TEXT : Nitta Su.
PHOTO : Meeboon Icecream, Sir.Nim
เคยนึกภาพไหมว่าจากไอศกรีมกะทิโบราณที่ปั่นใส่ถังเร่ขายตามบ้านเรือนต่างๆ วันหนึ่งแค่ลองพลิกมุมกลับปรับสูตรสร้างแบรนด์เป็นไอศกรีมสุขภาพให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ จะสามารถมาไกลถึงขั้นก่อตั้งโรงงานผลิตของตัวเองได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี แถมยังเคยทำยอดขายเปรี้ยงปร้างถึงเดือนละครึ่งล้านบาท! มาแล้ว
เรื่องราวของธุรกิจที่ว่านี้เป็นมายังไง ลองมาฟังเส้นทางธุรกิจของ “ไอติมมีบุญ” (Meeboon) ไอศกรีมเชื้อชาติกะทิ ที่วันนี้เปลี่ยนสัญชาติเป็นไอศกรีมเพื่อสุขภาพไร้แป้ง ไร้น้ำตาลให้มากวนใจ จับกลุ่มคนรักสุขภาพ คีโต โลว์คาร์บ แพ้นม แพ้กลูเตน ควบคุมน้ำตาล ให้กินไอศกรีมได้อย่างอร่อย และสบายใจ
ปรับสูตรไอศกรีมของแม่ เพื่อแม่
น้ำปรุง ศรีสุวรรณ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “ไอติมมีบุญ” เล่าความเป็นมาของธุรกิจให้ฟังว่าสูตรรสชาติไอศกรีมดังกล่าวนั้นเริ่มต้นมาจากคุณแม่และคุณพ่อของเธอเอง ซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมที่ทำเลี้ยงครอบครัวมานาน จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อแม่ของสามีป่วยเป็นโรคเบาหวาน จึงอยากลองทำเป็นไอศกรีมกะทิสูตรเพื่อสุขภาพ ไม่ใส่น้ำตาลทราย ไม่ใส่แป้งมัน และไม่ใส่นมเป็นส่วนผสม โดยหลังจากทดลองทำออกมาแล้วด้วยรสชาติถูกปาก บวกกับเทรนด์สุขภาพกำลังมาเธอและสามี (วัชชระ สำราญสุข) จึงมีความเห็นตรงกันว่าอยากลองทำเป็นธุรกิจขึ้นมา
(วัชชระ สำราญสุข หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Meeboon)
“จริงๆ จุดเริ่มต้นของการปรับสูตรขึ้นมา ก็เพื่อให้คุณแม่ของสามีสามารถรับประทานได้ เพราะท่านป่วยเป็นโรคเบาหวาน วิธีการ ก็คือ เรายังคงสูตรรสชาติดั้งเดิมเอาไว้ เพราะเป็นรสชาติที่ลงตัว อีกส่วนหนึ่งก็เพื่ออยากเก็บรักษาสูตรไอศกรีมของครอบครัวไว้ด้วย โดยวิธีการ ก็คือ เราลองมาไล่ดูส่วนผสมทีละตัวเลยว่ามีอะไรบ้าง และอันไหนที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือเสี่ยงต่อการแพ้ก็เอาออก เช่น จากที่เคยใช้น้ำตาล เราก็เปลี่ยนมาใช้หญ้าหวานแทน, จากเคยใช้นมวัวเป็นส่วนผสมด้วยเพื่อให้มัน ก็หัวมาใช้หัวกะทิเพิ่มขึ้น หรือแป้งมันเพื่อให้ไอศกรีมเกาตัวได้ดี เราก็ใช้เป็น Stabilizer หรือสารให้ความคงตัวแทน และอยากให้มีคุณค่ามากขึ้น เราก็อินนูลินไฟเบอร์เพิ่มไปด้วย โดยที่มาของชื่อ ไอติมมีบุญ มาจากชื่อของคุณแม่บุญมี ซึ่งเป็นเจ้าของสูตร” น้ำปรุงเล่าจุดเริ่มต้นของธุรกิจให้ฟัง
เริ่มต้นจากปั๊มน้ำมัน
หลังจากที่คิดและทดลองทำออกมาจนเป็นที่น่าพอใจ น้ำปรุง และสามี เริ่มต้นก้าวแรกของธุรกิจด้วยการเปิดร้านเล็กๆ ขายอยู่ในปั๊มน้ำมันซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้าน โดยดัดแปลงเป็นรสชาติอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เปิดได้อยู่เกือบปีเธอยอมรับว่าขายขาดทุนมากกว่ากำไร แต่ก็ทำให้มีโอกาสได้รู้จักคนมากขึ้น กระทั่งได้มารู้จักกับออร์แกนไนซ์ชักชวนให้ไปออกบูธตามห้างสรรพสินค้าและงานต่างๆ มากขึ้น จนทำให้ไอศกรีมเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนได้เจอลูกค้าหนึ่งคนที่เข้ามาจุดประกายความคิด ทำให้เธอและสามีได้ค้นพบลูกค้าที่แท้จริงของแบรนด์
“วันนั้นจำได้ว่าไปออกร้านที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ก็มีลูกค้าคนหนึ่งเดินเข้ามาถามว่าไอศกรีมเรามีส่วนผสมอะไรบ้าง เราก็เล่าให้เขาฟังว่ามีกะทิ หญ้าหวาน อินนูลินไฟเบอร์ เขาเลยบอกว่า นี่คือ ไอศกรีมคีโตนะ ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักกันเลยว่า คีโต คือ อะไร รู้แต่แค่เราตั้งใจทำไอศกรีมเพื่อสุขภาพ พอลองกลับมาศึกษาดูถึงรู้ว่า มันคือ การลดน้ำหนักโดยไม่กินแป้ง กินน้ำตาล ซึ่งก็ตรงกับที่เรากำลังทำอยู่พอดีเลย พอรู้จักกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนมากขึ้น เราก็เริ่มทำเพจไอติมมีบุญขึ้นมา ซึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วไอศกรีมคีโต หรือแม้แต่ของหวานสำหรับคีโตถือว่ามีอยู่น้อยมาก”
โดยจุดเด่นของแบรนด์ไอศกรีมมีบุญ ก็คือ เป็นไอศกรีมที่ออกแบบมาให้เหมาะกับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ ลดน้ำตาล และควบคุมน้ำหนักในหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มคีโต, โลว์คาร์บ, วีแกน, คนที่แพ้นมวัว, คนที่แพ้กลูเตนฟรี, กลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวาน
แบ่งออกเป็น 2 สูตร คือ สูตรกะทิ และสูตรอัลมอนด์ (มีนมเป็นส่วนผสม) มีด้วยกันทั้งหมด 14 รสชาติ อาทิ กะทิ, ชาเขียวมัทฉะ, อัลมอนด์ช็อก, มิกซ์เบอร์รี โดยแต่ละรสชาติจะมีการควบคุมปริมาณคาร์บ (คาร์โบไฮเดรต) ที่ได้รับในแต่ละถ้วย ได้แก่ 1 กรัม จะเป็นเบสด์อัลมอนด์ ส่วน 4 กรัม และ 5 กรัม จะเป็นเบสด์กะทิมีทั้งกลุ่มที่เป็นรสชาติทั่วไปและรสผลไม้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น คนที่เป็นวีแกนก็จะไม่รับประทานสูตร 1 กรัมที่เป็นอัลมอนด์ เพราะมีนมวัวเป็นส่วนผสม หรืออย่างคนเป็นโรคเบาหวานก็จะเลี่ยงที่จะรับประทานรสที่มีคาร์บ 5 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรสผลไม้ เป็นต้น
โควิดทำยอดพุ่งกว่า 10 เท่าตัว
โดยหลังจากเปิดเพจขึ้นมาและเริ่มหันมาจับตลาดออนไลน์มากขึ้น เป็นช่วงประจวบเหมาะกับที่โควิด-19 กำลังเริ่มระบาดเข้ามา มีการสั่งล็อกดาวน์ให้อยู่บ้านมากขึ้น จึงทำให้จากยอดคนติดตามประมาณ 200 กว่าคน เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 กว่าคนได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท ก็เพิ่มขึ้นมากว่าสิบเท่าตัว
“ตอนนั้นยอดเพิ่มขึ้นเร็วมากทั้งคนติดตามในเพจและยอดขาย ต้องถือเป็นความโชคดีที่เราเริ่มหันมาจับตลาดออนไลน์พอดี จากที่จะได้รับผลกระทบเลยกลายเป็นขายดี แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย เพราะคนอยู่บ้านออกไปไหนไม่ได้ ตลาดออนไลน์เลยเติบโตมากขึ้น ปกติเคยขายเดือนหนึ่งได้ 50,000 บาท ก็เพิ่มเป็น 5 – 6 แสนบาท” น้ำปรุงเล่าถึงจุดพีคของธุรกิจให้ฟัง
จากโอกาสที่เข้ามาจึงทำให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้น ทำให้น้ำปรุงและสามีมองเห็นลู่ทางอนาคตธุรกิจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยทั้งคู่ได้ตัดสินใจที่จะสร้างโรงงานผลิตของตัวเองขึ้นมา เพื่อยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อเตรียมวางแผนจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ภายในปีหน้านี้ จากสูตรไอศกรีมรถเข็นที่นำมาปรับปรุงเป็นไอศกรีมสุขภาพในวันนั้น วันนี้กำลังจะมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองแล้ว
“ตอนนี้เรากำลังสร้างโรงงานผลิตของตัวเองขึ้นมา ตั้งใจจะสร้างให้เสร็จในปีนี้ เพื่อเตรียมขออย. และติดต่อเข้าห้างภายในปีหน้า ไอเดียเราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่นอน เพราะเรารู้ว่ายังมีกลุ่มผู้บริโภคอีกมากที่ต้องการการดูแลสุขภาพในด้านอื่น ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มนักกีฬาที่อาจต้องการเวย์โปรตีนสูง อนาคตเราจะพยายามทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะเราอยากให้ทุกคนได้กินไอศกรีมของเรา ไม่ว่าใครก็กินได้ คนทั่วไป หรือคนที่ต้องดูแลสุขภาพ เหมือนกับสโลแกนที่เราต้องการบอกลูกค้า คือ “Meeboon Everyone Can Eat - ไอติมมีบุญ ใครๆ ก็กินได้”
ไอติมมีบุญ FB : meeboonicecream โทร. 095 745 2871 |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี