคาร แผนนี้สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ และนายธนาคารยังได้ดูข่าวธุรกิจ อาซูร็องส์โอมาร์ ทางทีวีด้วย ทำให้ยิ่งน่าเชื่อถือ แต่ปัญหาอยู่ที่หลักทรัพย์ค้ำประกัน บ้านของพ่อมีมูลค่าต่ำยอดที่ขอกู้ นอกจากสไมล์จะแอบปลอมลายเซ็นพ่อ ก็ยังสวมรอยให้ธนาคารมาประเมินราคาบ้านลูกค้าที่กำลังเดินทางไปฝังศพที่โมร็อกโกแทน เขาคิดว่าถ้ากู้เงินมาซื้อบริษัทจัดงานศพไม่ได้ ชีวิตก็จะไม่มีอะไรให้ภูมิใจ แต่ก็ได้รับบทเรียนว่าการโกหกและหลอกลวงคนในครอบครัว จะทำให้ไม่ได้รับความนับถืออีกต่อไป และหลังจากออกอุบาย ปลอมแปลงเอกสาร ทำทุกวิถีทาง เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดพ่อกลับมาก่อนกำหนด เรื่องทั้งหมดถูกเปิดเผย

     คืนประกาศรางวัลดิวัน อาซูร็องส์โอมาร์ ได้รางวัลขวัญใจกรรมการ เพราะคณะกรรมการชื่นชมความคิดริเริ่มของบริษัทนี้เป็นอย่างมาก พวกเขากำลังนำความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มาสู่ธุรกิจที่อยู่คู่ชุมชนชาวโมร็อกโกมาช้านาน สู่อุตสาหกรรมที่เคยยึดถือในแบบแผน บริการจัดงานศพด้วยความคิดที่เรียบง่าย ทำให้คิดถึงตัวตนของเรา คิดถึงอดีต แต่ก็คิดถึงอนาคตด้วย

     ความฝันที่จะคว้ารางวัลผู้ประกอบการกลายเป็นจริง ทว่าสไมล์กลับสุขและเศร้าไปพร้อมกัน เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นช้าไป 15 ปีสำหรับแม่ของเขา ดังนั้นเขาจึงเดินทางไปโมร็อคโกอีกครั้ง เพื่อจัดการสะสางอดีตก่อน ค่อยก้าวต่อไป

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย