THCG วิสาหกิจชุมชนสุดเจ๋ง ปลูกกัญชาด้วยโนว์ฮาวตัวเอง ขนาดกลุ่ม GUNKUL เข้ามาลงทุนด้วย

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

 

     สร้างความฮือฮาอยู่ไม่น้อยเมื่อ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ส่งบริษัทย่อยเข้าถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด ที่พัฒนาตัวเองมาจากวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อลุยธุรกิจกัญชงและกัญชาครบวงจร ทำไมทีเอชซีจีถึงเนื้อหอมจนเข้าตาบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และยังได้เป็นผู้ปลูกกัญชงส่งให้กับองค์การเภสัชกรรม (GPO) โดยผ่านมาตรฐานตั้งแต่ครั้งแรกที่ปลูกอีกด้วย ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เป็นการเดินเกมธุรกิจแบบมีแผนและเติบโตด้วย “โนว์ฮาว” ของตัวเอง

วิสาหกิจชุมชนผู้เติบโตด้วยโนว์ฮาวของตัวเอง

     เส้นทางธุรกิจสายเขียวของ ทีเอชซีจี กรุ๊ป โดยการนำของ อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด เริ่มต้นจากการเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พวกเขาแปรรูปบุกส่งให้กับประเทศญี่ปุ่น โดยอรพินทร์ มีความสนใจส่วนตัวในสรรพคุณการใช้กัญชา จึงเริ่มศึกษาหาความรู้และมีโอกาสไปดูงานเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงในต่างประเทศ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาในประเทศไทย

     เมื่อไทยประกาศปลดล็อกกัญชา จึงได้เป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจที่ขออนุญาตปลูกกัญชงกัญชาและทดลองปลูกเมื่อปี 2563 โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโนยีราชมงคลล้านนา และกรมการแพทย์แผนไทย เป็นต้น

     ทว่าการเริ่มต้นของพวกเขา ไม่ได้มองเส้นทางนี้แบบผิวเผิน แต่ทำกันตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ของตัวเอง สร้างโนว์ฮาวของตัวเองขึ้นมา เพื่อเป็น “จุดแข็ง” ให้ธุรกิจแกร่งตั้งแต่วันแรก

     “เราเริ่มจากขอปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ของตัวเอง จึงมีสายพันธุ์เป็นของตัวเอง และพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น และยังพัฒนาสายพันธุ์ของเรามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้เราขึ้นทะเบียนได้แล้ว 7 สายพันธุ์ โดยใช้โนว์ฮาวของเราเอง” เธอบอกจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจด้วยวิชัน

              ตอบโจทย์ธุรกิจกัญชาตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ

     อรพินทร์ บอกว่า จุดมุ่งหมายของ ทีเอชซีจี คือต้องการทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะมองว่าธุรกิจนี้มีอนาคตและมีความเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจที่ครบวงจรให้บริการตั้งแต่ต้นจนสุดปลายน้ำเป็นที่เรียบร้อย

     โดยในส่วนของต้นน้ำ ทีเอชซีจี ได้รับใบอนุญาตปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาแบบออร์แกนิคถูกต้องตามกฎหมาย เป็นแหล่งปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน โดยปัจจุบันนอกจากพื้นที่ปลูกในบ้านทุ่งแพม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ยังได้ขยายพื้นที่ปลูกไปยัง เขาค้อ จ. เพชรบูรณ์ อีกด้วย โดยสามารถปลูกและขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ของตัวเอง จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และต้นกล้า เพื่อไปขยายพันธุ์ต่อให้กับผู้สนใจอีกด้วย

     “เราทำการปลูกครบทุกระบบมีทั้ง การปลูกในร่ม (Indoor) การปลูกกลางแจ้ง ( Outdoor ) และปลูกในโรงเรือนระบบ EVAP ทั้งกัญชาและกัญชง ในส่วนของกัญชงเราปลูกทั้งเพื่อเอาช่อดอกและเมล็ด (Hemp seed) ถามว่าทำไมต้องปลูกหลายๆ รูปแบบ อย่าง การปลูกกัญชงเพื่อสกัดช่อดอกนั้น ถ้าปลูกในอินดอร์ต้นทุนจะค่อนข้างสูง เวลาสกัดสารออกมาจะไม่คุ้ม และเอามาต่อยอดอะไรได้ค่อนข้างยาก อย่างปีที่ผ่านมาการปลูกกัญชงประสบปัญหาคือลดต้นทุนในการปลูกไม่ได้ ทำให้โรงงานสกัดไม่สามารถขายสารสกัดในราคาถูกได้ กลายเป็นว่าสารสกัดในไทยแพงกว่าเมืองนอก แต่การปลูกแบบเอาท์ดอร์ต้นทุนจะถูกกว่า แต่ถ้าปลูกแบบอินดอร์เวลานำไปทำพวกยาก็ถือว่าคุ้ม เพราะสามารถควบคุมให้เป็นกัญชาเมดิคัลเกรดที่ไปใช้กับการแพทย์ได้”

     หนึ่งความภาคภูมิใจของธุรกิจที่เติบโตมาจากวิสาหกิจชุมชน คือ พื้นที่ปลูกในเขาค้อ จ. เพชรบูรณ์ สามารถผ่านมาตรฐานขององค์การเภสัชกรรม (GPO) ได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ปลูก โดยปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายช่อดอกแห้งส่งให้กับองค์การเภสัชกรรมอีกด้วย ซึ่งมีเพียงไม่กี่รายในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานนี้

     “นี่เป็นความภาคภูมิใจของเราเลยก็ว่าได้ที่สามารถส่งให้องค์การเภสัชฯ ได้ ที่ภูมิใจที่สุดคือเราปลูกคร็อป (Crop) เดียวผ่าน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เราตั้งใจมาก ตอนแรกได้มาเป็นกิ่งโคนด้วยซ้ำไม่ใช่ตัวเมล็ดพันธุ์ และเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศด้วย ซึ่งเราไม่เคยจับสายพันธุ์นี้มาก่อน ก็เลยมาลองดูโดยใช้โนว์ฮาวของเราเอง ปรากฏว่าก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี” เธอบอกความภาคภูมิใจที่เกิดจากโนว์ฮาวที่สั่งสมมาตั้งแต่ต้น

     ในส่วนของกลางน้ำ ได้ความร่วมมือจาก GUNKUL นำช่อดอกที่ปลูกได้ไปสกัดในโรงสกัดของ GUNKUL โดยผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวสารสกัด ขายให้กับโรงงานทำเครื่องสำอาง หรือผู้ผลิตที่ต้องการซื้อสารสกัดเพื่อไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มต่างๆ เป็นต้น

สู่ผลิตภัณฑ์ที่มีสมุนไพรไทยเป็นจุดแข็ง

     ในปลายน้ำของทีเอชซีจี มีทั้งคลินิกแพทย์แผนไทย “กัญชยาสหคลินิก” (กัญ ชยา) และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากกัญชาและกัญชง ภายใต้แบรนด์ G อาทิ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อย่าง ซีบีดี แอนติ แอคเน่ เซรั่ม, ซีบีดี แอนติ เอจจิ้ง เซรั่ม และซีบีดี เรจูเวเนติ้ง มาสสาจ ครีม กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปาก อย่าง เฮมพ์ ซีด ออยล์ ไทยสตั๊ดเฮิร์บ เมาท์วอช และ ทูธเพสท์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดพลูคาวผสมซีบีดี (ตรากัญ ชยา) และขนมเยลลี่สำเร็จรูป ตราแฮปปี้ กัมมี่ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ ทีเอชซีจี ไม่ได้ตั้งต้นจากแค่กัญชา ทว่าต้องการใช้แต้มต่อที่ประเทศไทยมี นั่นคือ “สมุนไพร” มาเสริมกำลังให้ผลิตภัณฑ์แข็งแกร่งในตลาดมากยิ่งขึ้น

     “อย่างในต่างประเทศเวลาเขาทำยาหรือเครื่องสำอาง ก็จะเอาสารสกัดจากกัญชาไปผสมพวกสารเคมีอย่างอื่น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แต่ประเทศไทยเรามีสมุนไพรอยู่แล้ว ซึ่งจากการไปค้นคว้าพบว่า การใช้กัญชากับสมุนไพรจะมีผลการใช้ได้ดีมาก ขณะที่การใช้กัญชาเดี่ยวๆ อย่าง สารสำคัญ CBD จะมีจุดเด่นอยู่แค่ไม่เท่าไร แต่ถ้าเราเอาไปทำละลายกับพืชสมุนไพรตัวอื่น อย่างของเราใช้กับน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันมะกอก รวมถึงน้ำมันขมิ้น หรือน้ำมันงา อย่างนี้เป็นต้น พบว่า เมื่อมารวมกับตัว CBD จะให้ประสิทธิผลหรือผลประโยชน์ในการรักษาได้ดีกว่ามาก” เธอบอกแนวคิด

ธุรกิจต้องไม่หยุดพัฒนา และสร้าง “มูลค่า” ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ  

     การเข้ามาของกลุ่ม GUNKUL  ช่วยให้กำลังในการขับเคลื่อนธุรกิจในวันนี้ของ ทีเอชซีจี ทำได้มากขึ้น โดยเฉพาะการได้ทุนมาสนับสนุน ที่มาของการขยายพื้นที่เพาะปลูก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พัฒนาสายพันธุ์ และขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ทั้งยังไปได้ไกลและไวขึ้น ต่างจากก้าวย่างของวิสาหกิจชุมชนเช่นในอดีต

     นั่นเองที่ทำให้เป้าหมายพัฒนากัญชากัญชงสายพันธุ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก เข้าใกล้ความจริงไปอีกขั้น

     “ตอนนี้เรามุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีจุดเด่น อย่างในต่างประเทศเองคนที่จำหน่ายสายพันธุ์กัญชาหรือกัญชงที่มีสารสำคัญเฉพาะตัว เช่น สาร THC และ CBD สูง เรียกว่ามีเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น เราจึงเกิดแนวคิดที่อยากพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูงๆ เพื่อที่จะออกมาจำหน่ายเอง โดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติ และยังสามารถย้อนกลับไปขายในต่างประเทศได้อีกด้วย เนื่องจากเราเชื่อว่า นักปลูกของไทยไม่แพ้ใครในโลก และการเกษตรไทยก็ดีอยู่แล้ว โดยเป้าหมายในอนาคต เราต้องการเป็นเจ้าของสายพันธุ์ให้มากกว่านี้ เพราะว่าเท่าที่มียังไม่หลากหลายพอ และไม่ใช่แค่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาได้ แต่จะต้องมีสารสำคัญในตัวเองที่แตกต่างและมากยิ่งขึ้นด้วย” เธอบอกเป้าหมาย

     ในฐานะผู้ประกอบการที่เริ่มต้นจากวิสาหกิจชุมชน อรพินทร์บอกเราว่า กว่าจะประสบความสำเร็จ กว่าจะสร้างตัวเองขึ้นมาได้จนกลุ่มทุนมองเห็นในศักยภาพนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างตัวเองให้มีมูลค่าก่อน โดยต้องสร้างโนว์ฮาวของตัวเองขึ้นมา

     “ถามว่าทำไมเราสามารถทำได้ เพราะมันเป็นโนว์ฮาวของเราเอง การสร้างมูลค่าของตัวเรามันอยู่ที่โนว์ฮาว เราสร้างจุดเด่นของเราขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนมองเห็นว่า เรามีดีอะไร แล้วทำไมเขาถึงควรมาลงทุนกับเรา ซึ่งการสร้างตัวเองแบบนี้นั้น เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นจริงได้ จับต้องได้ และพิสูจน์ทราบได้ว่า เราทำได้จริง ไม่ได้คิดไปเอง”

     นี่คือ อีกหนึ่งต้นแบบของผู้ประกอบการไทย ที่แจ้งเกิดด้วยแพสชัน และขับเคลื่อนธุรกิจด้วยวิชัน ทั้งยังเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง เพื่อเติบใหญ่อย่างแข็งแกร่งในถนนสายกัญชา อีกธุรกิจที่กำลังสดใสในวันนี้

     “ทีเอชซีจี กรุ๊ป” คือ หนึ่งในผู้ประกอบการสายเขียวที่จะมาร่วมงาน PLANT BASED Festival 2022 มหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 ใครอยากรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น ก็ไปพบกันได้ที่งานนี้

ทีเอชซีจี กรุ๊ป

FB : THCG Group

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย