คุยกับ อภิรักษ์ โกษะโยธิน พลิกเกมยังไง ให้ธุรกิจสตรอง ในสนาม Plant Based Food

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

 

     เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน SME Thailand มีโอกาสพูดคุยกับ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพแบรนด์ “วี ฟาร์ม” (V Farm)ในวันที่ประกาศกลยุทธ์ทรานฟอร์มธุรกิจสู่สนาม Plant-Based Food ประเดิมด้วยการไปลงทุนในบริษัท Food Tech Startup “มอร์มีท” พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอย่าง “ลาบทอดจากพืช” ออกมาสร้างสีสันสู่ตลาด

     ผ่านมา 2 ปี ก้าวย่างของ วี ฟู้ดส์ ดูมั่นคงและชัดเจนขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ขยายตลาดออกไปทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งยังมี Strategic Partner รายใหญ่อย่าง บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มาเติมจุดแกร่งให้ธุรกิจ และพันธมิตรอีกหลายภาคส่วน เขาคิดและทำแบบไหน แล้วตลาดนี้ยังสดใสจริงหรือไม่ ไปฟังคำตอบกัน!    

     Q : ในช่วงสองปีที่ผ่านมาหลังการประกาศทรานฟอร์มธุรกิจสู่บริษัท Plant-Based Food อย่างเต็มตัว มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างกับวี ฟู้ดส์ และตลาด Plant-Based ประเทศไทย

     อภิรักษ์ : เราเริ่มธุรกิจทางด้าน Plant-Based เมื่อต้นปี 2020 ก็ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาในตลาด ในตอนนั้นผมมีโอกาสพบกับบริษัท Food Tech Startup ชื่อ มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค ที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชแบรนด์ มอร์มีท เลยชวนมาทำงานด้วยกัน ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าตลาดเริ่มมีความตื่นตัวและคึกคักมากขึ้น ในปี 2020 มีผู้ประกอบการคนไทยเข้ามาอีก 3-4 แบรนด์ ช่วยทำให้ตลาดมีการรับรู้ และเริ่มมีการนำโปรตีนจากพืชเข้ามาโปรโมทในช่วงเทศกาลกินเจ เรียกว่าเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ เพราะสมัยก่อนอาหารเจส่วนใหญ่จะเป็นพวกโปรตีนเกษตรทำนองนั้น

     ในปลายปี 2020 เราจึงตัดสินใจลงทุนในบริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค ซึ่งนอกเหนือจากช่วยกันโปรโมทสินค้ามอร์มีทแล้ว ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ตัวเองคือ “วี ฟาร์ม” โดยทำผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นซีรีส์ที่เรียก Classic Thai Taste ทั้งหมด 4 รสชาติ คือ วี ฟาร์ม ลาบทอดจากพืช, ต้มยำทอดจากพืช, ทอดมันข้าวโพดเนื้อปูผลิตจากพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช รสกะเพรา และในช่วงกลางปีมีโอกาสทำงานร่วมกับ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ในการวิจัยพัฒนา และเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับเราออกในช่วงเทศกาล Plant-Based เมื่อปีที่แล้วด้วย

     Q : ดูเหมือนว่าในช่วงที่ผ่านมา วี ฟู้ดส์ จะไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่มีความร่วมมือกับพันมิตรหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่อย่าง ไทยยูเนี่ยน หรือแม้แต่บริษัท Startup อย่างมอร์มีท คุณอภิรักษ์มีแนวคิดในเรื่องนี้อย่างไร

     อภิรักษ์ :  ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจเมื่อประมาณ  8 ปีก่อน ผมพบว่า กลยุทธ์ที่จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคสมัยใหม่ได้นั้น คือการหาจุดแข็งที่เป็นความสามารถหลักขององค์กร (Core Competency) ของเรา และหาเครือข่ายที่เป็น Strategic Partner ที่จะทำงานร่วมกันได้ อย่างเราเชื่อว่า วี ฟู้ดส์ มีจุดแข็งคือการมีประสบการณ์อย่างต่อเนื่องในเรื่องการทำแบรนด์แพ็กเกจจิง และการวิจัยนวัตกรรม

     เรามองว่าในเรื่องอื่นถ้าสามารถไปร่วมมือหาพันธมิตรที่มาทำงานร่วมกันได้ ก็จะช่วยทำให้เราในฐานะที่เป็น SME สามารถทำงานของเราต่อไปได้  ตอนแรกเราไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดโดยทำในรูปแบบของคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) จากนั้นก็ไปร่วมมือกับบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่มีโรงงานและเครือข่ายเกษตรกร

     ในส่วนของการวิจัยนวัตกรรม เนื่องจากเราเป็น SME ก็ใช้การทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา แล้วก็หน่วยงานนวัตกรรมของประเทศ โดยมีการไปขอทุนวิจัย แล้วร่วมวิจัยกับอาจารย์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็สามารถเอาผลงานวิจัยนี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ นี่เป็นสิ่งที่บริษัทได้ใช้เป็นแนวทางในการทำงานตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

     Q : การที่ วี ฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริษัท SME ต้องมองหา Strategic Partner ที่ใช่มาเติมเต็มจุดแข็งให้ธุรกิจ ทำอย่างไรถึงจะดึงดูดบริษัทที่มีศักยภาพให้มาทำงานร่วมกันได้

     อภิรักษ์ : สำคัญเลยคือ เราต้องมีความชัดเจนในโรดแมปของบริษัทฯ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นทิศทางการทำงานและการที่เรามองการเติบโตของเราว่าจะเป็นอย่างไร อย่างวี ฟู้ดส์ แรกๆ คนอาจมองว่าเราเป็นบริษัทขายข้าวโพด แต่ตอนหลังเราก็มีการรีแบรนด์ดิ้ง สร้างเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนในระยะยาวว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพืชเป็น Plant-Based Food  ที่ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากเครือข่ายเกษตรกรในประเทศไทย แล้วก็เน้นในเรื่องของการวิจัยนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความยั่งยืน

     ซึ่งเมื่อเรานิยามตัวเองได้ชัดเจนแล้ว ต่อมาก็จะมาดูว่าในส่วนที่เป็น Core Competency หรือจุดแข็งที่บริษัทเราสามารถทำได้ดี อันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นตัว “ดึงดูด” ให้บริษัทที่มีแนวทางการทำงานใกล้เคียงกัน หรือมองเป้าหมายร่วมกัน ให้มาทำงานร่วมกับเราได้

     สำหรับ Strategic Partner เราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่อย่างบมจ.ไทยยูเนี่ยน หรือบริษัท Startup อย่างมอร์มีทเท่านั้น  แต่ยังรวมไปถึงสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานวิจัยต่างๆ พอเราเริ่มทำแบบนี้ จะทำให้คนที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจ Plant-Based Food  หรือธุรกิจอาหาร เกิดการทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เราจะเริ่มเห็นอีโคซิสเต็มของการทำ Plant-Based Food ก็จะทำให้พอเห็นแนวทางได้ว่าเราควรไปเชื่อมโยงกับบริษัทหรือหน่วยงานลักษณะไหน ที่จะมาเติมเต็มทิศทางการทำงานของเราได้

     Q : วันนี้จะเห็นได้ว่ามีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเยอะมากทั้งรายใหญ่ รายเล็ก คุณอภิรักษ์ มองการแข่งขันที่เปลี่ยนไปนี้อย่างไร และวางกลยุทธ์เพื่อรับมือการแข่งขันอย่างไร

      อภิรักษ์ : เมื่อตลาดมีการแข่งขันแน่นอนว่าคงเหนื่อยขึ้น แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยกระตุ้นให้ตลาดเติบโตเร็วขึ้น เนื่องจากคนจะมีการรับรู้ในสินค้า Plant-Based มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังที่บริษัทขนาดใหญ่เริ่มเข้ามา ในส่วนผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไปจากคนทั่วไปที่ทานมังสวิรัติหรือทานเจในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจำกัด วันนี้มีกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่เติบโตอย่างมากที่เรียกว่า Flexitarian พูดง่ายๆ คือการทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น โดยอาจจะไม่ต้องทานทุกวัน ทุกมื้อ แต่เป็นกลุ่มคนร่วมสมัยที่อยากดูแลสุขภาพแล้วก็เห็นความสำคัญของการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยกลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ แต่เเน่นอนเขาอาจไม่ได้ทานทุกวัน

     กับสองนอกเหนือจากแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในท้องตลาดมากขึ้นแล้ว ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นร้านอาหารมีการโปรโมทเมนู Plant-Based มากขึ้น ซึ่งนี่จะเป็นอีกตัวเร่งที่ทำให้คนตื่นตัว และทำให้ตลาดเติบโตขึ้นอีกมาก

     อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ผมยังมองเป็นบวกว่า ผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ตลาดตื่นตัว อาจจะเรียกว่าเป็นช่วงที่มีการให้ความรู้ตลาด (Educate)  ให้คนรับรู้มากขึ้น แต่แน่นอนว่าพอมีการแข่งขันสูง บริษัท SME ก็อาจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย คือการแข่งขันในเรื่องราคา เพราะจะไม่ช่วยให้ตลาดได้รับการพัฒนาเลย แต่เราควรเอางบประมาณมาเน้นในเรื่องของการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่มีคุณภาพ หรือใช้ในเรื่องของการโปรโมทให้ความรู้กับผู้บริโภคมากกว่า เพื่อช่วยกันทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นมา แทนที่จะมาแข่งตัดราคากันเอง อันนี้เป็นเรื่องหลักเลยที่ผมอยากจะแชร์ให้กับผู้ประกอบการในตลาด เพราะสุดท้ายแล้วประโยชน์ก็จะกลับมายังผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกมากขึ้น

     Q : ท่ามกลางทางเลือกที่มากขึ้นของผู้บริโภคยุคนี้ วี ฟู้ดส์ มีกลยุทธ์อย่างไรที่จะฉีกตัวเองออกจากตลาด Plant-Based Food อื่นๆ เพื่อสร้างจุดยืนของตัวเองในตลาดนี้

     อภิรักษ์ :  จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราครอบคลุมทั้ง 3 เซ็กเมนต์ ตั้งแต่ Plant-Based Food ที่เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน (Ready to Eat) กลุ่ม Plant-Based Meat (มอร์มีท) และ Plant-Based Milk เครื่องดื่มนมที่ทำจากพืช

     ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เราจะมีความแตกต่าง อย่าง วี ฟาร์ม เราเป็นแบรนด์แรกที่ออกผลิตภัณฑ์ Plant-Based ที่เรียกว่า โฮลฟู้ด (Whole Food) หรืออาหารที่ผ่านการปรุงแต่งหรือดัดแปลงน้อยมาก ปัจจุบันตลาด Plant-Based ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแปรรูป (Processed Foods) ที่ทำคล้ายเนื้อสัตว์ แต่ของ วี ฟาร์ม เราจะเป็นผลิตภัณฑ์โฮลฟู้ด 100 เปอร์เซ็นต์ Plant-Based โดยเริ่มต้นเรามี 4 ผลิตภัณฑ์ คือ Champignon Mushroom Nuggets แชมปิอญองนักเก็ต, Buffalo Cauliflower Wings ดอกกะหล่ำปีวิงซ์ ที่ให้รสชาติเสมือนเนื้อไก่ทอด, Spinach with Vegan Chees bite ชีสบอลสปินิช และ Mix Root  Vegetable Fire เฟรนช์ฟรายมัน 4 อย่าง ได้แก่ มันหวาน มันม่วง มันส้ม และมันฝรั่ง

     โฮลฟู้ดเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างมากในอเมริกาและยุโรป ทำไมผมถึงสนใจตัวนี้ ต้องยอมรับว่า วันนี้คนส่วนใหญ่ยังทานอาหารปกติอยู่ พูดง่ายๆ คนไทยยังเน้นอาหารอร่อย แต่พอมีกระแสดูแลสุขภาพ รักษ์โลก คนรู้จัก Plant-Based  มากขึ้น แต่พบว่าคนส่วนหนึ่งยังไม่กล้าลองทานเพราะมีความรู้สึกว่ารสชาติไม่อร่อย แต่ว่าผลิตภัณฑ์โฮลฟู้ดที่เราพัฒนาขึ้น จะทำให้เขากล้าที่จะรับประทาน Plant-Based  ได้มากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่รู้จักเมนูเหล่านี้ดีอยู่แล้ว

     Q : ในการคุยกันครั้งก่อนคุณอภิรักษ์พูดถึงวิชั่นในการนำพา Plant-Based ไทยไปสู่ตลาดโลก ในวันนี้วี ฟู้ดส์ เดินทางมาได้ไกลแค่ไหนแล้ว และโอกาสของแบรนด์ Plant-Based ไทยในตลาดโลกมีมากน้อยแค่ไหน

     อภิรักษ์ : เมื่อปีที่ผ่านมาเราได้ทดลองนำผลิตภัณฑ์ไปขายในต่างประเทศ คือที่อังกฤษ และฮ่องกง ตามแนวเครือข่ายร้านอาหารไทย อย่างฮ่องกง ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะคนฮ่องกงรู้จักอาหารไทยดีอยู่แล้ว และแบรนด์ที่มาจากเมืองไทยก็ได้รับการยอมรับ ซึ่งปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ตลาดส่งออกยังเป็นเป้าหมายหลักของเรา เพราะต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีการแข่งขันสูงขึ้น และการที่เราไม่ได้จำกัดตัวเองแค่เฉพาะตลาดในประเทศ จะทำให้เราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น เนื่องจากว่าเรามีโปรดักต์ที่มากขึ้น อย่าง มอร์มีทก็มีอีก 4 SKU ของ วี ฟาร์ม เองก็อีกอย่างน้อย 3 SKU ตอนนี้เราก็มีโอกาสผลิตในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ต้นทุนการผลิตก็ลดลง และมีโอกาสที่จะขยายไปในต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งเราทำงานใกล้ชิดกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ที่มีเครือข่ายของทูตพาณิชย์หรือไทยเทรดอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงเครือข่ายของสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรม ที่ทำงานส่งเสริมตลาดฟิวเจอร์ฟู้ดซึ่ง Plant-Based Food ก็เป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์หลักของฟิวเจอร์ฟู้ด

     ในส่วนของตลาดส่งออกเป้าหมาย เราเน้นไปที่กลุ่มอาเซียนพลัสเป็นหลัก ตลาดที่สองคือ อเมริกา เพราะถือว่ามีความพร้อมในเรื่องของ Plant-Based และเป็นตลาดที่เติบโต นี่เป็นอย่างน้อยเป็นสองตลาดหลักที่เราจะมุ่งไป

     สำหรับตลาด Plant-Based สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดได้เปรียบของไทยเรา คือเรื่องของวัตถุดิบ โดยเรามีความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าอาหาร นอกจากนี้ต้องถือว่าวัตถุดิบจากประเทศไทยหรือแม้แต่อาหารไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่สิ่งที่ผมเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน คือการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตอนนี้มีการสนับสนุนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะการที่เรามีหน่วยงานนวัตกรรมเยอะมาก แล้วไม่ได้เน้นเฉพาะในเรื่องของฟู้ดเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มีการช่วยตั้งแต่ต้นน้ำคือการส่งเสริมวัตถุดิบโปรตีนจากพืช เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราจะใช้ถั่วเหลืองซึ่งเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตอนนี้จึงมีการศึกษาวัตถุดิบอื่นที่สามารถส่งเสริมปลูกในประเทศไทยได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับเครือข่ายเกษตรกรไทย และถ้าเราส่งเสริมวัตถุดิบในประเทศ ก็จะช่วยเรื่องการขนส่งต่างๆ เพิ่มจุดแข็งในอนาคตให้กับเราด้วย

     แต่แน่นอนว่าวันนี้ตลาดในบ้านเรายังเล็กมาก ฉะนั้นมีความจำเป็นที่ต้องหาพันธมิตรเพื่อทำงานร่วมกัน พูดง่ายๆ คือต่างคนต่างไปอาจจะเหนื่อย และยิ่งถ้าเป็นบริษัทเล็กอาจจะไม่ง่ายนัก การมีเครือข่ายในการทำธุรกิจ เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเติบโตในต่างประเทศได้เร็วขึ้น

     Q : ในมุมมองของคุณอภิรักษ์ มองว่า Plant-Based Food ยังมีอนาคตหรือไม่ ถ้าใครจะเข้ามาทำต้องทำอย่างไรถึงจะรอดและเติบโตได้

     อภิรักษ์ : ผมเชื่อว่ายังมีโอกาส เพราะนี่ยังเป็นช่วงแรกเพิ่งเริ่มตื่นตัวมาแค่ 2 ปีเอง คนที่เข้ามาในยุคหลัง บางคนอาจมองว่าตลาดเริ่มมีการแข่งขันสูง และมีแบรนด์ใหญ่หรือแม้แต่บริษัทที่อยู่มาก่อนอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วถ้าเราสามารถสร้างจุดยืนของผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างได้ ก็จะทำให้เราสามารถเติบโต หรือเกิดได้ในตลาด Plant-Based เมืองไทย เมื่อสักครู่เราอาจพูดเฉพาะตลาดที่เป็น Plant-Based Food เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วในตลาด Plant-Based Milk ก็ต้องถือว่าเติบโตเร็วมากแล้วก็ใหญ่ด้วย อย่างในอเมริกา Plant-Based Milk ใหญ่กว่าตลาด Plant-Based Meat เสียด้วยซ้ำ ในเมืองไทยเองตลาดนี้ก็เติบโตเร็วมาก

     ผมยังเชื่อว่า Plant-Based ยังมีความหลากหลาย และไม่ได้จำกัดเฉพาะ Plant-Based Meat, Plant-Based Food หรือ Plant-Based Milk เท่านั้น ตอนนี้เราจะเห็น อย่าง Plant-Based Cheese ก็มี Plant-Based Dessert  ที่เป็นของหวานก็มี เป็นไอศกรีมก็มี ฉะนั้นผมยังเชื่อว่า มีโอกาสเปิดให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจตลาดนี้อยู่เสมอ ซึ่งในอนาคตเมื่อผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายขึ้น ก็จะทำให้คนเริ่มทานเมนู Plant-Based ได้ง่ายขึ้น บางคนอาจไม่ถนัด Plant-Based Meat ก็อาจจะเริ่มจาก Plant-Based Ice cream ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต

     วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่จะมาร่วมงาน PLANT BASED Festival 2022 มหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 ใครอยากรู้จักผลิตภัณฑ์ Plant-based แนวใหม่ๆ หรือหาไอเดียดีๆ มาต่อยอดธุรกิจก็ไปพบกันได้ที่งานนี้

วี ฟู้ดส์

www.vfoodsthailand.com

https://vfarmth.com          

FB : V Farm TH

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย