เรื่องเล่าจากสิงขรถึงสงขลา มหานครปารีสแห่งภาคใต้

TEXT : วิชชุ

PHOTO : อรุโณทัย

 

     ดินแดนแห่งสองเล รางวัลจากธรรมชาติได้มอบลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งมาให้ สงขลาคล้ายคาบสมุทรขนาดย่อมที่พื้นดินถูกขนาบข้างด้วยทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม อาหารการกินที่อร่อย ทั้งยังมีตำนานเรื่องเล่าที่ควรค่าแก่การเล่าขานมากมาย

     ว่ากันว่าเมืองสงขลาได้ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง ขณะที่เอกสารบันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลาได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองว่ามาจากบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซียในนามของเมืองซิงกูร์ หรือ ซิงกอรา แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า เมืองสิงขร โดยได้สันนิษฐานว่า คำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สิงหลา” หรือ “สิงขร” แปลว่าเมืองสิงห์นั่นเอง เมื่อแขกมลายูเข้ามาค้าขายกับเมืองสิงหลาก็จะออกเสียงเพี้ยนเป็น “เซ็งคอรา” เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขายก็เรียกตามมลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ “ซิงกอรา” (Singora) แล้วคนไทยพื้นถิ่นเองจึงได้เรียกตามเสียงมลายูจนฝรั่งเพี้ยนเป็นคำว่า “สงขลา” ในที่สุด

     สงขลาได้ชื่อว่าเป็นเมืองสองทะเลเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมายาวนาน มีผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมเข้ามาอยู่อาศัยทั้งชาวไทย จีน มุสลิม จนกลายเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม มีความคึกคักทั้งด้านการค้าและความหลากหลายด้านศิลปะซึ่งสะท้อนผ่านตัวอาคารบ้านเรือน

     ทว่าความเปลี่ยนแปลงของเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ ปัจจุบันส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวต่างดาหน้ามาปักหมุดพร้อมเปิดฉากรอยยิ้มด้วยการเดินเล่นชมความงดงามของความเก่าแก่ของตึกรามบ้านช่องในย่านเมืองเก่า บ้างรื่นรมย์กับไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยเสพศิลปะ ท่องคาเฟ่ ชมสตรีตอาร์ตของเมือง โดยเฉพาะถนน 3 สายหลักของย่านเมืองเก่า คือ ถนนนครใน ถนนนครนอก และถนนนางงาม เต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่ เช่น ไอศกรีมยิว แต้เฮียงอิ๊ว ข้าวสตูเกียดฟั่ง ฯลฯ แต่นั่นก็แค่เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เพราะที่จริงสงขลามีของดีอีกเพียบจะว่ากันแบบนั้นก็ได้

     เราอาจหลงลืมไปว่าหลายสิบปีก่อนเมืองหาดใหญ่ อำเภอใหญ่ของสงขลาเคยได้รับฉายาว่า มหานครปารีสแห่งภาคใต้ เมืองใหญ่ไม่เคยหลับใหลเต็มไปด้วยค่ำคืนแห่งไนต์ไลฟ์ ครบครันทั้งสาธารณูปโภค และการคมนาคมสะดวกทั้งรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน แถมยังเต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าใหญ่ โรงแรมระดับเฟิร์สคลาส และโรงแรมระดับกลาง ดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศและเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซียมาปีหนึ่งมากมายมหาศาลสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวได้ทุกมิติ

     กระทั่งในความเลวร้ายของความขัดแย้งบางอย่างชวนให้เมืองหาดใหญ่และสงขลา คล้ายคนเป็นโรคซึมเศร้า เก็บตัวเงียบอยู่ในคอมฟอร์ตโซนอยู่พักใหญ่ ระยะหลังสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น ธุรกิจและการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว

     เราอาจจะลืมไปว่าสงขลามีสะพานติณสูลานนท์ ได้รับการการันตีว่าเป็นสะพานคอนกรีตข้ามทะเลสาบยาวที่สุดในประเทศ ทำหน้าที่เชื่อมเกาะยอ 2 ด้าน ระหว่างฝั่งบ้านน้ำกระจายอำเภอเมืองสงขลา และบ้านเขาเขียวอำเภอสิงหนคร ความยาวสองช่วงรวมเป็น 2,640 เมตร

     กระทั่ง...เราอาจหลงลืมไปว่าสงขลาเมืองเล็กๆ แต่กลับกลายเป็นเมืองชายแดนที่ติดอันดับท็อปไฟว์ของประเทศ โดยเฉพาะด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ มีศักยภาพสร้างมูลค่าตัวเลขด้านการค้าชายแดนมากที่สุดติดต่อกันหลายปี

     ความน่าเที่ยวน่าค้นหายังถูกแอบซ่อนไว้ในหลากแง่มุม เพราะถ้าหากลองสำรวจสภาพของเมือง ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยมาแต่สมัยโบราณ เราจะพบว่ามีชุมชนโบราณและเมืองเก่าแก่ โบราณสถานโบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี เต็มไปด้วยแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาไม่แพ้เมืองอื่นๆ เลย สังเกตจากตึกเก่าที่คงสภาพอยู่กันอย่างหนาแน่นเหล่านี้ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรุ่งเรืองในอดีต และวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนกันมาอย่างแนบแน่นยาวนาน

     ใครใคร่อยากรู้เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ มีแหล่งเรียนรู้หลากหลาย เช่น ป้อมปืน และพิพิธภัณฑ์ธำมรงค์ สถาปัตยกรรมเรือนไทย ที่สร้างขึ้นจำลองสถานที่เกิดของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เรือนไม้ยกพื้นชั้นเดียว หลังคาทรงปั้นหยา 2 หลังคู่ มีชานเปิดโล่งเชื่อมถึงกันภายในเก็บข้าวของเครื่องใช้เก่า และเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวด้วย

     พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ตั้งอยู่ภายในสถาบันทักษิณคดีศึกษา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของทางภาคใต้ วิถีชีวิตของชาวใต้ท้องถิ่น อันมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีประวัติศาสตร์โบราณคดีและศิลปหัตถกรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ จัดแสดงเป็นห้องต่างๆ เช่น ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ห้องอาชีพหลักของชาวใต้ ห้องผ้าทอพื้นเมืองที่มีผ้าทอสวยๆ ห้องการละเล่นพื้นเมือง ห้องศิลปหัตกรรม ห้องอิสลามศึกษา ฯลฯ โดยมีวัตถุของจริงจัดแสดงและผสมผสาน กับสื่อหลากชนิดเมื่อมาเที่ยวแล้วจะได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลิน

     ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อยู่ท่ามกลางทะเลสาบสงขลารู้จักกันดีในชื่อเกาะยอ ที่ถือได้ว่าเป็นเกาะสวรรค์ของผู้ที่ได้มาพบเห็น เพราะมีทัศนียภาพโดยรอบที่สวยงาม สัมผัสกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านแบบดั้งเดิมของเกาะยอ ความพิเศษของเกาะยอซึ่งถือเป็นจุดขายอีกอย่างก็คือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงเนื้อขาวที่ขึ้นชื่อเรื่องความสด เนื้อนิ่ม และอร่อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งอาจจะคุ้นหูกันในชื่อปลากะพงสามน้ำ หรือปลากะพงสองน้ำ เนื่องจากที่เกาะยอจะเพาะเลี้ยงปลากะพงในกระชังปลา ซึ่งน้ำบริเวณนั้นเป็นจุดที่มีทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อยหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ปลากะพงที่นี่จึงแตกต่างจากที่จังหวัดอื่น

     นอกจากนี้ สงขลายังมีหัวนายแรง อีกสัญลักษณ์แห่งเมืองสงขลา มีคนกล่าวว่า “ดูตะวันตกให้ดูที่แหลมพรหมเทพ ดูตะวันขึ้นให้ดูที่หัวนายแรง” จุดชมวิวและหินแห่งศรัทธาตั้งอยู่บนเขาเก้าเส้ง อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ตามความเชื่อต่อๆ กันมา ส่วนทะเลจุดพักผ่อนคลายขึ้นชื่ออย่างหาดสมิหลา ร่มรื่นด้วยทิวสนต้นใหญ่ตระหง่านเป็นแนวเหมาะกับการนั่งรับลมชมวิวและจุดเช็กอินสำคัญสำหรับนักชิม อาหารมีทั้งร้านค้าพื้นถิ่น เสิร์ฟเมนูซีฟูดสดๆ เคล้าบรรยากาศโดยรอบมองเห็นเกาะหนูเกาะแมว และตำนานแห่งรูปปั้นในวรรณคดีชื่อดังพร้อมกับหาดสมิหลาประติมากรรมหลากหลายถูกสร้างขึ้นผ่านแนวคิดและแรงบันดาลใจของศิลปินหลากหลาย

     ปิดท้ายด้วยวัดสวยนอกจากวัดคูเต่าอันเลื่องชื่อแล้ว ยังมีจิตรกรรมโบราณผสาน 2 วัฒนธรรมไทย-จีนผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ที่วัดกลาง หรือวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี อายุเก่าแก่กว่า 400 ปี อีกทั้งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล หรือโรงเรียนหลวงแห่งแรกของจังหวัดด้วย ไม่เพียงเท่านี้ยังมีวัดชัยมงคล เขาตังกวน วัดแหลมพ้อ พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพไตรมงคล มักนิยมเรียกชื่อว่า เจดีย์สเตนเลส หรือวัดเจดีย์สเตนเลส เป็นเจดีย์สเตนเลสแห่งแรกของโลก และเป็น Unseen อีกด้วย

     เรียกว่าถ้าตั้งใจมาเที่ยวคงใช้เวลาเป็นอาทิตย์ถึงจะตะลอนไปทั่ว เพราะ…ความน่าค้นหาของเมืองที่ฟื้นจากการหลับใหลนั้นช่างเย้ายวนใจอีกมาก

Information

  • ลองแวะไปเที่ยวชมความร่วมสมัยได้ที่  a.e.y.space ในย่านเมืองเก่า บ้านโบราณที่กลายเป็น Selected Shop สุดเก๋แนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเติมสีสันให้กับเมืองเก่าสงขลา
  • ใครชอบเรื่อง Local ต้องแวะไปบ้านรำแดง ชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีความสัมพันธ์ ระหว่างต้นตาลโตนด ท้องนา ต้นไผ่ และคน ซึ่งร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะบ้านใบตาลที่มีอายุกว่า 100 ปี  (สอบถาม อบต.รำแดง โทรศัพท์ 08-6488-2549 หรือ ramdang.go.th)
  • http://www.songkhlatourism.org/frontpage

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย